xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: หวั่นสงครามกลางเมือง! ‘พม่า’ ปราบม็อบดับกว่า 500 ศพ สหรัฐฯ อพยพนักการทูต-จี้ต่างชาติแซงก์ชันธุรกิจกองทัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทัพพม่าใช้ไม้แข็งจัดการกับประชาชนที่ยังออกมาชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารกันแบบรายวัน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตในขณะนี้เพิ่มเป็นกว่า 500 คน ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่าสถานการณ์อาจลุกลามจนถึงขั้นกลายเป็น “สงครามกลางเมือง” หลังกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เริ่มออกมาประณามและขู่จะตอบโต้หากทหารยังไม่เลิกเข่นฆ่าประชาชน ขณะที่สหรัฐฯ ประกาศระงับข้อตกลงการค้า สั่งถอนนักการทูตและครอบครัวที่ไม่มีภารกิจจำเป็นออกจากพม่า รวมถึงเรียกร้องให้ทั่วโลกตัดความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจที่ให้การสนับสนุนกองทัพพม่า

วิกฤตการเมืองพม่าในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาทำให้มีประชาชนถูกสังหารไปแล้วไม่ต่ำกว่า 521 คน โดยสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ระบุว่า ในจำนวนนี้มีอยู่ 141 คนที่เสียชีวิตในวันเสาร์ที่ 27 มี.ค. ซึ่งตรงกับวันกองทัพพม่า และถือเป็นวันนองเลือดที่สุดในการต่อสู้เพื่อล้มรัฐประหาร

AAPP รายงานว่ามีผู้ถูกสังหารเพิ่มอีกอย่างน้อย 8 คนในวันอังคาร (30) ขณะที่ชาวพม่าหลายพันคนยังคงดาหน้าออกมาชุมนุมประท้วงท้าทายกระบอกปืนในหลายเมืองทั่วประเทศ

ชาติมหาอำนาจทั่วโลกต่างประณามการกระทำที่ป่าเถื่อนของกองทัพพม่า และออกมาตรการคว่ำบาตรกดดันพวกผู้บัญชาการทหารระดับสูง โดยล่าสุด “ญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติผู้บริจาคช่วยเหลือพม่ารายใหญ่ก็ประกาศระงับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมแล้วในวันพุธ (31 มี.ค.)

“สำหรับพม่าแล้ว ญี่ปุ่นถือเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินรายใหญ่ที่สุด จุดยืนของญี่ปุ่นในเรื่องความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อพม่าก็คือ จะไม่มีความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกต่อไป เราขอประกาศจุดยืนชัดเจนเช่นนี้” โทชิมิตสุ โมเตกิ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคาร (30)

เหตุนองเลือดที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในพม่าประมาณ 20 กลุ่ม ซึ่งกระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ชายแดนของประเทศ

กลุ่มกบฏชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army), กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (Myanmar Nationalities Democratic Alliance Army) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) ออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันอังคาร (30) ระบุจะสนับสนุนผู้ประท้วง และพร้อมตอบโต้หากกองทัพพม่าไม่หยุดใช้ความรุนแรงทำร้ายประชาชน

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำคณะรัฐประหารพม่า
คำแถลงร่วมดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่คณะกรรมการนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศแห่งชาติพันธุ์ (General Strike Committee of nationalities - GSCN) ได้ทำหนังสือเปิดผนึกเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธของชาติพันธุ์ต่างๆ ช่วยเหลือผู้ที่ยืนหยัดต่อสู้กับการกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมของกองทัพเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (29)

ในขณะที่ทั้ง 3 กลุ่มยังไม่ได้ทำตามคำขู่ แต่ปรากฏว่ากลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) และกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Army – KIA) ได้เริ่มยกระดับปฏิบัติการโจมตีทหารและตำรวจพม่าในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่าสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในเมืองพะโคถูกโจมตีด้วยจรวดจนเจ้าหน้าที่บาดเจ็บไป 5 นายเมื่อวันอังคาร (30)

