xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ-จีน’ปะทะคารมกันดุเดือดราวกับทำสงครามเย็น ในการเจรจากันนัดแรก‘ยุคไบเดน'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน


การประชุมระดับสูงสหรัฐฯ-จีนเมื่อวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.) ที่เมืองแองเตอเรจ รัฐอะแลสกา โดยคณะผู้นำของฝ่ายสหรัฐฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีต่างประเทศ แองโทนี บลิงเคน (ที่2 จากขวา) กับ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ (ขวา) ส่วนฝ่ายจีน คณะผู้นำคือ หยาง เจียฉือ สมาชิกกรมการเมือง และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ที่ 2 จากซ้าย)  กับ หวัง อี้  มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน (ซ้าย)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Fireworks and fury set New Cold War tone in Alaska
by Richard Javad Heydarian
19/03/2021

คณะเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของสหรัฐฯและจีน ได้ปะทะคารมกันอย่างดุเดือดต่อหน้ากล้องทีวีและกล่องถ่ายภาพเมื่อวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.) แต่ก็อาจจะประนีประนอมกันได้เมื่อเข้าสู่วาระปิดประตูเจรจากันภายใน

ห่างไกลเหลือเกินจากการเป็นเวทีแผ้วถางทางสำหรับการ “รีเซต” ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน กันใหม่อย่างราบรื่น การเจรจาระดับสูงในเมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา วันพฤหัสบดี (18 มี.ค.) ที่ผ่านมาซึ่งเป็นที่จับตาสนใจกันอย่างมาก ดูเหมือนกลายเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า อภิมหาอำนาจทั้งสองกำลังถูกล็อกอยู่ใน “สงครามเย็นครั้งใหม่” ในทางพฤตินัย

การหารือในรูปแบบ “2+2” ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน และ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว เจค ซุลลิแวน กับ หยาง เจียฉือ สมาชิกกรมการเมือง และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กับ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เปิดฉากเริ่มต้นขึ้นด้วยความอึกทึกครึกโครม โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงจุดยืนที่ไม่ยอมประนีประนอมลดราวาศอกให้กันขณะอยู่ต่อหน้าสาธารณชน

มันไม่ใช่การมุ่งสำรวจเสาะหาพื้นที่ซึ่งสามารถเห็นชอบร่วมกัน และหาทางหลีกหนีออกจากความตึงเครียดทวิภาคีที่เกิดขึ้นมาในพื้นที่ด้านต่างๆ อย่างหลายหลากอยู่แล้วแถมยังทำท่าบานปลายขยายตัวอย่างน่ากลัวอันตราย หากกลับกลายเป็นว่าแต่ละฝ่ายต่างแสดงบทบาทซึ่งมุ่งให้ผู้ชมผู้ฟังภายในประเทศของพวกตนมองเห็น ด้วยการประกาศจุดยืนแบบเรียกร้องจากอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้มากที่สุด

คณะผู้นำการเจรจาฝ่ายสหรัฐฯได้กระทำในสิ่งที่ได้ประกาศเอาไว้ต่อสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ นั่นคือเพิกเฉยไม่แยแสต่อสิ่งซึ่งฝ่ายจีนถือเป็น “เส้นสีแดงที่ห้ามล่วงละเมิด” ด้วยการหยิบยกพวกประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอันอ่อนไหวในจีนขึ้นมาพูดตรงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง หรือการปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

ทางฝ่ายผู้นำการเจรจาฝ่ายจีนซึ่งทั้งคู่ต่างเป็นนักการทูตผู้ได้รับการยกย่องมากที่สุดในปัจจุบัน และในอดีตเคยผ่านตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แสดงบทบาทสำคัญมากในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยปัญหาของจีนกับสหรัฐฯ (ในกรณีของหยาง) และของจีนกับญี่ปุ่น (ในกรณีของ หวัง) ก็ตอบโต้กลับอย่างชนิดไม่มีลดราวาศอก

ในคำปราศรัยเปิดการหารือ ก่อนจะมีการเจรจากันเป็นการภายใน บลิงเคนอ้างว่า คณะบริหารไบเดนนอกจากมุ่งรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯแล้ว ยังจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สิ่งที่เขาเรียกว่า “ระเบียบระหว่างประเทศที่ยึดโยงกับกฎเกณฑ์” (rules-based international order)

“ทางเลือกอื่นถ้าไม่เอาระเบียบที่ยึดโยงกับกฎเกณฑ์นี้ ก็คือโลกซึ่งอำนาจคือความถูกต้อง และผู้ชนะกวาดไปหมดทุกอย่าง และนั่นก็จะเป็นโลกที่มีความรุนแรงมากขึ้นและไร้เสถียรภาพมากขึ้นสำหรับพวกเราทั้งหมด” เขาบอก

