เอพี – สื่อมวลชนรายงานในวันเสาร์ (10 เม.ย.) ว่ากองทัพพม่าสังหารผู้ประท้วงวันเดียวอย่างน้อย 82 คนในเมืองพะโค ถือเป็นสถิติผู้เสียชีวิตสูงสุดภายในวันเดียวนับจากวันที่ 14 มีนาคม ที่ผู้ประท้วงกว่า 100 คนถูกฆ่าตายในย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดในพม่าและอยู่ห่างจากพะโคราว 100 กิโลเมตร สื่อท้องถิ่นยังรายงานว่า ทหารขนร่างผู้เสียชีวิตไปทิ้งบนลานเจดีย์แห่งหนึ่ง
สำนักข่าวเอพีระบุว่า ไม่สามารถยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตในเมืองดังกล่าวได้ แต่สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) รายงานตัวเลขจากการรวบรวมเบื้องต้นไว้ที่ 82 คน
เอเอพีพีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตและถูกจับกุมเป็นประจำทุกวันตั้งแต่มีการปราบปรามผู้ประท้วงภายหลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
รายงานของเอเอพีพีได้รับการยอมรับว่า มีความน่าเชื่อถือสูงเนื่องจากรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตหลังจากได้รับการยืนยันเท่านั้น
สำหรับรายงานเมื่อวันเสาร์ เอเอพีพีคาดว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในเมืองพะโคจะเพิ่มขึ้นหลังการตรวจสอบยืนยันแล้วเสร็จ
เมียนมาร์ นาวรายงานยอดผู้เสียชีวิตในเมืองพะโคที่ 82 คนเช่นเดียวกัน โดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อซึ่งเกี่ยวข้องกับงานของมูลนิธิกู้ภัย สำนักข่าวออนไลน์แห่งนี้และสื่อท้องถิ่นอีกแห่งระบุว่า ร่างผู้เสียชีวิตถูกทหารพม่าเก็บไปทิ้งบนลานเจดีย์แห่งหนึ่ง
จากข้อมูลของเอเอพีพี มีผู้ประท้วงและผู้อยู่ในเหตุการณ์ถูกกองกำลังความมั่นคงของพม่าสังหารไปแล้วอย่างน้อย 701 คนนับจากการรัฐประหาร
การโจมตีเมืองพะโคถือเป็นการโจมตีครั้งที่ 3 ในรอบสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีการใช้กำลังทหารจำนวนมากเพื่อปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐบาลทหาร เริ่มต้นจากเมืองกะเล่ และเมืองตั่นเซทางเหนือ ซึ่งเป็นที่มั่นของผู้ประท้วงหัวรุนแรง โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยเมืองละ 11 คนเมื่อวันพุธ (7 เม.ย.)
กองกำลังความมั่นคงยังถูกกล่าวหาว่า ใช้อาวุธหนักในการโจมตีผู้ประท้วง ซึ่งรวมถึงเครื่องยิงจรวดอาร์พีจีและปืนครก ขณะที่การประท้วงในเมืองต่างๆ ทั่วพม่าส่วนใหญ่เป็นการประท้วงอย่างสันติและเป็นส่วนหนึ่งของการอารยะขัดขืน
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ตำรวจและทหารใช้อาวุธร้ายแรง ผู้ประท้วงหัวรุนแรงบางส่วนเริ่มจับอาวุธเพื่อป้องกันตัวโดยเป็นอาวุธที่ทำขึ้นเอง เช่น ระเบิดเพลิง บ้างใช้ปืนยาวล่าสัตว์ที่นิยมใช้ในชนบท
รายงานของเมียนมาร์ นาวระบุว่า ชาวบ้านในเมืองตามูซึ่งอยู่เขตเดียวกับกะเล่ ใช้ปืนล่าสัตว์ซุ่มโจมตีขบวนรถทหารเมื่อวันเสาร์ และอ้างว่า สังหารทหารไป 3 นาย
นอกจากใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงอย่างเหี้ยมโหดแล้ว รัฐบาลทหารพม่ายังออกหมายจับประชาชน 140 คน ซึ่งหลายคนในจำนวนนี้อยู่ในแวดวงสื่อมวลชนและบันเทิง ภายใต้ข้อหาเผยแพร่ข้อมูลที่บ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศและหลักนิติธรรม ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี โดยมีการประโคมข่าวผู้ถูกจับกุมในสื่อของทางการอย่างครึกโครม
เมื่อคืนวันศุกร์ (9 เม.ย.) สถานีเอ็มอาร์ทีวีของรัฐบาลรายงานว่า ศาลทหารสั่งประหารชีวิตประชาชน 19 คน ซึ่ง 17 คนในจำนวนนี้ไม่ได้ปรากฏตัวในศาล ข้อหาสังหารทหารนายหนึ่งในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม
การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่มีการประกาศกฎอัยการศึกในย่างกุ้ง และคำตัดสินนี้ดูเหมือนเป็นครั้งแรกที่มีการใช้โทษประหารภายใต้รัฐบาลทหารชุดนี้
ขณะเดียวกัน คริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษด้านพม่าของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เดินทางถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ เพื่อหารือกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับการคลี่คลายวิกฤตในพม่า ทั้งนี้ บูร์เกเนอร์ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสู่พม่า