กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เผยเวียดนาม, สวิตเซอร์แลนด์ และไต้หวัน มีพฤติกรรมที่อาจเข้าเกณฑ์การปั่นค่าเงิน (currency manipulation) ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ปี 2015 ขณะที่ “ไทย” ยังติดโผประเทศที่ถูกอเมริกาจับตามองต่อเนื่องจากการประเมินครั้งก่อน
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานรอบครึ่งปีว่าด้วยสถานการณ์ค่าเงินเมื่อวันที่ 16 เม.ย. โดยระบุว่าจะมีการ “ยกระดับหารือ” กับไต้หวัน รวมถึงพูดคุยกับรัฐบาลเวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากที่ทั้ง 2 ประเทศหลังเคยถูกสหรัฐฯ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ตราหน้าว่าเป็นชาติที่ปั่นค่าเงินเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในปี 2020 ไต้หวัน, เวียดนาม และสวิตเซอร์แลนด์มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์, มีการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศเกิน 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับประเทศต่างๆ เกิน 2% ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงย้ำว่า “ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ” ที่จะสรุปได้ว่าทั้ง 3 ชาติมีการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า หากพิจารณาภายใต้กฎหมายการค้าปี 1988
ผลการประเมินครั้งนี้ช่วยให้สวิตเซอร์แลนด์และเวียดนามถูกถอดออกจากบัญชีประเทศปั่นค่าเงินไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน
ด้านเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางไต้หวันออกมาระบุว่า การที่สหรัฐฯ ยังไม่ตราหน้าไต้หวันเป็นชาติที่ปั่นค่าเงินสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้ง 2 ประเทศ และบ่งบอกว่าวอชิงตันเข้าใจดีว่าไต้หวันอยู่ภายใต้ “สถานการณ์พิเศษ”
ยอดส่งออกสินค้าไฮเทคจากไต้หวันไปยังสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นในปี 2020 สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนหันมาทำงานที่บ้าน (WFH) กันมากขึ้น และทำให้ความต้องการสินค้าจำพวกคอมพิวเตอร์แลปท็อปและเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ในการประเมินรอบนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังได้กำหนดให้คู่ค้า 11 ประเทศถูกจัดอยู่ในบัญชีเฝ้าระวัง (Monitoring List) ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เยอรมนี, ไอร์แลนด์, อิตาลี, อินเดีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย, และเม็กซิโก ซึ่งทุกประเทศยกเว้นไอร์แลนด์กับเม็กซิโกล้วนเคยมีรายชื่ออยู่ในบัญชีเฝ้าระวังตามรายงานฉบับที่แล้ว
ล่าสุดวันนี้ (17) นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กรของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ไทยยังคงถูกจัดอยู่ใน monitoring list ต่อเนื่องจากการประเมินครั้งก่อน (เดือนธันวาคม 2563) เนื่องจากประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่าร้อยละ 2 ของ GDP ซึ่งเป็นเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐที่กำหนดให้ติดตามประเทศใน monitoring list ต่อเนื่องไปอีก 2 รอบการประเมิน
ธปท. ขอย้ำว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน monitoring list ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคเอกชนไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ อีกทั้งการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อบทบาทของ ธปท. ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ และเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของธนาคารกลางและความเหมาะสมของสถานการณ์ โดย ธปท. จะติดตามและประเมินการเปลี่ยนแปลงของดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระยะข้างหน้าที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐฯ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็นเพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า โดยไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด
ที่มา: รอยเตอร์