ในช่วงหนึ่งปีกว่าแห่งศึกขับเคี่ยวชิงตำแหน่งประธานาธิบดี (2020) ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ (ประธานาธิบดีในขณะนั้น) กับโจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต ฮันเตอร์ ไบเดน บุตรคนที่สองของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตกเป็นเป้าโจมตีในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งตัวฮันเตอร์ชี้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ และพันธมิตร มุ่งโจมตีตน เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคุณพ่อโจ ไบเดน คู่ชิงเก้าอี้ประมุขแห่งสหรัฐอเมริกา
บัดนี้ ฮันเตอร์ได้นำรายละเอียดของบรรดาประเด็นโจมตีในทางการเมืองและข้อกล่าวหาเชิงทุจริตเหล่านั้นมาเขียนอธิบายอย่างละเอียด ซึ่งจะเป็นประหนึ่งการจารึกข้อมูลหลักฐานประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ในหนังสือบันทึกความทรงจำชื่อไพเราะว่า Beautiful Things: A Memoir
ฮันเตอร์แจงละเอียด ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในยูเครนและจีน
ขณะที่บรรยากาศของการเล่าเรื่องเต็มไปด้วยฉากเศร้าของตระกูลไบเดน ตั้งแต่การที่ตนเองได้สร้างความเสียใจผิดหวังให้แก่คุณพ่อ ด้วยปัญหาพิษสุราเรื้อรัง การใช้ยาเสพติด และการมัวเมาในอิสตรีซึ่งลามสู่เรื่องอื้อฉาวมากมาย ไปจนถึงโศกนาฏกรรมหนักๆ การเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่คุณแม่และน้องสาวต้องประสบ คุณพ่อล้มป่วยครึ่งปีด้วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง และพี่ชายซึ่งสนิทกันมากต้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมอง นั้น
ฮันเตอร์ได้บันทึกถึงปัญหาที่ผุดขึ้นจากความสำเร็จในอาชีพการงาน ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าการมีนามสกุลเดียวกันกับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วยเปิดทางให้แก่ธุรกิจการงาน ขณะเดียวกัน การงานเหล่านั้นส่งผลกระทบรุนแรงต่อตนเองและคุณพ่อโจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าสู่ธุรกิจในจีน และการตัดสินใจรับตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารบริษัทโฮลดิ้งคอมปานีรายใหญ่ นามว่า บูริสมา (Burisma) ซึ่งมีธุรกิจอยู่ในวงการน้ำมันและก๊าซในประเทศยูเครน การงานเหล่านั้นกลายเป็นเป้าให้ทรัมป์โจมตีเพลินมือ จนถึงขนาดที่ว่าทรัมป์ไปขอให้ประธานาธิบดียูเครนช่วยหาจุดอ่อนที่จะนำมาเล่นงานพ่อลูกไบเดนให้คว่ำ และหมดอนาคตทางการเมือง
เข้าร่วมโฮลดิ้งคอมปานี นาม บูริสมา (Burisma) ในยูเครน หวังจะมีเวลาส่วนตัวมาดูแลพี่ชายที่ป่วย
“ฮันเตอร์อยู่ไหน ผมอยู่ตรงนี้ครับ ผมได้เผชิญและผ่านพ้นเรื่องย่ำแย่” ฮันเตอร์เขียนในบันทึกความทรงจำ
“ผมได้รู้จักกับความสำเร็จที่สูงที่สุดและความล่มสลายขั้นต่ำสุดแล้ว ... ผมมาจากครอบครัวซึ่งถูกพัฒนาสายสัมพันธ์ด้วยโศกนาฏกรรม และถูกร้อยรัดเข้าหากันด้วยความรักที่ไม่มีใครจะทำลายได้ ผมอยู่ตรงนี้ ผมไม่ไปไหนหรอกครับ”
