สหรัฐฯ และ 3 ชาติยุโรปที่เป็นภาคีในข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์อิหร่านออกมาเตือนรัฐบาลเตหะรานให้ล้มเลิกแผนเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเพิ่มเป็น 60% ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ วิจารณ์ว่าเป็นการกระทำ “ยั่วยุ” พร้อมตั้งคำถามกลับไปยังอิหร่านว่ามีความจริงใจแค่ไหนที่จะกลับสู่โต๊ะเจรจา
ก่อนหน้านั้น รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศจะเริ่มการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมให้มีความบริสุทธิ์สูงถึง 60% ซึ่งถือเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ไปสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับ “ยูเรเนียมเกรดอาวุธ” ที่จะต้องมีความบริสุทธิ์ถึง 90% โดยทางการอิหร่านอ้างว่าเป็นไปเพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์แห่งสำคัญที่เมืองนาตันซ์เมื่อสัปดาห์ก่อน
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า สิ่งที่อิหร่านพูดมานั้นก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า อิหร่านมีความจริงใจแค่ไหนที่จะเปิดเจรจากับชาติมหาอำนาจเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015
“เรามองว่าคำประกาศเจตนาเสริมสมรรถนะยูเรเนียม 60% ของอิหร่านเป็นเรื่องใหญ่มาก” บลิงเคน เปิดแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ของนาโตในกรุงบรัสเซลส์ “ผมต้องเรียนให้ทราบว่า เรื่องนี้ก่อให้เกิดคำถามว่าอิหร่านมีความจริงใจหรือไม่ที่จะกลับเข้าร่วมเวทีเจรจาด้านนิวเคลียร์”
ข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านทำร่วมกับ 6 ชาติมหาอำนาจเมื่อปี 2015 หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA)” ตกอยู่ในสภาพลูกผีลูกคน หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปในปี 2018 และฟื้นมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านอีกครั้ง ทำให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการทยอยละเมิดข้อจำกัดในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม
สัปดาห์ที่แล้ว อิหร่านและประเทศคู่เจรจาได้เปิดประชุมหารือที่กรุงเวียนนาในความพยายามที่จะฟื้นข้อตกลงกลับมาอีกครั้ง แต่แล้วก็มาเกิดเหตุโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (11) ซึ่งอิหร่านเชื่อว่าเป็นฝีมือของ “อิสราเอล”
อังกฤษ, ฝรั่งเศส และเยอรมนี ระบุว่า การที่อิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเพิ่มจากระดับ 20% เป็น 60% และเปิดใช้เครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์ (centrifuges) อีกกว่า 1,000 เครื่องในโรงงานนาตันซ์ เป็นสิ่งที่ “ขัดแย้ง” กับวัตถุประสงค์ของการเจรจา ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า “ไม่เห็นด้วยกับการกระพือความตึงเครียดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ซึ่งน่าจะหมายถึงอิสราเอล
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (14) อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ออกมาวิจารณ์สหรัฐฯ ว่าพยายามตั้งเงื่อนไขกดดันอิหร่าน ขณะที่มหาอำนาจยุโรปก็ได้แต่ทำตามใบสั่งของอเมริกา
“การเจรจานิวเคลียร์ที่เวียนนาต้องไม่ใช่การพูดคุยเพื่อทำให้อิหร่านถดถอยลง นั่นคือสิ่งที่อันตรายสำหรับบ้านเมืองของเรา อิหร่านได้ประกาศนโยบายไปแล้วว่าจะต้องยกเลิกคว่ำบาตรก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อเรามั่นใจว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้ว เราจึงจะยอมทำในสิ่งที่เคยสัญญาเอาไว้” คอเมเนอี ระบุ ตามรายงานของสำนักข่าวตัสนีมซึ่งเป็นสื่อกึ่งทางการของอิหร่าน
“ข้อเสนอของพวกเขามักจะแฝงไปด้วยความก้าวร้าวและการข่มขู่เสมอ ซึ่งไม่มีค่าพอที่จะให้เราพิจารณา”
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศไว้ขณะที่รับตำแหน่งใหม่เมื่อเดือน ม.ค. ว่าจะนำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วม JCPOA อีกครั้ง หากอิหร่านยอมกลับมาปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลงอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็ดูจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากเตหะรานประกาศชัดเจนว่าต้องการให้ตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทุกชนิดเสียก่อน
ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ระบุวานนี้ (14) ว่า อิหร่านได้เตรียมความพร้อมเกือบจะสมบูรณ์แล้วสำหรับการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมเพิ่มเป็น 60% และได้แจ้งให้ IAEA รับทราบว่าจะเปิดใช้เครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์ IR-1 ที่โรงงานนาตันซ์เพิ่มอีก 1,024 เครื่อง
ทั้งนี้ ข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ได้วางข้อจำกัดไม่ให้อิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเกิน 3.67% ลดลงจากระดับความบริสุทธิ์ 20% ที่อิหร่านเคยทำได้ก่อนหน้านั้น และห่างไกลจากระดับ 90% ซึ่งจะเพียงพอสำหรับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์
(ที่มา : รอยเตอร์)