จากนั้นบลิงเคนก็พูดอย่างไม่มีปิดบังอ้อมค้อมว่า ฝ่ายสหรัฐฯจะ “หารือถึงความกังวลอย่างล้ำลึกของเราเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ ของจีน รวมทั้งในซินเจียง, ฮ่องกง, ไต้หวัน, การโจมตีทางไซเบอร์ต่อสหรัฐฯ, และการใช้อำนาจบังคับในทางเศรษฐกิจต่อพวกพันธมิตรของเรา”

“การกระทำเหล่านี้แต่ละอย่างเป็นการคุกคามระเบียบชนิดยึดโยงอยู่กับกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ธำรงเสถียรภาพของโลกเอาไว้ นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องภายใน และทำไมเราจึงรู้สึกว่ามีพันธะผูกพันที่จะต้องหยิบยกประเด็นปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาพูด ณ ที่นี้ในวันนี้”

ด้าน ซุลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้ขยายการวิพากษ์วิจารณ์นี้ โดยกล่าวว่า จีนเที่ยวโจมตีเล่นงานสิ่งที่เป็นค่านิยมพื้นฐาน พร้อมบอกด้วยว่า “เราไม่ได้แสวงหาความขัดแย้ง แต่เรายินดีต้อนรับการแข่งขันกันอย่างเต็มที่”

เมื่อถึงวาระที่เขาได้ปราศรัยบ้าง หยางก็ตอบโต้กลับทันทีด้วยการพูดอย่างยาวเหยียด

เขาบอกว่า สิ่งที่จีนและประชาคมระหว่างประเทศยึดถือปฏิบัติตาม คือระบบระหว่างประเทศที่มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง และระเบียบระหว่างประเทศที่วางอยู่บนกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่ป่าวร้องเผยแพร่โดยประเทศจำนวนเพียงน้อยนิดซึ่งอ้างว่าเป็นระเบียบระหว่างประเทศ “ที่ยึดโยงอยู่กับกฎเกณฑ์”

หยางกล่าวว่า สหรัฐฯมีสไตล์ของตน เป็นประชาธิปไตยในสไตล์สหรัฐฯ จีนก็มีประชาธิปไตยในสไตล์ของคนจีน “มันไม่ใช่ขึ้นอยู่กับแค่ประชาชนอเมริกัน แต่ยังประชาชนของโลกด้วยที่จะประเมินว่าสหรัฐฯทำได้ดีแค่ไหนในการสร้างความก้าวหน้าให้แก่ประชาธิปไตยของตนเอง”

เขากล่าวหากลับคืนว่าสหรัฐฯนั่นแหละคือ “แชมเปี้ยน” ในเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ และตั้งคำถามต่อการที่สหรัฐฯวางตัวสูงส่งสอนสั่งคนอื่นในเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

“สงครามต่างๆ ในโลกนี้เปิดฉากขึ้นโดยประเทศอื่นๆ บางประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายอย่างมหาศาล” หยางเหน็บแนมสหรัฐฯ และกล่าวต่อไปว่า “เราไม่เชื่อในเรื่องการรุกรานโดยผ่านการใช้กำลัง หรือการโค่นล้มระบอบปกครองของคนอื่นๆ โดยผ่านวิธีการต่างๆ หลายหลาก หรือการสังหารหมู่ประชาชนของประเทศอื่นๆ เพราะทั้งหมดเหล่านี้มีแต่เป็นเหตุให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและความไร้เสถียรภาพขึ้นในโลกนี้ และถึงที่สุดแล้ว ทั้งหมดเหล่านี้จะไม่ให้ผลดีแก่สหรัฐฯหรอก”

“ดังนั้นเราเชื่อว่ามันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสหรัฐฯที่จะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของตนเอง และที่จะหยุดยั้งการผลักดันประชาธิปไตยของตนเองไปให้แก่ประเทศอื่นๆ ในโลก” หยางพูดตรงๆ แถมตีแสกหน้าเรื่องสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯว่า “ประชาชนจำนวนมากภายในสหรัฐฯแท้ที่จริงก็ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยของสหรัฐฯ” โดยยกตัวอย่างเรื่องที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเล่นงานชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน และการประท้วงของขบวนการ “แบล็ก ไลฟ์ส แมตเทอร์”

“จีนจะไม่ยอมรับการกล่าวหาอย่างไม่ชอบธรรมจากฝ่ายสหรัฐฯ” หยางบอก พร้อมกับเสริมว่า พัฒนาการที่เกิดขึ้นช่วงหลังๆ นี้ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองถลำลงสู่ “ยุคแห่งความยากลำบากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน” ซึ่ง “ได้สร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์ของประเทศทั้งสอง”

