xs
xsm
sm
md
lg

กรุ่นกลิ่นไอ‘สงครามกลางเมือง’ในพม่า ขณะที่‘อินเดีย’ผู้หลงใหลกับบทบาทต่อต้านจีน กำลังถูกตะวันตกโน้มน้าวให้กลายเป็น‘รัฐแนวหน้า’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร


ผู้อพยพที่หลบหนีจากรัฐชิน ในพม่า ถือหีบศพจำลองของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารที่เป็นหัวหน้าก่อรัฐประหารยึดอำนาจในพม่า และของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ขณะชุมนุมประท้วงกันที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2021
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

India will be frontline state in Myanmar’s civil war
by MK Bhadrakumar
07/05/2021

จุดยืนของรัฐบาลอินเดียในวิกฤตการณ์พม่า กำลังถูกดึงดูดให้มุ่งไปสู่การร่วมมือกับฝ่ายตะวันตก ในการเป็นแหล่งพักพิงสำหรับการปฏิบัติการเพื่อก่อ “สงครามกลางเมือง” ขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้สืบเนื่องจากความฝักใฝ่ของนิวเดลีที่มีต่อโปรเจ็คต์ “คว็อด” มุ่งต่อต้านคัดค้านจีน

สัตว์บางอย่างมีความรู้สึกรับรู้ได้ล่วงหน้าว่าแผ่นดินไหวกำลังจะเกิดขึ้นมาอยู่รอมร่อแล้ว พวกมันรู้ได้ยังไงยังคงเป็นปริศนาที่รอการศึกษาไขคำตอบ เป็นต้นว่า ก่อนหน้ามหาธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเอเชียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2004 พวกช้างในศรีลังการีบโยกย้ายกันไปอยู่ที่สูงเพียงไม่นานก่อนที่คลื่นมหายักษ์จะถาโถมมาถึง ที่เมืองกอลล์ (Galle) ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 100 กิโลเมตรทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโคลัมโบ พวกสุนัขไม่ยินยอมให้เจ้าของพาไปเดินเล่นริมชายหาดในตอนเช้า

ดังนั้น สำหรับการที่บริษัท อะดานี พอร์ตส์ แอนด์ สเปเชียล อีโคโนมิก โซน จำกัด (Adani Ports and Special Economic Zone Ltd) [1] ตัดสินใจทอดทิ้งโครงการท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ในพม่าซึ่งดูน่าจะสามารถทำกำไรได้อย่างงดงาม และลงบัญชีตัดขาดทุนการลงทุนก้อนนี้ไปเลย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.livemint.com/companies/news/could-abandon-myanmar-project-adani-ports-11620139238006.html) จึงสามารถทำความเข้าใจได้อยู่หรอกว่าเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน เนื่องจากพวกกิจการธุรกิจใหญ่ๆ มักขึ้นชื่อลือชาเรื่องมีสัญชาตญาณเพื่อการอยู่รอดแบบสัตว์ –พวกเขาสามารถได้ยินเสียงสำเนียงหรืออาการสั่นไหวที่แผ่วเบาภายในพื้นผิวโลกและคาดการณ์ได้ถึงความหายนะที่กำลังใกล้เข้ามา

พฤติกรรมรับรู้ภัยแบบสัตว์อย่างไม่ธรรมดาเลยของพวกเขา กลายเป็นสิ่งบ่งชี้ล่วงหน้าให้แก่การปะทุขึ้นอย่างปุบปับฉับพลันใดๆ ของกาลเวลาและหลักเหตุผลในวงการเมือง “พฤติกรรมแบบสัตว์” ของกลุ่มธุรกิจตระกูลอะดานี บังเกิดขึ้นท่ามกลางภูมิหลังของการที่รัฐบาลอินเดียกำลังปรับเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อพม่าไปทีละเล็กละน้อยแต่สะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ –เป็นแรงดึงดูดมุ่งไปสู่ค่ายตะวันตก สืบเนื่องจากโปรเจ็คต์ “คว็อด” (Quad) ที่โดยเนื้อหาสาระแล้วคือโครงการมุ่งต่อต้านจีน

