นักเคลื่อนไหวพม่าในวันจันทร์ (26 เม.ย.) ชวนประชาชนเปลี่ยนยุทธวิธีต่อต้านคณะปกครองทหาร ด้วยการหยุดจ่ายค่าไฟและหนี้เกษตรกร รวมทั้งงดส่งลูกไปโรงเรียน ขณะที่การพิจารณาคดีอองซานซูจีเจอเลื่อนอีกรอบเป็นต้นเดือนหน้า นอกจากนั้นยังมีแหล่งข่าววงในเผยว่า ร่างคำแถลงอาเซียนฉบับดั้งเดิมมีข้อความเรียกร้องให้พม่าปล่อยนักโทษการเมือง แต่ในที่สุดได้ถูกตัดออกไป
มีชาวพม่าออกมาชุมนุมประท้วงกระจัดกระจายในหลายเมืองเมื่อวันอาทิตย์ (25) หรือหนึ่งวันหลังจากที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการรัฐประหาร บรรลุข้อตกลงกับผู้นำชาติอาเซียนคนอื่นๆ ในการประชุมสุดยอดวาระพิเศษของอาเซียนซึ่งจัดขึ้นที่อินโดนีเซีย
ทั้งนี้ จากคำแถลงภายหลังการประชุมของบรูไน ในฐานะประธานอาเซียนวาระปัจจุบัน ระบุว่า ที่ประชุมได้บรรลุฉันทามติ 5 ข้อ ได้แก่ การยุติความรุนแรง การเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คณะผู้แทนพิเศษของอาเซียนจะช่วยส่งเสริมการเจรจา การยอมรับความช่วยเหลือและยอมให้คณะผู้แทนดังกล่าวเดินทางเยือนพม่า
ทว่า ฉันทามติดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงนักโทษการเมืองในพม่า ซึ่งสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) เผยว่า มีประชาชน 3,431 คนถูกจับกุมจากการประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร และยังมีผู้เสียชีวิตเกือบ 750 คนนับจากที่กองทัพพม่าเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าววงในที่ไม่ประสงค์เปิดเผยตัวตน 3 คนยืนยันว่า ร่างคำแถลงที่นำออกมาเวียนหารือกันเมื่อวันศุกร์ (24) ก่อนการประชุมซัมมิตในวันเสาร์ (25) นั้น มีข้อความเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งรวมถึงซูจี ประธานาธิบดีวินมิ้น และบรรดาสมาชิกรัฐสภา
แหล่งข่าวสองคนที่ได้เห็นร่างคำแถลงสำทับว่า แปลกใจที่มีการเปลี่ยนเนื้อหา แต่ไม่ได้บอกว่า เกิดขึ้นได้อย่างไรและเมื่อใด
บรรดานักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าและกลุ่มสิทธิมนุษยชนของโลกตะวันตก ต่างไม่พอใจและโจมตีว่าข้อตกลงระหว่างผู้นำคณะปกครองทหารพม่ากับอาเซียนไม่ได้สะท้อนสถานการณ์จริงในพม่า แต่เป็นการตบหน้าประชาชนที่ถูกทหารล่วงละเมิด ฆ่าและคุกคาม และนักเคลื่อนไหวพม่าก็ประกาศเดินหน้าประท้วงต่อ
ในวันจันทร์ ผู้ประท้วงหลายร้อยคนออกมาชุมนุมบนถนนในหลายเมือง และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องยกระดับมาตรการอารยะขัดขืนด้วยการเลิกจ่ายค่าไฟและหนี้เกษตรกร รวมทั้งเลิกส่งลูกไปโรงเรียน
ทั้งนี้ การต่อสู้แบบอารยะขัดขืนและการนัดหยุดงาน กำลังทำให้เศรษฐกิจพม่าเสียหายอย่างมาก และหน่วยงานบรรเทาทุกข์หลายแห่งเตือนว่า ปัญหาความอดอยากในประเทศนี้อาจรุนแรงขึ้น
ขณะเดียวกัน เมื่อวันจันทร์ ทนายความเผยว่า ทางการปกครองทหารได้เลื่อนการพิจารณาคดีซูจีอีกครั้งเป็นวันที่ 10 พฤษภาคม ขณะเดียวกันก็ยังไม่อนุญาตให้ซูจีพบกับทีมกฎหมายแบบตัวต่อตัว
มิน มิน โซ ทนายความของซูจีที่ถูกควบคุมตัวในบ้านพักมานานถึง 12 สัปดาห์ และถูกตั้งข้อหา 6 คดี ซึ่งรวมถึงการปลุกระดมให้ต่อต้านรัฐบาลทหาร และการครอบครองวิทยุสื่อสารโดยไม่มีใบอนุญาต เผยว่า ซูจียังดูแข็งแรงดีแต่ผอมลง
ทั้งนี้ ระหว่างรับฟังการไต่สวนผ่านระบบวิดีโอลิงก์เมื่อวันจันทร์ ซูจีได้ขอให้ศาลอนุญาตให้พบกับทีมทนายความเป็นการส่วนตัว ทว่า ตำรวจอ้างว่า กำลังส่งคำขอดังกล่าวให้หน่วยงานระดับสูงพิจารณา
ซูจีได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับทนายความผ่านระบบวิดีโอลิงก์โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยประกบ และทนายความเชื่อว่า เธอไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตามข่าวหรือดูทีวี จึงไม่รับรู้สถานการณ์ความเป็นไปในขณะนี้
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)