xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อนบ้านโวยลั่น! ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีกว่า 1 ล้านตันจาก ‘โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ’ ลงทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยืนยันวันนี้ (13 เม.ย.) ว่าจะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีกว่า 1 ล้านตันที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะลงสู่ทะเล ท่ามกลางความวิตกกังวลจากประเทศเพื่อนบ้าน และกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงจากชุมชนชาวประมงในท้องถิ่น

กระบวนการที่ว่านี้อาจเริ่มต้นในอีกหลายปีข้างหน้า และกินเวลานานนับสิบๆ ปีกว่าจะแล้วเสร็จ แต่ถึงกระนั้นก็ยังเรียกเสียงวิจารณ์ดังกระหึ่มจากทั้งในและนอกประเทศ

รัฐบาลปลาดิบอ้างว่าการปล่อยน้ำเหล่านี้ออกสู่ธรรมชาติมีความปลอดภัย เนื่องจากผ่านการบำบัดและขจัดสารกัมมันตรังสีออกเกือบหมด และเมื่อลงสู่มหาสมุทรก็จะยิ่งเจือจางไปอีก

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้ประกาศรับรองการปล่อยน้ำออกจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ พร้อมยืนยันว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งอื่นๆ ในโลกก็มีกระบวนการกำจัดน้ำเสียที่ไม่แตกต่างกัน

นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ แห่งญี่ปุ่นกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การปล่อยน้ำออกจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ “เป็นภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” และยังต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะทำให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้ถูกปิดตัวลงอย่างถาวร

ผู้นำญี่ปุ่นกล่าวสำทับว่า การปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “มั่นใจว่ามีความปลอดภัย” และต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการ “ปกป้องชื่อเสียงของประเทศ”

ปัจจุบันมีน้ำปนเปื้อนรังสีกว่า 1.25 ล้านตันถูกกักเก็บอยู่ในแทงก์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ซึ่งมีทั้งน้ำที่ใช้หล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ซึ่งเกิดการหลอมละลายหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2011 รวมไปถึงน้ำฝนและน้ำใต้ดินที่ไหลซึมเข้ามาทุกๆ วัน

โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีระบบปั๊มและกรองน้ำที่เรียกกันว่า Advanced Liquid Processing System (ALPS) ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละหลายตัน และกรองเอาสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ออกไป

บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เทปโก) ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้ามีแผนที่จะกรองน้ำเพื่อแยกไอโซโทปต่างๆ ออก เหลือเพียงทริเทียม (tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทปหนึ่งใน 3 ชนิดของอะตอมไฮโดรเจนที่ยากจะแยกออกจากน้ำได้ หลังจากนั้นก็จะนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วไปเจือจางอีก จนกระทั่งเหลือทริเทียมไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แล้วจึงปล่อยออกสู่ทะเล

กระนั้นก็ตาม ชุมชนชาวประมงในท้องถิ่นยังเกรงว่าการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าจะทำลายความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาหารทะเลจากจังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะกอบกู้คืนมาได้

“พวกเขาเคยบอกว่าจะไม่ปล่อยน้ำลงทะเล ถ้าชาวประมงไม่เห็นด้วย” คันจิ ทาจิยะ หัวหน้าสหกรณ์ชาวประมงในจังหวัดฟูกูชิมะ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NHK “เราไม่อาจสนับสนุนการกระทำที่ผิดสัญญา และการปล่อยน้ำลงทะเลโดยไม่ฟังเสียงใคร”

นอกจากเสียงคัดค้านจากคนในพื้นที่เองแล้ว ท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นยังนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกคำแถลงตำหนิโตเกียวว่า “ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง” พร้อมเตือนให้ญี่ปุ่นชะลอแผนการปล่อยน้ำ จนกว่าจะบรรลุข้อตกลงกับประเทศใกล้เคียงที่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึง IAEA

จีนยังขู่กลายๆ ว่าขอสงวนสิทธิ์ที่จะใช้มาตรการตอบโต้ หากญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าทำตามแผนเดิม

ก่อนหน้านั้น กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ก็ได้แสดงความ “ผิดหวังอย่างยิ่ง” ต่อการตัดสินใจของญี่ปุ่น ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาถือหางโตเกียว โดยระบุวันนี้ (13) ว่าที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่น “ได้ดำเนินการตัดสินใจอย่างโปร่งใส และใช้แนวทางที่สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยนิวเคลียร์ที่ทั่วโลกยอมรับ”

ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี




กำลังโหลดความคิดเห็น