xs
xsm
sm
md
lg

ระบบล้ำๆ ‘ดวงตาในเวิ้งฟ้าอวกาศ’ จะทำให้มหันตภัยไฟป่าออสเตรเลียกลายเป็นอดีต ตรวจจับเพลิงใน 1 นาที ดับได้ใน 5 นาที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หลังจากออสเตรเลียประสบภัยแล้งร้ายแรงต่อเนื่องหลายปี มหันตภัยไฟป่าได้อุบัติขึ้นในระดับที่เรียกได้ว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยเผาผลาญรัฐต่างๆ ของออสเตรเลีย 8 รัฐ ในระหว่างเดือนกันยายน 2019 ถึงเดือนมีนาคม 2020 สร้างความสูญเสียมหาศาลต่อชีวิตและทรัพย์สิน หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนพากันตั้งคำถามว่าจะต้องเร่งทำอะไรบ้างที่จะหยุดยั้งมิให้เหตุมหาวิปโยคเหล่านี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต (ภาพจากเว็บไซต์ World Weather Attribution)
ยังจำกันได้ไหม มหันตภัยไฟป่ามาราธอน 7 เดือนของออสเตรเลียเมื่อเดือนกันยายน 2019 ถึงเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งได้เผาผลาญอาคารและที่อยู่อาศัยไปราว 5,900 แห่ง บนพื้นที่ 186,000 ตารางกิโลเมตรของ 8 รัฐ (มากกว่า 36% ของพื้นที่ประเทศไทย) พร้อมกับคร่าชีวิตผู้คน 484 ราย โดยตายด้วยไฟป่าโดยตรงไม่น้อยกว่า 34 ราย ขณะที่สัตว์นานาพันธุ์เกิน 3,000 ล้านชีวิตต้องล้มตาย บาดเจ็บ สูญเสียที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร โดยมีบางสปีชีที่ถึงกับสูญพันธุ์

นอกจากนั้น ความเสียหายเชิงทรัพย์สินก็มหาศาล ออสเตรเลียหมดค่าใช้จ่ายในการต่อสู้กับไฟป่าสูงกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน ความเสียหายทางเศรษฐกิจและทางด้านอสังหาริมทรัพย์ทั้งปวงอยู่ที่ประมาณ 103,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

มหาวิบัติที่วินาศสันตะโรเหล่านี้ทำให้มีการตั้งคำถามกันอย่างกว้างขวางว่าจะต้องเร่งทำอะไรบ้างที่จะหยุดยั้งมิให้เหตุมหาวิปโยคเหล่านี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

มหาวิทยาลัย ANU จับมือบรรษัท Optus พัฒนาระบบตรวจจับเพลิงใน 1 นาทีที่ไฟปะทุ

หนึ่งในอภิมหาคำตอบที่ได้เดินหน้าเป็นจริงอย่างรวดเร็ว เป็นของสององค์กรใหญ่และยักษ์แห่งออสเตรเลีย ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University - ANU) และบรรษัท ออปทูส (Optus Enterprise) วิสาหกิจยักษ์ระดับประเทศในด้านโทรคมนาคมและดาวเทียม

ผู้คนทั่วโลกสะเทือนใจกับข่าวและภาพข่าวว่า จิงโจ้ หมีโคอาลา และสัตว์นานาพันธุ์เกิน 3,000 ล้านชีวิตต้องล้มตาย บาดเจ็บ สูญเสียที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร โดยส่วนใหญ่เป็นตระกูลสัตว์เลื้อยคลาน สาเหตุมาจากมหาวิบัติไฟป่าออสเตรเลีย 2019/2020 โดยมีบางสปีชีที่ถึงกับสูญพันธุ์ ข้อมูลจากการศึกษาโดยกองทุน World Wide Fund for Nature (WWF) ซึ่งประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020
ทั้งสององค์กรตกลงร่วมมือกันพัฒนาระบบระดับประเทศที่จะนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปฏิวัติรูปแบบการบริหารจัดการไฟป่า ดังนี้

แผนปฏิบัติการที่จะตรวจเจอไฟปะทุได้ภายใน 60 วินาที และทำการดับไฟภายใน 5 นาที

แผนปฏิบัติการดังกล่าวใช้เครื่องมือ 3 กลุ่ม :
- โดรนไล่ล่าพายุ
- เครื่องร่อนทิ้งบอบม์มวลน้ำอัจฉริยะ
- กลุ่มดาวเทียมสอดส่องการปะทุของเปลวเพลิงเพื่อลดภัยไฟนรกในป่าออสเตรเลียให้ลงเหลือเพียงนิดเดียว

