xs
xsm
sm
md
lg

ไปต่อไม่รอใคร! ‘มาเลเซีย’ เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 สัปดาห์หน้า ตั้งเป้าคลุมประชากร 80% ใน 1 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน แห่งมาเลเซีย แถลงเปิดตัวคู่มือสำหรับโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาลในเมืองปุตราจายา วันนี้ (16 ก.พ.) (Photo: Bernama)
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคล็อตแรกจะถูกส่งถึงมาเลเซียในวันที่ 21 ก.พ. และรัฐบาลจะเริ่มโครงการฉีดวัคซีนในอีก 5 วันหลังจากนั้น โดยกำหนดเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชากรอย่างน้อย 80% จากทั้งหมด 32 ล้านคนภายในระยะเวลา 1 ปี เพื่อเร่งกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

มาเลเซียมียอดผู้ติดเชื้อสะสมราว 260,000 คน มากเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ไปแล้ว 975 คน

“การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จะช่วยให้เราสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยุติโรคระบาดครั้งนี้ลงได้” นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน แถลงระหว่างเปิดตัวคู่มือการฉีดวัคซีนวันนี้ (16 ก.พ.)

ผู้นำเสือเหลืองยืนยันจะเป็น “คนแรก” ที่เข้ารับวัคซีนของไฟเซอร์ในวันที่ 26 ก.พ. นี้

รัฐบาลมาเลเซียยังสั่งซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ด้วย เช่น บริษัท แอสตราเซเนกา ของอังกฤษ, สถาบันวิจัยกามาเลยาของรัสเซีย รวมถึง ซิโนแวค ไบโอเทค และ แคนซิโน ไบโอโลจิกส์ ของจีน

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังมีเพียงวัคซีนของไฟเซอร์เพียงตัวเดียวที่ได้รับอนุญาตใช้งานในมาเลเซียแล้ว ส่วนที่เหลือยังต้องรอการอนุมัติจากหน่วยงานด้านอาหารและยา

สำหรับโครงการฉีดวัคซีนเฟสแรกจะมีขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. โดยจะฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ 300,000 คน และเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นแนวหน้าต่อสู้โควิด-19 อีกประมาณ 200,000 คน รวมถึงนักการเมือง, เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสวัสดิการของรัฐส่วนเฟสที่ 2 ซึ่งจะเริ่มในช่วงเดือน เม.ย.-ส.ค. จะเป็นการฉีดให้แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง

คณะรัฐมนตรีมาเลเซียยังเห็นชอบให้มีการจัดเตรียมระบบจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ที่รับวัคซีนไปแล้วเกิดผลข้างเคียงรุนแรง

“เราได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้สำหรับกรณีที่วัคซีนมีมากเกินความต้องการ โดยจะฉีดให้แก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอาสาสมัครตามศูนย์ (แจกจ่ายวัคซีน) ต่างๆ ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าจะเสียเปล่า” คอยรี จามาลุดดิน รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์มาเลเซีย แถลง

ที่มา: รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น