xs
xsm
sm
md
lg

แฉข่าวกรองทหารเดนมาร์กร่วมมือมะกัน‘ดักฟัง’ จนท.ระดับสูงปท.ยุโรป รวมทั้ง ‘นายกฯแมร์เคิล’ ขณะ‘ไบเดน’ถูกระบุ‘รู้เห็น’เรื่องนี้เต็มตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สื่อท้องถิ่นเผยหน่วยข่าวกรองทางทหารของเดนมาร์กแอบช่วยเหลืออเมริกาสอดแนมนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยุโรประหว่างปี 2012-2014 ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ด้าน “สโนว์เดน” ที่เคยเปิดโปงหน่วยข่าวกรองอเมริกามาก่อน ชี้ “ไบเดน”เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เต็มตัวตั้งแต่ต้น

ตามรายงานของสถานีวิทยุเดนมาร์กส เรดิโอ (ดีอาร์) ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันอาทิตย์ (30 พ.ค.) หน่วยข่าวกรองกลาโหมของเดนมาร์ก (เอฟอี) ได้ร่วมมือกับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ในการรวบรวมข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน และนอร์เวย์

เอ็นเอสเอได้เคยถูกตั้งข้อกล่าวหาในลักษณะนี้จนกลายเป็นข่าวดังมาแล้วเมื่อปี 2013 จากการเปิดโปงของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของเอ็นเอสเอ โดยเขาระบุว่า เอ็นเอสเอได้แอบดักฟังโทรศัพท์ของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีมาหลายปี

ตอนนั้น ทำเนียบขาวไม่ได้ปฏิเสธตรงๆ แต่ยืนยันว่า ไม่มีการดักฟังแมร์เคิลในขณะนั้นและจะไม่มีการดักฟังในอนาคต

ทั้งนี้ เยอรมนีถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดของอเมริกา

สำหรับในรายงานข่าวล่าสุดคราวนี้ระบุว่า เอ็นเอสเอสามารถเข้าถึงข้อความตัวอักษร การพูดคุยทางโทรศัพท์ การค้นหาและการแชตบนอินเทอร์เน็ตของบุคคลชั้นนำจำนวนมากในยุโรป เนื่องจากการร่วมมือกับเอฟอีเพื่อเข้าถึงระบบสายเคเบิลอินเทอร์เน็ตของเดนมาร์ก ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีภาคพื้นดินสำคัญหลายแห่งของระบบสายเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเล ที่ติดต่อเชื่อมโยงกับสวีเดน นอร์เวย์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร

การดำเนินการดังกล่าวซึ่งมีชื่อรหัสว่า “ปฏิบัติการดันแฮมเมอร์” และนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงของเอฟอีในเดือนพฤษภาคม 2015 ทำให้เอ็นเอสเอเข้าถึงข้อมูลโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ของนักการเมืองจำนวนมากเป็นพารามิเตอร์การค้นหา

รายงานชิ้นนี้มาจากการตรวจสอบของสถานีวิทยุดีอาร์ โดยเกี่ยวข้องกับการสัมภาษณ์แหล่งข่าว 9 คน ซึ่งล้วนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลลับของเอฟอี ตลอดจนการร่วมมือกับสื่อชั้นนำหลายแห่งของยุโรป อาทิ เลอมองด์ของฝรั่งเศส และซูดดอยเชอร์ไซตุงของเยอรมนี

นอกจากแมร์เคิลแล้ว ผู้ที่ถูกดักฟังยังรวมถึงแฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ และเพียร์ สไตน์บรูก รัฐมนตรีต่างประเทศและผู้นำฝ่ายค้านของเยอรมนีในขณะนั้น

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ดีอาร์ได้เคยรายงานว่า อเมริกาใช้ระบบสายเคเบิลของเดนมาร์กสอดแนมอุตสาหกรรมกลาโหมของเดนมาร์กและยุโรประหว่างปี 2012-2015

ทางด้าน ทรีน แบรมเซน รัฐมนตรีกลาโหมเดนมาร์ก ที่รายงานระบุว่า ได้รับแจ้งเรื่องนี้เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ให้สัมภาษณ์ดีอาร์ว่า การดักฟังอย่างเป็นระบบต่อพันธมิตรใกล้ชิดเป็นสิ่งที่รับไม่ได้

อย่างไรก็ดี ทั้งเอฟอีและเอ็นเอสเอยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวนี้

ขณะเดียวกัน หลังจากข่าวนี้เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ สโนว์เดนได้ออกมากล่าวหาประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวนี้อย่างลึกซึ้งตั้งแต่แรก เนื่องจากการดำเนินการที่ระบุในข้อกล่าวหานี้เกิดขึ้นขณะที่ไบเดนรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

