xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: รีพับลิกันอุ้ม ‘ทรัมป์’ รอดญัตติถอดถอนครั้งที่ 2 ผู้นำ ส.ว.ชี้ยังต้องรับผิดชอบ ‘ปลุกม็อบ’ บุกสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ และ มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำวุฒิสมาชิกรีพับลิกันเสียงข้างน้อย
เป็นไปตามความคาดหมายเมื่อวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติให้อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ พ้นผิดข้อหาปลุกปั่นยุยงให้เกิดเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ช่วยให้ ทรัมป์ รอดจากกระบวนการถอดถอน (impeachment) ได้เป็นครั้งที่ 2 แม้วีรกรรมที่ผ่านมาของเขายังคงสร้างความแตกแยกร้าวลึกภายในพรรครีพับลิกันก็ตาม ขณะที่ฝ่ายเดโมแครตเดินหน้าฟ้องร้องคดีแพ่งต่อทันที ชนิดที่ไม่ปล่อยให้อดีตประธานาธิบดีผู้อื้อฉาวได้มีเวลาพักหายใจหายคอ

กระบวนการไต่สวนโดยวุฒิสภาใช้เวลารวมทั้งหมด 5 วัน โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 13 ก.พ. วุฒิสมาชิกเดโมแครตทั้ง 50 คน บวกกับส.ว. รีพับลิกันอีก 7 คน ได้ร่วมมือกันโหวตให้ ทรัมป์ มีความผิดตามญัตติถอดถอนของสภาผู้แทนราษฎร ทว่าคะแนนเสียง 57-43 นั้นยังไม่ถึงเกณฑ์ 2 ใน 3 ของสภาที่จะปลดอดีตผู้นำสหรัฐฯ ได้ จึงทำให้ ทรัมป์ รอดพ้นจากข้อครหาไปในที่สุด

แม้ ทรัมป์ จะหมดวาระดำรงตำแหน่งไปตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. แต่พรรคเดโมแครตยังเดินหน้ากระบวนการถอดถอนต่อมา โดยหวังให้วุฒิสภาตัดสินให้เขามีความผิดฐานยั่วยุให้ผู้สนับสนุนจู่โจมรัฐสภาจนมีผู้เสียชีวิต 5 ราย รวมตำรวจ 1 นาย และหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะนำไปสู่การลงมติห้าม ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ไปตลอดชีพ ตัดโอกาสที่มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ผู้นี้จะกลับมาทวงเก้าอี้ประธานาธิบดี และอาจจะยุยงสนับสนุนความรุนแรงอีกในอนาคต

ส.ส. เดโมแครตซึ่งทำหน้าที่อัยการได้เปิดคลิปเหตุการณ์ม็อบบุกสภาและขู่ทำร้ายนักการเมือง พร้อมระบุว่า ทรัมป์ เป็นผู้ประกาศนัดหมายให้มวลชนไปรวมตัวกันที่วอชิงตันในวันนั้น ซึ่งเป็นวันที่สภาคองเกรสจะลงมติรับรองชัยชนะในศึกเลือกตั้งให้แก่ โจ ไบเดน

ทรัมป์ สั่งให้ฝูงชนเดินขบวนไปที่รัฐสภา ทว่าสุดท้ายตัวเขาเองไม่สามารถควบคุมมวลชนไม่ให้ก่อความรุนแรงได้

ทนายของ ทรัมป์ อ้างว่าการปราศรัยของอดีตผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงก่อนม็อบบุกสภานั้นเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการปกป้องตามรัฐธรรมนูญ

ส.ว.รีพับลิกันเคยปกป้อง ทรัมป์ จากการถูกถอดถอนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2020 โดยตอนนั้นเขาถูกสภาผู้แทนราษฎรลงมติถอดถอนด้วยข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบ และขัดขวางกระบวนการสอบสวนของรัฐสภา จากกรณีไปกดดันให้ยูเครนช่วยขุดคุ้ยความผิดของ โจ ไบเดน กับลูกชาย โดยสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันในกระบวนการถอดถอนทั้ง 2 ครั้งก็คือ ทรัมป์ ละทิ้งบรรทัดฐานประชาธิปไตยเพื่อผลักดันผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง

ภายหลังทราบมติของวุฒิสภา ทรัมป์ได้มีถ้อยแถลงว่ากระบวนการที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงไปคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การ “ล่าแม่มด” และยังโอดครวญด้วยว่าไม่มีผู้นำสหรัฐฯ คนไหนต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้มาก่อน

มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำ ส.ว.รีพับลิกันซึ่งก็เป็นคนหนึ่งที่โหวตให้ทรัมป์พ้นผิด ออกมาตำหนิอดีตประธานาธิบดีด้วยถ้อยคำเจ็บแสบ โดยยืนยันว่า ทรัมป์ “มีส่วนต้องแบกรับความรับผิดชอบทั้งในทางปฏิบัติและศีลธรรม” จากการยั่วยุให้ผู้สนับสนุนก่อความรุนแรง และผู้ประท้วงที่บุกรัฐสภาในวันนั้นก็เชื่อว่าพวกเขา “กำลังสนองตอบความต้องการและคำสั่งของประธานาธิบดี” ที่ตัวเองชื่นชอบ

“อาชญากรพวกนั้นถือป้ายข้อความสนับสนุนเขา ชูธงของเขา และป่าวประกาศความจงรักภักดีต่อเขา” แมคคอนเนลล์ ระบุ

แมคคอนเนลล์ ย้ำว่า สาเหตุที่ตนโหวตให้ ทรัมป์ พ้นข้อกล่าวหาก็เนื่องจากเห็นว่าการไต่สวนถอดถอนประธานาธิบดีที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว “ขัดรัฐธรรมนูญ” ขณะเดียวกันก็ชี้ช่องให้มีการฟ้องร้องเอาผิดกับทรัมป์ เนื่องจากเวลานี้เขากลายเป็นบุคคลธรรมดา และไม่ได้รับความคุ้มกันทางกฎหมายอีกต่อไป

“ในฐานะบุคคลธรรมดา ประธานาธิบดี ทรัมป์ ยังต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำขณะดำรงตำแหน่ง... เขายังไม่ได้ถูกปลดเปลื้องจากความผิดเหล่านั้น” แมคคอนเนลล์ ระบุ

วุฒิสภาสหรัฐฯ เปิดการไต่สวนญัตติถอดถอนอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากกรณียุยงปลุกปั่นให้เกิดการก่อจลาจลที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.
แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าคำพูดของผู้นำ ส.ว.รายนี้ย่อมจะสร้างความเจ็บแค้นสุดขีดต่ออดีตผู้นำสหรัฐฯ วัย 74 ปี ซึ่งขณะนี้กลับไปใช้ชีวิตที่รีสอร์ตหรูมาร์-อา-ลาโกในรัฐฟลอริดา โดย ทรัมป์ ได้ออกคำแถลงยาวเหยียดที่สุดนับตั้งแต่พ้นตำแหน่งประณาม แมคคอนเนลล์ ว่าเป็น “นักการเมืองแก่ที่หน้าบูดบึ้ง” พร้อมเรียกร้องให้ ส.ว.รีพับลิกันปลดเขาออกจากการเป็นผู้นำ ส.ว. เสียงข้างน้อย “หาไม่แล้ว พรรคก็คงจะไม่มีวันชนะเลือกตั้งได้อีก”

“รีพับลิกันจะไม่มีวันได้รับการยกย่องหรือกลับมาแข็งแกร่งได้อีกเลย หากยังมีผู้นำทางการเมืองอย่างวุฒิสมาชิก มิตช์ แมคคอนเนลล์ เป็นหัวหน้า” ทรัมป์ ระบุ

