xs
xsm
sm
md
lg

‘ยุติธรรมสหรัฐฯ’นำคดี‘โตโยต้าไทย’ทุจริตพลิกคดีภาษีพรีอุส เข้า‘คณะลูกขุนใหญ่’ ขณะสื่อนอกเผยชื่อผู้พิพากษารับสินบน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เว็บไซต์Law 360 ในสหรัฐฯ รายงานความคืบหน้าคดีที่บริษัทโตโยต้า กำลังถูกทางการอเมริกาสอบสวนว่ากระทำความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตในต่างประเทศ สืบเนื่องจากการที่โตโยต้าในไทยถูกกล่าวหาว่าติดสินบนผู้พิพากษาใหญ่หลายราย โดยในรายงานชิ้นล่าสุดLaw 360 ได้ระบุรายชื่อและพฤติการณ์ของผู้เกี่ยวข้องในไทย ซึ่งมีชื่อของผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกา สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง และพนักงานบริษัทโตโยต้า 3 ราย ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องรับสินบนด้วย

Law 360 ซึ่งเป็นเว็บไซต์บริการข่าวสารทางกฎหมายที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ รายงานในตอนค่ำวันพุธ (26 พ.ค.) ตามเวลาภาคตะวันออกของอเมริกา (EDT) (ตรงกับเช้าวันพฤหัสบดี 27 เวลาเมืองไทย) ว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯกำลังจัดตั้งคณะลูกขุนใหญ่(grand jury) ขึ้นในเทกซัส มุ่งสอบสวนหาหลักฐานทางการเงินเพิ่มเติม ในคดีที่บริษัทโตโยต้า ถูกกล่าวหาว่าจ่ายสินบนให้ผู้พิพากษาระดับท็อปในประเทศไทยหลายราย เพื่อพลิกคำตัดสินในคดีจ่ายภาษีนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลารสหรัฐฯ (ราว 11,025 ล้านบาท) ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายสหรัฐฯรายหนึ่ง และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนคดีนี้

ตามเอกสารหลายฉบับของฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย การสืบสวนสอบสวนที่กำลังดำเนินการโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) ดูเหมือนจะได้หลักฐานจากการค้นพบรายงานการสอบสวนภายในของโตโยต้าที่กระทำโดย วิลเมอร์เฮล (WilmerHale) การค้นพบเหล่านี้ทางสำนักงานกฎหมาย เดเบวอยซ์ แอนด์ พลิมป์ตัน แอลแอลพี (Debevoise & Plimpton LLP) ได้แจ้งให้ทางการสหรัฐฯทราบไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2020

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทโตโยต้าสงสัยว่านักกฎหมายอาวุโสหลายคนที่ทำงานให้บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย (Toyota Motor Thailand หรือTMT) อาจจะมีการมอบสินบนให้แก่ผู้พิพากษาศาลฎีกาของไทยหลายราย โดยผ่านสำนักงานกฏหมายของไทยแห่งหนึ่ง (ซึ่งเว็บไซต์Law 360 ระบุชื่อสำนักงานกฎหมายแห่งนี้อย่างชัดเจน) ในความพยายามที่จะส่งอิทธิพลต่อคำตัดสินในคดีภาษีที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ฎีกา ทั้งนี้Law 360 รายงานโดยอ้างอิงว่าทราบจากแหล่งข่าวหลายรายซึ่งคุ้นเคยกับเรื่องนี้ และเอกสารต่างๆ ที่พูดถึงการไต่สวนของบริษัท

สำหรับการจัดตั้งคณะลูกขุนใหญ่ขึ้นมา ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนสอบสวนในเขตนอร์ทเทิร์นดิสตริกของรัฐเทกซัส ซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุมเมืองดัลลาส เมืองที่อยู่ใกล้ๆ กับที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯของโตโยต้า แหล่งข่าวสหรัฐฯรายหนึ่งระบุ ขณะที่การดำเนินการในเรื่องนี้ยังคงเป็นไปอย่างลับๆ แต่อดีตอัยการของกระทรวงยุติธรรมหลายรายซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องในคดีนี้อธิบายกับ Law 360 ว่า ธรรมดาแล้วพวกอัยการใช้คณะลูกขุนใหญ่ ในขั้นตอนนี้ของการทำคดีตามความผิดในกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตในต่างประเทศ (Foreign Corrupt Practices Act) ก็เพื่อจะได้ยื่นหมายเรียกให้ธนาคารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งบันทึกต่างๆ ของธนาคารตลอดจนเอกสารอย่างอื่นๆ มาให้

ในรายงานข่าวนี้ Law 360 อ้างอิงเอกสารต่างๆ ของฝ่ายบังคับใช้กฎหมายสหรัฐฯระบุว่า จากการสอบสวนภายในของโตโยต้าได้พบว่า โตโยต้าประเทศไทยมีการติดต่อกับสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง (รายงานข่าวนี้ของLaw 360 ระบุชื่อชัดเจน) ให้ช่วยสร้างช่องทางไปถึงอดีตผู้พิพากษาระดับสูงมากของไทย โดยผ่านทางอดีตผู้พิพากษาระดับสูงผู้หนึ่งและที่ปรึกษาอีกผู้หนึ่ง ทั้งนี้ เอกสารเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า โตโยต้าประเทศไทยได้จ่ายเงินไปแล้วเกือบ 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 567 ล้านบาท) จากจำนวน 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 850.5 ล้านบาท) ตามที่ตกลงกันไว้ โดยที่อีก 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 283.5 ล้านบาท) จะมีการจ่ายให้เมื่อโตโยต้าชนะอุทธรณ์ฎีกาในคดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้าที่เก็บจากชิ้นส่วนรถโตโยต้า พรีอุส

