เอเจนซีส์/รอยเตอร์/MGRออนไลน์ – สื่อญี่ปุ่นรายงานเมื่อวานนี้(12 พ.ค) ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งพม่าและทำให้ไทยกลายเป็นที่จับตาไปทั่วโลกว่าจะเดินไปทางไหน ขณะที่สิงคโปร์วันอังคาร(11 พ.ค)ออกมาเตือนว่า กองทัพพม่าจำเป็นต้องให้ความร่วมมือเพื่อสันติภาพ ทำให้มีนักวิจารณ์ชี้ว่าการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลาดไม่ร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิตล่าสุดทำให้พลาดโอกาสพบกับผู้นำสูงสุดพม่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย แต่ทว่าคนวงในชี้ว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น”
นิคเคอิเอเชีย สื่อญี่ปุ่นรายงานเมื่อวานนี้(12 พ.ค)ว่า การที่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ยอมเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิตซึ่งถูกจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 เม.ย ที่ผ่านมา บรรดานักวิจารณ์ต่างชี้ว่า ผู้นำไทยพลาดโอกาสการเป็นผู้นำแก้ปัญหาวิกฤตพม่าซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ระดับภูมิภาคที่ทั่วโลกให้ความสนใจรวม สหรัฐฯ เพราะพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการรัฐประหารพม่าตัดสินใจบินออกจากประเทศเป็นครั้งแรกเพื่อมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
นิคเคอิเอเชียรายงานว่า ฝ่ายไทยตัดสินใจส่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย เข้าร่วมการประชุมแทน
แต่ทว่าแหล่งข่าวระดับสูงใกล้ชิดกับนายกฯให้ข้อมูลกับสื่อญี่ปุ่นว่า “ท่านนายกฯไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิตเพื่อหารือ(ร่วมกับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย)"
และเมื่อสื่อญี่ปุ่นได้ถามต่อเพื่อให้เปิดเผยในรายละเอียด แหล่งข่าวระดับสูงยอมรับว่า ผู้นำไทยที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาก่อนได้ประโยชน์โดยตรงจากความสำพันธ์ที่ถูกบ่มเพาะระหว่างกองทัพต่อกองทัพ
แหล่งข่าวระบุว่า “เรายังคงช่องทางการติดต่อประตูหลัง และ(นายกรัฐมนตรีและพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย)สามารถสื่อสารได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องพบหน้า”
แหล่งข่าวระดับสูงกล่าวอีกว่า “พวกเขาพูดคุยกันมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร” และย้ำว่า “พวกเขารู้ว่าจะต้องทำอย่างไร” แต่แหล่งข่าวปฎิเสธที่จะเปิดเผยเนื้อหาการสนทนาของคนทั้งคู่
ด้าน กอบศักดิ์ ชุติกุล อดีตเอกอัครราชทูตแสดงความเห็นกับนิเคอิเอเชียว่า “ทหาร 2 คนนี้มีแนวความคิดเหมือนกันคล้ายกับสหายเคียงบ่าเคียงไหล่ และพวกเขาต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน” และกล่าวต่อว่า “ทั้งทหารไทยและทหารพม่าต่างมีคนรู้จักจำนวนมากในหลายระดับตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการท้องถิ่นไปจนถึงผู้บัญชาการระดับภูมิภาคและแม้กระทั่งระดับสูงสุด กองบัญชาการกลาง”
สายสัมพันธ์เกิดมาจากการที่ทั้งไทยและพม่ามีชายแดนยาวติดต่อกันร่วม 2,400 กิโลเมตรซึ่งถือว่าเป็นแนวพรมแดนติดต่อที่ยาวกว่าที่พม่ามีต่อจีนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและติดต่อกับอินเดียทางตะวันตก ไทยมีกองทัพภาคที่ 3 ทำหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ความมั่นคงทางภาคเหนือและเฝ้าระวังตามแนวพรมแดนระหว่างไทยและพม่า และในเวลานี้กำลังเผชิญหน้ากับการไหลบ่าเข้ามาของผู้อพยพจากฝั่งพม่าจากการที่กองทัพพม่าเปิดฉากจัดการกลุ่มผู้ประท้วง ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 780 คน ตัวเลขอ้างอิงเมื่อวันอังคาร(11)จากหน่วยงานสิทธิมนุษยชนของ UN ในรายงานของรอยเตอร์ และอีกทั้งกองทัพภาคที่ 3 ยังต้องเฝ้าระวังการแอบลักลอบนำเข้าอาวุธผิดกฎหมายและการลักลอบค้ายาเสพติดมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
สื่อญี่ปุ่นชี้ว่า มิน อ่อง หล่าย ถือเป็นบุคคลพิเศษสำหรับผู้นำไทยเพราะเขาเป็นผู้นำกองทัพคนแรกจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดที่ติดต่อประยุทธ์ทันทีหลังจากการทำรัฐประหารปี 2014 และได้เอ่ยปากชื่นชม
นอกจากนี้พบว่า 2 ปีก่อนหน้า มิน อ่อง หล่าย ต้องการที่จะให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ รับเขาในฐานะ “บุตรบุญธรรม”
สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความเห็นถึงท่าทีทางการทูตของไทยที่มีต่อการทำรัฐประหารพม่า ซึ่งเขาชี้แจงว่า “ไทย” เป็นเสมือนรัฐด่านหน้าในความสัมพันธ์กับพม่าเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอื่นๆในอาเซียน
“ภาษาทางการทูตของเรามีลักษณะที่จะสงวนท่าทีมากกว่า และทางเราจะไม่สามารถพูดจาในลักษณะเช่นเดียวกับของอินโดนีเซียหรือสิงคโปร์ได้เมื่อเกี่ยวข้องกับประเด็นพม่า”
รอยเตอร์รายงานวันอังคาร(11)ว่า “สิงคโปร์” เป็นอีกครั้งที่ออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้กองทัพพม่าหันมาให้ความร่วมมือกับอาเซียนเพื่อยุติวิกฤตในประเทศ พร้อมกันนี้ทางสิงคโปร์ยังได้กดดันเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียนให้ร่วมกดดันพม่าให้แสดงความอดกลั้นและเปิดการเจรจากับฝ่ายตรงข้าม รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ วิเวียน บาลากริชนัน (Vivian Balakrishnan) กล่าว
ในการตอบคำถามต่อรัฐสภาสิงคโปร์ เขาระบุว่า “นี่เป็นกระบวนการที่ไม่ง่าย ความร่วมมือของตะมะดอ(กองทัพพม่า)จำเป็นต้องมี” และเสริมว่า “อาเซียนจำเป็นต้องกล่าวโดยองค์รวมเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่กองทัพพม่าจัดการลงฉันทามติ โดยเฉพาะการใช้ความอดทนอดกลั้นขั้นสูงสุดและเริ่มต้นการเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักนายกฯของไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับนิเคอิเอเชียเกี่ยวกับพม่าปิดท้ายว่า “การยังคงความเกี่ยวข้องถือเป็นสิ่งที่ทางเราให้ความสำคัญ” และย้ำว่า “พวกเรามีความใกล้ชิดกันมากกว่าที่พวกคุณคิด”