(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
China’s 6% GDP forecast dampens big bounce expectations
by Frank Chen
05/03/2021
ปักกิ่งกลับมากำหนดเป้าหมายผลประกอบการทางเศรษฐกิจกันอีกครั้ง ผิดไปจากการคาดคะเนของบางฝ่าย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้คาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้ของตนจะทะยานสูงปริ๊ดอย่างที่มีบางฝ่ายมองกัน
บรรดาผู้นำของจีน ซึ่งเป็นประเทศใหญ่เพียงรายเดียวของโลกที่เศรษฐกิจสามารถกลับคืนมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังสูญเสียโมเมนตัมไปกับโรคระบาดใหญ่โควิด-19 กำลังเพิ่งสาธิตให้เห็นว่าพวกเขามีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะนำพาโลกให้ก้าวพ้นออกมาจากภาวะเศรษฐกิจล้มป่วยสาหัส
นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน บอกกับผู้คนที่เต็มแน่นห้องประชุมภายในมหาศาลาประชาชน ของกรุงปักกิ่ง ระหว่างการกล่าวปราศรัยเปิดวาระประชุมเต็มคณะประจำปีนี้ของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (รัฐสภา) ว่า อัตราเติบโตของจีดีพีจะต้องทำให้อยู่ในช่วงแถบเป้าหมาย “อันเหมาะสมและเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น” ซึ่งมีความผูกพันเชื่อมโยงรวมทั้งกระตุ้นให้พลังชีวิตแก่การสร้างงานและการบริหารจัดการระดับราคาผู้บริโภค
ความเคลื่อนไหวของปักกิ่งที่จะหวนกลับมากำหนดอัตราเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจประจำปีอีกครั้งเช่นนี้ ไม่ใช่สิ่งที่พวกนักวิเคราะห์และสื่อมวลชนต่างแดนคาดหมายกันเอาไว้อย่างกว้างขวางเลย ทั้งนี้โรคติดต่อร้ายแรงและสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่หนักหน่วงของเมื่อปีที่แล้ว ได้บังคับให้เหล่าผู้มีอำนาจรับผิดชอบของจีนต้องละเมิดประเพณีปฏิบัติซึ่งเคยทำมานาน และยกเลิกการประกาศตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการทางเศรษฐกิจทั้งหมด ณ การประชุมเต็มคณะของรัฐสภาประจำปี 2020 ซึ่งเปิดขึ้นมาล่าช้ากว่าช่วงเวลาที่เคยจัดกัน
ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ได้กล่าวย้ำในบทวิเคราะห์หลายชิ้นว่า ปักกิ่งน่าจะงดเว้นอีกครั้งไม่กำหนดเป้าหมายที่แน่นอนชัดเจนสำหรับอัตราเติบโตของจีดีพีของตนในปีนี้
“ขณะที่ตามตัวเลขของทางการระบุว่า เศรษฐกิจของจีนขยายตัวได้ด้วยอัตรา 2.3% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจสำคัญเพียงรายเดียวของโลกที่ยังสามารถเติบโตได้ แต่สุขภาพทางการเงินอันไม่แน่ไม่นอนของพวกชาติคู่ค้ารายท็อปของจีนซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องนำมาเกี่ยวข้องพิจารณาด้วย ก็เป็นสิ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้แก่ชาติผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลกรายนี้ ... จึงเป็นการดีกว่าที่จะยกเลิกการตั้งเป้าหมายทั้งหมดไปเลย แทนที่จะฝืนกำหนดสิ่งซึ่งพวกเขาก็ไม่มีความมั่นใจว่าจะสามารถทำได้หรือไม่” ข้อเขียนชิ้นหนึ่งพูดเอาไว้เช่นนี้
แต่ปรากฏว่าในรายงานกิจการรัฐบาลที่นายกฯหลี่ นำเสนอออกมาเมื่อตอนเช้าวันศุกร์ (5 มี.ค.) กลับอุดมไปด้วยตัวเลขเป้าหมายชุดใหญ่ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับปีนี้และถัดจากนี้ไป และทั้งหมดต่างถือเป็นฉันทามติของคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว อีกทั้งจะได้รับการรับรองอย่างไม่ยากเย็นจากรัฐสภาซึ่งมีปกติว่าได้ใช้ฟังแห่งนี้
หลี่ มีท่าทีย้ำยืนกรานความมั่นอกมั่นใจและความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าของปักกิ่ง โดยมีการเน้นหนักโฟกัสไปที่ดีมานด์ความต้องการภายในประเทศและการพึ่งพาตนเอง
ปักกิ่งยังมุ่งมั่นที่จะทำให้เศรษฐกิจมีอัตราเติบโตขยายตัว 5% ต่อปีโดยเฉลี่ยในตลอดระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า เพื่อทำให้ขนาดของจีดีพีแท้จริงเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัวภายในปี 2035 เมื่อเทียบกับระดับที่บรรลุได้ในปี 2020 นี่ก็คือวัตถุประสงค์ระยะยาวซึ่งดูโดดเด่นเตะตากว่าเพื่อนใน แผนการ 5 ปีฉบับที่ 14 ของจีนที่ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2021 ถึงปี 2025 ตลอดจนใน วิสัยทัศน์ปี 2035 โดยที่เอกสารทั้ง 2 เรื่องนี้ ถูกกำหนดให้บรรดาสมาชิกของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติอภิปรายและอนุมัติรับรองในการประชุมครั้งนี้