ยังไม่ต้องไปพูดถึงพวกนีโอคอน (นีโอคอนเซอร์ทีฟ --อนุรักษนิยมใหม่) ผู้ดื้อรั้น และพวกฝ่ายซ้ายที่อยู่ในอาการหลงผิด แต่บุคคลวงนอกต่างมองกันออกตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอกแล้วว่า ความปั่นป่วนวุ่นวายในพม่าคราวนี้ช่างเต็มไปด้วยเครื่องหมายสัญลักษณ์ของ “การปฏิวัติสี” (color revolution) เสียงกระด้างแข็งกร้าวของมันไต่ขึ้นไปสู่จุดสูงเมื่อตอนประมาณช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการสะสมตัวจากการสังหารหมู่ผู้ประท้วงหลายร้อยคนในการปราบปรามกวาดล้างของฝ่ายทหาร (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aa.com.tr/en/asia-pacific/536-killed-in-myanmar-military-crackdown-rights-group/2195016)

ตรงนั้นเองกลายเป็นจุดพลิกผัน ไม่ช้าไม่นานหลังจากนั้น การประสานเสียง—ทั้งจากบรรษัทแพร่ภาพและกระจายเสียงสหราชอาณาจักร British Broadcasting Corporation หรือ บีบีซี, วิทยุเอเชียเสรี, พวกองค์การนอกภาครัฐบาลของโลกตะวันตกที่มุ่งโปรโมตประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย— ก็เริ่มลดกระแสลงไป และพวกสถานที่ในการต่อสู้ก็ปรับเปลี่ยนไปจากตามท้องถนนในเมืองใหญ่น้อยของพม่า หันมาเน้นหนักกันที่เมืองหลวงต่างๆ ของโลก โดยที่มีการรณรงค์ทางการทูตอย่างใหญ่โตเพื่อเรียกร้องให้นานาชาติดำเนินการแทรกแซงในพม่า ยิ่งถ้าหากสามารถผลักดันจนทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกมติรับรองการแทรกแซงได้ด้วยแล้ว มันก็จะเป็นสถานการณ์อุดมคติทีเดียว

พวกผู้ประท้วงชาวพม่าเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้าแทรกแซงวิกฤตการณ์ภายในแดนหม่องสืบเนื่องจากฝ่ายทหารก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ
อินเดียได้พยายามที่จะทำให้รัสเซียและจีนพลอยเห็นดีเห็นงามกับกระบวนการแก้ปัญหาด้วยการเข้าแทรกแซงเช่นนี้ด้วย ทว่ายังยากที่จะสร้างฉันทามติขึ้นมาได้สำเร็จ ความทรงจำเกี่ยวกับการเข้าแทรกแซงของฝ่ายตะวันตกไม่ว่าจะในอัฟกานิสถาน, อิรัก, หรือลิเบีย ยังคงหลอกหลอนมอสโกและปักกิ่ง นอกจากนั้นแล้ว มันยังจะกลายเป็นการสร้างกรณีตัวอย่างที่เลวร้ายให้แก่จุดร้อนอื่นๆ เป็นต้นว่า เบลารุส หรือ ฮ่องกง อีกด้วย ดังนั้นมิติทางด้านภูมิรัฐศาสตร์จึงเริ่มต้นพุ่งปริ๊ดขึ้นมาให้ขบคิดพิจารณา

