xs
xsm
sm
md
lg

In Clip: ไบเดนต่อสายคุย “กษัตริย์ซาอุฯ” ครั้งแรก ก่อนเปิดรายงานข่าวกรองลับคดีลอบสังหารอดีตนักข่าววอชิงตันโพสต์ “คาช็อกกี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้ (25 ก.พ.) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ได้สนทนาทางโทรศัพท์ครั้งแรกกับกษัตริย์ซาอุฯ ก่อนหน้าที่รายงานของสำนักข่าวกรองสหรัฐฯเกี่ยวกับการลอบสังหารอดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ จามาล คาช็อกกี จะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะหลังได้รับอนุญาตให้ถูกปลดล็อกจากชั้นความลับ

บีบีซี สื่ออังกฤษรายงานวันนี้ (25 ก.พ.) ว่า เป็นการต่อสายคุยโทรศัพท์ครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน และ สมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด เกิดขึ้นเป็นในวันพฤหัสบดี (25) โดยทำเนียบขาวแถลงว่า ในการสนทนาทางโทรศัพท์ พบว่า ผู้นำสหรัฐฯได้ตอกย้ำความสำคัญของด้านสิทธิมนุษยชนและหลักความเป็นนิติรัฐที่สหรัฐฯต้องการ

เป็นการโทรศัพท์ที่จะเกิดขึ้นก่อนหน้าที่รายงานสำคัญจากสำนักข่าวกรองลับสหรัฐฯเกี่ยวข้องกับผลการสอบสวนคดีลอบสังหารอดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ จามาล คาช็อกกี เมื่อปี 2018 ในสถานกงสุลริยาด ที่เมืองอิสตันบูล ตุรกี จะออกมา

ซึ่งรายงานที่ได้รับการปลดล็อกจากชั้นความลับ คาดว่า จะเกี่ยวพันไปถึงตัวมกุฎราชกุมารซาอุฯ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน นั้นจะเปิดเผยต่อสาธารณะภายหลังในวันนี้

สื่ออังกฤษวิเคราะห์ว่า การเปิดรายงานข่าวกรองลับเกี่ยวข้องกับคาช็อกกีนั้นเป็นที่คาดว่า ในตัวรายงานจะระบุชื่อมกุฎราชกุมารซาอุฯเป็นผู้สั่งการลอบสังหาร

ซึ่งการเอ่ยพระนามของพระองค์ต่อสาธารณะครั้งนี้ จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและซาอุฯที่จะมีต่อไปในอนาคต ซึ่งไบเดนอาจต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ออกคำสั่งคว่ำบาตรมกุฎราชกุมารซาอุฯ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหาร ซึ่งดูเหมือนในแถลงการณ์ของทำเนียบขาวจะส่งสัญญาณทางเลือกที่เปิดกว้างต่อความรับผิดชอบและอีกด้านยังคงให้ความร่วมมือกับริยาดต่อไป

บีบีซีชี้ว่า ไบเดนอ่านรายงานฉบับนี้ก่อนการต่อสายคุยโทรศัพท์กับริยาด ซึ่งแถลงการณ์จากทำเนียบขาว กล่าวว่า ไม่มีการเอ่ยถึงชื่อ “คาช็อกกี” ในการสนทนา โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯได้เอ่ยถึงเหตุการณ์ด้านบวกเกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวอเมริกันเชื้อสายซาอุฯจำนวนหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ รวมไปถึงการปล่อยตัวของลูเจน อัล-หัซลูล (Loujain al-Hathloul) นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีชื่อดัง และการยืนยันการให้ความสำคัญของสหรัฐฯด้านสิทธิมนุษยชนและหลักความเป็นนิติรัฐต่อซาอุฯ

ทั้งนี้ พบว่า ลูเจน อัล-หัซลูล เพิ่งถูกปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำในเดือนนี้หลังเธอถูกจำคุกนาน 3 ปี แต่ทว่าถึงเธอได้รับอิสรภาพจากคุกแต่ยังคงถูกสั่งห้ามเดินทางไปต่างประเทศ รวมไปถึงไม่สามารถแสดงความเห็นต่อสื่อได้

ผู้นำทั้งสองหารือในด้านความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานระหว่างสหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบีย และภัยคุกคามต่อซาอุฯที่มาจากบรรดากลุ่มติดอาวุธให้การสนับสนุนอิหร่าน

แถลงการณ์จากทำเนียบขาว กล่าวว่า “ประธานาธิบดีตรัสต่อกษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุฯ ว่า เขาจะทำงานร่วมกันเพื่อให้ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีนั้นมีความแข็งแกร่งและโปร่งใส”

และในแถลงการณ์ยังย้ำว่า “ผู้นำทั้งสองได้ตอกย้ำธรรมชาติความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ยาวนาน และตกลงร่วมกันในความร่วมมือต่อปัญหาและข้อวิตกกังวลและผลประโยชน์ร่วมกัน”

เอเอฟพีรายงานว่า การขึ้นมาของไบเดนจะทำให้ความสัมพันธ์กับซาอุฯต่างจากรัฐบาลสหรัฐฯชุดก่อน เนื่องมาจากอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ความสำคัญน้อยมากต่อปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของซาอุฯ จาเรด คุชเนอร์ ลูกเขยอดีตผู้นำสหรัฐฯนั้นมีความใกล้ชิดกับมกุฎราชกุมารซาอุฯจนถึงขั้นส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือหากันอย่างมักคุ้น

และการที่ไบเดนให้ความสำคัญไปที่ปัญหาสิทธิมนุษยชนและหลักความเป็นนิติรัฐ เอเอฟพีชี้ว่า อาจทำให้เขามีปัญหาเนื่องมาจาก เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ในเวลานี้เป็นผู้ปกครองรัฐไปกลายๆ และในวันหนึ่งข้างหน้าจะเป็นเจ้านครผู้ปกครองแห่งรัฐ

ในการรายงานของเอเอฟพี ทำเนียบขาวกล่าวผ่านแถลงการณ์ต่อว่า ผู้นำทั้งคู่ได้เน้นหนักไปที่ปัญหาความั่นคงของซาอุฯ โดยฝ่ายไบเดนได้ให้คำมั่นในการช่วยซาอุดีอาระเบียด้านความมั่นคงจากภัยคุกคามที่อาจเกิดมาจากกลุ่มติดอาวุธที่ให้การสนับสนุนเตหะราน

ด้านสำนักข่าวทางการริยาดได้รายงานถึงการหารือทางโทรศัพท์ครั้งแรก ว่า สมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด และผู้นำสหรัฐฯได้ต่างย้ำความสำคัญความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของสองชาติที่มีความลึกซึ้งและยาวนาน พร้อมกับหารือร่วมกันในประเด็นการเคลื่อนไหวในการบั่นทอนเสถียรภาพต่างๆ ของอิหร่าน และการที่เตหะรานสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ภายในภูมิภาค





กำลังโหลดความคิดเห็น