ฮันเตอร์เขียนถึงพี่ชายคนเดียวของตน คือ โบ ไบเดน ว่ามีส่วนในการผลักดันให้ตัดสินใจรับข้อเสนอตำแหน่งกรรมการของบริษัทบูริสมาแห่งวงการพลังงานของยูเครนในปี 2014
(นับจากที่คุณแม่แท้ๆ และน้องสาวของฮันเตอร์ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ และเสียชีวิตในเดือนธันวาคม 1972 โดยฮันเตอร์ในวัยเพียง 2 ขวบ 10 เดือน กับพี่โบที่โตกว่ากันหนึ่งปี ก็อยู่ในรถด้วยและบาดเจ็บรุนแรง สองพี่น้องเสียขวัญหนักหนาพอๆ กับคุณพ่อโจ ทั้งสามหนุ่มประคองกันและกันผ่านวิกฤติชีวิตใหญ่หลวง สายใยผูกพันระหว่างฮันเตอร์กับพี่โบจึงแข็งแกร่งอย่างยิ่ง)
“ผมอยากจะให้ชัดเจนกันตรงนี้ว่า ปัญหาสุขภาพของโบไม่ได้กระตุ้นให้ผมทำสิ่งที่ไม่อยากจะทำ เรื่องเงินนั้นมีส่วนอยู่ แต่ผมก็สามารถคิดอ่านหาทางทำเงินจากช่องทางอื่นได้” ฮันเตอร์ ไบเดนอธิบายไว้ในหนังสือ และบอกด้วยว่า “ผมไม่ได้จนตรอก งานที่บูริสมาช่วยให้ผมสามารถปลีกตัวออกจากการทำงานหนักมากเพื่อช่วยลูกค้าทำรายได้ ... และยังให้ผมมีเวลามากขึ้นมาดูแลโบ”
(ฮันเตอร์เป็นนักกฎหมายที่เฟื่องฟูอยู่ในธุรกิจวาณิชธนกิจและธุรกิจล็อบบี้ยิสต์ Lobbyist ซึ่งต้องดูแลช่วยเหลือลูกค้าด้วยคำปรึกษาแนะนำที่ทรงคุณค่าในการระดมทุนและการทำกำไรในตลาดทุน ตลอดจนการเห็นโอกาสจากการซื้อขายกิจการและการควบรวมธุรกิจ การที่คุณพ่อโจเป็นวุฒิสมาชิกที่มีบทบาทสูง ส่งผลดีหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีเครือข่ายที่กว้างขวาง และการเข้าถึงบุคคลที่ให้คุณให้โทษได้ ตลอดจนการได้เห็นสัญญาณบ่งบอกความเปลี่ยนแปลงก่อนคนอื่น อย่างไรก็ตาม ภารกิจในหน้าที่การงานเหล่านื้ถือว่าหนักหนาและห้ามพลาด เพื่อผลดีในการรักษาลูกค้าและขยายฐานลูกค้าใหม่)
“ผมไม่ได้จะบอกว่าผมจะไม่ตอบรับข้อเสนอตำแหน่งงานของบูริสมาถ้าโบไม่ได้ป่วยหนัก แต่เรื่องเงินก็มีส่วนด้วย”
เรียกข้อโจมตีจากทรัมป์ว่านิทานการเมือง โต้กลับ ลูกๆ ทรัมป์ตัวดี ฟันหลายล้านในจีน-รัสเซีย
ฮันเตอร์เขียนถึงประเด็นอื้อฉาวที่เขาเคยตอบโต้ทรัมป์ผ่านการให้สัมภาษณ์แก่สื่อต่างๆ ทั้งนี้ ฮันเตอร์โต้ตอบเอาจริงกับข้อกล่าวหาในเรื่องธุรกิจที่ยูเครนและจีน โดยเรียกคำป้ายสีเหล่านั้นว่าเป็น “นิทานการเมือง” และ “ความคิดเพ้อเจ้อ” ที่มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของคุณพ่อโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีผู้มีประวัติทางการเมืองสะอาดโปร่งใส
ฮันเตอร์ยืนยันว่าสิ่งที่เขาพลาดมีประการเดียว คือ เขามิได้ทันคาดคิดว่าการเข้าสู่ธุรกิจในยูเครนและจีน จะกลายเป็นช่องทางให้ทรัมป์หยิบมาโจมตีเป็นวรรคเป็นเวร โดยมีลูกขุนพลอยพยักร่วมกันถล่ม ได้แก่ รูดี้ จูลีอานี ทนายความส่วนตัวของทรัมป์ และบรรดาแวดวงเหล่าโจรของจูลีอานี ฮันเตอร์เขียนอย่างนั้น
พร้อมกันนี้ ฮันเตอร์โต้ตอบฝากไปถึงทรัมป์ว่าครอบครัวของทรัมป์นั้นแลตัวดี ตอนนี้ยังไม่พ้นออกจากการถูกไต่สวนกรณีใช้ทำเนียบขาวเป็นฐานเพื่อขยายแบรนด์ธุรกิจ
