(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
China’s digital yuan displaces the dollar
by David P. Goldman
21/04/2021
เงินฝากจำนวน 16 ล้านล้านดอลลาร์ อาจจะหายวับไป
ในจดหมายประจำปีถึงบรรดาผู้ถือหุ้นของ เจพี มอร์แกน ประธานของธนาคารแห่งนี้ เจมี่ ดิมอน ได้กล่าวยอมรับเรื่องที่ชวนให้รู้สึกตระหนก:
“ธนาคารต่างๆ เวลานี้ต้องแข่งขันกับระบบการธนาคารเงาที่ทั้งใหญ่โตและทั้งทรงอำนาจอยู่แล้ว และพวกเขายังกำลังเผชิญกับการแข่งขันอย่างใหญ่โตกว้างขวางจากซิลิคอนแวลลีย์อีกด้วย ทั้งในรูปแบบของฟินเทค และพวกบริษัทบิ๊กเทค (แอมะซอน, แอปเปิล, เฟซบุ๊ก, กูเกิล, แล้วตอนนี้ยังมี วอลมาร์ต อีก) นี่คือสิ่งที่จะเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่หนีหายไปไหน ขณะที่ความสำคัญของ คลาวด์, เอไอ, และแพลตฟอร์มดิจิตอล เติบใหญ่ขยายตัว การแข่งขันนี้ก็จะยิ่งน่าเกรงขามมากขึ้นไปอีก ผลลัพธ์ก็คือ ธนาคารทั้งหลายกำลังแสดงบทบาทในระบบการเงินลดน้อยลงไปเรื่อยๆ”
ดิมอนกำลังพูดเกี่ยวกับการปฏิวัติในด้านการค้าและการเงิน เรื่องที่พวกบิ๊กเทคเปลี่ยนแปลงสายโซ่อุปทานระดับโลก และการที่ฟินเทคเปลี่ยนแปลงระบบการชำระเงินในทั่วโลก เมื่อผสมผสานกันแล้วก็จะข้ามหัวบายพาสระบบการธนาคารไปเลย เงินหยวนดิจิตอลของจีนคือหนึ่งในตัวเร่งปฏิกิริยาซึ่งจะทำให้เรื่องเช่นนี้บังเกิดขึ้นมา นี่ถือเป็นมิติด้านการเงินของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) ซึ่งผมได้บรรยายเอาไว้ในหนังสือของผมเรื่อง You Will Be Assimilated: China’s Plan to Sino-Form the World (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.amazon.com/You-Will-Be-Assimilated-Sino-form/dp/1642935409)
ตั้งแต่ที่ผมเตือนเอาไว้เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ว่า เงินหยวนดิจิตอลของจีนสามารถที่จะระเบิดสหรัฐฯให้พังครืนได้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2021/02/digital-yuan-could-bust-the-united-states/) ก็มีสิ่งไร้สาระมากมายเหลือเกินเกี่ยวกับหัวข้อนี้ถูกใส่เข้าไปในสื่อมวลชน โดยที่มีเรื่องดีๆ มีเหตุมีผลอยู่บ้างจากทีมนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักการลงทุนสหรัฐฯ มอร์แกน สแตนลีย์ เข้ามาเป็นตัวชดเชย
บลูมเบิร์กได้เสนอรายงานข่าวชิ้นหนึ่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน ซึ่งประกาศว่า “คณะบริหารไบเดนกำลังยกระดับการตรวจสอบสอดส่องแผนการของจีนในเรื่องเงินหยวนดิจิตอล โดยที่มีเจ้าหน้าที่บางรายแสดงความกังวลว่าความเคลื่อนไหวนี้อาจเป็นการเขี่ยลูกเริ่มต้นความพยายามในระยะยาวที่จะโค่นล้มเงินดอลลาร์ให้ตกลงมาจากฐานะการเป็นสกุลเงินสำรองที่สำคัญที่สุดของโลกชนิดไม่มีอย่างอื่นเทียมทาน” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-04-11/biden-team-eyes-potential-threat-from-china-s-digital-yuan-plans)
ถ้าหากไม่ใช่คณะบริหารไบเดน ก็ต้องเป็นบลูมเบิร์กแหละ ที่กำลังสับสน (หรือว่าอาจจะสับสนกันทั้งคู่ก็ได้) จีนนั้นไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะนำเอาเงินเหรินหมินปี้ของตนเข้าแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯภายในกรอบโครงของระบบการธนาคารของโลกที่เป็นอยู่ในเวลานี้เลย อย่างที่ หลี่ ปัว (Li Bo) รองผู้ว่าการธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China ชื่ออย่างเป็นทางการของแบงก์ชาติจีน) บอกเอาไว้เมื่อวันที่ 19 เมษายน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-04-18/china-to-focus-on-domestic-use-of-digital-fx-first-zhou-says) ในความเป็นจริงแล้ว จีนไม่ได้มีมูลเหตุจูงใจให้ทำเช่นนั้นเลย และกระทั่งถ้าหากต้องการทำเช่นนั้น ก็จะไม่สามารถทำได้หรอก
