เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – ครั้งแรกที่อังกฤษส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินฝูงใหญ่เข้ามหาสมุทรแปซิฟิกพฤษภาคมที่จะถึงโดยจะเดินทางร่วมกับเครื่องบินรบสหรัฐฯ F-35B และเรือรบพิฆาตนำติดมิสไซล์นำวิถีของสหรัฐฯรวมไปถึงเรือรบชั้นฟริเกตของเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ออสเตรเลียแถลงวันนี้(28)จะเพิ่มงบทางทหารเตรียมปรับปรุงฐานทัพที่ทางเหนือไกลโพ้นและขยายการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯ เป็นการเตรียมรับการลั่นกลองรบไปกลายๆ
เอเอฟพีรายงานวันนี้(28 เม.ย)ว่า ความตรึงเครียดภายในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกที่ดูเหมือนก่อตัวมากขึ้นเกิดจากการแสดงความเป็นปรปักษ์ระหว่างกันระหว่างจีนและโลกตะวันตก ล่าสุดวันพุธ(28)นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สกอตต์ มอร์ริสสัน ประกาศแผนมูลค่าครึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในการเร่งปรับปรุงฐานทัพทหารที่ใช้ในการฝึก 4 แห่งในเขตทางเหนือที่ไกลโพ้นภายใน 5 ปีข้างหน้า
งบการปรับปรุงดังกล่าวนั้นมีความคลอบคลุมเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับจำนวนตัวเลขดอลลาร์ที่สูงกว่าเมื่อ 2 ปีก่อนหน้าและจะเปิดโอกาสให้ออสเตรเลียได้สามารถฝึกซ้อมรบกับสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯที่มาผลัดเปลี่ยนกำลังที่เมืองดาร์วิน(Darwin)เมืองท่าทางเหนือ
รัฐบาลออสเตรเลียสายเหยี่ยวของมอร์ริสสันแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและจีนไม่สู้ดี ล่าสุดรัฐบาลแคนเบอร์ราได้ออกคำสั่งยกเลิกสัญญาข้อตกลงโครงการข้อตกลงลงหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางระหว่างปักกิ่งและรัฐวิคตอเรียที่ได้ลงนามข้อตกลง MOU ร่วมกันเมื่อปี 2018 สร้างความไม่พอใจให้กับจีนเป็นอย่างมาก
“พวกเราจะต้องทำสิ่งที่จำเป็นเสมอเพื่อทำให้มั่นใจว่าออสเตรเลียจะคงมีศักยภาพในการป้องกันและการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง” มอร์ริสสันแถลงในวันพุธ(28)
ซึ่งปีที่แล้วรัฐบาลมอร์ริสสันได้เสนอแผนให้มีการเพิ่มยุทโธปกรณ์ไฮเทคชั้นเลิศให้กับกองทัพจากการที่ออสเตรเลียพบกับภัยคุกคามเพิ่มขึ้นจากจีน
และผู้เชี่ยวชาญทางการทหารได้เสนอให้ออสเตรเลียควรพัฒนาประสิทธิภาพอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองเนื่องมาจากคลังแสงของออสเตรเลียนั้นค่อนข้างเล็กและอาจไม่สามารถต้านทานได้หากต้องพบกับการบุกจากประเทศที่มีขนาดใหญ่เช่นจีน
สัปดาห์นี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลออสเตรเลียออกมาเตือนว่า ประเทศโลกเสรีเป็นอีกครั้งที่ได้ยิน “กลองรบ”ในภูมิภาค รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลียที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ปีเตอร์ ดัตตัน (Peter Dutton) แสดงความเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามระหว่างจีนและไต้หวัน
แต่อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์ที่รวมไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เควิน รัดด์ และพวกสื่ออิทธิพล เป็นต้นว่า รูเพิร์ท เมอร์ด็อค รวมหัวกันสร้างสถานการณ์ดูวิกฤตเพื่อหันเหความสนใจประชาชนให้ออกไปจากปัญหาภายในประเทศ
การออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าวของออสเตรเลียเกิดขึ้นหลังก่อนหน้าในวันจันทร์(26)ที่ทาง เบน วอลเลซ ( Ben Wallace)รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษแถลงว่า จะเป็นครั้งแรกที่อังกฤษตัดสินใจร่วมส่งกองเรือจู่โจมพิฆาตแล่นผ่านน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกภายใต้สัญลักษณ์ “โกลบอล บริเตน” (Global Britain) CNN สื่อสหรัฐฯรายงานเมื่อวานนี้(27)