มีรายงานว่า เวลานี้ทางผู้สอบสวนของรัฐบาลสหรัฐฯกำลังหาหลักฐานเพื่อที่จะวินิจฉัยว่าโตโยต้า ประเทศไทย ได้จ่ายเงินไม่ว่าโดยตรงหรือผ่านทางสำนักงานกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ให้แก่อดีตผู้พิพากษาศาลฎีการะดับสูงมาก (Law 360 ระบุชื่ออย่างชัดเจน) และที่ปรึกษาศาลฎีกา (Law 360 ระบุชื่ออย่างชัดเจน) เพื่อโน้มน้าวให้ผู้พิพากษาศาลฎีการะดับสูงมาก  (Law 360 ระบุชื่ออย่างชัดเจน) ยอมรับข้อโต้แย้งของโตโยต้า และให้ศาลมีคำพิพากษาในทางเป็นคุณแก่บริษัทภายในเวลา 1 ปี หรือภายหลังจากเดือนตุลาคม 2019 Law 360 อ้างอิงเจ้าหน้าที่สหรัฐฯและเอกสารต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดีนี้

เว็บไซต์Law 360 บอกว่าได้ส่งคำถามเกี่ยวกับกรณีโตโยต้าประเทศไทย ไปยังสำนักงานกฎหมายแห่งที่ถูกระบุชื่อนี้ แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่าให้ไปถามทางโตโยต้า

นอกจากนั้นLaw 360 ไปสอบถามผู้พิพากษาที่ถูกระบุชื่อทั้ง 2 ราย ทว่าไม่ได้มีการตอบกลับมา แต่เจ้าหน้าที่ศาลตอบเมื่อวันอังคาร (25 พ.ค.) ว่า ผู้พิพากษาทั้ง 2 ได้รับข้อความแล้วและปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น สำหรับที่ปรึกษาศาลฎีกาซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ไม่ได้ตอบอีเมล์ที่ขอให้แสดงความเห็น

เว็บไซต์Law 360 ยังได้ระบุชื่ออย่างชัดเจน พนักงาน 3 คนของโตโยต้าประเทศไทย ที่เอกสารต่างๆ ของฝ่ายบังคับใช้กฎหมายในสหรัฐฯกล่าวหาว่าเป็นผู้ดำเนินแผนการนี้ขึ้นมา และบอกด้วยว่า ทั้ง 3 คนได้ออกจากโตโยต้าประเทศไทยไปในช่วงที่มีการสอบสวนเกี่ยวกับการทุจริตภายในของบริษัท

ทั้งนี้ บุคคลทั้ง 3 ไม่ได้ตอบอีเมล์ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่ขอให้แสดงความเห็น ขณะที่การติดต่อด้วยโทรศัพท์ของ Law 360 ก็ไม่ได้ผลเช่นกัน

อนึ่ง หลังจากรายงานข่าวนี้ของLaw 360 เผยแพร่ออกไป ในวันพฤหัสบดี (27) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

ประการที่ 1 หลังจากที่ได้เคยมีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว ครั้งแรกช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรมมิได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีหนังสือประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตอบกลับจากหน่วยงานในสหรัฐอเมริกา ขอยืนยันว่า นับตั้งแต่ทราบเรื่องสำนักงานศาลยุติธรรมได้พยายามติดตามตรวจสอบ รวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศมาโดยตลอด และเมื่อมีการรายงานข่าวพาดพิงถึงชื่อและตำแหน่งของบุคคลบางราย สำนักงานศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการตรวจสอบไปยังหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอข้อมูลมาประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย โดยการดำเนินการอย่างไรต่อไปก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของข้อมูลที่ได้รับ

ประการที่ 2 หากสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับข้อมูล หรือสามารถตรวจสอบได้ว่ามีมูลเป็นความผิด จะดำเนินการตามขั้นตอนทางวินัยต่อไป โดยไม่คำนึงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะเป็นใคร และมีตำแหน่งใด จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต ) พิจารณา ขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก.ต. ได้ดำเนินการตรวจสอบและลงโทษทงวินัยอย่างเด็ดขาดกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ทำลายความเป็นกลางของศาล และทำให้สังคมไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย หากพบว่าผิดจริงก็จะลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด

ประการที่3 สำหรับคดีที่ บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษี เป็นจำเลยเนื่องจากการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อประกอบเป็นรถยนต์รุ่นพรีอุส โดยมีคำขอให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานที่จัดเก็บภาษี ซึ่งโจทก์ได้ยื่นขออนุญาตฎีกาหลังจากที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นผลให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยมีการอ่านคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผลเพียงศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาเท่านั้น โดยคดียังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในเนื้อหาหลักแห่งคดีแต่อย่างใด โดยความคืบหน้าล่าสุด ยังอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายได้ถึงวันที่ 13 ก.ค.นี้ หากฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกามาแล้วศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป  เนื่องจากในระหว่างนี้การดำเนินการ ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกาหรือในประเทศไทยเองยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเท่านั้น ยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำตัดสินอันเป็นที่ยุติว่าเกิดการกระทำตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่อย่างไร จึงขอให้สาธารณชนได้สดับตรับฟังข้อมูลด้วยความระมัดระวัง และรอผลการดำเนินการทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยให้เป็นที่ยุติเสียก่อน

(ที่มา:Law 360 https://www.law360.com/articles/1388032/doj-takes-toyota-thai-bribery-probe-to-texas-grand-jury , MGR Online)


กำลังโหลดความคิดเห็น