เอเจนซีส์/mgrออนไลน์ – สถาบันวิจัยสิงคโปร์ ISEAS ยูซอฟ อิสฮะก์ พบ 61.5% ของชาติสมาชิกอาเซียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลือกข้าง “สหรัฐฯ” มากกว่า “จีน” หากภูมิภาคจำเป็นต้องเลือกหากเกิดความขัดแย้ง
CNBC สื่อสหรัฐฯรายงานวันนี้(16 ก.พ)ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรอาศัยกว่า 650 ล้านคน และยังเป็นหนึ่งในส่วนของโลกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงแต่ถูกตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีนในหลายปีที่ผ่านมา
สถาบันวิจัยสิงคโปร์ ISEAS ยูซอฟ อิสฮะก์ (ISEAS Yusof-Ishak Institute) ออกผลการสำรวจประจำปีพบว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สนับสนุนหรัฐฯเพิ่มมากขึ้นหลังประธานาธิบดี โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง
ทางสถาบันวิจัยสิงคโปร์ได้เปิดเผยผลการสำรวจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า 61.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลือกที่จะอยู่ข้าง "สหรัฐฯ" มากกว่า "จีน" หากว่าภูมิภาคถูกบังคับให้จำเป็นต้องเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับตัวเลข 53.6% ของการเลือกสหรัฐฯในผลการสำรวจปีก่อนหน้า CNBC รายงาน
ทางสถาบันได้รวบรวมการสำรวจระหว่างวันที่ 18 พ.ย ปี 2020 ไปจนถึงวันที่ 10 ม.ค ปี 2021 เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ถูกประกาศว่าเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่เป็นช่วงเวลาก่อนที่เขาจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมแบบสอบถามมีจำนวนกว่า 1,000 คน จาก 10 ชาติสมาชิกของอาเซียน ผู้ตอบแบบสอบถามรวมไปถึง เจ้าหน้าที่รัฐบาล นักธุรกิจ นักวิเคราะห์ประจำสถาบันการศึกษา ธิงแทงก์ และสถาบันวิจัยอื่นๆ
และเปรียบเทียบกับข้อมูลระดับประเทศ ส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถามจาก 7 ชาติสมาชิกอาเซียนเลือกที่จะอยู่ข้างสหรัฐฯมากกว่าจีนในการสำรวจล่าสุด นี่ถือเป็นการเพิ่มขึ้นจาก 3 ในการสำรวจก่อนหน้า ที่มีกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ได้เปลี่ยนข้างการสนับสนุน
โดยในส่วนของไทยพบว่า ไทยได้ให้คะแนนถึง 51.1% ต่อคำถามสงครามการค้าจีนสหรัฐฯที่จะออกมา 1 ปีนับจากนีั้ว่า สงครามการค้าจะผ่อนคลายลงแต่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติจะยังคงไม่ราบรื่นต่อไป
และในการสำรวจเกี่ยวข้องกับการกลับเข้ามาเป็นชาติที่มีอิทธิพลภายในภูมิภาคของจีน ไทยแสดงความเห็นขัดแย้งกับปีที่ผ่านมา โดยผลการสำรวจที่ระบุว่า เชื่อว่า จีนจะเข้ามาเป็นชาติผู้มีอิทธิพลในภูมิภาคแทนที่สหรัฐฯ โดยไทยให้ความเห็นของประจำปี 2021 อยู่ที่ 35.1 % ลดลงจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 45.8% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยให้่การสนับสนุนสหรัฐฯมากขึ้นในปีนี่้ ต่างจากปีที่ผ่านมาซึ่งไทยตกอยู่ระหว่างกลางในสงครามการค้าจีนสหรัฐฯ
นอกจากนี้ยังพบว่า 76.3% ของผู้ตอบแบบสอบถามเลือก จีน ในฐานะชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ส่วนอีก 49.1% เลือก จีนในฐานะชาติมหาอำนาจด้านยุทธศาสตร์และการเมือง
ในช่วงสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้สั่งถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงการค้าเสรีรอบแปซิฟิก TPP ซึ่งสำคัญต่อทางภูมิภาค และอีกทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสหรัฐฯยังไม่มาปรากฎตัวในงานซัมมิตประจำภูมิภาคหลายงาน
ISEAS ยูซอฟ อิสฮะก์ ชี้ว่า แสดงให้เห็นถึงการไร้ความสนใจจากสหรัฐฯต่อภูมิภาคประกอบกับปักกิ่งแสดงความแข็งกร้าวมากขึ้นจากปัญหาทะเลจีนใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และมีการผลักดันอย่างหนักต่อภูมิภาค ที่รวมไปถึงผ่านทางโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road)ของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง
นอกจากนี้ ISEAS ยังกล่าวว่า แต่ทว่าในผลการสำรวจที่เพิ่งเปิดเผยแสดงให้เห็นว่าชาติต่างๆในอาเซียนมีความรู้สึกแง่บวกเพิ่มขึ้นต่อสหรัฐฯภายใต้รัฐบาลของไบเดน โดยราว 68.6% เชื่อว่าสหรัฐฯภายใต้รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาเกี่ยวพันกับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
ต่างจากผลการสำรวจครั้งก่อนที่พบว่า 77% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า สหรัฐฯจะข้องเกี่ยวต่อภูมิภาคลดลง
ความเชื่อมั่นของภูมิภาคต่อสหรัฐฯยังกระโดดขึ้นจาก 30% ไปที่ 48.3% ในการสำรวจล่าสุด
รายงานกล่าวว่า “มีเพียงเวลาเท่านั้นที่จะตอบได้ว่าการกลับมามีความเชื่อมั่นต่อสหรัฐฯนั้นเป็นสิ่งผิดพลาดหรือไม่”
ทั้งนี้มีสัญญาณแรกได้ออกมาว่ารัฐบาลไบเดนจะให้ความสำคัญมากขึ้นต่อภูมิภาคในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ แอนโธนี บลินเคน (Antony Blinken) ที่ได้ให้คำมั่นที่จะอยู่เคียงข้างชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หากมีการเผชิญหน้าต่อแรงกดดันจากจีนในการต่อสายถึงรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์เมื่อไม่นานมานี้
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯก่อนหน้าสมัยทรัมป์อยู่ในลักษณะการแข่งขันและความร่วมมือไปพร้อมกัน แต่ทว่าสหรัฐฯในสมัยทรัมป์ โดยบลินเคนชี้ว่า สหรัฐฯได้ถอยออกจากเวทีโลกและภาระข้อผูกพันต่างๆ อ้างอิงจาก NBC News รายงานเมื่อวันที่ 2 ธ.ค ปีที่ผ่านมา