กะเหรี่ยงเคเอ็นยูซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังกบฏใหญ่ที่สุดในพม่าได้เข้ายึดฐานทัพแห่งหนึ่งในรัฐกะเหรี่ยงทางตะวันออกเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นำมาสู่ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศโดยกองทัพพม่าครั้งแรกในรอบ 20 ปี ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่กองพลน้อยที่ 5 ของเคเอ็นยู และส่งผลให้มีประชาชนราว 3,000 คนหนีข้ามแดนมายังฝั่งไทย

ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นอีกครั้งในวันอังคาร (30) แต่ Padoh Saw Taw Nee หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของเคเอ็นยู ยืนยันว่า ทางกลุ่มยังมั่นคงในจุดยืนสนับสนุนชาวพม่าที่ต่อต้านรัฐประหาร ขณะที่กองพลน้อยที่ 5 ของกะเหรี่ยงเคเอ็นยูก็ประณามการโจมตีทางอากาศ และประกาศว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเผชิญหน้ากับ “ภัยคุกคาม” ที่มาจากกองทัพพม่า

เคเอ็นยูยังเรียกร้องให้ประชาคมโลก โดยเฉพาะไทยซึ่งมีพรมแดนด้านตะวันตกติดกับพม่า ให้ช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงที่อพยพข้ามแดนเพื่อหนี “การสังหารหมู่” รวมถึงวิงวอนให้ประเทศต่างๆ ตัดความสัมพันธ์กับผู้นำทหารพม่าเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

รัฐบาลไทยปฏิเสธข้อครหาจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เชื่อว่ามีการบังคับผลักดันผู้ลี้ภัยพม่าให้กลับประเทศ แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไทยคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า เหตุที่ส่งคนจำนวนมากกลับไปก็เพราะเห็นว่าสถานการณ์ในฝั่งพม่าปลอดภัยแล้ว

โฆษกหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติระบุว่า ทางหน่วยงานมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรายงานที่ว่าชาวพม่ากำลังถูกบังคับส่งกลับ และอยู่ระหว่างขอข้อมูลเพิ่มเติมจากฝ่ายไทย

หลายประเทศเริ่มแสดงความเป็นห่วงอนาคตของพม่า เนื่องจากวิกฤตการเมืองครั้งนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะหาทางออกได้อย่างไร อีกทั้งกองทัพพม่าก็แสดงท่าทีเมินเฉยกับข้อเสนอต่างๆ ของเพื่อนบ้านในอาเซียนที่อาสาช่วยคลี่คลายปัญหา

กลุ่มควันสีดำลอยปกคลุมเหนือท้องฟ้านครย่างกุ้ง ระหว่างที่กองกำลังความมั่นคงพม่าเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 27 มี.ค.
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในคำแนะนำด้านการเดินทางเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ว่า อนุญาตให้เจ้าหน้าที่อเมริกันที่ไม่มีภารกิจจำเป็นและครอบครัวสมัครใจเดินทางออกจากพม่า ทว่าล่าสุดในวันอังคาร (30) ได้ปรับปรุงคำแนะนำเป็นคำสั่งให้เดินทางออกมาทันที เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของชาวอเมริกัน

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากเมื่อวันจันทร์ (29) ทำเนียบขาวได้แถลงประณามเหตุเข่นฆ่าพลเรือนหลายสิบคนของรัฐบาลทหารพม่า และเรียกร้องอีกครั้งให้กองทัพเร่งนำพม่ากลับคืนสู่ประชาธิปไตย โดยในวันเดียวกันสหรัฐฯ ยังได้ระงับความร่วมมือทั้งหมดกับพม่าภายใต้ข้อตกลงการค้าและการลงทุนในปี 2013 จนกว่าทหารจะยอมคืนอำนาจให้แก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ชาวพม่าจำนวนมากยังพยายามชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือเพื่อขอลี้ภัยในอินเดีย ซึ่งล่าสุดรัฐมณีปุระได้ประกาศยกเลิกคำสั่งงดจัดหาที่อยู่และอาหารให้แก่ผู้ลี้ภัยจากพม่าแล้ว หลังโดนกระแสสังคมวิจารณ์อย่างหนัก