“เมื่อกองเรือจู่โจมพิฆาต (CSG)เริ่มต้นออกเดินทางเดือนหน้า มันจะติดธงที่แสดงถึง “โกลบอล บริเตน” ประกาศถึงอิทธิพลของพวกเราส่งสัญญาณไปถึงอำนาจของพวกเรา ร่วมมือกับเพื่อนของเราและยังเป็นการยืนยันต่อพันธสัญญาเพื่อตอบโต้ต่อการเปลี่ยนแปลงที่ท้าท้ายทางความมั่นคงของวันนี้และพรุ่งนี้”
และเสริมว่า “อังกฤษจะไม่ก้าวถอยหลังแต่ยังนำไปข้างหน้าเพื่อแสดงบทบาทเคลื่อนไหวในในการเปลี่ยนแปลงระบบระหว่างประเทศของศตวรรษที่ 21”
ฝูงเรือโจมตีจะนำโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS ควีน เอลิซาเบธ (HMS Queen Elizabeth) ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษ และยังเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ทางลอนดอนเคยส่งออกทะเล
และฝูงเรือจะตามด้วยเรือพิฆาตอีก 2 ลำ เรือชั้นฟริเกตต่อต้านเรือดำน้ำอีก 2 ลำ เรือดำน้ำ 1 ลำ และเรือสนับสนุนเชิงยุทธปัจจัยอีก 2 ลำ อ้างอิงจากแถลงการณ์กระทรวงกลาโหมอังกฤษ
CNN รายงานว่า อย่างไรก็ตามพบว่า เครื่องบิน F-35B นาวิกโยธินสหรัฐฯจะถูกส่งออกไปเกี่ยวกับเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS ควีน เอลิซาเบธ ระหว่างการฝึกซ้อมในเดือนกันยายน
ขณะที่เรือรบพิฆาตนำติดมิสไซล์นำวิถีของกองทัพเรือสหรัฐฯจะร่วมขบวนไปกับกองเรืออังกฤษที่จะติดตามไปพร้อมกับเรือรบชั้นฟริเกตจากเนเธอร์แลนด์ 1 ลำ กระทรวงกลาโหมอังกฤษชี้
โดยขุมอำนาจทางอากาศจะรวมศูนย์อยู่ที่เครื่องบินรบขับไล่ล่องหน RAF F-35B และเครื่องบินขับไล่ F-35B ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ
ทั้งนี้พบว่าช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่ผ่านมาระหว่างการแอบฝึกซ้อมรบร่วมกันของกองเรือรบนี้ที่นอกชายฝั่งสกอตแลนด์ ในเวลานั้นกระทรวงกลาโหมอังกฤษระบุว่า เป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ที่สุดของเครื่องบินขับไล่ในทะเลจากเรือบรรทุกเครื่องบินราชนาวีอังกฤษนับตั้งแต่เรือรบ HMS เฮอร์มีส( HMS Hermes) ในปี 1983
ทั้งนี้ก่อนหน้าเมื่อมีนาคม อังกฤษได้ประกาศนโยบายการปรับเปลี่ยนทางการต่างประเทศและการทหารเกี่ยวกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และในแถลงการณ์วันจันทร์(26) การส่งกองเรือรบอังกฤษออกไปสู่ภูมิภาคครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อแสดงบทบาทสำคัญมากขึ้นทางความมั่นคง และการฝึกซ้อมร่วมตามแผนกับอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และกองกำลังสหรัฐฯในภูมิภาค
และกระทรวงกลาโหมอังกฤษยังกล่าวว่า จะเป็นการย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทางความมั่นคงที่เก่าแก่ที่สุด ข้อตกลงทางความมั่นคงระหว่างมาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอังกฤษ ซึ่งการซ้อมรบเบอร์ซามา ลิมา( Exercise Bersama Lima) จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการครบ 50 ปีของข้อตกลง
ทั้งนี้การเดินทางของกองเรือจู่โจมพิฆาตอังกฤษจะเยือน 40 ประเทศตลอดทางตั้งแต่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจนถึงทะเลอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเส้นทางรวม 48,280 กิโลเมตร แต่ทว่าในเวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะเปิดเผยเส้นทางเดินเรือ แต่ชี้ว่า การแวะที่ “สิงคโปร์” จะรวมอยู่ในแผนก่อนที่จะไปจอดที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น และเป็นที่คาดว่าทางกองเรือจะแล่นผ่านทางตะวันออกของไต้หวันอีกด้วย
ทั้งนี้จากสื่อบีบีซี เมื่อวันที่ 19 ธ.ค ปี 2017 มีการพบว่าเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS ควีน เอลิซาเบธ ไม่มีฝูงเครื่องบินรบประจำติดมาด้วยในเวลานั้น โดยทางส.สอังกฤษได้ออกมาแสดงความวิตกถึงราคาค่าฝูงเครื่องบินรบ F-35 ที่จะประจำอยู่
ซึ่งหลังการประกาศข่าวในวันจันทร์(26)ออกมา พบว่าทางญี่ปุ่นได้ออกมาแสดงความยินดีและต้อนรับการเดินทางมาเยือนของกองเรือรบอังกฤษมายังญี่ปุ่น