สโนว์เดนทวิตว่า ควรมีการเรียกร้องอย่างชัดเจนให้ทั้งเดนมาร์กและอเมริกาเปิดเผยเรื่องทั้งหมดต่อสาธารณชน

ทั้งนี้ ในปี 2013 สโนว์เดนได้นำรายละเอียดการสอดแนมทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ของหน่วยข่าวกรองอเมริกาออกมาเปิดเผยกับสื่อ พร้อมกันนั้นเขาก็หลบหนีออกจากสหรัฐฯ และในที่สุดก็ไปลี้ภัยในรัสเซีย หลังถูกรัฐบาลอเมริกันตั้งข้อหาขโมยทรัพย์สินของรัฐบาล เผยแพร่ข้อมูลกลาโหมแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และเจตนาเผยแพร่ข้อมูลการสื่อสารของหน่วยข่าวกรองที่เป็นความลับ

ก่อนที่สโนว์เดนจะนำหลักฐานออกมาเปิดเผยคราวนั้น บรรดาเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงของอเมริกาต่างออกมายืนยันโกหกเสียงแข็งว่า เอ็นเอสเอไม่เคยรับรู้ว่า มีการเก็บข้อมูลบันทึกการพูดคุยโทรศัพท์ส่วนตัวมาก่อน

สำหรับปฏิกิริยาของพวกผู้นำยุโรปเวลานี้ ปีเตอร์ ฮุล์ตควิสต์ รัฐมนตรีกลาโหมของสวีเดน ได้ออกมาเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ส่วนแฟรงก์ บักเก-เจนเซน รัฐมนตรีกลาโหมนอร์เวย์ กล่าวว่า จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขณะที่สไตน์บรูก อดีตผู้นำฝ่ายค้านของเยอรมนี วิจารณ์ว่า การที่หน่วยข่าวกรองที่ดูเป็นมิตรแอบสอดแนมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศอื่นนั้นถือเป็นเรื่องอื้อฉาวน่าอับอาย

แมร์เคิล-มาครง เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ-เดนมาร์ก “อธิบาย”

ในเวลาต่อมา ทั้งนายกรัฐมนตรีแมร์เคิล ของเยอรมนี และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ต่างแถลงในวันจันทร์ (31 พ.ค.) แสดงความคาดหวังว่า รัฐบาลสหรัฐฯและรัฐบาลเดนมาร์กจะออกมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องที่ตกเป็นข่าวนี้อย่างกระจ่างแจ้ง

“นี่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในระหว่างพันธมิตร และยิ่งสามารถยอมรับได้น้อยลงไปอีกในระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วนยุโรป” มาครงกล่าว ภายหลังการประชุมสุดยอดระหว่างฝรั่งเศส-เยอรมนี ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

“ผมมีความยึดมั่นอยู่กับความผูกพันด้วยความไว้วางใจกันซึ่งเป็นสิ่งที่รวมฝ่ายยุโรปและฝ่ายอเมริกันเอาไว้ด้วยกัน” มาครงบอก และกล่าวต่อไปว่า “มันจะต้องไม่มีช่องว่างแห่งความระแวงสงสัยใดๆ เลยในระหว่างเรา”

“นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเราจึงกำลังรอคอยให้มีการอธิบายอย่างสมบูรณ์แบบ เราขอให้หุ้นส่วนชาวเดนมาร์กและหุ้นส่วนชาวอเมริกันของเราให้ข้อมูลข่าวสารทั้งหมดทั้งสิ้นเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกเปิดเผยออกมาเหล่านี้ และเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาในอดีตเหล่านี้ เรากำลังรอคอยคำตอบเหล่านี้อยู่” เขาบอก

สำหรับแมร์เคิล เธอกล่าวว่า เธอ “มีแต่ต้องเห็นด้วย” กับความคิดเห็นของประธานาธิบดีฝรั่งเศส

ในระหว่างการประชุมสุดยอดคราวนี้ แมร์เคิลบอกว่า เธอ “เกิดความมั่นใจขึ้นมาอีกครั้ง” จากคำแถลงต่างๆ ของทางรัฐบาลเดนมาร์ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งของรัฐมนตรีกลาโหมทรีน แบรมเซน ที่ประณามการกระทำเช่นนี้

“นอกเหนือจากการทำความเป็นจริงให้ปรากฏแล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการบรรลุถึงความสัมพันธ์ซึ่งวางอยู่บนความไว้วางใจซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง” เธอกล่าว

(ที่มา: บีบีซี, เอเอฟพี, เอพี, รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น