ตัวอย่างของปฏิบัติการ :
เมื่อฟ้าผ่าฟาดเปรี้ยงลงบนต้นไม้แห้งกรอบ และส่งผลให้เกิดไฟลุกโพลงขึ้นในหุบเขาที่แสนจะแล้งและแสนจะลึกดิ่ง ดาวเทียมซึ่งมีเซ็นเซอร์ระยะไกลจะตรวจจับสัญญาณด้วยอินฟราเรด ก็จะตรวจพบสถานการณ์ดังกล่าวนี้ได้ภายใน 1 นาที และจะแจ้งทราบไปยังโดรน

ในทันทีนั้น โดรนซึ่งติดกล้องอย่างดีก็จะพุ่งปราดไปยังบริเวณที่เกิดเหตุ และทำการยืนยันจุดที่มีไฟลุกไหม้ (ดาวเทียมอาจมีความคลาดเคลื่อนได้บ้างในการแจ้งเตือนปัญหาไฟลุกไหม้)

ณ วินาทีนั้น เครื่องบิน C-130 จะบินไปยังจุดไฟไหม้ แล้วปล่อยเครื่องร่อนบรรทุกน้ำไร้คนขับ ให้ออกไปปราบปรามวายร้ายมหาภัยไฟป่า

เครื่องบินบรรทุกขนาดใหญ่ (LAT) C-130 เฮอร์คิวลีส ที่สำนักป้องกันไฟป่าในพื้นที่ห่างไกล รัฐนิวเซาท์เวลส์ ส่งออกปฏิบัติการโปรยสารหน่วงไฟในเขตป่าพุ่มไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านเรือนประชาชนในเมืองเพนโรส ทางใต้ของซิดนีย์ ทั้งนี้ ในวันที่ 23 มกราคม 2020 มีเหตุสะเทือนใจผู้คน เมื่อเครื่องบิน LAT แบบในภาพนี้ หนึ่งลำที่ออกปฏิบัติการผจญเพลิงในพื้นที่ Snowy Monaro ตกกระแทกพื้น เป็นเหตุให้บุคลากร 3 นายในเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด
เครื่องร่อนบรรทุกน้ำต้นทุนต่ำที่ปฏิบัติงานแบบอัตโนมัติไร้คนขับ และมีระบบนำทางที่สื่อสารตรงกับโดรน จะดิ่งไปยังจุดที่เกิดไฟลุกไหม้ และทำการระเบิดน้ำลงไปดับไฟอย่างแม่นยำ ดังนั้น กองเพลิงซึ่งยังเล็กอยู่จึงไม่มีโอกาสจะลุกลามใหญ่โต

ตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับไฟปะทุจากระยะไกลคือองค์ประกอบสำคัญ

ผู้ที่ทำการพัฒนาระบบสุดยอดอัจฉริยะดังกล่าว คือ ศูนย์นวัตกรรมการต่อสู้ไฟป่าแห่งชาติของออสเตรเลีย หน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัย ANU หรือ ANU National Bushfire Initiative

ผู้อำนวยการศูนย์ฯ นามว่าศาสตราจารย์มาร์ทา เยบรา บอกว่าภารกิจที่ศูนย์ฯ เร่งดำเนินการอยู่ ครอบคลุมการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามสภาพการณ์ของความไวไฟในส่วนต่างๆ ของป่า (เพื่อเช็คสถานการณ์ปริมาณเชื้อเพลิง) และติดตามระดับความชื้น ตลอดจนสภาพดินฟ้าอากาศด้วย

ยังมีมากกว่านี้อีก!!

ศ.มาร์ทา เยบรา ผอ.ศูนย์นวัตกรรมการต่อสู้ไฟป่าแห่งชาติของออสเตรเลีย หรือ ANU National Bushfire Initiative ผู้หญิงแกร่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาตัวเซนเซอร์ระยะไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซนเซอร์ที่สามารถชี้จุดในผืนป่าที่มีความแห้งจัดและมีปฏิกิริยาตอบโต้ได้ไวมากกับประกายไฟ เซนเซอร์ที่พัฒนาขึ้นมาอย่างหลากหลายจะถูกนำไปติดตั้งกับกล้องในหลากหลายเลเยอร์ของเวิ้งฟ้า ตั้งแต่ระดับสูงสุด คือ ติดตั้งไว้กับดาวเทียม ลงมาสู่ระดับกลางคือติดตั้งไว้กับบอลลูน และโดรน และลงมาสู่การติดตั้งไว้กับอาคาร ตลอดจนติดตั้งไว้ในระดับภาคพื้นดิน (ภาพจากทวิตเตอร์ของศ.เยบร้า @myebra12)
ผอ.เยบราบอกว่า ศูนย์ฯ ได้พัฒนาเซนเซอร์ขึ้นมาหลายๆ ระดับเทคโนโลยี เพื่อปฏิบัติการ ณ ระดับความสูงของเวิ้งฟ้าหลายเลเยอร์ สิ่งนี้จะช่วยตรวจหาการลุกไหม้ของไฟภายในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง

“ตัวอย่างเช่นเซ็นเซอร์สำหรับภาคพื้นดินเพื่อตรวจจับเพลิงไหม้ตั้งแต่เริ่มติดไฟขึ้นมา แต่เทคโนโลยีตัวนี้ปฏิบัติการได้ภายในพื้นที่ที่จำกัดมาก ดังนั้น เราจะติดเซ็นเซอร์แบบนี้ในบางพื้นที่สำคัญเท่านั้น เช่น นำไปติดตั้งในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง หรือในพื้นที่ทางหลวง หรือติดตั้งในสถานที่ซึ่งมีคุณค่าเชิงนิเวศวิทยาอย่างยิ่งยวดและจึงต้องได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ”

ถัดจากเซนเซอร์ในชั้นภาคพื้นดิน ศ.เยบรา บอกว่า ยังมีอีกหนึ่งเลเยอร์ที่จะติดกล้องตรวจตราสถานการณ์ไฟไหม้ คือ นำไปติดตั้งบนอาคารซึ่งมีทัศนวิสัยที่กว้างขึ้นมาก

ถัดขึ้นไปอีกหนึ่งเลเยอร์ของเวิ้งฟ้า จะใช้โดรนติดกล้องคอยตรวจตราสถานการณ์ระดับภาพรวมระดับใหญ่

ถัดสูงสุดขึ้นไป จะใช้กลุ่มดาวเทียมทั้งแบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) และดาวเทียมที่อยู่ค้างฟ้า (Geostationary Earth Orbit : GEO)

โดรนติดกล้องพิเศษพร้อมเซ็นเซอร์ : อาวุธลับศักยภาพกว้างขวาง

ในช่วงที่บางพื้นที่ตกอยู่ในความเสี่ยงสูงว่าอาจเกิดกองเพลิงในวินาทีใดหนึ่งขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ที่เราให้ความสำคัญยิ่งยวดและมิอาจปล่อยให้อยู่ในความเสี่ยงได้เลยนั้น ศูนย์ฯ จะส่งทีมโดรนเหินฟ้าขึ้นไปช่วยกันจับตาสอดส่อง เช่น พื้นที่ป่าสนไดโนเสาร์ คือป่าสนวอลเลมี ไพน์ อายุ 400 ล้านปี ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งเป็นป่าสนโบราณก่อนยุคประวัติศาสตร์แห่งเดียวของโลก

เซ็นเซอร์ซึ่งติดตั้งอยู่กับโดรนที่เหินฟ้าเหนือพื้นที่เสี่ยงทั้งปวง จะสามารถระบุให้ทราบได้เลยว่า พื้นที่ตรงไหนบ้างที่แห้งที่สุด และพื้นที่ตรงไหนบ้างที่มีความไวไฟสูงสุด อาทิ พื้นที่ของพงหญ้าและพุ่มไม้ที่แห้งกรอบ ซึ่งจะติดไฟง่ายดายและรวดเร็วจนน่าตกใจ

ป่าสนไดโนเสาร์ วอลเลมี ไพนส์ อายุ 400 ล้านปี ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งเป็นป่าสนโบราณก่อนยุคประวัติศาสตร์แห่งเดียวของโลก ถูกไฟป่าทำลายไปส่วนหนึ่ง แต่บุญรักษา ทีมนักผจญเพลิงสามารถใช้แท็กติกที่ช่วยให้ทะเลเพลิงไม่สามารถทำลายป่าโบราณได้ เนื่องจากต้นสนโบราณวอลเลมีสามารถเติบโตจนสูงได้ถึง 130 ฟุต นักผจญเพลิงต้องโรยตัวจากเฮลิคอปเตอร์ลงไปยังผืนดินของป่า เพื่อดำเนินปฏิบัติการกอบกู้วิกฤตไฟป่า
“หากคุณผนวกเทคโนโลยีพวกนี้ไปทำงานร่วมกับข้อมูลแหล่งอื่นๆ เช่น ข้อมูลจากการพยากรณ์ปรากฏการณ์ฟ้าผ่า โดรนก็จะไปไล่ล่าหาพายุฟ้าผ่า (ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดประกายไฟและเหตุไฟไหม้ลุกลาม) แล้วก็ส่งโดรนทั้งปวงไปเฝ้าระวังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้เลย” ผอ.เยบรากล่าวอย่างนั้น