รัฐมนตรีต่างประเทศ แองโทนี บลิงเคน (ซ้าย) นั่งฟัง ขณะ เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ (ขวา) กล่าวปราศรัยในช่วงเปิดประชุมการหารือระดับสูงสหรัฐฯ-จีน ที่อะแลสกา วันพฤหัสบดี (18 มี.ค.)
บลิงเคนนั้นดูเหมือนไม่พอใจที่หยางใช้เวลาพูดคนเดียวอยู่นานกว่า 15 นาที และพูดตอบโต้ว่าความประทับใจของเขาจากการพูดคุยกับบรรดาผู้นำของโลก และจากการที่เขาเพิ่งกลับจากเดินทางเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากจุดยืนของฝ่ายจีน

“ผมกำลังได้รับฟังว่ามีความพึงพอใจกันอย่างลึกซึ้งสำหรับการที่สหรัฐฯกลับมาแล้ว สำหรับการที่เรากลับมามีปฏิสัมพันธ์อีก” บลิงเคนตอบโต้  “ผมยังกำลังได้รับฟังถึงความกังวลอย่างล้ำลึกเกี่ยวกับการกระทำบางสิ่งบางอย่างที่รัฐบาลของคุณกำลังทำอยู่”

ทางฝ่ายหยางสวนกลับว่า ฝ่ายจีนรู้สึกถูกบังคับให้ต้องพูดแรงๆ เช่นนี้  เนื่องจากในคำกล่าวเปิดของฝ่ายสหรัฐฯนั้นมีน้ำเสียงต้องการพูดกับจีนแบบที่ตนเองเป็นฝ่ายเหนือกว่า พูดจากฐานะที่ว่าตนเองเข้มแข็ง เขาพูดกร้าวว่า “ผมขออนุญาตพูดตรงนี้ต่อหน้าทางฝ่ายจีนว่า สหรัฐฯนั้นไม่มีคุณสมบัติที่จะพูดว่า ตนเองต้องการพูดกับจีนจากฐานะที่ว่าตนเองเข้มแข็ง ...ถ้าสหรัฐฯต้องการติดต่อกับฝ่ายจีนอย่างถูกต้องแล้ว ก็ขอให้ทำตามพิธีการทูตที่จำเป็นและทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง”

เขาบอกด้วยว่า ตราบเท่าที่ระบบของจีนมีความถูกต้อง ด้วยสติปัญญาของประชาชนจีน มันก็ไม่มีทางใดที่จะมาบีบบังคับจีนได้

ภายหลังการกล่าวปราศรัยและให้โอกาสตอบโต้กันจนเลยกำหนดการไปเป็นชั่วโมง พวกผู้สื่ออข่าวก็ถูกขอให้ออกไปจากห้องประชุมขณะที่อภิมหาอำนาจทั้งสองหันมาพบปะเจรจากันเป็นการภายใน ซึ่งกำหนดเอาไว้เป็นหลายรอบในตลอดช่วง 2 วันคือวันพฤหัสบดี (19 มี.ค.) และวันศุกร์ (20 มี.ค.)

สำนักข่าวเอพีรายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งของคณะบริหารไบเดนเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (19 มี.ค.) ว่า ถึงแม้ในตอนเปิดให้สื่อมวลชนรับฟัง บรรยากาศของการเจรจาจะเต็มไปด้วยการตอบโต้กันไปมาอย่างไม่เป็นมิตรและไม่มีการลงรอยเห็นพ้องกัน แต่ในการหารือแบบปิดประตูคุยกันรอบแรกนั้นกลับได้ “เนื้อหาสาระ, จริงจัง, และตรงไปตรงมา” โดยที่คุยกันได้ยาวนานกว่าที่วางแผนเอาไว้ถึง 2 ชั่วโมง

ต่อมาเมื่อย่างเข้าวันศุกร์ (20 มี.ค.) จาลินา พอร์ตเตอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวยืนยันในการแถลงข่าวว่า คณะผู้แทนของสหรัฐฯและจีนที่หารือกันในอะแลสกา
เมื่อวันพฤหัสบดีนั้น มี “การเจรจากันอย่างจริงจัง”

“เราทราบว่าบางครั้งบางคราว การนำเสนอในทางการทูตเหล่านี้สามารถที่จะเกินเลยความเป็นจริง หรือกระทั่งอาจจะมุ่งไปที่ผู้ชมผู้ฟังภายในประเทศ” โฆษกหญิงผู้นี้บอก

