ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล ระบุในวันพุธ (5 พ.ค.) ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจถูกสร้างในห้องปฏิบัติการวิจัยเพื่อก่อสงครามชีวภาพ ในความคิดเห็นล่าสุดที่อาจก่อความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างบราซิลกับจีน
“มันคือไวรัสใหม่ ไม่มีใครรู้ว่ามันถือกำเนิดในห้องปฏิบัติการหรือเป็นเพราะมนุษย์กินสัตว์บางชนิดที่ไม่ควรรับประทาน” ผู้นำขวาจัดกล่าว “แต่กองทัพรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับสงครามชีวภาพและสงครามรังสีวิทยา เรากำลังสู้รบในสงครามใหม่หรือไม่? ผมสงสัย ประเทศไหนล่ะที่จีดีพีเติบโตมากที่สุด?”
โบลโซนารูไม่ได้พาดพิงประเทศจีนตรงๆ แต่จีนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคระบาดใหญ่ เป็นเพียงชาติเดียวในกลุ่มจี 20 ที่เศรษฐกิจเติบโตเมื่อปีที่แล้ว โดยขยายตัว 2.3%
ในอดีตที่ผ่านมา โบลโซนารู และคนใกล้ชิดของเขามักแสดงความคิดเห็นที่โหมกระพือความขุ่นเคืองแก่จีนบ่อยครั้ง และบางครั้งซ้ำเติมความสัมพันธ์อันตึงเครียดกับคู่หูทางการค้าใหญ่ที่สุดของบราซิล
อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคม โบลโซนารูปลด เออร์เนสโต อารัวโฮ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะที่รัฐมนตรีรายนี้เคยประณาม “ลัทธิเหมาจีน” และกล่าวหาปักกิ่งว่ามีแผน “ครองโลก” ความเคลื่อนไหวที่ถูกมองอย่างกว้างขวางว่ามีเป้าหมายปรับปรุงความสัมพันธ์
ทฤษฎีที่ว่าโควิด-19 มีต้นกำเนิดในห้องปฏิบัติการหนึ่งในเมืองอู่ฮั่นเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับจีน แต่ขณะเดียวกันมันเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้สนับสนุนสายแข็งกร้าวของทั้งโบลโซนารู และต้นแบบทางการเมืองเขา นั่นก็คือ อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
จีนปฏิเสธทฤษฎีดังกล่าวอย่างหนักแน่น ขณะที่รายงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลกในเดือนมีนาคม สรุปว่าเป็นไปไม่ได้อย่างที่สุดที่ไวรัสจะมีต้นกำเนิดจากห้องปฏิบัติการ
อย่างไรก็ตาม พวกผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกยอมรับว่าพวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลดิบ ตอนที่ลงพื้นที่ตรวจสอบหาต้นกำเนิดของไวรัสในเมืองอู่ฮั่น
โบลโซนารูเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย และถูกวุฒิสภาเปิดการไต่สวนเกี่ยวกับแนวทางของเขาในการตอบสนองต่อโควิด-19 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในบราซิลมากกว่า 400,000 ราย
ในวันพุธ (5 พ.ค.) เขายกระดับโจมตีดุเดือดขึ้นต่อมาตรการหยุดอยู่บ้านควบคุมไวรัสที่กำหนดโดยบรรดาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยขู่ออกคำสั่งคุ้มครองสิทธิในการเคลื่อนไหวของประชาชน
ประธานาธิบดีโบลโซนารูเมินเฉยเสียงเรียกร้องของพวกผู้เชี่ยวชาญที่ขอให้ใช้มาตรการเข้มข้นทั่วประเทศ โต้แย้งว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้นจะเลวร้ายกว่าตัวไวรัสเองเสียอีก อย่างไรก็ตาม ทางศาลสูงของบราซิลพิพากษาว่ารัฐต่างๆ และเทศบาลทั้งหลายมีสิทธิบังคับใช้นโยบายต่างๆ เหล่านั้น
(ที่มา : เอเอฟพี)