สำนักข่าวซินหัวบอกว่า ความพยายามในการรับประกันให้อัตราเติบโตสามารถดำเนินไปได้อย่างสม่ำเสมอในระยะ 5 ปีจากนี้ไป จะมีผลเป็นอย่างมากในการเป็นพื้นฐานอันแข็งแรง สำหรับให้ปักกิ่งดำเนินการเพื่อบรรลุความมุ่งมาดปรารถนาอย่างกว้างไกลต่างๆ ซึ่งวางเอาไว้สำหรับปี 2035 อย่างเช่น การลดช่วงห่างที่ยังล้าหลังสหรัฐฯในเรื่องขนาดของเศรษฐกิจ และแซงเลยหน้าสหรัฐฯไปให้ได้ในที่สุด
เย่ ซู (Yue Su) นักเศรษฐศาสตร์ระดับนำคนหนึ่งของ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (Economist Intelligence Unit) ชี้เอาไว้ว่า มีรายงานของรัฐบาลระดับมณฑลหลายๆ แห่งได้กำหนดเป้าหมายจีดีพีเอาไว้ที่ 6-7% เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ก่อนการประชุมสภาระดับชาติคราวนี้ โดยที่เป้าหมายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สอดคล้องกับเป้าหมายในระดับชาติ
เธอบอกด้วยว่า พวกสภาผู้แทนประชาชนระดับมณฑลซึ่งจัดประชุมกันไปเมื่อช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์นั้น ได้ส่งสัญญาณบ่งบอกให้ทราบว่า การหาทางรับประกันให้อัตราเติบโตของจีดีพีมีเสถียรภาพ จะเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญหลักๆ ซึ่งปักกิ่งจะมอบหมายให้แก่พวก “มณฑลมหาอำนาจ” ทั้งหลาย อย่างเช่น กวางตุ้ง, เจียงซู, ซานตง, และ เจ้อเจียง
มณฑลชายฝั่งทะเลที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางแล้วทั้ง 4 แห่งนี้ เป็นผู้มีส่วนอยู่เกือบๆ หนึ่งในสี่ ของจีดีพีของจีน ซึ่ง ในปี 2020 อยู่ในระดับเท่ากับ 100 ล้านล้านหยวน (15.43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) รวมทั้งยังกำลังแสดงบทบาทเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อขับดันให้เศรษฐกิจของทั่วประเทศขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีก
ผลผลิตทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2020 ของกวางตุ้ง ซึ่งเป็นเศรษฐกิจระดับมณฑลที่ใหญ่ที่สุดของจีนนั้น ทะลุหลัก 11 ล้านล้านหยวน เท่ากับแซงหน้าจีดีพีของเกาหลีใต้ไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ปักกิ่งจึงกำลังตั้งความหวังเอาไว้อย่างสูงกับมณฑลทางภาคใต้แห่งนี้ซึ่งตั้งประชิดติดกับฮ่องกงและมาเก๊า ว่าจะเป็นผู้นำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวทะลุเป้าหมาย 6% ที่ตั้งเอาไว้ได้
ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง หม่า ซิงรุ่ย (Ma Xingrui) ชี้เอาไว้ในรายงานของเขาที่เสนอต่อคณะสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของกวางตุ้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจของมณฑลนี้จะสามารถขยายตัวได้ในอัตรา 6 – 6.5% ในปี 2021
อาจารย์คนหนึ่งของมหาวิทยาลัยการต่างประเทศศึกษาแห่งกวางตุ้ง (Guangdong University of Foreign Studies) บอกกับเอเชียไทมส์ว่า เศรษฐกิจจีนจะต้องสร้างจีดีพีเพิ่มขึ้นมาให้ได้ 6 ล้านล้านหยวนในปีนี้ จึงจะบรรลุเป้าหมายการเติบโต 6% ที่นายกฯหลี่ ตั้งเอาไว้ และคาดกันว่ากวางตุ้งจะต้องมีส่วนร่วมในการขยายตัวสุทธิไม่น้อยกว่า 600,000 ล้านหยวน
นักวิชาการผู้นี้ซึ่งขอให้สงวนนาม ยังเปิดเผยด้วยว่า พวกเมืองหลักๆ ของมณฑล อย่างเช่น กว่างโจว และเซินเจิ้น จะได้รับมอบหมายให้ทำเศรษฐกิจของพวกตนให้เติบโตในระดับไม่ต่ำกว่า 7% รวมทั้งพวกอุตสาหกรรมเสาหลักทั้งหลายตลอดจนพวกธุรกิจและโรงงานการผลิตรายหลักๆ ในทั้งสองเมือง ต่างได้รับการบอกกล่าวแล้วว่าให้เร่งรัดเพิ่มผลผลิต
“กวางตุ้งสามารถที่จะกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของเอเชียเมื่อดูจากจีดีพี ถ้าหากมันเป็นประเทศเอกราช ตามหลังเพียงแค่จีนกับญี่ปุ่นเท่านั้น เมื่อใดก็ตามที่มีคำสั่งให้เร่งรัดการเติบโตและเพิ่มทวีผลผลิตแล้ว ปักกิ่งเป็นต้องมองมาที่กวางตุ้งสำหรับการปฏิบัติการ ...