ขณะเดียวกัน ส.ส. เบนนี ทอมป์สัน จากพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงมาตุภูมิของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก็ได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับ ทรัมป์ และ รูดี จูเลียนี ทนายความส่วนตัว รวมถึงพวกฝ่ายขวา 2 กลุ่มเมื่อวันอังคาร (16 ก.พ.) โทษฐานสมคบคิดยุยงปลุกปั่นเหตุจลาจลจนนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อที่อาคารรัฐสภาเมื่อเดือนที่แล้ว ถือเป็นความพยายามทางกฎหมายล่าสุดเพื่อที่จะดึง ทรัมป์ ให้ต้องรับผิดชอบต่อเหตุความรุนแรงดังกล่าว

คำฟ้องทางแพ่งนี้กล่าวหา ทรัมป์ และพวกว่าละเมิดกฎหมายคูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกเมื่อปี 1871 เพื่อปราบปรามองค์กรที่มีแนวคิดเชิดชูผิวขาว (white supremacists) โดยนอกจาก ทรัมป์ และทนายส่วนตัวแล้ว คำฟ้องยังระบุชื่อกลุ่มขวาจัด Proud Boys และกลุ่มนักรบต่อต้านรัฐบาล Oath Keepers ในรายนามของจำเลยด้วย

“เหตุจลาจลเป็นผลจากแผนที่บงการอย่างรอบคอบโดย ทรัมป์, จูเลียนี และพวกกลุ่มหัวรุนแรงอย่าง Oath Keepers และ Proud Boys ทั้งหมดมีเป้าหมายร่วมกันคือข่มขู่ รังควาน และคุกคาม เพื่อหยุดการรับรองผลลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง” เอกสารคำฟ้องระบุ

คำฟ้องดังกล่าวได้เรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินชดเชยและค่าเสียหายเพื่อเป็นการลงโทษ ทว่าไม่ได้มีการระบุจำนวนเงิน และยังขอให้ศาลออกคำสั่งห้ามไม่ให้ ทรัมป์ และจำเลยคนอื่นๆ กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายซ้ำอีกในอนาคต

เจสัน มิลเลอร์ ที่ปรึกษาของทรัมป์ ระบุว่าเวลานี้ จูเลียนี ไม่ได้เป็นผู้แทนทางกฎหมายให้กับ ทรัมป์ แล้ว พร้อมทั้งปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ ในคำฟ้อง โดยอ้างว่าวุฒิสภาได้ตัดสินให้ ทรัมป์ พ้นผิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เจราร์ด มากลิออคคา อาจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยอินดีแอนา มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ ทรัมป์ จะถูกตัดสินให้พ้นจากการเป็นจำเลยในคดีนี้ เนื่องจากศาลสูงสุดสหรัฐฯ เคยมีคำตัดสินในปี 1982 คุ้มกันประธานาธิบดีจากการถูกดำเนินคดีใดๆ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ

“ผมไม่เห็นว่าการฟ้องร้องในครั้งนี้จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร” มากลิออคคา กล่าว พร้อมระบุว่าในมุมมองของเขา คำปราศรัยของ ทรัมป์ ในวันนั้นยังอยู่ในขอบเขตของการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทรัมป์ ยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างสูงต่อฐานเสียงในรัฐสวิงสเตตส์ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินผลเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา และทำให้พรรครีพับลิกันตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าควรจะยึดโยงกับอดีตผู้นำรายนี้ต่อไปหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดแล้วรีพับลิกันก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสให้ได้หลังศึกเลือกตั้งกลางเทอมปี 2022 รวมถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2024 ที่ ทรัมป์ ทำท่าว่าจะกลับมาลงชิงชัยอีกครั้งหนึ่ง

แมคคอนเนลล์ และ ทรัมป์ ต่างก็พยายามที่จะดึงพรรครีพับลิกันไปสู่แนวทางคนละขั้ว โดยฝ่ายแรกนั้นต้องการเห็นรีพับลิกันกลับไปเป็นพรรคการเมืองที่ใส่ใจเรื่องงบประมาณและส่งเสริมการค้าในแบบที่เคยเป็นมา ในขณะที่ ทรัมป์ ซึ่งครองใจฐานเสียงจำนวนมากเน้นแนวทางประชานิยมมากกว่า