“ผมกลายเป็นตัวรองรับความกลัวของทรัมป์ว่าจะไม่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อ” ฮันเตอร์เขียน “ทรัมป์ปั้นแต่งข้อกล่าวหาต่างๆ ขึ้นมาเล่นงานผมในเรื่องงานที่ผมทำในยูเครนและจีน ทั้งที่ลูกๆ ของเขาเอง หาเงินเข้ากระเป๋าได้หลายล้านในจีนกับรัสเซีย และอดีตผู้จัดการแคมเปญเลือกตั้งของเขาก็ต้องโทษจำคุกด้วยข้อหาฟอกเงินหลายล้านที่ได้จากยูเครน”
ทั้งนี้ ฮันเตอร์หมายถึงพอล มานาฟอร์ต อดีตประธานคณะผู้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของทรัมปื ซึ่งถูกตัดสินจำคุกเมื่อปี 2018 ข้อหาฉ้อโกงภาษีสืบเนื่องจากการทำธุรกิจในช่วงก่อนที่จะมาช่วยทรัมป์หาเสียงเลือกตั้งปี 2016 และเมื่อใกล้จะหมดวาระ ทรัมป์ออกคำสั่งให้อภัยโทษแก่มานาฟอร์ต
ยอมรับ นามสกุล ‘ไบเดน’ ช่วยเปิดทางธุรกิจ
นอกจากการโจมตีต่างๆ จากทรัมป์ ฮันเตอร์ยังต้องเผชิญกับหน่วยตรวจสอบของภาครัฐว่า บุตรชายของอดีตรองประธานาธิบดีผู้มีบทบาทโดดเด่นด้านกิจการต่างประเทศ มีผลประโยชน์ทับซ้อนในยูเครนและจีนหรือไม่
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่านามสกุลของผมช่วยเปิดทางให้ แต่คุณสมบัติและผลงานทั้งปวงของผมเป็นปัจจัยความสำเร็จในการงานที่เข้าไปเกี่ยวข้อง” ฮันเตอร์หมายถึงความรู้ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจของตนในด้านวาณิชธนกิจ
แต่ฮันเตอร์ก็บอกด้วยว่า “มีบ้างที่ผลงานของผมอยู่ในพื้นที่ที่พ่อมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง ในเมื่อพ่อดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีนานถึง 8 ปี เรื่องแบบนี้ เลี่ยงไม่ได้”
นอกจากนั้น ฮันเตอร์เขียนว่าบูริสมาถือว่านามสกุลไบเดนเป็น “ทอง” ที่ทรงคุณค่า การได้ฮีนเตอร์ ไบเดนมาร่วมในคณะกรรมการบริษัทเป็นการเย้ยหยันประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียพร้อมกับโต้กลับไปยังทรัมป์ว่า “ผมไม่เหมือนเอริก ทรัมป์ หรือโดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ (ที่ใช้ความเป็นคนในครอบครัวทรัมป์ไปแสวงประโยชน์ให้แก่บิดา)ผมทำงานให้คนอื่นที่ไม่ใช่พ่อผม ผมพุ่งขึ้นสูงและตกต่ำลงเพราะตนเองล้วนๆ”
ถูกตรวจสอบในประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจต่างแดน
ประเด็นที่บริษัทของฮันเตอร์ถูกหน่วยงานของรัฐบาลกลางในรัฐเดลาแวร์ตรวจสอบคือ ประเด็นภาษี โดยมีการตรวจสอบดีลธุรกิจต่างๆ ที่ฮันเตอร์มีอยู่ในประเทศจีนซึ่งฮันเตอร์เปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณชนในเดือนธันวาคม 2020 หลังจากที่ปัญหาว่าด้วยผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสรุปจบแน่นอนว่าโจ ไบเดนเป็นผู้ชนะและคว้าเก้าอี้ประมุขสูงสุดของสหรัฐฯ ไปได้
บันทึกความทรงจำของฮันเตอร์เกี่ยวกับกรณีจีนมีประเด็นครบถ้วนเท่าที่เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนในโอกาสต่างๆ โดยเริ่มจากติดตามคุณพ่อโจไปกับทริปเยือนจีนอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2013ในการเดินทางไปจีนในครั้งนี้ฮันเตอร์ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวาณิชธนกิจไปช่วยบริษัทด้านกองทุนรวมตราสารทุน (กองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้น – Equity Fund)ซึ่งอยู่ระหว่างจัดตั้งกิจการในตลาดการเงินของจีน