“พวกบริษัทอย่างเช่น หัวเว่ย, เทนเซนต์, และ ฟ็อกซ์คอนน์ ในเซินเจิ้น และพวกผู้ผลิตรถยนต์, พวกเทรดเดอร์, และพวกผู้ดำเนินกิจการท่าเรือในกว่างโจว ก็ถูกมอบเป้าหมายการเติบโตอย่างเป็นพิเศษเจาะจงสำหรับปี 2021 เพราะว่าเหล่าเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบ 2 เมืองดังกล่าว เจอแรงกดดันจากรัฐบาลมณฑลให้เพิ่มจีดีพีของเมือง ส่วนพวกผู้นำระดับมณฑลอย่างเช่น หม่า ก็เผชิญแรงกดดันทำนองเดียวกันจากปักกิ่ง” นักวิชาการผู้นี้แจกแจง
มณฑลที่มั่งคั่งรุ่งเรืองแห่งอื่นๆ อย่างเช่น เจียงซู และเจ้อเจียง ก็กล่าวกันว่าได้รับมอบเป้าหมายเป็นพิเศษจากปักกิ่งเช่นเดียวกัน
เวลาเดียวกัน พวกผู้วางนโยบายและที่ปรึกษาคนสำคัญๆ ต่างหาทางบอกปัดไม่ยอมรับเสียงพูดจาที่ว่า จากการตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ 6% แสดงว่าปักกิ่งกำลังรีบร้อนที่จะกลับไปสู่ภาวะเสพติดมุ่งแต่เร่งรัดอัตราเติบโตของจีดีพีอย่างเอาเป็นเอาตายกันอีกครั้ง
จาง ลี่ฉุน (Zhang Liqun) นักวิจัยอาวุโสด้านเศรษฐกิจมหภาค ที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์วิจัยการพัฒนา ของคณะรัฐมนตรีจีน ซึ่งคอยให้คำแนะนำแก่นายกฯหลี่ บอกกับสำนักข่าวซินหัวว่า ถ้าหากไม่มีเป้าหมายการเติบโต “ที่อยู่ในเชิงรุกพอประมาณ” และสร้างความมั่งคั่งกันเพิ่มเติมขึ้นมาแล้ว มันก็จะไม่มีพื้นฐานสำหรับความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมทางเทคและเป้าหมายด้านการกินดีอยู่ดี ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนทั้งสิ้น
ส่วนสำนักข่าวไชน่านิวส์เซอร์วิส (China News Service) รายงานว่า หยาง เว่ยหมิน (Yang Weimin) อดีตรองผู้อำนวยการของกลุ่มการนำส่วนกลางว่าด้วยกิจการทางการเงินและเศรษฐกิจ (Central Leading Group on Financial and Economic Affairs) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน บอกว่าปักกิ่งสามารถวางจุดมุ่งหมายให้สูงถึงระดับ 8% สำหรับปีนี้ก็ยังได้ เมื่อพิจารณาจากระดับฐานของปี 2020 ซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
“การตัดสินใจลงตัวกับระดับ ‘พอประมาณ’ 6% เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าปักกิ่งยังกำลังให้ความสำคัญลำดับต้นๆ กับการปฏิรูปอื่นๆ และภาระผูกพันอย่างอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น การพึ่งพาตนเองทางด้านเทค ... การลงแรงกับเรื่องเหล่านี้อาจจะฉุดดึงอัตราเติบโตให้ต่ำลง ขณะที่จะผลิดอกออกผลให้เห็นกันได้ก็ในระยะยาวไกล แต่ปักกิ่งก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเดินหน้าในเรื่องเหล่านี้ “ หยาง กล่าว