xs
xsm
sm
md
lg

In Clip: ทูตพิเศษ UN ถึงกรุงเทพฯเตรียมหารือ “ดอน ปรมัตถ์วินัย” ปัญหาพม่า เสียชีวิตเกิน 700 พบใช้ “โดรนจีน” สอดแนมต้านรัฐประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/เอเอฟพี/MGRออนไลน์ – ทูตพิเศษสหประชาชาติด้านพม่า คริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ เดินทางถึงไทยวันศุกร์(9 เม.ย) เตรียมเข้าพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงต่างๆของไทยเพื่อหาวิธียุติปัญหาวิกฤตพม่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการกักตัวตามมาตรการขั้นตอนเข้าประเทศ ด้านองค์การสมาพันธ์สนับสนุนนักโทษการเมืองพม่าเปิดตัวเลข ยอดดับในพม่าเกิน 700 คนสุดสัปดาห์ มีการพบโดรนทำในจีนแอบสอดแนมการเคลื่อนไหวผู้ประท้วงต้านรัฐประหาร

สื่อสตาร์ของมาเลเซียรายงานเมื่อวานนี้(10 เม.ย)ว่า ทูตพิเศษสหประชาชาติด้านพม่า คริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ (Christine Schraner Burgener) เดินทางมาถึงกรุงเทพฯในวันศุกร์(9) เพื่อเริ่มต้นการเยือนทัวร์เอเชียอย่างเป็นทางการในความพยายามทางการทูตของยูเอ็นเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตพม่า ล่าสุดองค์การสมาพันธ์สนับสนุนนักโทษการเมืองพม่า(Assistance Association for Political Prisoners) เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตในพม่าล่าสุดสูงเกิน 700 คนแล้ว

ซึ่งในแถลงการณ์ทางทวิตเตอร์ของชราเนอร์ บูร์เกเนอร์วันศุกร์(9)ทางทวิตเตอร์ระบุว่า

“เพิ่งเดินทางมาถึงกรุงเทพฯเพื่อการเจรจา ดิฉันรู้สึกเสียใจที่ตัดมาดอว์(กองทัพพม่า)ตอบดิฉันเมื่อวานนี้ว่า พวกเขาไม่พร้อมที่จะรับรองดิฉัน ซึ่งดิฉันพร้อมสำหรับการหารือ ความรุนแรงไม่เคยนำไปสู่ผลลัพท์ความสงบสุขอย่างยั่งยืน”


พร้อมกันนี้เธอยังได้โพสต์แถลงการณ์ออกมาเป็นภาษาพม่า สื่อสตาร์ชี้ว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ออกแถลงการณ์ยืนยันการเดินทางเข้าไทยของทูตพิเศษยูเอ็น โดยชี้ว่า ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ นั้นได้รับวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 โดสก่อนหน้าแล้ว และในเวลานี้เธอกำลังอยู่ในมาตรการกักตัว 7 วัน สำหรับการเดินทางเข้าประเทศในสถานที่รัฐบาลให้การรับรอง

“หลังจากที่ท่านทูตเสร็จสิ้นการกักตัว ท่านจะเริ่มการหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยซึ่งรวมไปถึงรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย และสำนักงานสหประชาชาติอื่นๆ”

แถลงการณ์จากฝ่ายไทยที่ออกมาในวันเสาร์(10)ยังระบุว่า “การเดินทางเยือนไทยในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของทูตพิเศษสหประชาชาติที่จะเยือนหลายประเทศในภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองต่อสถานการณ์ในพม่า ที่มีมุมมองเพื่อหาช่องทางเพื่อนำไปสู่ผลลัพท์ที่มีความเป็นไปได้”

กระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้าน ทางไทยมีความกังวลอย่างสูงต่อสถานการณ์ของพม่าและรวมไปถึงผลกระทบที่มีต่อประชาชนพม่า ซึ่งในตอนท้ายของแถลงการณ์ ทางการไทยได้ระบุว่า “ทางเราหวังว่าการเดินทางมายังภูมิภาคในครั้งนี้ของทูตพิเศษจะสามารถนำไปสู่ช่องทางที่เป็นไปได้ในที่สุด”

เอเอฟพีรายงานวันนี้(11)ว่า มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 1 คนได้รับบาดเจ็บจากระเบิดบริเวณด้านนอกธนาคารที่มีกองทัพพม่าเป็นเจ้าของในเมืองมัณฑะเลย์(Mandalay)ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศในเช้าวันอาทิตย์(11)