เงินดอลลาร์ออฟชอร์จำนวน 16 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งฝากอยู่ตามพวกแบงก์ระหว่างประเทศนั้น จะไม่เปลี่ยนมาเป็นเงินหยวนจีนมูลค่าเท่าๆ กันหรอก ตรงกันข้าม เงิน 16 ล้านล้านดอลลาร์ดังกล่าวจะหดตัวลดค่าลงเหลือแค่เพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของปริมาณในปัจจุบันของมัน เนื่องจาก พวกบิ๊กเทค/การปฏิวัติด้านฟินเทค จะทำให้มันอยู่ในภาวะเหลือล้นเกินความต้องการ แทนที่จะเป็นอย่างที่บลูมเบิร์กหรือคณะบริหารไบเดนบอกมา มันกลับจะออกมาดังที่พวกนักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ อธิบายเอาไว้ในสัปดาห์นี้ นั่นคือ “พวกธนาคารทั้งหลายจะสูญเสียฐานเงินฝากของพวกตนไป” ขณะที่สกุลเงินตราดิจิตอลเข้าแทนที่ ในการทำหน้าที่พื้นฐานที่สุดของพวกธนาคาร
พวกนักวิเคราะห์ตะวันตกนั้นบกพร่องล้มเหลวที่ไม่สามารถยึดกุมเอาไว้อย่างมั่นคงในข้อเท็จจริงที่ว่า จีนนั้นไม่ได้กำลังพยายามเข้าแทนที่สหรัฐฯเลย แทนที่จะทำเช่นนั้น จีนกลับกำลังสร้างระบบใหม่ด้านการค้าและการเงินของโลก ซึ่งจะทำให้เกิดผลพลอยได้ประการหนึ่งขึ้นมา นั่นคือระบบใหม่นี้ยังจะเข้าแทนที่พวกวิธีการในการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่การค้า ที่ได้ตกทอดใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากมันปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อครั้งสาธารณรัฐเวนิสนำเอาระบบนี้ออกมาใช้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13
เงินหยวนจะไม่เข้าแทนที่เงินดอลลาร์ในฐานะเป็นสกุลเงินตราสำรองของโลกหรอก ตรงกันข้าม บทบาทแห่งการเป็นสกุลเงินตราสำรอง ซึ่งเริ่มต้นด้วยสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิง ภายใต้ระบบสหราชอาณาจักรปกครองโลก (Pax Britannica) นั้น จะเสื่อมถอยโรยราไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลาต่างหาก และสิ่งที่จะทรุดโทรมตามระบบนี้ไปด้วยก็คือเจ้าเงินดอลลาร์ออฟชอร์หลายล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งที่จริงก็คือเงินกู้อัตราดอกเบี้ย 0 เปอร์เซนต์ที่โลกเวลานี้ปล่อยกู้ให้แก่สหรัฐอเมริกา
ฟินเทคไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้หรอก แต่จุดศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่ หัวเว่ย เรียกว่า “โลจิสติกส์อัจฉริยะ” (smart logistics) อันเป็นแอปพลิเคชั่นของบิ๊กดาต้า/ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งถูกนำมาใช้กับการบริหารจัดการสายโซ่อุปทาน อย่างที่ผมได้อธิบายเอาไว้ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ระบบของหัวเว่ย –หนึ่งในหลายๆ ระบบซึ่งกำลังเสนอตัวแข่งขันกันในด้านนี้ – มุ่งที่จะต่อเชื่อมการดำเนินงานระหว่างจุดสำคัญต่างๆ และการขนส่งทางกายภาพ ให้เป็นไปอย่างราบรื่นชนิดไร้รอยต่อ โดยมีทั้งการแจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ ที่ทำท่าจะเกิดขึ้นมาได้จริงๆ, สามารถที่จะถ่ายทอดสั่งการเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างเห็นภาพกันทั้งระบบ ซึ่งก็รวมทั้งการดำเนินตามแนวความคิด one-stream-of-materials concept (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.huawei.com/en/industry-insights/digital-huawei/cases/smart-logistics) ทั้งนี้โดยอาศัยพวกแอปมือถือ, AIS, loT, และพวกเทคโนโลยีโลจิสติกส์ระดับก้าวหน้าอื่นๆ ระบบก็สามารถรับรู้ว่ายานพาหนะต่างๆ อยู่ตรงจุดไหนกันบ้าง, โกดังคลังสินค้าแห่งต่างๆ อยู่ในสถานะการดำเนินงานเช่นไร , และข้อมูลข่าวสารอื่นๆ แบบเรียลไทม์
บิ๊กดาต้านั้น สามารถติดตามการเดินทางของสินแร่เหล็กปริมาณน้อยนิดเดียว ตั้งแต่ออกมาจากเหมืองแห่งหนึ่งของบราซิล ไปยังโรงเตาหลอมเหล็กกล้าในเมืองฮาร์บิน (เมืองเอกของมณฑลเฮยหลงเจียง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน), ไปเป็นม้วนเส้นลวดเหล็กกล้าที่โรงงานเหล็กกล้าแห่งหนึ่งในเมืองถังซาน (ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเหอเป่ย ซึ่งตั้งอยู่ในภาคเหนือของจีน), ไปยังโรงงานตะปูในเมืองซิ่งไถ้ (ทางตอนใต้ของมณฑลเหอเป่ย), ไปยังคลังสินค้าในเมืองเซี่ยงไฮ้, ไปยังเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ลำหนึ่ง ซึ่งงเดินทางไปสู่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ, ไปยังรถบรรทุกคันหนึ่งซึ่งมุ่งหน้าไปที่ห้างจำหน่ายสินค้าฮาร์ดแวร์แห่งหนึ่ง ในเมืองเดนเวอร์ (ของรัฐโคโลราโด แถบตะวันตกกลางของสหรัฐฯ)
การผลิต, การจัดเก็บในคลังสินค้า, และการขนส่งสินค้าทั้งหลายทั้งปวงตลอดกระบวนการ จะสามารถตรวจสอบยืนยันได้ในทุกๆ ขั้นตอน คราวนี้ โรงเตาหลอมจะจ่ายเงินให้เหมืองบราซิลเมื่อได้รับสินค้า นั่นคือสินแร่เหล็ก , และโรงงานทำม้วนลวดเหล็กกล้าก็จะจ่ายให้แก่โรงเตาหลอมในทำนองเดียวกัน, โรงงานตะปูจะจ่ายให้แก่โรงม้วนลวดเหล็กกล้า เป็นเช่นนี้ไปทุกๆ ขั้นตอน ไม่มีใครในพวกเขาเลยที่จะต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารระหว่างประเทศสักแห่งหนึ่ง และนำเงินก้อนดังกล่าวไปฝากเอาไว้เฉยๆ เป็นแรมเดือน ระหว่างที่เฝ้ารอดูว่าสินค้าซึ่งสั่งไว้จะส่งมาถึงหรือยัง
อย่างที่ หัวเว่ย โฆษณาเอาไว้นั่นแหละ:
ด้วยการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลข่าวสารกันอย่างโปร่งใสระหว่างส่วนต่างๆ และการทำให้การเคลื่อนที่ไปตามจุดต่างๆ ของวัสดุกลายเป็นภาพซึ่งมองเห็นได้ตลอดสายขึ้นมา ระบบจึงสามารถก่อให้เกิดการร่วมมือประสานงานกันที่ดียิ่งขึ้นในระหว่างคน, ยานพาหนะ, สินค้า, และ คลังสินค้า เวลาเดียวกัน มันก็ทำให้การต่อเชื่อมกันระหว่างจุดต่างๆ ตลอดสาย กระทำได้ในแบบเรียลไทม์ พร้อมกันนั้นยังมีความสามารถเสนอข้อมูลความเสี่ยงจากภายนอก, ความสามารถที่จะส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า, และการเตือนความจำอย่างอัจฉริยะให้ระลึกถึงทางเลือกอื่นๆ ซึ่งสามารถกระทำได้ สำหรับในกระบวนการกระจายสินค้านั้น บิ๊กดาต้า กับ เอไอ ทำหน้าที่คำนวณอย่างอัจฉริยะในเรื่องแผนการจัดเก็บสินค้า และเส้นทางขนส่งที่ให้ประโยชน์สูงสุด เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการกระจายสินค้า และทำให้ใช้ทรัพย์สินอย่างได้ประโยชน์สูงสุด
การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมการค้าและการเงินอย่างยิ่งใหญ่มโหฬารนี้ ไม่ได้มีอะไรที่เป็นการสมคบคิดวางแผนร้ายหรือพฤติการณ์ชั่วช้าเลวทรามใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่อ้างอิงเอาไว้ข้างต้นเป็นสิ่งซึ่งระบุอยู่ในเว็บไซต์ของหัวเว่ย และยังมีบริษัทอื่นๆ อีกมากมายซึ่งเสนอบริการอย่างเดียวกันนี้ สำหรับเรื่องที่จีนกำลังกลายเป็นผู้นำในสาขานี้ขึ้นมาได้ ก็เนื่องจากจีนเป็นประเทศแรกที่จัดสร้างเครือข่ายบรอดแบนด์เคลื่อนที่ระบบ 5จี ระดับทั่วประเทศขึ้นมาใช้งาน จึงทำให้เป็นไปได้ที่จะรวบรวมและแปรรูปข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสายโซ่อุปทานของโลกได้ในแบบเรียลไทม์
ทุกๆ ธุรกิจโดยองค์รวมแล้วย่อมมีความแตกต่างมีความหลากหลาย แต่สายโซ่อุปทานที่สลับซับซ้อนจะทำหน้าที่รับจ่ายเบิกถอนด้วยการโอนเงินในระบบดิจิตอล จากบัญชีสกุลเงินตราดิจิตอลที่ธนาคารกลาง (central bank digital currency หรือ CBDC) ของธุรกิจนั้นๆ เวลานี้ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (แบงก์ชาติจีน) กำลังร่วมมือประสานงานกับหน่วยงานหลักในด้านการชำระเงินระหว่างประเทศของโลก ซึ่งก็คือ สมาคมเพื่อการสื่อสารทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) เพื่อทำให้การโอนเงินด้วยสกุลเงินหยวนดิจิตอล สามารถกระทำได้ด้วยความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
พวกผู้ส่งออกและผู้นำเข้า (แทบทั้งหมด) จะคงยอดเงินเหลือในบัญชีธนาคารเอาไว้ในรูปสกุลเงินดอลลาร์และสกุลเงินยูโร เนื่องจากเป็นสกุลเงินตราซึ่งพวกธนาคารปล่อยกู้ให้ ขณะที่เงินฝากในธนาคารออฟชอร์ทั้งหลาย ส่วนข้างมากแล้วก็อยู่ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ –มูลค่ารวมอยู่ที่ 16 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว – ถึงแม้ว่าสหรัฐฯมีการส่งออกคิดเป็นเพียงแค่ 8% ของการส่งออกของโลกเท่านั้น ขณะที่จีนมีส่วนอยู่ 12% และส่วนแบ่งนี้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยความรุดหน้าก้าวไกลของโลจิสติกส์อัจฉริยะ, การบริหารจัดการสินค้าคงคลังแบบ just-in-time และการชำระเงินค่าสินค้าในการค้าโลกแบบ just-in-time พวกผู้ส่งออกก็ไม่จำเป็นต้องทำสัญญาว่าจะชำระเงินด้วยสกุลเงินตราต่างประเทศในเวลาอีกหลายๆ เดือนข้างหน้า แล้วก็ต้องซื้อเครื่องมือประกันความเสี่ยงราคาแพงเพื่อป้องกันภาวะตลาดเงินตราเคลื่อนไหววูบวาบ โดยที่พวกเขาจะได้รับชำระเงินในบัญชี CBDC ของพวกเขาเองเท่านั้น
การที่จีนจะครองฐานะเป็นผู้มีอิทธิพลครอบงำเหนือสกุลเงินตราดิจิตอลนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วตามธรรมชาติจากการที่จีนมีฐานะเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญที่สุดของโลก และเนื่องจากหยวนดิจิตอลจะกลายเป็นสกุลเงินตราใหญ่ที่สุดในการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการที่จีนนำเอา CBDC ออกมาใช้ก่อนใครๆ ยังจะมีความได้เปรียบในการเป็นผู้นำของตลาด พวกผู้ส่งออกในที่อื่นๆ ก็ย่อมรู้สึกสะดวกที่จะใช้หยวนดิจิตอลไปด้วย
นี่จะก่อให้เกิดผลพวงต่อเนื่องระดับเล็กๆ เท่านั้นต่อฐานะในโลกของอเมริกา ยกเว้นแต่มันมีข้อเท็จจริงอยู่ว่า เวลานี้สหรัฐฯจำเป็นต้องกู้เงินเงินประมาณ 15% ถึง 20% ของจีดีพีของตนอยู่ทุกๆ ปี เพื่อนำมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณภายในของตน และยังจำเป็นต้องดึงดูดเงินทุนไหลเข้าราวๆ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาชดเชยการขาดดุลชำระเงินที่ตนมีกับประเทศอื่นๆ ในโลก โดยที่การขาดดุลนี้กำลังเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ
ชีแทน อะห์ยา (Chetan Ahya) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ และเพื่อนร่วมงานของเขา ได้ออกรายงานฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 19 เมษายน โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Digital Disruption: The Inevitable Rise of CBDC ในรายงานฉบับนี้ พวกเขาตั้งข้อสังเกตเอาไว้sลายข้อ ดังนี้:
** “ถึงแม้พวกธนาคารกลางจะพยายามไม่สร้างความยุ่งยากให้แก่ธนาคารทั้งหลาย แต่บัญชี CBDC ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้นในเรื่องการหาเงินฝากจากลูกค้า
** “จากความสามารถในการเข้าถึงธนาคารกลางต่างๆ ได้โดยตรง จะเปิดทางให้พวกกิจการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-banks) ซึ่งมีความสามารถทางด้านเทค เสนอให้บริการต่างๆ ทางด้านการชำระเงิน และบริการด้านกระเป๋าเงินดิจิตอล และจากการให้บริการในด้านต่างๆ เหล่านี้พวกเขาจะสามารถทราบข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้าได้
** “เมื่อผสมผสานกับความก้าวหน้าในเรื่องAI พวกบิ๊กเทคจะสามารถใช้ข้อมูลธุรกรรมไปในเรื่องการประเมินสินเชื่อ และเรื่องการขายสินค้าและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (cross selling)
** “ในกรณีที่เกิดผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่สุด ธนาคารทั้งหลายอาจจะสูญเสียฐานเงินฝาก, ความสามารถในการปล่อยกู้ของธนาคาร จำเป็นที่จะต้องอาศัยแหล่งเงินจากผู้ลงทุนรายใหญ่ หรือจากธนาคารกลาง”
ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ มอร์แกน สแตนลีย์ โต้แย้งว่า หยวนดิจิตอลจะไม่คุกคามสถานะการเป็นสกุลเงินตราสำรองของดอลลาร์ ซึ่งในทางเทคนิคแล้ว พูดเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทว่ามันพลาดประเด็นสำคัญไป กล่าวตือ ระบบเงินดิจิตอลจะทำให้ฐานเงินฝากของระบบธนาคารกลวงโบ๋ไปเลย โดยจุดเน้นสำคัญที่สุดคือเงินฝากสำหรับการใช้เพื่อการชำระเงินทางการค้า สกุลเงินตราสำรองนั้นจะไม่หายไปไหน แต่มันจะกลายเป็นแค่สิ่งที่เหลือตกค้างอยู่เท่านั้น รายงานของ ชีแทน อะห์ยา และคณะ โฟกัสที่เรื่องสกุลเงินตราดิจิตอลจะมีนัยต่อภายในประเทศอย่างไร ซึ่งมันอาจจะมีอย่างกว้างขวางทีเดียว แต่พวกเขาไม่ได้โฟกัสที่นัยในระดับโลก ซึ่งมันจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงกว้างไกลล้ำลึกยิ่ง
สหรัฐฯจะสูญเสียสิ่งที่พวกนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า seigniorage ซึ่งเป็นศัพท์ที่มีต้นตอมาจากค่าความแตกต่างระหว่างมูลค่าของเหรียญทองคำหรือเหรียญเงิน กับปริมาณเนื้อโลหะทองคำหรือเนื้อโลหะเงินที่ใช้ในการทำเหรียญแต่ละเหรียญขึ้นมา ค่า seigniorage ของดอลลาร์สหรัฐฯนั้นผมประมาณการอย่างหยาบๆ เอาไว้ที่ราวๆ 25 ล้านล้านดอลลาร์ (16 ล้านล้านดอลลาร์อยู่ในรูปของเงินฝากสกุลดอลลาร์ในต่างแดน บวกกับอีก 8 ล้านล้านดอลลาร์ในรูปของพวกพันธบัตรคลังและตั๋วเงินคลังซึ่งต่างชาติครอบครองอยู่)
สหรัฐฯจะสูญเสียสินเชื่อราคาถูกๆ ปริมาณมหาศาลเช่นนี้ ซึ่งเคยได้รับจากประเทศอื่นๆ ในโลก ในช่วงเวลาที่สหรัฐฯกำลังต้องการได้สินเชื่อเช่นนี้มากที่สุดเสียด้วย