ทว่าส่วนของการปฏิบัติการซึ่งปกปิดอำพรางจากสายตาของผู้คนทั่วไปนั้น รวมศูนย์อยู่ที่การก่อตั้ง “รัฐบาลลี้ภัย” ขึ้นมา (อย่างเช่น “รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ” National Unity Government หรือ NUG) พร้อมกันนั้น หน่วยสืบราชการลับ (Secret Intelligence Service ใช้อักษรย่อซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันมากว่า MI 6) ของสหราชอาณาจักร ก็หาทางนำเอาพวกกองกำลังจรยุทธ์แบ่งแยกดินแดนชาวชาติพันธุ์กลุ่มหลักๆ ของพม่ามารวมตัวกัน โดยมุ่งโน้มน้าวส่งเสริมให้กลุ่มเหล่านี้หาทางฉวยใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ความปั่นป่วนวุ่นวายซึ่งกำลังเกิดขึ้นมา เพื่อเปิด “แนวรบด้านที่สอง” ขึ้น

จริงๆ แล้ว ตั้งแต่นั้นก็เกิดการพัฒนาความสนิทชิดเชื้อขึ้นมาในบางระดับ ระหว่างพวกผู้ประท้วงที่เป็นคนพม่า (Burman) ในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ข้างหนึ่ง กับพวกชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่คนพม่ากลุ่มต่างๆ ในอีกข้างหนึ่ง ถึงแม้ทั้งสองข้างมีประวัติศาสตร์แห่งการเกลียดชังเป็นปรปักษ์ต่อกันและกัน แต่เวลานี้พวกเขาก็สามารถบรรจบกันได้ในความพยายามร่วมกันเพื่อทำให้ฝ่ายทหารพม่าเกิดความบอบช้ำย่ำแย่มากที่สุด

มันเป็นการสร้างแนวร่วมที่ดูเหมือนยากที่จะเป็นไปได้ระหว่างพวกชาวพุทธกับพวกชาวคริสต์ แต่ก็อย่างที่ ซูซาน เฮย์เวิร์ด (Susan Hayward) แห่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) ประมาณเอาไว้อย่างระมัดระวัง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.justsecurity.org/75953/beyond-the-coup-in-myanmar-dont-ignore-the-religious-dimensions/) นั่นแหละ มันเป็นสิ่งที่สามารถทำให้สำเร็จได้:

“วันนี้ การที่ชาวคริสต์, ชาวมุสลิม, และกลุ่มที่มีการแสดงออกทางศาสนาซึ่งมิใช่ชาวพุทธกลุ่มอื่นๆ สามารถที่จะเฉลิมฉลองร่วมกัน และเข้าร่วมในขบวนการนี้  โดยตัวมันเองก็ก่อให้เกิดความหวังขึ้นมาว่า จะเป็นนิมิตรหมายบอกเหตุถึงจิตสำนึกทางลัทธิชาตินิยมแบบที่ต้อนรับคนอื่นๆ ฝ่ายอื่นๆ มาเข้าร่วมด้วยเพิ่มมากขึ้น

“ถ้าหาก รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมา เข้าดำเนินการบ่มเพาะกล่อมเกลาและทำให้มันกลายเป็นสถาบันกลายเป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติความเป็นทางการขึ้นมาแล้ว อัตลีลักษณ์แห่งชาติแบบต้อนรับคนอื่นๆ ฝ่ายอื่นๆ มาเข้าร่วมด้วยเช่นนี้  ก็สามารถร่วมส่วนมีคุณูปการในการการสร้างรัฐประชาธิปไตยซึ่งความหลากหลายแตกต่างจะเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับยกย่องและเฉลิมฉลอง และพวกศรัทธาความเชื่อที่ไม่ใช่แบบชาวพุทธจักไม่ต้องเผชิญกับการถูกแบ่งแยกกีดกันทางสังคมและการถูกแบ่งแยกกีดกันเชิงสถาบันในระดับเดียวกับที่พวกเขาเคยประสบกันมาในอดีต

“สิ่งนี้ยังจะต้องอาศัยการแปลี่ยนแปลงพลิกโฉมทั้งในด้านสถาบันและกระบวนการทางรัฐ, ศาสนา, และวัฒนธรรม ซึ่งเท่าที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์นั้น ได้เอื้ออำนวยอภิสิทธิ์แก่พวกคนพม่าชาวพุทธเรื่อยมา  โดยที่การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้น่าจะกินเวลาเป็นรุ่นอายุคน”


