xs
xsm
sm
md
lg

อียิปต์โชว์โรงเบียร์เก่าแก่ที่สุดของโลก อายุกว่า 5,000 ปี ผลิตได้ครั้งละ 22,400 ลิตร คาดใช้ในพิธีอาบน้ำพระศพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ซากโบราณวัตถุที่เป็นภาชนะเพื่อผลิตเบียร์ ถูกค้นพบในพื้นที่ของโบราณสถานแห่งอาไบดอส (Abydos) ในเขตผู้ว่าการซูฮัจ (Sohag) ของประเทศอียิปต์ คณะนักโบราณคดีร่วมอียิปต์-สหรัฐฯ ระบุว่าผลการศึกษาชี้ว่าพื้นที่ดังกล่าวนี้อาจเป็นโรงงานผลิตเบียร์แบบแมสโปรดักชัน ที่อาจจะเก่าแก่ที่สุดของโลก ภาพเผยแพร่โดยกระทรวงท่องเที่ยวและโบราณวัตถุสถานเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2021  ส่วนภาพด้านขวาเป็นรูปแกะสลักขนาดเล็กแสดงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตการผลิตเบียร์ของชาวอียิปต์โบราณยุคราชวงศ์ที่ 4 (2494-2345 ปีก่อนคริสตกาล) รูปสลักนี้ค้นพบที่โบราณสถานเมืองกีซา ปัจจุบันนำแสดงในพิพิธภัณฑ์อียิปต์ กรุงไคโร https://egypt-museum.com/post/172830718336/beer-in-ancient-egypt
โรงงานผลิตเบียร์เชิงอุตสาหกรรมยุคโบราณนานกว่า 5,000 ปี ซึ่งอาจเป็นโรงงานผลิตเบียร์คุณภาพสูงที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ถูกค้นพบที่สุสานแหล่งโบราณคดีที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของดินแดนไอยคุปต์ ดร.มอสตาฟา วาซิรี เลขาธิการใหญ่ สภาสูงสุดแห่งโบราณวัตถุสถานอียิปต์แถลงการค้นพบดังกล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2021

ดร.วาซิรีให้ข้อมูลว่า โรงงานยุคโบราณซึ่งผลิตเบียร์ระดับแมสโปรดักชันนี้ ถูกขุดพบที่โบราณสถานอาไบดอส (Abydos) พื้นที่สุสานโบราณในทะเลทรายทางตอนเหนือของเมืองอาไบดอส เขตผู้ว่าการซูฮัจ (Sohag) โดยตั้งอยู่ในแนวฝั่งซ้ายของแม่น้ำไนล์ และห่างลงมาทางใต้ของกรุงไคโรนครหลวงแห่งอียิปต์ประมาณ 450 กิโลเมตร สำนักข่าวเอพีรายงาน

ทั้งนี้ ประเทศอียิปต์แบ่งพื้นที่การปกครองใหญ่เป็น 27 เขตผู้ว่าการ (Governorate) แล้วแยกย่อยลงตามลำดับได้แก่ จังหวัด (region) เมือง (city/town) และหมู่บ้าน (village) ข้อมูลจากวิกิพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/Egypt

โรงงานเบียร์เก่าแก่มากกว่า 5,000 ปี ยุคราชวงศ์แรกของอียิปต์

อายุขัยของโรงงานต้มเบียร์แห่งอาไบดอสน่าจะอยู่ในยุคของฟาโรห์นาร์เมอร์แห่งราชวงศ์ต้นของอียิปต์ ซึ่งครองอำนาจเหนืออียิปต์เมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว ดร.วาซิรีกล่าว ทั้งนี้ ฟาโรห์นาร์เมอร์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะของกษัตริย์ผู้ผนวกอียิปต์ฝั่งตอนบนและอียิปต์ตอนล่างเข้าเป็นหนึ่งเดียว ช่วงต้นราชวงศ์ที่ 1 (3,150 ปีก่อนคริสตกาล - 2,613 ปีก่อนคริสตกาล)

ซากโบราณวัตถุที่เป็นภาชนะผลิตเบียร์ โดยเป็นหม้อดินประมาณ 40 หม้อ เรียงตัวเป็น 2 แถว หม้อแต่ละใบตั้งตรงขึ้นมาด้วยการประคองของแท่งดินเหนียวหลายอันตั้งเรียงเป็นวงแหวนรายรอบหม้อ ผู้ผลิตนำเมล็ดธัญพืชหลายอย่างใส่ในหม้อพร้อมน้ำและทำการต้ม
ทีมผู้ค้นพบซึ่งเป็นทีมความร่วมมืออียิปต์-สหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบหน่วยผลิตเบียร์ 8 จุด แต่ละหน่วยเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ความยาว 20 เมตร ความกว้าง 2.5 เมตร และฝังลงในพื้นดินความลึก 0.4 เมตร บนพื้นที่เหล่านี้ มีหม้อดินประมาณ 40 หม้อ เรียงตัวเป็น 2 แถว ทั้งนี้ หม้อแต่ละใบตั้งตรงขึ้นมาด้วยการประคองของแท่งดินเหนียวหลายอันตั้งเรียงเป็นวงแหวนรายรอบหม้อ

กระบวนการผลิตเบียร์ประกอบด้วยการนำเมล็ดธัญพืชหลายอย่างใส่ในหม้อพร้อมน้ำและทำการต้ม ดร.วาซิรีบอกอย่างนั้น