“เรื่องมีเท่านั้นครับ” ฮันเตอร์เขียนใน Beautiful Things พร้อมกับเขียนเล่าว่าตนเข้าไปซื้อหุ้น10% เป็นเงิน 420,000 ดอลลาร์ ในบริษัทกองทุนรวมแห่งนี้ ในปี 2017ซึ่งตอนนั้นคุณพ่อโจเป็นประชาชนธรรมดาแล้ว
ทรัมป์ลุกลามมาเล่นงานประเด็นชีวิตส่วนตัว แต่ "พ่อโจ" บอกประชาชนว่า ภูมิใจที่ลูกเลิกขาดยาเสพติด
ความพยายามของทรัมป์และพันธมิตรในอันที่จะโจมตีฮันเตอร์ ดำเนินไปไม่หยุดหย่อน ทั้งประเด็นธุรกิจของฮันเตอร์ ลุกลามไปถึงประเด็นชีวิตส่วนตัวในเรื่องที่ฮันเตอร์ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในเดือนมิถุนายน 2019 เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ว่าตนก้าวพ้นออกจากปัญหาเรื้อรังในโลกด้านมืดทั้งการต่อสู้กับพิษสุราเรื้อรังและการติดยาเสพติดได้อย่างไร
ในที่สุด ในแมตช์ประชันวิสัยทัศน์ระหว่างคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่รัฐเทนเนสซี วันที่ 22 ตุลาคม 2020 ทรัมป์นำอดีตของฮันเตอร์ที่เคยติดยาเสพติดอย่างหนักมาฟาดฟันโจ ไบเดน แต่คุณพ่อโจโต้กลับได้อย่างจับใจท่านผู้ชมทั่วประเทศด้วยถ้อยคำจากหัวใจของคนเป็นพ่อ และกลายเป็นเหตุการณ์ที่กลับมาสร้างคะแนนให้แก่โจ ไบเดน
ฮันเตอร์จดบันทึกความทรงจำถึงดราม่านี้ไว้ใน Beautiful Things โดยเขียนเป็นจดหมายถึงพี่โบในสวรรค์ว่า
“พ่อโต้กลับไปอย่างมีชั้นเชิงและจับใจ พ่อไม่สนใจทรัมป์ พ่อมองตรงไปที่กล้องและพูดกับผู้คนที่ชมการถ่ายทอดสด บอกว่า ลูกชายของผมก็เหมือนคนมากมายที่คุณรู้จักที่บ้าน เขาเคยมีปัญหายาเสพติด เขาเอาชนะมันได้ เขาแก้ปัญหานี้ลุล่วง ผมภูมิใจในตัวเขา ผมภูมิใจในลูกชายของผม”
“ถ้อยคำเหล่านั้นของพ่อ ไม่แต่เพียงล้างพิษคำโจมตีของทรัมป์ หากยังมอบความสบายใจและความหวังแก่คนอเมริกันหลายล้านคน” ฮันเตอร์เขียนอย่างนั้น และบอกด้วยว่า “ผมเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ และพี่ก็คงรู้สึกเช่นกัน”
ความพยายามอันไร้ผลที่ทรัมป์และพวกใช้เล่นงานฮันเตอร์เพื่อทำลายภาพลักษณ์ของคุณพ่อโจ บ่งบอกว่าทรัมป์หาจุดจับผิดคุณพ่อคุณลูกไบเดนไม่สำเร็จ เพราะหากมีการกระทำผิดใดๆ เกิดขึ้นจริง อำนาจมหาศาลระดับประธานาธิบดีของทรัมป์ จะต้องพาให้ทรัมป์ไปพบเจอประเด็นเด็ดที่จะคว่ำคู่ต่อสู้ของตนเข้าจนได้
พลิกปูมกรณียูเครนและข้อกล่าวหาว่าด้วยการใช้คอนเน็กชั่นพ่อโจไปแสวงผลประโยชน์ในจีน
หลังจากที่ทรัมป์ใช้ความพยายามมากมายไปควานหาจุดอ่อนของฮันเตอร์ ไบเดน เพื่อใช้ทำลายความน่าเชื่อถือของคู่แข่งในศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ทรัมป์พบประเด็นเด่นๆ เพียง 2-3 เรื่อง คือ กรณีธุรกิจในยูเครนและจีน ซึ่งไม่ถึงกับดุเดือด หรือเอาผิดได้อยู่มือ
บีบีซีเสนอรายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2019 โดยสรุปได้ดังนี้
ข้อโจมตีที่ 1: ฮันเตอร์ ไบเดน ตกลงที่จะนำนักธุรกิจยูเครนเข้าพบรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ซึ่งผิดจรรยาบรรณ