แต่ไม่ว่าจะเป็นยังไงก็ตามที เมื่อถึงช่วงกลางเดือนเมษายน การโจมตีด้วยกำลังอาวุธครั้งใหญ่ครั้งแรกที่กระทำใส่ฝายทหารพม่าก็เกิดขึ้นมาด้วยฝีมือของกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union หรือ KNU) กลุ่มกบฎเก่าแก่ที่สุดของพม่า (ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีก่อตั้งขึ้นโดยมหาอำนาจอาณานิคมสหราชอาณาจักร ด้วยจุดประสงค์ที่จะใช้เป็นตัวแทนของตน) หลังจากนั้นการโจมตีเช่นนี้ก็กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rt.com/news/522774-myanmar-rebels-down-helicopter/)

กองทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union หรือ KNU) เดินสวนสนามเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปีแห่งการปฏิวัติของชาวกะเหรี่ยง ที่ค่ายในพื้นที่ห่างไกลบริเวณชายแดนไทย-พม่า ขณะที่กลุ่มกบฎกลุ่มใหญ่ๆ ของพม่า ซึ่งรวมถึง KNU ด้วย ประกาศให้การสนับสนุนขบวนการต่อต้านรัฐประหารซึ่งปะทุขึ้นตามเมืองใหญ่น้อยทั่วประเทศ (ภาพถ่ายโดย KNU เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2019 แต่เพิ่งนำออกเผยแพร่เมื่อ 4 เม.ย. 2021)
ต้นเดือนพฤษภาคมนี้ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ ได้ออกประกาศเจตนารมณ์ของตนที่จะก่อตั้งกองทัพสหภาพแห่งสหพันธรัฐ (Federal Union Army) ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นกองทหารที่ประกอบด้วยผู้แปรพักตร์จากกองกำลังความมั่นคง (ทหารตำรวจพม่า), กลุ่มกบฎชาติพันธุ์, และอาสาสมัครทั้งหลาย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.farsnews.ir/en/news/14000215000832/Myanmar's-Ani-Cp-Gvernmen-Says-Frming-%E2%80%98Peple's-Defense-Frce%E2%80%99)

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้อาจจะกลายเป็นหลักหมายขีดแบ่งให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมจากการเป็นกองกำลังต่อต้านฝ่ายทหารที่มุ่งเรื่องการปฏิบัติการก่อกวน มาเป็นการเผชิญหน้าด้วยกำลังอาวุธกับฝ่ายทหาร

พม่ากำลังเข้าสู่ขั้นตอนอันสำคัญยิ่งยวดในแบบที่ ซีเรีย ได้เคยประสบมาเมื่อปี 2011

ความละม้ายคล้ายคลึงกับซีเรียเป็นสิ่งที่ชวนให้ตื่นตะลึง – กระแสการประท้วง “อาหรับสปริง” (ระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2011) กำลังถูกบดขยี้ปราบปรามโดยรัฐบาลซีเรีย ซึ่งสามารถยึดหลักฐานอันพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเข้าแทรกแซงอย่างมโหฬารของฝ่ายตะวันตก โดยฝีมือของสหรัฐฯและพวกพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ลงท้ายแล้วก็กลับถูกลักพาช่วงชิงไปโดยพวกกลุ่มสุดโต่งกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มรัฐอิสลาม และกลุ่มอัลกออิดะห์ และในทางกลับกัน สถานการณ์เช่นนั้นก็ได้กลายเป็นชนวนทำให้รัสเซียเข้าแทรกแซงบ้าง เพื่อปกป้องรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด

แน่นอนทีเดียว ความแตกต่างฉกาจฉกรรจ์ประการหนึ่งระหว่างซีเรียกับพม่า อยู่ตรงที่ว่า พวกประเทศเพื่อนบ้านของพม่านั้นไม่ได้ต้องการจะเข้าเกี่ยวข้องพัวพันด้วยถ้าหากเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในแดนหม่อง และในฉากทัศน์เช่นนี้เอง แน่นอนทีเดียวว่าถ้าหากนโยบายของอินเดียเกิดมีการปรับเปลี่ยนใดๆ ไปในทางที่เข้าร่วมผสมโรงกับโปรเจ็คต์ของฝ่ายตะวันตกด้วยแล้ว มันก็จะเต็มไปด้วยอันตรายซึ่งมีผลพวงต่อเนื่องร้ายแรงติดตามมา

ข่าวชวนสะดุ้ง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.irrawaddy.com/news/burma/chin-resistance-fighters-kill-nine-myanmar-junta-soldiers.html) ที่ออกมาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้จากเมืองฮ่าค่า (Hakha) เมืองหลักเมืองหนึ่งของรัฐชิน (Chin State) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ชายแดนติดต่อกับอินเดีย กลายเป็นสัญณาณระฆังเตือนภัยสำหรับพวกรัฐแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งมีความสนิทชดเชื้อทั้งทางชาติพันธุ์และทางศาสนากับกลุ่มกบฎต่างๆ ที่อยู่ทางอีกฟากหนึ่งของชายแดน รัฐชินนั้นมีข้อเด่นมาอย่างยาวนานในเรื่องเสถียรภาพและสันติภาพ ทว่าเหตุการณ์ตอนต้นเดือนดังกล่าวซึ่งอยู่ในลักษณะของการโจมตีแบบ “ตีแล้วถอย” นั้น ทำให้มีทหารพม่าตายไป 9 คนทีเดียว แล้วมันยังดูเหมือนเป็นแค่การอุ่นเครื่องแค่การซ้อมใหญ่เท่านั้นอีกด้วย

ประชากรในรัฐชินมากกว่า 85% เป็นชาวคริสต์ (ว่ากันเป็นตัวเลขจำนวนแล้ว ก็คือมากกว่าครึ่งล้านคน) รัฐชินมีพรมแดนติดต่อกับ 6 อำเภอของรัฐมิโซรัม (Mizoram) ของอินเดีย ประชากรของมิโซรัมมากกว่า 87% ก็เป็นชาวคริสต์ และมีรายงานข่าวว่าผู้คนจากพม่าข้ามชายแดนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ

ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ที่กำลังมาจากรัฐชินนั้น เป็นพวกที่มาจากเผ่าไล (Lai), เตดิม-โซมี (Tedim-Zomi), ลูเซ (Luse), ฮวลโง (Hualngo), และ นาตู (Natu) ซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับชาวมิโซ (Mizo) ของมิโซรัม ตลอดจนชาวคูคิ-โซมิ (Kuki-Zomi) ของรัฐมณีปุระ (Manipur รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนืออีกรัฐหนึ่งของอินเดีย ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับมิโซรัมและกับพม่า)

ตลอดหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้พำนักอาศัยในรัฐชินจำนวนมากได้ย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ในรัฐมิโซรัมเช่นกัน อินเดียกับพม่านั้นมีแนวชายแดนที่มิได้มีการปักเขตกั้นรั้วเป็นระยะทางยาวเหยียด 1,643 กิโลเมตร โดยประชิดกับ 4 รัฐของอินเดีย ได้แก่ อรุณาจัลประเทศ Arunachal Pradesh (520 กิโลเมตร), นาคาแลนด์ Nagaland (215 กิโลเมตร), มณีปุระ (398 กิโลเมตร), และ มิโซรัม (510 กิโลเมตร) ขณะที่รัฐและเขตทางฝั่งพม่านั้น คือ รัฐกะฉิ่น (Kachin) , เขตสะกาย (Sagaing), และรัฐชิน