“แต่เราไม่ได้ปล่อยให้การแสดงจากอีกฝ่ายหนึ่ง มาหยุดยั้งเราจากการทำสิ่งที่เราตั้งใจจะทำกันในอะแลสกา ซึ่งก็คือการวางกรอบหลักการต่างๆ ของเรา ตลอดจนความคาดหมายต่างๆ ของเรา และมีการสนทนาอย่างหนักแน่นจริงจังที่เราต้องทำกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่เนิ่นๆ” เธอบอก

รัฐมนตรีต่างประเทศ แองโทนี บลิงเคน พูดในที่ประชุม ขณะ หยาง เจียฉือ สมาชิกกรมการเมือง และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซ้าย)  กับ หวัง อี้  มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน (ที่ 2 จากซ้าย) นั่งฟัง ในพิธเปิดการประชุมระดับสูงสหรัฐฯ-จีน ที่โรงแรมกัปตันคุก เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา วันพฤหัสบดี (18 มี.ค.)
‘ไบเดน’พบกับ‘สี จิ้นผิง’เดือนหน้า?

ในการพูดจากันภายในของคณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายนั้น เป็นที่คาดหมายกันว่าจะมุ่งหารือถึงสิ้งที่มีโอกาสตกลงกันได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีศักยภาพในการแผ้วถางทางสู่การจัดประชุมซัมมิตอย่างเอิกเกริกระหว่างประธานาธิบดีไบเดน ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในเดือนหน้า โดยน่าจะเป็นวันคุ้มครองโลก (Earth Day) 22 เมษายน เพื่อเป็นการเน้นย้ำความพยายามร่วมกันของผู้นำทั้งสองในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ทั้งสองฝ่ายยังกำลังสำรวจลู่ทางเพื่อทำให้การจัดสนทนาระดับสูงของทั้งสองฝ่าย กลายเป็นสถาบันชัดเจนถาวรขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การบริหารจัดการความตึงเครียดทวิภาคีที่ยังมีอยู่มากหลาย
มีรายงานว่าคณะบริหารไบเดนพิจารณาที่จะเสนอสิ่งที่ตกลงเห็นพ้องกันได้ง่ายๆ จำนวนมาก ซึ่งฝ่ายจีนสามารถให้สัญญาแบบอ่อนข้อผ่อนปรนให้ได้ในทันที โดยที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงรุนแรงใดๆ ในระบบการเมืองหรือนโยบายการต่างประเทศของแดนมังกร

สำหรับทางฝ่ายจีนนั้น มีรายงานว่าต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในนโยบายของสหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.com/articles/china-plans-to-ask-u-s-to-roll-back-trump-policies-in-alaska-meeting-11616013995) เป็นต้นว่า การยกเลิกมาตรการแซงก์ชั่นต่างๆ ในยุคทรัมป์ที่ใช้เล่นงานบริษัทจีนและบุคคลชาวจีนทั้งหลาย

ว่ากันอย่างเฉพาะเจาะจงแล้ว ปักกิ่งต้องการให้คณะบริหารไบเดน กระทำสิ่งเหล่านี้ คือ

(1)ยกเลิกข้อจำกัดด้านการส่งออก ซึ่งรวมไปถึงพวกข้อห้ามส่งออกอินพุตด้านเทคโนโลยีสำคัญๆ ให้แก่บริษัทระดับแชมเปี้ยนแห่งชาติของจีน อย่างเช่น หัวเว่ย เทคโนโลจีส์ และ เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.com/market-data/quotes/HK/XHKG/981)

(2) ยกเลิกข้อจำกัดในการออกวีซ่าให้แก่สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนบางคน ตลอดจนพวกนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ในองค์การสื่อมวลชนของภาครัฐจีน รวมทั้งพวกนักศึกษาในแวดวงวิชาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหวสูง ตลอดจนอนุญาตให้เปิดสถานกงสุลจีนที่เมืองฮิวสตัน รัฐเทกซัส ขึ้นมาใหม่

เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน จีนอาจยกเลิกมาตรการแซงก์ชั่นสินค้าออกด้านอุตสาหกรรมและการเกษตรของสหรัฐฯ ตลอดจนดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายอุตสาหกรรมของตนในบาง ด่านบางประการ เพื่อบรรเทาคตวามหวาดกลัวว่าจีนมีการปฏิบัติทางด้านการลงทุนแบบไม่เป็นธรรม

จีนยังดูเหมือนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะให้จัดตั้งกลไก “วัคซีนพาสปอร์ต” แบบต่างตอบแทนขึ้นมา ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการสร้างความถูกต้องชอบธรรมทางกฏหมายให้แก่พวกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจีน ที่ยังคงไม่ผ่านการรับรองจากประเทศตะวันตกรายใหญ่ๆ

