xs
xsm
sm
md
lg

ผู้คุมกฎUSสั่งตรวจโบอิ้ง777ทันทีก่อนขึ้นบิน หลังพบความล้าโลหะอาจทำเครื่องยนต์ขัดข้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครื่อบินโบอิ้ง 777-200 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลนส์ ลำที่ใช้เป็นเที่ยวบิน 328 และเครื่องยนต์ตรงปีกด้านขวาเกิดไฟไหม้กลางอากาศ จอดอยู่ในโรงเก็บที่ท่าอากาศยานเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด วันจันทร์ (21 ก.พ.) เพื่อให้เจ้าหน้าที่วินิจฉัย
ผู้คุมกฎด้านการบินพลเรือนสหรัฐฯ (เอฟเอเอ) ออกคำสั่งในวันอังคาร (23 ก.พ.) ให้เครื่องบินทุกลำที่ใช้เครื่องยนต์พีดับเบิลยู4000 ของแพรตต์ แอนด์ วิทนีย์ แบบเดียวกับในโบอิ้ง 777 ลำที่เกิดไฟลุกไหม้กลางอากาศไม่นานหลังะทยานขึ้นจากเดนเวอร์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดำเนินการตรวจสอบกันทันทีก่อนกลับขึ้นบินอีกครั้ง ทั้งนี้หลังจากพบว่า ความล้าของโลหะใบพัดไททาเนียมที่อยู่ด้านหน้าของเครื่องยนต์อาจเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุดังกล่าว

ในวันจันทร์ (22) คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นทีเอสบี) เผยว่า รอยแตกที่ใบพัดของเครื่องยนต์รุ่นดังกล่าว ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณปีกด้านขวาของเครื่องบินโบอิ้ง 777 สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ ซึ่งใช้อยู่ในเที่ยวบินยูเอ 328 ที่เกิดไฟลุกไหม้ สอดคล้องกับอาการความล้าของโลหะ

วันต่อมา (23) สำนักงานบริหารการบินของรัฐบาลสหรัฐฯ (เอฟเอเอ) จึงออกคำสั่งดังกล่าว พร้อมแถลงว่าอาจทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง โดยกำหนดช่วงระยะห่างระหว่างการตรวจสอบคราวล่าสุดนี้กับครั้งต่อๆ ไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลตรวจสอบเบื้องต้น รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ที่ได้รับจากการสืบสวนที่ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง

ทั้งนี้ วันเสาร์ (20) ที่ผ่านมา เกิดเหตุเครื่องยนต์พีดับเบิลยู4000 บนเครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่ใช้งานมา 26 ปีขัดข้องและไฟลุกไหม้กลางอากาศ ทำให้มีชิ้นส่วนจำนวนหนึ่งหลุดกระจัดกระจายตกลงในชุมชนแถบชานเมือง หลังจากเพิ่งออกจากท่าอากาศยานนานาชาติเดนเวอร์ ซึ่งแม้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ทำให้มีการสั่งระงับใช้เครื่องบินโบอิ้งรุ่นนี้เป็นการชั่วคราว

ปัจจุบันยังมีเครื่องยนต์รุ่นนี้ติดตั้งอยู่ในโบอิ้ง 777 จำนวน 128 ลำ หรือไม่ถึง 10% ของจำนวนโบอิ้ง 777 แบบลำตัวกว้างที่มีการส่งมอบทั่วโลกกว่า 1,600 ลำ

เมื่อปี 2018 เครื่องยนต์พีดับเบิลยู4000 ในเครื่องบินลำหนึ่งของยูไนเต็ดก็เคยเกิดปัญหาขัดข้องจากความล้าของโลหะใบพัด ส่งผลให้ในเดือนมีนาคม 2019 เอฟเอเอสั่งตรวจสอบเครื่องยนต์รุ่นนี้ทุกๆ การใช้งาน 6,500 รอบ โดย 1 รอบหมายถึงการบินขึ้นและลงจอด 1 ครั้ง

นอกจากยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ แล้ว สายการบินที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ยังรวมถึงเจแปน แอร์ไลนส์ และออล นิปปอนของญี่ปุ่น ตลอดจนเอเชียนา แอร์ไลนส์ และโคเรียนแอร์ของเกาหลีใต้

ทางด้านกระทรวงคมนาคมเกาหลีใต้เปิดเผยเมื่อวันอังคารว่า ได้สั่งการให้สายการบินในประเทศตรวจสอบใบพัดทุก 1,000 รอบตามคำแนะนำของแพรต แอนด์ วิทนีย์ หลังเกิดอุบัติเหตุครั้งล่าสุดกับยูไนเต็ด อย่างไรก็ดี ในวันพุธ (24) กระทรวงออกคำสั่งใหม่ให้หยุดบิน โบอิ้ง 777 ที่ใช้เครื่องยนต์ พีดับเบิลยู4000 ทุกลำของสายการบินในประเทศ รวมทั้งจะห้ามสายการบินต่างประเทศซึ่งใช้เครื่องบินรุ่นนี้เข้าน่านฟ้าของตนตั้งแต่วันพฤหัสบดี (25)

ส่วนโบอิ้งแถลงว่า จะปฏิบัติตามคำแนะนำล่าสุดของเอฟเอเอด้วยการตรวจสอบใบพัดของเครื่องยนต์พีดับเบิลยู4000 โดยใช้เทคโนโลยี Thermal Acoustic Imaging (ทีเอไอ) ที่สามารถตรวจหารอยแตกบนพื้นผิวด้านในของใบพัดหรือบริเวณที่ไม่สามารถตรวจสอบด้วยสายตาได้ ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบยืนยันความสมควรเดินอากาศ

ก่อนหน้านี้โบอิ้งได้แนะนำให้สายการบินต่างๆ ระงับใช้เครื่องบินที่ติดตั้งเครื่องยนต์พีดับเบิลยู4000 ขณะที่ญี่ปุ่นสั่งระงับใช้เครื่องบินที่ติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นดังกล่าวชั่วคราวหลังอุบัติเหตุของยูไนเต็ดเมื่อวันเสาร์

วันพุธ (24) กระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นแถลงว่า กำลังตรวจสอบคำสั่งของเอฟเอเอและยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

แหล่งข่าวเผยว่า เอฟเอเอใช้เวลาตลอดสองวันที่ผ่านมาหารือเกี่ยวกับขอบเขตการตรวจสอบ โดยยอมรับเมื่อวันจันทร์ว่า ได้พิจารณายกระดับการตรวจสอบใบพัดเครื่องยนต์ ภายหลังเกิดกรณีเครื่องยนต์ในเครื่องบินของเจแปน แอร์ไลน์ (เจเอแอล) ขัดข้องเมื่อเดือนธันวาคม

อย่างไรก็ดี ทางด้านเอ็นทีเอสบีระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะรู้ว่า ปัญหาที่เกิดในเดนเวอร์เป็นปัญหาเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเจเอแอลหรือไม่

ส่วนยูไนเต็ดระงับใช้เครื่องบินที่ติดตั้งเครื่องยนต์พีดับเบิลยู4000 ก่อนที่เอฟเอเอจะประกาศ และเปิดเผยเมื่อวันอังคารว่า จะปฏิบัติตามคำสั่งความสมควรเดินอากาศอย่างเคร่งครัด

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี)

เที่ยวบิน UA328 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลนส์ ซึ่งกำลังนำผู้โดยสาร 231 คนและลูกเรือ 10 คน ต้องเลี้ยงกลับไปยังสนามบินเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด เมื่อเครื่องยนต์ด้านขวาเกิดไฟลุกไหม้  เหตุเกิดในวันเสาร์ (20 ก.พ.)

เที่ยวบินของเจแปนแอร์ไลนส์ ซึ่งฝาครอบเครื่องยนต์เกิดความเสียหายขณะบินอยู่กลางอากาศ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2020 (ภาพถ่ายจากคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย)
กำลังโหลดความคิดเห็น