สถานการณ์แทบจะเหมือนๆ กับเขตพื้นที่ชายแดนระหว่างปากีสถาน-อัฟกานิสถาน ที่เปิดกว้างโล่งโจ้ง ทำนองเดียวกับพวกชนเผ่าปัชตุน (Pashtun) ซึ่งตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยคร่อมอยู่ทั้งสองฟากของชายแดนอัฟกานิถาน-ปากีสถาน ชนเผ่าของอินเดียอย่างเช่น มิโซ, คูคิ, นาคา, และ โซมี ก็แตกกระจายออกเป็นเผ่าเล็กๆ ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดข้ามพรมแดนทั้งสองฟาก ถ้าหากพม่ากลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว อินเดียก็จะเจอผลกระทบพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

พื้นที่ซึ่งอุดมด้วยเทือกเขาที่เลี้ยวลดคดเคี้ยวและป่าดงดิบเขตร้อนชื้นยังทำให้พม่าถือเป็นประเทศคลาสสิกสำหรับการทำสงครามจรยุทธ์ ในเหตุการณ์ของสงครามกลางเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนต่อๆ ไปข้างหน้า และในภาวะที่ความสามัคคีเป็นเอกภาพของพม่าเกิดการแตกร้าวอย่างหนัก อินเดียมีหวังจะถูกดูดให้เข้าไปในความยุ่งเหยิงวุ่นวายนี้

ไทยกับอินเดียดูจะเป็นเพียง 2 พื้นที่พักพิง ซึ่ง MI 6 และสำนักงานข่าวกรองกลาง (CIA) ของสหรัฐฯ มีเหตุผลที่จะหวังอาศัยใช้สำหรับการควบคุมทิศทางสร้างเงื่อนไขต่างๆ แห่งสงครามกลางเมืองในพม่า –ทว่าในเวลานี้ไทยให้ความสำคัญมากกับการมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับจีน

รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ ได้พูดจาหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศ สุพรหมณยัม ชัยศังกร ของอินเดียไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ในช่วงเวลาหลายๆ เดือนตั้งแต่ที่ฝ่ายทหารทำรัฐประหารเข้ายึดอำนาจในพม่า แน่นอนทีเดียว การให้ความร่วมมือของอินเดียจะกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งยวดสำหรับความสำเร็จของการเสี่ยงภัยของอังกฤษ-อเมริกันในพม่า

พม่าถูกจัดเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญมาก ณ การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมสำคัญของโลก (จี7) ในกรุงลอนดอนระหว่างวันที่ 3-5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ชัยศังกรได้เดินทางไปลอนดอนและพบหารือกับบลิงเคนด้วย ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครเปิดเผยรายละเอียดของการพูดจากันออกมา แต่รายงานข่าวชิ้นหนึ่งของ ดอยช์ เวลเล (Deutsche-Welle) สถานีวิทยุโทรทัศน์สาธารณะของเยอรมนี ปูดออกมาว่า “จีนเป็นเรื่องที่อยู่ระดับบนสุดของวาระการประชุมคราวนี้ ในขณะที่เหล่ารัฐมนตรี จี7 หารือถึงประเด็นปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง เรื่องการรัฐประหารในพม่าและการก้าวร้าวรุกรานของรัสเซียก็เป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันด้วย” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dw.com/en/g7-foreign-ministers-discuss-common-approach-to-china/a-57418884)

รายงานข่าวชิ้นนี้กล่าวต่อไปว่า เหล่ารัฐมนตรีของ จี7 ได้ชมวิดีโอที่มาจากรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติของพม่า เพื่อ “ให้เหล่ารัฐมนตรี จี7 ได้ทราบสถานการณ์ในภาคสนามที่กำลังเกิดขึ้นล่าสุด

