เอเจนซีส์ – กระแสคนเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯถูกทำร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียในอเมริกาออกมาเรียกร้องให้หยุดการทำร้าย ชี้อดีตผู้นำสสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์มีส่วนให้คนเอเชียถูกทำร้ายหนักตั้งแต่โควิด-19เริ่มระบาดปีที่ผ่านมา
หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์รายงานวันนี้(12 ก.ย)ว่า นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯและผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาชี้ว่า คำสบประมาทเสียดสีเชิงเชื้อชาติเกี่ยวข้องกับการระบาดโรคโควิด-19ของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ที่เคยเรียกว่า “ไวรัสจีน” เป็นเสมือนเชื้อเพลิงทำให้คนเอเชียในสหรัฐฯตกเป็นเป้าถูกทำร้าย
อ้างอิงจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์รายงานเมื่อวานนี้(11)พบว่า สหรัฐฯมีจำนวนเคสใหม่เพิ่ม 93,166 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 3,219 คน ทำให้ในเวลานี้โควิด-19ได้คร่าชีวิตคนอเมริกันไปแล้ว 471,422 คน CNN รายงานว่า CDC ได้ฉีดวัคซีนให้ภูมิคุ้มกันไปแล้ว 44,769,970 โดส ท่ามกลางความกดดันส่งไปยังประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ โจ ไบเดน ที่ต้องการให้โรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้ง และการประท้วงของบรรดาคุณครูๆที่ต้องการได้รับวัคซีนก่อนที่จะกลับไปสอนหนังสือตามปกติ
ยูเอสเอทูเดย์รายงานว่า ในสัปดาห์นี้ตำรวจเมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการทำร้ายชายชราเชื้อสายเอเชียวัย 91 ปีเกิดขึ้นในใชน่าทาวน์เมืองโอ๊กแลนด์ได้สำเร็จ โดยคนร้ายถูกจับภาพไว้ได้จากกล้องทีวีวงจรปิด
อ้างอิงจากเดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ พบว่า ยาห์ยา มุสลิม (Yahya Muslim) แอฟริกันอเมริกันวัย 28 ปีถูกจับกุมตัวและตั้งข้อหาในวันจันทร์(8) โดยในวิดีโอคลิปพบว่า ในวันที่ 31 ม.คที่ผ่านมา มุสลิมได้ผลักผู้สูงอายุชาวเอเชียบนทางเท้าและถึงกับทำให้เขาตัวลอย ตำรวจเมืองโอ๊กแลนด์กล่าวว่า ต่อจากนั้นผู้ต้องหาได้ตรงเข้าเล่นงานชายอีกคนอายุ 60 ปี และหญิงอายุ 55 ปีเกิดขึ้นที่ช่วงตึกเดียวกัน และพบว่าผู้หญิงวัย 55 ปีหมดสติ เหยื่อทั้งสามถูกนำตัวส่งที่โรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อรักษาพยาบาล
คดีการทำร้ายนี้ทำให้นักแสดงชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีใต้ คือ แดเนียล แด คิม (Daniel Dae Kim)และนักแสดงชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย แดเนียล หวู (Daniel Wu) ได้ร่วมกันให้รางวัลเบาะแสนำจับสำหรับข้อมูลจำนวน 25,000 ดอลลาร์
เหตุการณ์การทำร้ายกลางไชน่าทาวน์เมืองโอ๊กแลนด์เกิดขึ้นไม่ถึงสัปดาห์ที่ชาวไทยวัย 84 ปี วิชา รัตนภักดี เสียชีวิตในเมืองซานฟรานซิสโกจากฝีมือของ วัยรุ่นอเมริกันผิวสีวัย 19 ปี อองตวน วัตสัน (Antoine Watson) ที่ให้การปฎิเสธความผิดในการขึ้นศาลครั้งแรก และผู้หญิงเชื้อสายเวียดนามถูกปล้นเงินร่วม 1,000 ดอลลาร์ในเมืองซานโฮเซ ส่วนชายชาวฟิลิปปินส์ถูกทำร้ายด้วยมีดคัตเตอร์ในรถไฟใต้ดินเมืองนิวยอร์ก
ยูเอสเอทูเดย์ชี้ว่า ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเหตุการทำร้ายและเอาชีวิตเหล่านี้เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจความเกลียดชังทางเชื้อชาติหรือไม่ แต่ทว่านักเคลื่อนไหวต่างออกมาเรียกร้องให้มีการลงมือทำมากกว่านี้เพื่อตอบโต้กับปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับคนเอเชียในสหรัฐฯ
ซึ่งเทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลที่สำคัญของชาวจีนในสหรัฐฯและมีการแจกเงินใส่ซองเป็นของขวัญ ส่งผลทำให้ตำรวจตามเมืองต่างๆทั่วอเมริกาออกคำเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เพิ่มความระมัดระวังว่าอาจมีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นในช่วงนี้
ศาสตราจารย์ รัสเซล เจิ้ง(Russell Jeung) ผู้สร้างเครื่องมือติดตามคดีเกลียดชังทางเชื้อชาติต่อกลุ่มอเมริกันเชื้อสายเอเชียและเชื้อสายมาจากหมู่เกาะแปซิฟิกที่มีชื่อว่า “Stop AAPI Hate tracker”
เขาให้ความเห็นว่า “เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มและยืนยันที่จะใช้คำ “ไวรัสจีน” เราเห็นคำกล่าวเกลียดชังทางเชื้อชาติทำให้เกิดความรุนแรงด้านความเกลียดชัง”
ทั้งนี้ รัสเซล เจิ้ง ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชา อเมริกันเชื้อสายเอเชียศึกษา ประจำมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกสเตทย้ำว่า วาทะทางการเมืองและวาทะเหยียดหยามทางเชื้อชาติเช่นนี้ยังคงมีมาจนถึงทุกวันนี้
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความวิตกและความหวาดกลัวในกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียรวมไปถึงความท้อแท้ที่มาจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ชาวเอเชียในสหรัฐฯได้รับผลกระทบหนักกว่ากลุ่มอื่นในประเทศ เจิ้งกล่าว
เว็บไซต์ Stop AAPI Hate ของเจิ้งที่รวบรวมบันทึกคดีความเกลียดชังต่อชาวเอชียทั่วสหรัฐฯ 2,808 คดีซึ่งถูกรวบรวมไว้ได้ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค 2020 – วันที่ 31 ธ.ค 2020
ส่วนองค์กรเอเชียนอเมริกันยุติธรรมก้าวหน้า( Asian Americans Advancing Justice)สามารถบันทึกเหตุเกิดได้มากกว่า 3,000 คดีนับตั้งแต่ปลายเมษายนปีที่แล้ว ถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดกว่าที่เคยบันทึกได้ในรอบ 4 ปี
ส่วนข้อมูลคดีกีดกันสีผิวต่อชาวเอเชียประจำปี 2019 ของ FBI พบว่ามีคดีเกิดขึ้น 216 คดี
ปัญหาเหยียดเชื้อชาติคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียทำให้ตำรวจเมืองนิวยอร์กตั้งแผนกต่อต้านคดีความเกลียดชังคนเอชียขึ้นมาโดยเฉพาะ ส่วนที่เมืองโอ๊กแลนด์ อแมนด้า เหงียน( Amanda Nguyễn) นักเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมเพื่ออเมริกันเชื้อสายเอเชียผู้ก่อตั้งร่วมองค์กรลุกขึ้นสู้ หรือ Rise สำหรับเหยื่อที่รอดมาจากการทำร้ายทางเพศได้ออกมาเรียกร้องให้มีการตระหนักเกิดขึ้นสำหรับคดีเมืองโอ๊กแลนด์ และการทำร้ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
จอห์น ซี. หยาง (John C. Yang) ซีอีโอองค์กรเอเชียนอเมริกันยุติธรรมก้าวหน้าชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่พบว่า ปัญหาด้านภาษาที่ต้องสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษและวัฒนธรรมทางเชื้อชาติเป็นอุปสรรคโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุทำให้ไม่สามารถนำเรื่องเข้ารายงานต่อตำรวจได้ โดยผู้สูงอายุชาวอเมริกันเชื้อสายจีนในไชน่าทาวน์ส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ รวมไปถึงไม่ทราบถึงว่ามีทรัพยากรช่วยเหลือคนเหล่านี้สำหรับคดีความ และปัญหาความอับอายทำให้ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียไม่กล้าเข้าให้การกับตำรวจ และยังรวมไปถึงสถานภาพการเข้าเมืองของคนเหล่านั้น
หยางเสริมว่า มีแค่ 10% ของเหตุที่เกิดขึ้นที่ได้รายงานต่อองค์กรของเขานั้นถูกพิจารณาว่าสามารถเป็นคดีอาญาทางกฎหมาย
ยูเอสเอทูเดย์รายงานว่า รูปแบบการทำร้ายชาวเอเชียในสหรัฐฯยังรวมไปถึง การปฎิเสธที่จะให้บริการ หรือการใช้รถคาร์พูล ถูกระรานทางคำพูด และการทำลายทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นต้น
ซึ่งเจิ้งกล่าวถึงประสบการณ์ตรงของการเหยียดหยามทางเชื้อชาติส่วนตัวว่า ภรรยาของเขาประสบเหตุถูกไอใส่หน้าด้วยความตั้งใจระหว่างเธอออกไปวิ่งจ๊อกกิ้ง