ขนาดการผลิตใหญ่โตถึง 22,400 ลิตรต่อครั้ง จัดทำเพื่อใช้ประกอบ “ราชพิธี”

คณะทำงานร่วมชุดนี้นำโดยประธานร่วมสองราย ได้แก่ ดร.แมทธิว อดัมส์ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และ ดร.เดบบอราห์ วิสแชค จากมหาวิทยาลัยพรินสตัน

ดร.อดัมส์ให้ข้อมูลว่า ผลการศึกษาแสดงให้เห็นขนาดการผลิตที่ใหญ่โตมาก โดยโรงงานผลิตเบียร์แห่งนี้มีศักยภาพการผลิตสูงถึงประมาณครั้งละ 22,400 ลิตรทีเดียว

โรงงานแห่งนี้ “อาจจะถูกสร้างขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจงภายในพื้นที่นี้ เพื่อผลิตเบียร์ให้ใช้ในราชพิธีต่างๆ ที่จัดขึ้นในสถานที่ประกอบพิธีฝังพระศพของฟาโรห์หลายพระองค์ของอียิปต์” ถ้อยแถลงบนเฟซบุ๊กของกระทรวงท่องเที่ยวและโบราณวัตถุสถานแห่งอียิปต์ บอกว่า ดร.อดัมส์กล่าวอย่างนั้น พร้อมกับระบุด้วยว่า “นักโบราณคดีพบหลักฐานเกี่ยวกับการใช้เบียร์ในพิธีบวงสรวงโบราณต่างๆ ในระหว่างที่ขุดค้นโบราณสถานเหล่านี้”

ซากโบราณสถานในเมืองอาไบดอสซึ่งอาจเป็นโรงงานผลิตเบียร์แบบแมสโปรดักชันที่เก่าแก่ที่สุดของโลก แต่ละหน่วยผลิตมีพื้นที่ขนาดใหญ่ความยาว 20 เมตร ความกว้าง 2.5 เมตร และฝังลงในพื้นดินความลึก 0.4 เมตร โดยมีศักยภาพการผลิตสูงถึงประมาณครั้งละ 22
ที่ผ่านมา คณะนักโบราณคดีอังกฤษเป็นทีมแรกที่นำเสนอว่ามีโรงงานเบียร์อยู่ในยุคอียิปต์โบราณ โดยมีการเสนอรายงานเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 แต่ทีมนี้ไม่สามารถชี้ชัดได้ในข้อมูลเรื่องพื้นที่ตั้งของโรงงาน กระทรวงท่องเที่ยวและโบราณวัตถุสถานแห่งอียิปต์ นำเสนออย่างนั้นบนเฟซบุ๊กของกระทรวง พร้อมกับชี้ว่าทีมความร่วมมืออียิปต์-สหรัฐฯ “สามารถกำหนดตำแหน่งพื้นที่และค้นพบรายละเอียด”

โบราณวัตถุแสดงการผลิตเบียร์ของอียิปต์โบราณ ปัจจุบันนำแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ British Museum ประเทศอังกฤษ
ยิ่งกว่านั้น การพบหลักฐานว่าคนอียิปต์โบราณมีเบียร์ไว้ใช้นั้นเกิดขึ้นโดยนักโบราณคดีมาหลายครั้งแล้ว เช่น ในสถานที่ก่อสร้างในกรุงเทลอาวีฟ มีการพบเศษเสี้ยวของเครื่องดินเผาอายุมากกว่า 5,000 ปีที่คนอียิปต์โบราณใช้ผลิตเบียร์ สำนักงานโบราณวัตถุสถานอิสราเอลเคยประกาศเรื่องนี้เมื่อปี 2015

เมืองอาไบดอสซึ่งเป็นแหล่งโบราณสถานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอียิปต์ โดยมีโบราณวัตถุล้ำค่ามากมายที่ถูกขุดพบตลอดหลายปีที่ผ่านมา และอาไบดอสยังโด่งดังด้วยวิหารโบราณหลายแห่ง อาทิ วิหารฟาโรห์เซติที่ 1

ด้านหน้าของวิหารฟาโรห์เซติที่ 1 ในเมืองอาไบดอส เขตผู้ว่าการซูฮัจ(Sohag) ภาพโดยโรแลนด์ อุงเกอร์ และโบราณวัตถุแผ่นจารึกอักษรภาพในวิหารซึ่งประกอบด้วยภาพยานพาหนะแห่งอนาคตกาล เช่น เฮลิคอปเตอร์ เรือดำน้ำ ภาพจากวิกิพีเดีย
ด้วยเสน่ห์ของโบราณวัตถุและโบราณสถานแห่งอารยธรรมโบราณอันงดงามจำนวนมหาศาลที่กระจายในหลายๆ เมือง อียิปต์สามารถทำรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019 อียิปต์เคยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้ถึง 13 ล้านราย และเคยมีการตั้งเป้าที่จะรณรงค์ส่งเสริมเพื่อให้ได้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไปไม่น้อยกว่า 15 ล้านราย แต่การระบาดรุนแรงของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคท่องเที่ยว กระนั้นก็ตาม โครงการขุดค้นทางโบราณคดีต่างๆ ยังเดินหน้าไปไม่หยุดยั้ง

โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา : เอพี เอเอฟพี วิกิพีเดีย พิพิธภัณฑ์ British Museum ประเทศอังกฤษ พิพิธภัณฑ์อียิปต์)

กำลังโหลดความคิดเห็น