ภาพจากกลุ่ม “กะฉิ่นเวฟส์” ที่ระบุว่าถ่ายและเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2021  แสดงให้เห็นกลุ่มผู้ประท้วงถือแผ่นป้ายสนับสนนรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ (National Unity Government หรือ NUG) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา ขณะเดินขบวนคัดค้านการก่อรัฐประหารของฝ่ายทหารพม่า ที่เมืองพ่ากั่น ในรัฐกะฉิ่น ซึ่งอยู่ตอนเหนือสุดของพม่า
คำแถลงร่วมที่ออกมาภายหลังการประชุมที่ลอนดอนครั้งนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/983631/G7-foreign-and-development-ministers-meeting-communique-london-5-may-2021.pdf) อุทิศพื้นที่จำนวนมากเพื่อแสดงความใส่ใจกับพม่า (ย่อหน้า 21-24) ในคำแถลงร่วมยังแสดง “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” กับ รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ รวมทั้งประกาศเรียกร้องให้ดำเนินการลงโทษคว่ำบาตรอย่างครอบคลุมรอบด้านต่อคณะทหารพม่า ซึ่งรวมไปถึงการห้ามส่งอาวุธด้วย

การถือกำเนิดขึ้นมาท่ามกลางความเจ็บปวดรวดร้าวของการก่อความไม่สงบไม่ว่าที่ไหนก็ตาม มักเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฎให้เห็นแก่สายตาของสาธารณชนหรอก ขณะที่พวกหน่วยงานข่าวกรองกำลังลงแรงชักเชิดตัวแสดงต่างๆ ให้ออกมาเล่นไปตามบทบาท สถานการณ์ในพม่าได้ไปถึงจุดนั้นแล้ว ขณะที่สำหรับสหราชอาณาจักร นี่คือการเขี่ยลูกเริ่มเล่นในเกมใหญ่บนเวทีโลกเป็นครั้งแรกของประเทศนี้ในยุคหลังเบร็กซิต (ที่รัฐบาลในลอนดอนขนานนามว่าเป็นยุค “สหราชอาณาจักรสู่โลก” Global Britain) และอย่างที่ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ลอนดอนนั้นนิยมที่จะใช้วิธีชี้นำจากหลังฉาก

การที่กลุ่มอะดานีตัดสินใจปิดฉากธุรกิจในพม่าถือเป็นการกระทำที่เหมาะสมกับจังหวะเวลา กลุ่มธุรกิจทรงอิทธิพลกลุ่มนี้บางทีอาจจะมีสัญชาตญาณแบบสัตว์ซึ่งทำให้รู้สึกได้ล่วงหน้าถึงผลลัพธ์ที่ออกมาจากการหารือของกลุ่ม จี7 ในลอนดอน

ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์

เอ็ม เค ภัทรกุมาร
เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย

หมายเหตุผู้แปล

[1] บริษัท อะดานี พอร์ตส์ แอนด์ สเปเชียล อีโคโนมิก โซน จำกัด (Adani Ports and Special Economic Zone Ltd) เป็นบริษัทสำคัญแห่งหนึ่งของกลุ่มอะดานี (Adani Group) กลุ่มธุรกิจระดับนานาชาติสัญชาติอินเดียซึ่งทำธุรกิจหลากหลาย สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองอาห์เมดาบัด รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นโดย เกาทัม อะดานี (Gautam Adani) เมื่อปี 1988 โดยตอนแรกทำธุรกิจด้านค้าสินค้าโภคภัณฑ์ ต่อมาจึงกระจายเข้าไปในธุรกิจอื่นๆ มีทั้ง พลังงาน, ทรัพยากรธรรมชาติล โลจิสติกส์, ธุรกิจการเกษร, อสังหาริมทรัพย์, บริการทางการเงิน, กลาโหม, ตลอดจน การบินและอวกาศ กลุ่มนี้ปัจจุบันมีรายรับในระดับปีละมากกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยดำเนินงานอยู่ในสถานที่ต่างๆ 70 แห่ง ใน 50 ประเทศ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Adani_Group)
กำลังโหลดความคิดเห็น