สาขาที่ใหญ่ที่สุดของธนาคารเมียวดี (Myawaddy Bank)ในเมืองมัณฑะเลย์ตกเป็นเป้าโจมตีเช้าวันนี้ พบเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 1 นายได้รับบาดเจ็บเนื่องมาจากแรงระเบิด อ้างอิงจากสื่อพม่า

และมีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาในพื้นที่หลังการระเบิดตามมาหลังจากนั้น

ซึ่งในวันเสาร์(10) กลุ่มสังเกตการณ์ในพื้นที่แถลงว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงพม่าใช้ปืนยิงและทำให้มีฝ่ายประท้วงต่อต้านจำนวน 82 คนเสียชีวิตในวันก่อนหน้าที่เมืองบาโก(Bago) ห่างจากเมืองย่างกุ้งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 65 กิโลเมตร

สำนักงานองค์การสหประชาชาติในพม่าออกแถลงการณ์ทางทวิตเตอร์ในช่วงค่ำวันเสาร์(10)ว่า ทางยูเอ็นกำลังเฝ้าสังเกตการณ์การสังหารหมู่ในบาโก พร้อมกันนี้ได้ยืนยันว่า การักษาพยาบาลแก่ผู้บาดเจ็บไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งองค์การสมาพันธ์สนับสนุนนักโทษการเมืองพม่า(Assistance Association for Political Prisoners)ได้ออกแถลงการณ์ในวันเสาร์(10)ถึงจำนวนตัวเลขรวมผู้เสียชีวิตในพม่ามาจนถึงสุดสัปดาห์อยู่ที่ 701 คน แต่เป็นจำนวนที่สวนทางกับตัวเลขทางการของรัฐบาลรัฐประหารพม่า โดยในวันศุกร์(9)โฆษกรัฐบาลรัฐประหารพม่ากล่าวว่า อยู่ที่ 248 คน

สำนักข่าวอิรวดีของพม่ารายงานล่าสุดว่า มีการใช้ "โดรนเมดอินไชน่า" แอบสอดแนมการประท้วงของฝ่ายต่อต้านที่เมืองมัณฑะเลย์เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา โดยทางสื่อชี้ว่า เป็นโดรนของกองทัพอากาศพม่าใช้เพื่อจับตาดูความเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงบนถนน

โดยในรายงานของสถาบันธิงแทงก์ เจนส์ (Janes)โอเพน ซอร์ส ของอังกฤษเชี่ยวชาญด้านการทหารความมั่นคงแห่งชาติการบินและอวกาศและการขนส่ง ที่ระบุผ่านวารสาร เจนส์ อินเตอร์เนชันแนล ดีเฟนซ์ รีวิว (Janes International Defence Review) ระบุว่า

“การสังเกตพบยานยนต์ทางอากาศ ที่ถูกสร้างโดยสถาบันที่มีรัฐบาลปักกิ่งเป็นเจ้าของ...คือ บริษัทคอโปเรชันวิทยาศาสตร์การบินอวกาศและเทคโนโลยีCASC (Aerospace Science and Technology Corporation)แสดงให้เห็นอย่างสำคัญถึงให้ความลับในการที่กองทัพพม่าเป็นผู้ควบคุมมัน” รายงานจากวารสาร เจนส์ รีวิว

ซึ่งในรายงานได้อ้างไปถึงภาพที่ปรากฎบนโซเชียลมีเดียแสดงยานโดรนที่บินต่ำเหนือท้องฟ้าในเมืองเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา โดยภาพที่เห็นแสดงถึงโดรน 2 ประเภทกำลังบินอยู่ในระดับที่ต่ำมากจนพลเรือนสามารถสังเกตเห็นได้

รายงานยังกล่าวว่า นอกเหนือจากที่จะใช้โดรนเพื่อการสอดแนม เชื่อว่าโดรนอาจสามารถถูกนำมาใช้ในสงครามจิตวิทยากดดันต่อกลุ่มฝ่ายต่อต้าน

สถาบันธิงแทงก์ เจนส์ กล่าวว่า เชื่อว่าโดรนส์จีน CH-3A UAVs จำนวนราว 10 -12 ตัวถูกส่งมาจากรัฐบาลจีนให้กองทัพพม่าระหว่างปี 2013 – 2015 โดยกองทัพอากาศพม่าเป็นผู้ควบคุมโดรนเหล่านี้ที่ฐานทัพอากาศเมะทีลา( Meiktila)

สำนักข่าวอิรวดียังชี้ว่า นอกเหนือจากจีนที่มอบโดรนให้กับกองทัพพม่าใช้งาน รัสเซียยังเป็นอีกประเทศที่ให้การสนับสนุนกองทัพพม่าด้านยุทโธปกรณ์หนัก ระบบสอดแนมดิจิทัล และเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่

















กำลังโหลดความคิดเห็น