“มันยากมากที่จะจินตนาการว่า พรรครีพับลิกันจะสามารถชนะเลือกตั้งระดับชาติได้อย่างไร โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้สนับสนุนทรัมป์ในระยะเวลาอันใกล้นี้” อเล็กซ์ โคแนนท์ นักยุทธศาสตร์รีพับลิกันซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยของ ส.ว.มาร์โก รูบิโอ ตอนที่สู้ศึกเลือกตั้งไพรแมรีกับ ทรัมป์ เมื่อปี 2016 ให้ความเห็น

“รีพับลิกันกำลังเผชิญปัญหาใหญ่อย่างแท้จริง พวกเขาหวังพึ่ง ทรัมป์ ให้นำชัยชนะมาสู่พรรคไม่ได้ แต่ในทางกลับกันก็ไม่มีโอกาสชนะหากปราศจาก ทรัมป์”

ภาพเหตุการณ์ขณะที่กลุ่มมวลชนผู้สนับสนุนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าปิดล้อมและโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. เพื่อขัดขวางการรับรองชัยชนะในศึกเลือกตั้งให้กับ โจ ไบเดน
เหตุโจมตีอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. แทบจะไม่ได้บั่นทอนคะแนนนิยมของ ทรัมป์ ในกลุ่มฐานเสียงรีพับลิกัน โดยผลสำรวจของรอยเตอร์/อิปซอสหลังเกิดเหตุการณ์ไม่กี่วันพบว่า ชาวรีพับลิกัน 70% ยังคง “พึงพอใจ” การปฏิบัติงานของผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ และในจำนวนพอๆ กันเห็นว่า ทรัมป์ ควรได้รับอนุญาตให้กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2024

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจรอยเตอร์ที่สรุปจากการสอบถามความคิดเห็นชาวอเมริกันโดยรวมและเผยแพร่เมื่อวันเสาร์ที่ 13 ก.พ. พบว่า 71%ยังคงคิดว่า ทรัมป์ ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับเหตุโจมตีรัฐสภาบ้างไม่มากก็น้อย และ 57% มองว่าเขาควรจะถูกวุฒิสภาถอดถอน โดยมีผู้คัดค้านแค่ 38% และอีก 12% ตอบว่าไม่แน่ใจ

แม้ ทรัมป์ จะยังไม่ระบุชัดเจนว่าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไรต่อหลังรอดมติถอดถอน แต่เจ้าตัวก็เคยกล่าวเป็นนัยๆ ว่าอยากจะลงชิงประธานาธิบดีอีกหน แถมยังประกาศด้วยว่าจะให้การสนับสนุนนักการเมืองที่เห็นดีเห็นงามกับนโยบาย “America First” และสโลแกน “Make America Great Again” ของตนเท่านั้น

“เขาจะลงสมัครประธานาธิบดีอีกหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของเขา แต่ที่แน่ๆ คือ ทรัมป์ ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงต่อนโยบายของพรรครีพับลิกัน และน่าจะมีส่วนร่วมตัดสินว่าใครกันที่จะเป็นผู้รักษามาตรฐานอันนั้นไว้... คุณอาจเรียกเขาว่าเป็นคิงเมกเกอร์ หรืออะไรก็ตามแต่ที่อยากจะเรียก” ที่ปรึกษาของทรัมป์คนหนึ่งให้สัมภาษณ์

ภาพเหตุการณ์ขณะที่กลุ่มมวลชนผู้สนับสนุนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าปิดล้อมและโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. เพื่อขัดขวางการรับรองชัยชนะในศึกเลือกตั้งให้กับ โจ ไบเดน
กำลังโหลดความคิดเห็น