ในขณะที่ชาติตะวันตกรุมประณามการทำรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงต่อชาวพม่า รวมถึงเรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัว อองซานซูจี และบางประเทศถึงขั้นใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบจำกัด ทว่าแรงกดดันเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่สร้างความหวั่นไหวต่อผู้นำทหารพม่าซึ่งคุ้นชินกับการถูกโดดเดี่ยวมานานหลายสิบปี อีกทั้งรัฐบาลทหารก็ยังคงได้รับการสนับสนุนจากชาติมหาอำนาจอย่าง “จีน” และ “รัสเซีย” อยู่

ทหารพม่าอ้างความชอบธรรมในการกุมอำนาจบริหารไว้นานหลายทศวรรษ โดยระบุว่ากองทัพเป็นเพียงสถาบันเดียวที่มีศักยภาพในการคงไว้ซึ่งความสามัคคีของชาติ และการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ก็เกิดขึ้นภายใต้ข้ออ้างที่ว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจีชนะถล่มทลายเต็มไปด้วยการทุจริต แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งพม่าจะยืนยันว่าไม่พบหลักฐานการโกงก็ตาม

ทีมกฎหมายของนาง อองซาน ซูจี ยืนยันว่า นักการเมืองหญิงวัย 75 ปี ผู้เป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยพม่ายังคงมีสุขภาพแข็งแรงดี แม้จะถูกกักบริเวณมานานถึง 2 เดือนแล้วก็ตาม

สหรัฐฯ และอังกฤษได้ประกาศคว่ำบาตรบริษัท Myanmar Economic Holding Company Limited และบริษัท Myanmar Economic Corporation Limited สององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่กองทัพพม่าเป็นเจ้าของ และมีอิทธิพลครอบงำระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยห้ามมิให้ภาคธุรกิจและพลเรือนของตนทำธุรกรรมกับบริษัทเหล่านี้ ขณะที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้บริษัทต่างชาติตัดความสัมพันธ์และถอนการลงทุนด้วยเช่นกัน เพื่อปิดกั้นแหล่งรายได้ที่ทหารพม่าจะนำไปใช้ปราบปรามประชาชน

ทางด้านนักเคลื่อนไหวก็มีการเรียกร้องให้บริษัทพลังงานระหว่างประเทศ เช่น เชฟรอน อายัดเงินรายได้จากโครงการก๊าซธรรมชาติในพม่า ไม่ให้ตกไปถึงมือของรัฐบาลที่ควบคุมโดยคณะรัฐประหาร

ทอม แอนดรูส์ ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นในพม่า ประณามกองทัพว่ากำลังดำเนินการ “สังหารหมู่” ประชาชน ขณะที่ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ฝากข้อเรียกร้องผ่านสื่อไปถึงผู้นำทหารพม่าว่า “จงหยุดเข่นฆ่าประชาชน หยุดกดขี่ผู้ประท้วง ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และคืนอำนาจให้แก่บุคคลที่มีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะใช้มัน” ส่วน คริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำพม่า ก็วิงวอนไปถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันพุธ (31 ) ให้มีมาตรการบางอย่างเพื่อช่วยเหลือชาวพม่า และป้องกันมิให้เกิดสงครามกลางเมืองและการนองเลือดมากไปกว่านี้

จีนและอินเดียยังปฏิเสธที่จะประณามการก่อรัฐประหารในพม่า ขณะที่รัสเซียแม้จะอ้างว่าไม่ได้เห็นด้วยกับ “โศกนาฏกรรม” ที่เกิดขึ้นในพม่า แต่ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทวิภาคีด้วยการส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อเล็กซานเดอร์ โฟมิน ไปร่วมพิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพพม่า พร้อมประกาศจะกระชับสัมพันธ์ด้านการทหารให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น



ชาวพม่าในย่างกุ้งนำเศษขยะจำนวนมากมาเทลงบนพื้นถนน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ ‘garbage strike’ เพื่อต่อต้านรัฐประหาร





ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงหลายร้อยคนหนีการโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่าข้ามแม่น้ำสาละวินมายังฝั่งไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 29 มี.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น