ในระหว่างที่การขับเคี่ยวในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังร้อนแรง จูลีอานีไปบอกสื่อมวนเจ้าดังของสหรัฐฯ คือ นิวยอร์กโพสต์ ว่ามีการพบข้อมูลอีเมล์ของฮันเตอร์ที่ส่อถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อีเมล์นี้เก็บอยู่ที่ฮาร์ดดิสก์ในคอมพิวเตอร์แลปทอปของฮันเตอร์ ซึ่งจูลีอานี บอกว่าฮันเตอร์ทิ้งเครื่องไว้ให้ร้านในเดลาแวร์ทำการซ่อมเมื่อเมษายน 2019 (ในช่วงเดือนนี้ โจ ไบเดนประกาศแล้วว่าจะสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีประจำปีเลือกตั้ง 2020)
อีเมล์ต้องสงสัยดังกล่าวเป็นอีเมล์ที่ฮันเตอร์ได้รับจากแวดัม ปอซาร์สกี ที่ปรึกษาบริษัทบูริสมา ในเดือนเมษายน 2015 เพื่อขอบคุณที่เชิญเขาเข้าพบรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน
นิวยอร์กโพสต์ตีข่าวเรื่องนี้สู่สาธารณชน แต่ไม่ได้นำเสนอหลักฐานว่ามีการเข้าพบเกิดขึ้นจริง
ด้านจูลีอานีถึงกับเดินทางไปกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ในเดือนธันวาคม 2019 เพื่อขุดคุ้ยค้นหาเรื่องไม่ถูกต้องที่ตระกูลไบเดนอาจจะก่อไว้ในยูเครน แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ
บีบีซีรายงานข่าวว่าการสอบสวนระบุว่าไม่อาจสรุปได้ว่าอีเมล์นี้เป็นของจริง และผลการสอบสวนพิสูจน์ข้อกล่าวหานี้ ไม่พบกิจกรรมเชิงอาชญากรรมใดๆ และไม่ปรากฏหลักฐานว่ารองประธานาธิบดีไบเดนได้กระทำสิ่งใดที่จงใจให้ผลประโยชน์แก่บุตรชาย
ฮันเตอร์ไม่เคยรับหรือปฏิเสธเรื่องแลปทอปเจ้าปัญหา แต่ประเด็นนี้เกือบจะอื้อฉาวขึ้นอีก
ในส่วนของแลปทอปเจ้าปัญหาที่มือขวาของทรัมป์ คือ จูลีอานี อ้างว่าเป็นของฮันเตอร์นั้น ฮันเตอร์ยังไม่เคยออกปากยอมรับหรือปฏิเสธในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการบันทึกเทปคำสัมภาษณ์แก่โทรทัศน์ซีบีเอส รายการ CBS Sunday Morning With Jane Pauley ออกอากาศวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา คำพูดของฮันเตอร์ต่อคำถามของพิธีกรสาว เทรซี่ สมิธที่ออกมาในท่าทีเชิงรุกมากด้วยชั้นเชิงนักข่าวมืออาชีพ ภายในบรรยากาศโต้ตอบยันไปมาระหว่างกันแบบระรัวสุดๆ นานเกือบครึ่งนาที ถูกนำไปตีความตีข่าวว่าฮันเตอร์ยอมรับว่าแลปทอปที่จูลีอานีใช้อ้างอิงข้อกล่าวหากรณียูเครนนั้น “อาจจะ” เป็นของตน
เมื่อทบทวนถ้อยคำแต่ละประโยคแล้ว คงต้องบอกว่าการตีความตีข่าวเช่นนั้น มีนัยยะที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะในที่สุดแล้ว ฮันเตอร์ยืนยันว่าตนมิได้นำแลปทอปไปทิ้งไว้ให้ร้านในเดลาแวร์ทำการซ่อมแซมให้
ถอดเทปโทรทัศน์ช่วงที่ฮันเตอร์โต้มันส์ดุเดือดกับนักข่าวซีบีเอส
เทรซี สมิธ: แลปทอปนั่นเป็นของคุณหรือไม่
ฮันเตอร์ ไบเดน: จริงๆ นะ ผมไม่ทราบ
เทรซี สมิธs: ดิฉันรู้ค่ะ แต่คุณทราบว่านั่น... นี่ไม่ใช่...
ฮันเตอร์ ไบเดน: ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าจะตอบอะไร นี่เป็นคำตอบที่สัตย์จริง
เทรซี สมิธ: โอเคค่ะ คุณไม่ทราบว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่’ ว่าแลปทอปเป็นของคุณ
ฮันเตอร์ ไบเดน: ผมไม่ทราบ - ผมไม่ทราบว่า...