ก่อนหน้ามีการเจรากันคราวนี้ ทั้งสองต่างแสดงความคาดหมายเอาไว้ต่ำเตี้ย ในเรื่องที่จะมีการผ่าทางตันใดๆ กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ส่งสัญญาณแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะให้ได้อะไรออกมามากที่สุดจากการพบปะกันซึ่งบอกว่าเป็นแบบ “ครั้งเดียวเลิก” คราวนี้ ด้วยการจัดประชุมหารือแบบปิดประตูคุยกันภายใน ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายๆ รอบ โดยมีกำหนดยุติลงในเวลา 22.00 น.ของวันศุกร์ (19 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 13.00 น.วันเสาร์ที่ 20 มี.ค. ตามเวลาเมืองไทย -ผู้แปล)

มีรายงานว่า หลังการเลือกตั้งสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วไม่นานนัก จีนก็เริ่มต้นติดต่อกับพวกผู้ช่วยของว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.co/1articles/china-pushes-for-high-level-meeting-to-ease-tension-wi๊-s-11611342973?mod=article_inline) ในความพยายามที่จะแก้ไขคลี่คลายความตึงเครียดทวิภาคีซึ่งเกิดขึ้นในยุคคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์

ตามคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศจีน การนัดหมายเจรจากันที่อะแลสกานี้ เป็นไอเดียของคณะบริหารสหรัฐฯ โดยที่ไบเดนส่งสัญญาณว่าเข้าสู่ยุคใหม่ในด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯแล้ว และปฏิเสธไม่ยอมรับนโยบาย “อเมริกาเป็นอันดับแรก” แบบทำอะไรตามอำเภอใจฝ่ายเดียวของทรัมป์

“ฝ่ายสหรัฐฯเสนอที่จขะจัดการสนทาทางยุทธศาสตร์ระดับสูงคราวนี้ขึ้นมา ซึ่งเราคิดว่าเป็นเรื่องที่มีความหมาย ... (เพื่อที่ว่า) ทั้งสองฝ่ายจะได้สามารถสนทนากันอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เป็นความสนใจร่วมกัน” กระทรวงการต่างประเทศจีนบอกกับ วอลล์สตรีทเจอร์นัล ก่อนห้าการเจรจาครั้งนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.com/articles/china-plans-to-ask-u-s-to-roll-back-trump-policies-in-alaska-meeting-11616013995)

จีนยังย้ำอย่างชัดเจนด้วยว่า วาดหวังให้การหารือคราวนี้เป็นการสร้างโอกาสให้ “ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯหวนกลับเข้าร่องเข้ารอย” (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.scmp.com/news/china/article/3125729/us-china-relations-no-unrealistic-expectations-alaska-meeting)

สำหรับทางคณะบริหารไบเดน ยินดีต้อนรับการเจรจาครั้งนี้ในฐานะเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งสำหรับเพิ่มพูนความร่วมมือทวิภาคีในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการสาธารณสุขระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่พวกประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ก่อนหน้าการเผชิญหน้ากันทางการทูตอย่างดุเดือดที่อะแลสกาในวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.)พวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่ายต่างแสดงท่าทีกันไว้แล้วว่า กการหารือน่าจะไม่ราบรื่นและเป็นไปด้วยความยากลำบาก

แทบจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า การเจรจาที่อะแลสกาของทั้งสองฝ่ายครั้งนี้จะไม่มีการแก้ไขคลี่คลายประเด็นปัญหาสำคัญๆ ใดๆ แต่ถึงแม้มีการแลกหมัดกันอย่างไม่ลดราวาศอกในที่สาธารณะการพบปะกันคราวนี้ก็ยังคงมีศักยภาพที่จะช่วยละลายน้ำแข็งในสายสัมพันธ์ทวิภาคี  ภายหลังการเกรี้ยวกราดใส่กันอย่างยาวนานถึง 4 ปีภายใต้คณะบริหารทรัมป์

(ผู้แปลได้เพิ่มเติมข้อมูลบางส่วนจากสำนักข่าวต่างๆ รวมทั้งจาก บทถอดความคำปราศรัยก่อนหน้าการประชุมหารือที่อะแลสกา ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศวหรัฐฯ  https://www.state.gov/secretary-antony-j-blinken-national-security-advisor-jake-sullivan-chinese-director-of-the-office-of-the-central-commission-for-foreign-affairs-yang-jiechi-and-chinese-state-councilor-wang-yi-at-th/)
กำลังโหลดความคิดเห็น