เครื่องร่อนบรรทุกน้ำ : อัจฉริยะจอมดับไฟที่เป๊ะสุดๆ พร้อมประสิทธิภาพขั้นเทพ

ในเวลาเดียวกัน เครื่องร่อนก็ได้อานิสงส์ด้วย เมื่อเครื่องร่อนซึ่งมีระบบนำทางอัตโนมัติได้รับข้อมูลอันแม่นยำจากโดรน เครื่องร่อนจะไปอยู่เหนือจุดเพลิงไหม้ได้อย่างแม่นยำ และสามารถระเบิดมวลน้ำดับไฟ ณ จุดที่ถูกต้อง และ ณ ระดับความสูงที่เป๊ะ ซึ่งช่วยให้น้ำกระจายตัวและทำการดับไฟได้อย่างทรงประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมา ANU เป็นผู้พัฒนาเครื่องร่อนไร้คนขับดังกล่าวซึ่งใช้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และสามารถปราบกองเพลิงซึ่งเพิ่งลุกลามขึ้นมาให้ดับลงได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วมาก เครื่องร่อนอัจฉริยะนี้จะสามารถปฏิบัติงานได้ในทุกเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน และในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ

.
บุคคลในภาพคือ ศ.รอบ มาโฮนี
จากคณะวิศวกรรมและคอมพิวเตอร์แห่งANU และทีมงานเป็นผู้พัฒนาเครื่องร่อนบรรทุกน้ำเพื่อดับไฟป่าตั้งแต่ยังเป็นกองเพลิงไม่ใหญ่
ขณะนี้ผ่านขั้นตอนทดสอบต้นแบบแล้ว (ภาพจากเว็บไซต์ข่าวของมหาวิทยาลัยANU)


ออปทูสพร้อมส่งดาวเทียมติดเซ็นเซอร์ระยะไกลสู่อวกาศในปีหน้า

ในมิติของการพัฒนาดาวเทียมติดเซ็นเซอร์ระยะไกล บรรษัทออปทูส วิสาหกิจยักษ์ระดับประเทศในด้านโทรคมนาคมและดาวเทียม รับเป็นเจ้าภาพ โดยทำงานร่วมกับการพัฒนาเซนเซอร์ของศ.เยบร้า

แรงกระทบอันมหาศาลที่ออสเตรเลียได้รับจากมหาวินาศไฟป่า 2019/20 เป็นแรงบันดาลใจให้ออปทูสออกโรงมาช่วยขับเคลื่อนความพยายามยุติไฟป่ามหาวินาศ

ออปทูสมอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการด้านดาวเทียมของตนจัดตั้งทีมงานศึกษาว่าดาวเทียมสำรวจโลกของออปทูสจะช่วยต่อสู้ไฟป่าในอนาคตได้อย่างไร ที่ผ่านมาออปทูสได้ทำความตกลงดำเนินงานร่วมกับบริษัทหุ้นส่วนในต่างประเทศในอันที่จะพัฒนาศักยภาพการตรวจจับพื้นที่ที่มีไฟไหม้เกิดขึ้น

ในการนี้ ออปทูสใช้ดาวเทียมที่ติดตั้งเซนเซอร์ระยะไกลเพื่อการตรวจหาจุดเพลิงไหม้แบบเรียลไทม์ของบริษัท Fireball.International คือ ดาวเทียม Optimus-1 satellite โดยบริษัทแห่งรัฐควีนส์แลนด์เจ้านี้ นำประสบการณ์การต่อสู้ไฟป่ามากกว่า 75 ปี (ทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ภาคพื้นดิน และการใช้เครื่องบิน ตลอดจนการใช้เฮลิคอปเตอร์) มาพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะทางด้านดาวเทียมเพื่อต่อสู้ไฟป่า

บริษัท Fireball.International ได้ออกข่าวร่วมกับบริษัทแท็กซี่อวกาศ หรือ Space Taxi เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ว่าจะนำดาวเทียม Optimus-1 satellite ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศในปี 2022 โดยประกาศว่าระบบของดาวเทียมนี้จะสามารถตรวจพบไฟที่ปะทุขึ้นในป่าได้ภายใน 1 นาที

แผนงานต่อๆ ไปที่ออปทูสจะขับเคลื่อนในอีกสามปีข้างหน้าจะเป็นการใช้ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีจากการวิจัยพัฒนาใหม่ๆ อีกมากมาย ทั้งในองค์ความรู้ด้านอวกาศ การสื่อสารโทรคมนาคม ระบบเซนเซอร์ ไปจนถึงศาสตร์ด้านไฟป่าอีกหลายหลาก

โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา: เว็บไซต์ข่าว ANU Cosmos Magazine เว็บไซต์ข่าว Information Age รอยเตอร์ วิกิพีเดีย ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ World Weather Attribution เว็บไซต์ Space Connect Online เว็บไซต์ National Public Radio เว็บไซต์ NSW National Parks & Wildlife Service)

กำลังโหลดความคิดเห็น