เทรซี สมิธ: ดังนั้น มันอาจจะเป็นของคุณก็ได้ใช่ไหม
ฮันเตอร์ ไบเดน: แน่ล่ะ เป็นไปได้ อาจจะมีแลปทอปที่ขโมยไปจากผมไปปรากฏอยู่ที่ใดที่หนึ่ง อาจเป็นได้ว่าผมถูกแฮกข้อมูล อาจเป็นได้ว่ามันเป็นข่าวกรองของรัสเซีย มันอาจเป็นได้ว่ามีคนขโมยแลปทอปนั่นไปจากผม
เทรซี สมิธ: คุณไม่ได้นำแลปทอปไปทิ้งไว้ให้ช่างซ่อมที่เดลาแวร์ใช่ไหม
ฮันเตอร์ ไบเดน: ไม่ครับ ไม่ เท่าที่จำได้คือไม่มีเลย
ข้อโจมตีที่ 2: ฮันเตอร์ ไบเดนมีผลประโยชน์ทับซ้อน 2 ประเด็นจากธุรกิจในจีน
ในส่วนแรก เป็นประเด็นการดำเนินงานของฮันเตอร์ในเชิงที่ปรึกษา โดยนิวยอร์กโพสต์ได้อ้างถึงอีเมล์ของฮันเตอร์ที่เขียนในเดือนสิงหาคม 2017 อีเมล์นี้บ่งชี้ว่าเขาได้รับค่าตอบแทนปีละ 10 ล้านดอลลาร์จากมหาเศรษฐีพันล้านชาวจีนสำหรับการแนะนำตัวให้ได้รู้จักกับบุคคลสำคัญ แต่นิวยอร์กโพสต์ไม่ได้ระบุว่ามีใครบ้าง
ในส่วนที่สอง เป็นการกล่าวหาว่า ฮันเตอร์ได้รับผลประโยชน์เป็นหุ้น 10% ในบริษัทกองทุนรวมตราสารทุน (กองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้น – Equity Fund) สัญชาติจีน นาม BHR Partners โดยฮันเตอร์ถือหุ้นแทนผู้ใหญ่รายหนึ่ง
ภูมิหลังของเรื่องนี้มีอยู่ว่า ฮันเตอร์สนใจจะทำวาณิชธนกิจในจีน เช่น การช่วยให้บริษัทธุรกิจจีนลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ และในเดือนธันวาคม 2013 ฮันเตอร์ติดตามคุณพ่อโจ ไปยังปักกิ่ง โดยรองประธานาธิบดีโจ ไบเดินมีภารกิจเยือนญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อย่างเป็นทางการรวม 6 วัน ส่วนฮันเตอร์ได้พบปะพูดคุยกับมหาเศรษฐีวาณิชธนากรจีน นามว่า โจนาธาน หลี่
ทั้งนี้ เสี่ยหลี่อยู่ระหว่างจัดตั้งกองทุนรวม BHR Partners ซึ่งเดินเรื่องขออนุญาตจัดตั้งนานหลายเดือนโดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐของจีน และหลังจากที่คณะผู้แทนสหรัฐฯ เดินทางกลับแล้วไม่กี่วัน BHR ได้รับอนุมัติการจัดตั้งกิจการจากทางการจีน โดยเสี่ยหลี่ถือหุ้น 10% ส่วนฮันเตอร์รับตำแหน่งกรรมการ BHR แบบไม่รับเงินเดือน เพราะมีเป้าหมายการเข้าสู่จีนเพื่อนำเงินลงทุนของจีนออกสู่ตลาดระหว่างประเทศ
ฮันเตอร์ประกาศในเดือนตุลาคม 2019 ว่าตนเริ่มเข้าไปลงทุนใน BHR ในปี 2017 ซึ่งสอดคล้องกับรายงานข่าวของเดลีเมล์ สื่อชั้นแนวหน้าแห่งอังกฤษ เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (2021) ซึ่งให้ข้อมูลว่าตามเอกสารผู้ถือหุ้นของ BHR ที่ยื่นต่อหน่วยกำกับตลาดการเงินของทางการจีน ในเดือนตุลาคม 2017 ฮันเตอร์เข้าลงทุนใน BHR เป็นเงิน 420,000 ดอลลาร์ เพื่อเข้าถือหุ้นใน BHR จำนวน 10%
ฟ็อกซ์นิวส์ละเลงข่าวฟันธงว่า โจ ไบเดน คือตัวจริงรับหุ้น 10% อ้างอิงพยานบุคคลซึ่งที่แท้มีความแค้นส่วนตัว
