(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
China’s wobbly high-rise signals end of building spree
By FRANK CHEN
26/05/2021
พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของนครเซินเจิ้น พากันเร่งรีบสอบสวนกรณีอาคาร เอสอีจี พลาซา เกิดการสั่นไหวที่ชวนให้ตระหนกตกใจ ขณะที่ความกระตือรือร้นของทางการแดนมังกรในเรื่องอาคารตึกระฟ้า ก็กำลังจืดจางลงไป
ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนก่อสร้างอาคารสูงตึกระฟ้ามากยิ่งกว่าระยะเวลาครึ่งศตวรรษก่อนหน้านั้นเสียอีก อย่างไรก็ดี ตึกระฟ้าอาคารหนึ่งในนครที่แสนอึกทึกคึกคักอย่างเซินเจิ้น กำลังส่งสัญญาณเตือนภัยให้ระมัดระวังถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากกระแสการก่อสร้างอาคารสูงอย่างสนุกสนานเช่นนี้
เวลานี้แดนมังกรซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นที่ตั้งของอาคารที่มีความสูงเกินกว่า 350 เมตร จำนวนถึง 33 อาคารจากที่มีกันอยู่ทั่วโลก 75 อาคาร ทั้งนี้ตามบัญชีรายชื่อซึ่งรวบรวมเอาไว้โดยเว็บไซต์วิกิพีเดีย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_tallest_buildings?wprov=sfti1)
ทว่าหนึ่งในตึกระฟ้าของจีนที่ติดอยู่ในบัญชีรายชื่อนี้แหละ เพิ่งกลายเป็นข่าวแหม็บๆ ว่ากำลังเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นมา ซึ่งก็คือ อาคารสำนักงาน เอสอีซี พลาซา บิลดิ้ง (SEG Plaza building) ความสูง 75 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 170,000 ตารางเมตร ในเมืองเซินเจิ้น –ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคทางภาคใต้ของจีน
ปรากฏว่า ทั้งพื้นอาคารและหลังคาภายในอาคารสูง 355 เมตร ซึ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 1999 แห่งนี้ เริ่มเกิดการสั่นไหวขึ้นมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นการโอนเอนที่สามารถมองเห็นได้กระทั่งจากจุดที่ห่างออกไปหลายช่วงตึก
ด้วยความความหวาดกลัวกันว่าผนังกำแพงต่างๆ ภายในตึกระฟ้าแห่งนี้อาจจะแตกร้าวหักพังทะลายลงมา ผู้เช่าผู้ทำงานอยู่ในอาคารจำนวนหลายพันคนจึงต่างพากันวิ่งกรูกันออกจากตึก กลายเป็นฉากเหตุการณ์ที่ชวนให้นึกถึงหนังเกี่ยวกับภัยพิบัติยังไงยังงั้น
อันที่จริงตั้งแต่ก่อนหน้าเกิดความวิตกกังวลพุ่งพรวดขึ้นมาเกี่ยวกับความปลอดภัยของ เอสอีจี พลาซา ตลอดจนอาคารอื่นๆ ปักกิ่งก็มีความเคลื่อนไหวที่จะชะลอกระแสการแข่งขันภายในจีน ในเรื่องการการสร้างอาคารสูงลิ่วๆ สืบเนื่องจากมีความสำคัญมั่นหมายกันว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
หน่วยงานผู้วางนโยบายระดับท็อปของรัฐบาลจีน ออกคำสั่งมาตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ห้ามทำโครงการก่อสร้างอาคารใหม่ๆ ที่มีความสูงเกิน 500เมตร (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://new.qq.com/omn/20200507/20200507A0ALPW00.html) ดังที่ปรากฏอยู่ในเอกสารชิ้นหนึ่งจากกระทรวงการเคหะและการพัฒนาพื้นที่เมือง-พื้นที่ชนบท (Ministry of Housing and Urban-Rural Development) โปรเจ็คต์ที่พรักพร้อมเดินหน้าแล้วจำนวนหนึ่งถูกสั่งยกเลิก หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบอาคารให้มีความสูงลดน้อยลง
สำนักข่าวซินหัวรายงานเอาไว้ตั้งแต่ตอนนั้นว่า ปักกิ่งมีความตระหนักมานานในเรื่องอาคารระฟ้าทั้งหลายอาจมีข้อด้อยในเรื่องต้นทุนแพงทั้งในด้านการก่อสร้างและการบำรุงรักษา นอกจากนั้นยังใช้พลังงานสิ้นเปลืองมากเกินไป รวมทั้งยังทำท่าเพิ่มความเสี่ยงแก่ความปลอดภัยสาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ
ในเดือนมีนาคมปีนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางกว่านี้อีก นั่นคือความพยายามของปักกิ่งที่จะชะลอกระแสเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ ทางกระทรวงการเคหะและการพัฒนาพื้นที่เมือง-พื้นที่ชนบท ได้ประกาศระงับการอนุมัติโครงการก่อสร้างใหม่ๆ สำหรับอาคารที่มีความสูงเกิน 18 ชั้นในเขตเมืองใหญ่และเขตอำเภอซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนระดับรองๆ ลงมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.xinhuanet.com/fortune/2021-03/30/c_1127274166.htm) ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากกระแสการก่อสร้างอาคารสูงอย่างเมามัน ได้แพร่ระบาดจากศูนย์กลางเมืองใหญ่สำคัญๆ ทั้งหลาย ไปยังเมืองขนาดย่อมๆ ลงมาและกระทั่งพื้นที่ในชนบท
สำหรับกรณีของอาคาร เอสอีจี พลาซา คณะบริหารของเทศบาลนครเซินเจิ้นแถลงในเวลาต่อมาว่า จากการเข้าไปตรวจสอบในเบื้องต้นของทีมวิศวกร พบว่าพวกท่อเหล็กกล้าและแกนเสาคอนกรีตของตึกระฟ้าแห่งนี้ยังคงมีความปลอดภัยในเชิงโครงสร้าง ทีมวิศวกรกล่าวโทษว่าเป็นเพราะแรงลม, ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ, และรถไฟใต้ดิน 2 สายที่แล่นไปมาอยู่ใต้อาคาร น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ตึกเกิดการสั่นไหว
อย่างไรก็ตาม เอสอีจี พลาซา ยังคงมีอาการสั่นไหวต่อไปอีกในวันถัดๆ มา แม้กระทั่งหลังจากที่ประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งจัดขึ้นอย่างรีบด่วนได้ให้คำรับรองอย่างรวดเร็วว่าไม่มีปัญหาใดๆ รวมทั้งบอกกับพวกผู้เช่าทั้งหลายว่าสามารถกลับไปใช้อาคารได้ตามปกติ คำแนะนำเพียงประการเดียวของพวกเขาก็คือให้ติดตั้งตัวลดแรงสั่นสะเทือนแบบปรับได้ (tuned mass dampers) –หรือบางทีก็เรียกกันา ตัวดูดซับแรงสั่นสะเทือน (harmonic absorbers) เอาไว้ที่ชั้นสูงๆ เพื่อลดอาการสั่นไหว
สำนักข่าวซินหัว และสำนักข่าวไชน่านิวส์เซอร์วิส ได้อ้างรายงานฉบับหนึ่งซึ่งจัดทำโดยคณะบริหารของเมืองเซินเจิ้นที่ระบุว่า แรงด้านข้าง (lateral force) บางอย่างที่มีกำลังแรงมาก อาจจะเป็นตัวเขย่าตึกระฟ้าแห่งนี้ในทิศทางขึ้น-ลง ไม่ใช่ให้โอนเอนไปข้างๆ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อาจจะต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ให้แน่ใจถึงต้นตอที่มาซึ่งทำให้ เอสอีจี พลาซา สั่นไหว แต่อาคารแห่งนี้ที่มีเสาแกนสี่เหลี่ยมจัตุรัสถึง 4 แกน และรากฐานที่แข็งแกร่ง ก็ยังคงมีความมั่นคงหนักแน่นอย่างที่มันควรจะเป็น
กระนั้น สถานกงสุลใหญ่ของสหรัฐฯในเมืองกว่างโจว ซึ่งเขตพื้นที่ดูแลรับผิดชอบกินมาถึงเซินเจิ้นด้วย ก็ไม่ยอมเสียเวลาเลยในการออกคำแนะนำเรื่องความปลอดภัย ตั้งแต่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://china.usembassy-china.org.cn/security-alert-u-s-consulate-general-guangzhou-peoples-republic-of-china-may-19-2021/) โดยรบเร้าพลเมืองชาวอเมริกันอย่าได้เข้าไปในอาคารสูงที่ถือเป็นหนึ่งในหลักหมายสำคัญของเซินเจิ้นแห่งนี้ ดังที่มีตึกนี้ปรากฏให้เห็นอยู่เป็นประจำในภาพยนตร์จีนซึ่งเข้ามาถ่ายทำกันที่เมืองนี้
ครั้นแล้วก็ปรากฏร่องรอยว่าทางการผู้รับผิดชอบได้มีการทบทวนประเมินสถานะของ เอสอีจี พลาซา กันใหม่แล้ว นั่นคือ หลี่ ซี สมาชิกคนหนึ่งของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน อีกทั้งเป็นเลขาธิการพรรคสาขามณฑลกวางตุ้ง ซึ่งพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมเซินเจิ้นด้วย ได้เดินทางไปเยือนอาคารแห่งนี้แบบไม่เป็นที่คาดหมายกันมาก่อน เมื่อต้นสัปดาห์นี้
