รอยเตอร์ – สาธารณรัฐเช็กแจ้งพันธมิตรในนาโตและอียูเรื่องที่สงสัยว่า รัสเซียเกี่ยวข้องกับเหตุคลังแสงระเบิดเมื่อปี 2014 โดยจะมีการหารือประเด็นนี้ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอียูในวันจันทร์ (19 เม.ย.)
เช็กขับไล่เจ้าหน้าที่สถานทูตรัสเซีย 18 คนออกนอกประเทศเมื่อวันเสาร์ (17 เม.ย.) หลังการสอบสวนพบว่า หน่วยข่าวกรองรัสเซียพัวพันกับเหตุระเบิดดังกล่าวที่มีผู้เสียชีวิต 2 คน
วันเดียวกันนั้น สำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์ของรัสเซียรายงานโดยอ้างคำกล่าวของวลาดิมีร์ ซาบารอฟ รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการระหว่างประเทศของวุฒิสภารัสเซียที่ตอบโต้ว่า การกล่าวอ้างของปรากไร้สาระและรัสเซียจะตอบโต้อย่างสาสม
การขับเจ้าหน้าที่สถานทูตและข้อกล่าวหาดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกกำลังตึงเครียดอย่างหนัก และยังทำให้เกิดข้อพิพาทรุนแรงที่สุดระหว่างเช็กกับรัสเซียนับจากสิ้นสุดการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ในปี 1989 หลังจากปรากอยู่ใต้การครอบงำของมอสโกมานานนับทศวรรษ
ในวันอาทิตย์ (18 เม.ย.) แจน ฮามาเซ็ก รักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศเช็ก ทวิตยืนยันว่า คณะกรรมาธิการอียูจะหารือข้อพิพาทนี้ระหว่างการประชุมทางไกลผ่านจอภาพของรัฐมนตรีต่างประเทศอียูในวันจันทร์
ขณะเดียวกัน ตำรวจเช็กเผยว่า กำลังติดตามตัวชายสองคนที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง โดยทั้งคู่ซึ่งถือหนังสือเดินทางรัสเซียภายใต้ชื่ออเล็กซานเดอร์ เปตรอฟ และรัสลาน โบชิรอฟ อยู่ในเช็กก่อนเกิดเหตุระเบิดปี 2014
ทั้งนี้ ชื่อที่ปรากฏในหนังสือเดินทางเป็นชื่อปลอมของเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองทางทหาร (จีอาร์ยู) ของรัสเซีย ซึ่งอัยการอังกฤษกล่าวหาว่า พยายามวางยาพิษเซียร์เก สกรีปัล อดีตสายลับรัสเซีย และลูกสาว ด้วยสารทำลายประสาทโนวิช็อก ในเมืองซอลส์บรีของอังกฤษเมื่อปี 2018 ทว่า รัสเซียปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้
ด้านอเมริกาและอังกฤษประกาศสนับสนุนเช็ก โดยเมื่อวันเสาร์ สถานทูตอเมริกันประจำกรุงปรากออกแถลงการณ์ระบุว่า วอชิงตันยืนหยัดเคียงข้างเช็ก และชื่นชมการตอบโต้รัสเซียสำหรับการกระทำที่เป็นอันตรายบนผืนแผ่นดินเช็ก
โดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ทวิตว่า อังกฤษสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อเช็กที่ประกาศชัดเจนว่า จีอาร์ยูจะต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินการที่เป็นอันตรายและประสงค์ร้าย อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำรูปแบบพฤติกรรมที่สร้างความปั่นป่วนภายหลังการโจมตีในซอลส์บรี
ความสัมพันธ์ระหว่างเครมลินกับสมาชิกหลายชาติขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอียู รวมทั้งกับอเมริกา ขณะนี้ตึงเครียดที่สุดนับจากสงครามเย็น
ตะวันตกพากันกังวลกับการเพิ่มกำลังพลขนาดใหญ่ตามแนวชายแดนด้านตะวันตกของรัสเซียและในไครเมีย ซึ่งมอสโกเข้าผนวกจากยูเครนในปี 2014 ภายหลังการต่อสู้ในยูเครนตะวันออกระหว่างกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียและกองทัพของรัฐบาลยูเครน
สัปดาห์ที่ผ่านมา อเมริกาออกมาตรการแซงก์ชันรัสเซียกรณีการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว รวมถึงการเจาระบบคอมพิวเตอร์ การรังแกยูเครน และพฤติกรรมประสงค์ร้ายอื่นๆ ทำให้รัสเซียต้องออกมาตอบโต้