ในการโจมตีคุณพ่อคุณลูกไบเดนครั้งนี้ ฟ็อกซ์นิวส์นำเสนอรายงานข่าวบอกว่า มีอีเมล์ของฮันเตอร์ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงพฤษภาคม 2017 และพาดพิงไปถึงดีลธุรกิจรายการใหญ่ที่ฮันเตอร์ดำเนินการอยู่ และเป็นดีลเกี่ยวกับบริษัทพลังงานเจ้าใหญ่ที่สุดของจีน โดยอีเมล์กล่าวไว้อย่างคลุมเครือว่า “10 ถือโดย ฮ. ตัวแทนของผู้ใหญ่คนนั้น” ในการนี้ ฟ็อกซ์นิวส์อ้างแหล่งข่าวที่ขอปกปิดนาม บอกว่า “ผู้ใหญ่”ที่ถูกพาดพิงถึงคือ โจ ไบเดน
อย่างไรก็ตาม ฮันเตอร์ได้เขียนไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือบันทึกความทรงจำว่า “ผมไม่เหมือนเอริก ทรัมป์ หรือโดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ (ที่ใช้ความเป็นคนในครอบครัวทรัมป์ไปแสวงประโยชน์ให้แก่บิดา) ผมทำงานให้คนอื่นที่ไม่ใช่พ่อผม”
หลังจากนั้น อดีตผู้ร่วมงานของฮันเตอร์ นาม โทนี โบบูลินสกี ออกมาเปิดตัว และให้สัมภาษณ์ฟ็อกซ์นิวส์ เล่นงานพ่อ-ลูกไบเดนว่า บ่อยเลย ที่ฮันเตอร์ขอให้คุณพ่อลงนามท้ายจดหมาย หรือให้คำแนะนำในเรื่องของดีลธุรกิจในจีน
ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีลักษณะเลื่อนลอย ปราศจากหลักฐานรองรับ จึงไม่มีการต่อยอดออกไป ด้านพรรคเดโมแครตได้ออกคำแถลงระบุว่า โบบูลินสกีเคยยอมรับในระหว่างให้สัมภาษณ์บันทึกเทป กับเว็บไซต์ข่าวไบรท์บาร์ท ว่าโกรธที่ไม่สามารถเข้าร่วมธุรกิจกับฮันเตอร์
เสพยาเรื้อรัง เลิกไม่ขาดสักที แต่ยุติสำเร็จเมื่อพบกับภรรยาคนปัจจุบัน
ฮันเตอร์เขียนเล่าในบันทึกความทรงจำว่า ในเดือนเมษายน 2019 เขายังเจ็บปวดอยู่ในความมืดมนที่ไม่สามารถรักษาตนเองออกจากสิ่งเสพติด คุณแม่จิล ไบเดน (แม่เลี้ยงที่ดูแลเขามาตั้งแต่ยังเล็ก) เชิญเขามาทานอาหารค่ำที่บ้านในเดลาแวร์
พอก้าวเข้าบ้าน ฮันเตอร์สังหรณ์ได้ทันทีว่าถูกคุณพ่อคุณแม่เข้ามาแทรกแซงชีวิต เขาเห็นลูกสาวทั้งสามนั่งรออยู่ที่โต๊ะอาหาร พร้อมกับสองที่ปรึกษาผู้ป่วยยาเสพติดจากศูนย์บำบัดประจำรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเขารู้จักและจำได้จากที่เคยไปรับการรักษามาแล้ว
ฮันเตอร์บอกไว้ว่ารู้สึกโกรธอย่างจัด สบถด่าคุณพ่อ และพุ่งตัวปึงปังออกจากบ้าน
อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้เป็นบิดารีบวิ่งตาม จนไปทันกันก่อนที่ฮันเตอร์จะพ้นออกจากกำแพงบ้าน ฮันเตอร์เขียนได้อย่างจับใจว่า
พ่อคว้าตัวผม จับให้ผมหันกลับมา และกอดผมแน่นอยู่ใต้ฟ้ามืดมัว แล้วพ่อก็ร้องไห้นานที่สุดที่ผมเคยเห็น ทุกคนตามออกมารอดูด้วยความห่วงใย
ในอันที่จะให้ทุกคนสบายใจ ฮันเตอร์ยอมเข้าไปรับการบำบัดอีกครั้ง ณ ศูนย์บำบัดประจำรัฐแมริแลนด์ ฮัลลี ภรรยาม่ายของพี่ชายที่จากไป ช่วยขับรถไปส่งที่ศูนย์ แต่แล้วฮันเตอร์ก็เบี้ยวคุณพ่อคุณแม่อีก เขาบอกเจ้าหน้าที่ศูนย์ว่าจะกลับมาตอนเช้า แล้วโทรศัพท์เรียกแท็กซี่อูเบอร์ และหลบไปเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งใกล้สนามบินบัลติมอร์