มีรายงานว่า หลี่ ซึ่งมาพร้อมกับ หม่า ซิงรุ่ย ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง และ หวัง เหว่ยจง เลขาธิการพรรคสาขาเมืองเซินเจิ้น ได้สั่งให้ตรวจสอบทั้งเรื่องโครงสร้างและการออกแบบอาคารอย่างละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้น หลังจากที่กลุ่มเอสอีจี (SEG Group) รัฐวิสาหกิจที่มีกิจการหลายหลากรวมทั้งเป็นเจ้าของตึกระฟ้าแห่งนี้ด้วย ได้ตัดสินใจให้อพยพผู้เช่าทั้งหมดออกไปและปิดอาคารอย่างไม่มีกำหนด
หลี่บอกว่า คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่ขยายจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิม จะต้องค้นหาสาเหตุและให้คำรับรองวิธีปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ขณะที่ผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบก็ต้องได้รับการชดเชย การเดินทางไปเยือนของคณะเจ้าหน้าที่ระดับท็อปคราวนี้ มีขึ้นพร้อมๆ กับที่มีการรื้อฟื้นรายงานชิ้นหนึ่งจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งระบุว่า พวกผู้รับเหมาก่อสร้าง เอสอีจี พลาซา ได้หาทางรวบรัดงานและดังนั้นจึงสามารถเสนอราคาที่ทำให้ชนะการประมูลรับเหมาก่อสร้าง
รายงานบอกต่อไปว่า ทั้งการก่อสร้างและการตรวจสอบความเรียบร้อยตอนก่อสร้างเสร็จต่างกระทำกันอย่างรีบร้อน โดยที่งานก่อสร้างเริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ก่อนการออกแบบทั้งหมดจะเสร็จเรียบร้อยด้วยซ้ำไป เนื่องจากทางผู้นำของเมืองในตอนนั้นสั่งการว่า อาคารนี้ต้องสร้างเสร็จและใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 1999 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน
รายงานชิ้นอื่นๆ ในสื่อของเซินเจิ้นตอนนั้น ได้ยกย่องสรรเสริญ “ความฉลาดช่างประดิษฐ์ของคนจีน” จากการเร่งรัดกระบวนการจนกระทั่งใช้เวลาไม่ถึง 3 วัน ก็สามารถก่อสร้างแต่ละชั้นของอาคารให้เสร็จได้
กระนั้นก็ตาม รายงานการสอบสวนเบื้องต้นที่พวกเจ้าหน้าที่ของเซินเจิ้นอัปโหลดทางเว็บพอร์ทัลของคณะบริหารของนคร และเอเชียไทมส์ได้อ่าน ยังคงบอกปัดว่าไม่ได้กำลังจะเกิดมีอันตรายหรือความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมกับบอกอีกว่า ตัวแปรทุกๆ อย่างซึ่งทางทีมผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานอิสระ 2 แห่งติดตามดูกันอยู่นั้น ยังคงอยู่ภายในขอบเขตตัวแปรที่การออกแบบได้เตรียมรองรับเอาไว้แล้ว และอาการสั่นไหวก็ยังไม่ได้ไปจนถึงขีดสูงสุดของแถบการสั่นไหวซึ่งกฎระเบียบความปลอดภัยด้านอาคารของจีนกำหนดเอาไว้
เมื่อพูดกันถึงเรื่องตึกระฟ้าเกิดการสั่นไหวแล้ว เมืองเซินเจิ้นไม่ใช่ว่าไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เมื่อปี 2018 ตอนที่ซูเปอร์ไต้ฝุ่น “มังคุด” พัดกระหน่ำใส่นครแห่งนี้ ปรากฏว่าอาคาร “ผิงอัน ไฟแนนซ์ เซนเตอร์” (Ping An Finance Center) สูง 600 เมตร ซึ่งเป็นอาคารสูงอันดับ 4 ของโลก ก็เกิดการสั่นไหวอย่างชนิดเห็นกันได้ชัดๆ และเป็นเหตุให้กรอบด้านหน้าอาคารที่เป็นกระจกเกิดแตกหักเสียหาย โดยที่ทางนครแถลงว่าอาคารนี้สามารถทนทานผ่านพายุร้ายมาได้โดยโครงสร้างไม่ได้รับความเสียหายใดๆ
เซินเจิ้นนั้นเป็นเมืองที่มีปัญหาขาดแคลนที่ดิน ปัจจุบันมีอาคารถึง 145 อาคารที่ความสูงเกิน 200 เมตร บางอาคารใช้วิธีการออกแบบทำนองเดียวกับ เอสอีจี พลาซา รวมทั้งในบางเคส การก่อสร้างก็ขึ้นชื่อว่าทำกันอย่างเร่งรัดมาก