เอเจนซีส์/mgrออนไลน์ - “โฮป โพรบ” ยานสำรวจดาวอังคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางถึงดาวอังคารในเวลา 19.42 น.เมื่อวานนี้ (9) ตามเวลาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสามารถส่งสัญญาณกลับโลกในอีก 30 นาที หลังจากนั้น ทำให้ทีมภาคพื้นประจำศูนย์สำรวจอวกาศโมฮัมหมัด บิน ราชิด (Mohammed Bin Rashid Space Centre) ในเมืองดูไบ ต่างส่งเสียงเชียร์กันลั่น
CNBC สื่อสหรัฐฯรายงานเมื่อวานนี้ (9 ก.พ.) ยานสำรวจดาวอังคาร ยานโฮป โพรบ ( Hope probe) มีกำหนดเดินทางมาถึงดาวแดงเมื่อวานนี้ (9) และยานสำรวจดาวอังคารจีนเทียนเหวิน-1 (Tianwen-1) ตามมาติดๆ ไม่ถึงวัน โดยทางเทียนเหวิน-1 มีกำหนดที่จะเดินทางเข้าวงโคจรดาวอังคารในวันพุธ (10) อ้างอิงจากสื่อ CNET แต่ก่อนหน้าเทียนเหวิน-1 ได้ทำการส่งภาพถ่ายดาวอังคารกลับมาสู่พื้นโลกเรียกเสียงฮือฮาไปทั่ว
อ้างอิงจากสื่อ space.com พบว่า โครงการโฮปของยูเออี เป็นโครงการระหว่างดวงดาวโครงการแรก เริ่มต้นเดินทางออกจากโลกเมื่อวันที่ 22 ก.ค 2020 และเป็น 1 ใน 3 ของยานอวกาศจาก 3 ชาติ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน และ สหรัฐฯ ที่กำลังเดินทางไปยังดาวอังคารหลังเดินทางไกลกว่า 400 ล้านกิโลเมตร
แอกเคานต์ทางการของโครงการสำรวจดาวอังคารของยูเอเอี ภารกิจดาวอังคารโฮป (Hope Mars Mission) ประกาศทางทวิตเตอร์ถึงความสำเร็จมีใจความว่า
“204 วัน และไกลกว่า 480 ล้านกิโลเมตร หลังจากนั้น ยาน #HopeProbe ในเวลานี้อยู่ในวงโคจรของดาวอังคาร #Mars”
และทางโครงการยังส่งแฮชแท็ก #ArabsToMars หรือ #อาหรับไปดาวอังคาร
ความวิตกมีมหาศาลจากการที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า โอกาสความสำเร็จในการศึกษามีแค่ 50% เท่านั้น เป็นเพราะมากกว่าครึ่งของบรรดาโครงการต่างๆ ของการสำรวจดาวอังคารนั้นล้มเหลว
ช่วงเวลาลุ้นระทึกเกิดขึ้นในระยะเวลา 27 นาที ที่ยานโฮป โพรบ จำเป็นต้องลดสปีดความเร็วลงอย่างมาก จากอัตราความเร็วที่ 100,000 กม./ชั่วโมง มาเหลือแค่ 18,000 กม./ชั่วโมง ภายช่วงเวลาใน 27 นาที
และทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงเกือบครึ่งของยาน เพื่อที่จะทำให้ยานถูกดึงดูดจากแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารเข้าสู่วงโคจร สื่อสหรัฐฯรายงานว่า และต้องใช้เวลา 11 นาที หลังจากนั้น ในการติดต่อสื่อสารกลับไปยังพื้นโลกที่ยูเออี ซึ่งมีทีมงานทั้งนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ซึ่งรวมถึงชาวยูเออีร่วม 200 คน เฝ้ารอด้วยใจเต้นระทึกว่าปฏิบัติการสำรวจดาวอังคารของพวกเขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่
CNBC สื่อสหรัฐฯรายงานว่า ภารกิจสำรวจดาวอังคารของยานโฮป โพรบ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ดาวเคราะห์โลกนั้น อยู่ใกล้ดาวอังคารมากที่สุด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบทุก 2 ปี
และการเข้าสู่วงโคจรสำเร็จเมื่อวานนี้ (9) ทำให้สหรัฐเอมิเรตส์ กลายเป็นชาติที่ 2 ของโลก ที่สามารถเข้าสู่วงจรดาวอังคารได้สำเร็จนับตั้งแต่ครั้งแรกถึงแม้จะเป็นการเริ่มความพยายามมาตั้งแต่ยุคปี 1960 ก็ตาม และชาติอื่นที่ประสบความสำเร็จคือ “อินเดีย”
และหลังจากข่าวยานโฮป โพรบ สามารถเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารสำเร็จ ทำให้หลายชาติทั่วโลกต่างออกมาแสดงความยินดีเป็นต้นว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ รัฐบาลอินเดีย องค์การสำรวจอวกาศอังกฤษ และ นีล ดีกราซเซอ ไทสัน (Neil DeGrasse Tyson) นักฟิสิกส์อวกาศชื่อดังของสหรัฐฯ
ด้าน โทมัส เซอร์บูเคน (Thomas Zurbuchen) ผู้ช่วยผู้บริหารองค์การสำรวจอวกาศนาซาของสหรัฐฯได้ออกมาทวีตแสดงความยินดีต่อยูเออีเช่นกันมีใจความว่า
“ขอแสดงความยินดีต่อ @HopeMarsMission ในการเดินทางมาถึงวงโคจรดาวอังคารอย่างปลอดภัย! ความกล้าหาญของคุณที่จะสำรวจดาวเคราะห์แดงจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นอีกเป็นจำนวนมากที่ใฝ่ฝันจะไปถึงดวงดาว ทางเราหวังว่า จะพบกับคุณที่ดาวอังคารในเร็ววันนี้พร้อมกับ @NASAPersevere”
ซึ่งนอกเหนือจากยานโฮป โพรบ ของยูเออี ยานเทียนเหวิน-1 ของจีน พบว่า ยานเพอร์ซีเวอแรนซ์ โรเวอร์ (Perseverance rover) ขององค์การนาซาสหรัฐฯ ได้ออกเดินทางจากโลกเมื่อกรกฎาคม เพื่อเดินทางไปยังดาวอังคารเช่นกัน
โดยในทวิตเตอร์ของ NASAPersevere ที่ทวีตล่าสุดเมื่อ 12 ชั่วโมงก่อนหน้ากล่าวว่า
“เราจะถึงเป้าหมายดาวเคราะห์แดงในวันที่ 18 ก.พ และมีความสุขในไม่กี่วันใน#การนับถอยหลังไปถึงดาวอังคาร #CountdownToMars”
CNBC ชี้ว่า และในเวลานี้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลายเป็นชาติที่ 5 ของโลกที่สามารถเดินทางไปถึงดาวอังคารสำเร็จ โดยโครงการสำรวจดาวอังคารของยูเออีได้เป็นพันธมิตรร่วมกันกับมหาวิทยาลัยโคโลราโดเบาล์เดอร์ (University of Colorado Boulder) ที่เป็นผู้สร้างยานอวกาศขึ้น และนำผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ห้องวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศและอวกาศฟิสิกส์ (Laboratory for Atmospheric and Space Physics) ของทางมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์นี้