“สองวันต่อมา ขณะที่ทุกคนคิดว่าผมปลอดภัยเรียบร้อยดีอยู่ที่ศูนย์ ผมนั่งในห้องพักโรงแรม เสพยาที่ผมซุกอยู่ในกระเป๋าเดินทาง” ฮันเตอร์เขียนเล่าไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำ "หลังจากนั้น ผมจับเครื่องบินกลับไปบ้านที่แคลิฟอร์เนีย แล้วผมก็วิ่ง แล้วก็วิ่ง แล้วก็วิ่ง จนกระทั่งได้พบกับเมลิสซา”
เมลิสซาล็อกตัวฮันเตอร์ไว้ในบ้าน เททิ้งยาเสพติด ตัดการติดต่อกับเพื่อน เอาจนฮันเตอร์พ้นคำสาปสิงห์ขี้ยา
ฮันเตอร์เล่าไว้อย่างภูมิใจในเมลิสซา โคเฮน ภรรยาสาวอายุ 32 ปี ซึ่งเป็นคนเชื้อสายอิสราเอลจากประเทศแอฟริกาใต้ เมลิสซามาตั้งถิ่นฐานที่แคลิฟอร์เนีย โดยประกอบอาชีพเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีและเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม
ฮันเตอร์พรรณนาถึงความรักที่มีต่อเมลิสซาว่าเป็นรักแรกพบ พร้อมทั้งเล่าว่าภายในหนึ่งชั่วโมงที่เดทกันครั้งแรก ซึ่งเป็นเดทมื้อค่ำ เขาและเมลิสซาประกาศความรักที่มีให้แก่กันและกัน
ในหนึ่งชั่วโมงต่อมา ฮันเตอร์บอกเมลิสซาว่าตนเป็นขี้ยา เมลิสซาตอบว่า
“คุณไม่เป็นขี้ยาแล้ว คุณพ้นออกจากเรื่องนี้แล้ว”
เมลิสซาพาฮันเตอร์ไปบ้านของเธอ ฮันเตอร์เล่าว่าเธอทำโปรแกรมเลิกยาเสพติดให้เขา เธอเทยาเสพติดทิ้งไปหมด และลบเบอร์โทรศัพท์มิตรสหายและคนรู้จักทั้งปวงออกจากเครื่อง เหลือให้เพียงเบอร์ของคนในครอบครัว
ตลอดสามวันสามคืน ฮันเตอร์ไม่ได้แตะยาเสพติดแม้แต่แอะเดียว และได้แต่หลับไปในความอิดโรย แต่เมลิสซาเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการเลิกยาเสพติดมาที่บ้าน มาช่วยกำกับดูแลด้วย
ฮันเตอร์เล่าว่าในที่สุดเขาฟื้นตัวขึ้นมา ทั้งสองตกลงแต่งงานกัน โดยพิธีแต่งงานซึ่งมีขึ้นภายในเจ็ดวันที่รู้จักพบเจอกัน และเป็นพิธีเล็กๆ โดยไม่ได้บอกใครนั้น เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2019
ฮันเตอร์ซึ่งผ่านมรสุมชีวิตงอมแงมในยาเสพติด ได้เข้าไปช่วยงานของคุณพ่อไบเดน ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งคุณพ่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ พร้อมกฎเหล็กว่าจะไม่มีคนในครอบครัวเข้าไปตั้งสำนักงานอยู่ในทำเนียบขาว จะไม่มีการเข้าไปนั่งประชุมคณะรัฐมนตรี และจะไม่มีสมาชิกไบเดนไปสัมพันธ์กับบริษัทต่างประเทศ
ฮันเตอร์ได้ตัดขาดออกจากบริษัทกองทุนรวม BHR แล้ว แต่ยังไม่ได้ถอยออกจากการถือหุ้นในบริษัทนี้
ภารกิจในอนาคตอันใกล้ คือ การรับมือกับการถูกตรวจสอบเรื่องภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจในจีน
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เอพี รอยเตอร์ เอเอฟพี เอบีซีนิวส์ ซีบีเอส บีบีซี เดลีเมล์ เดอะการ์เดียน วิกิพีเดีย)