รอยเตอร์ - ศาลสูงฮ่องกงออกคำตัดสินวันนี้ (8 ก.พ.) ปฏิเสธให้การประกันตัวแก่เจ้าของหนังสือพิมพ์แอปเปิล เดลี จิมมี ไล ในคดีความมั่นคงที่ถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายความมั่นคงใหม่
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (8 ก.พ.) ว่า คณะผู้พิพากษา 5 คน ประจำศาลอุทธรณ์ครั้งสุดท้ายฮ่องกง CFA (Court of Final Appeal) แถลงผ่านคำพิพากษาวันอังคาร (9) ถึงการยื่นขอประกันตัวของ จิมมี ไล เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์แอปเปิล เดลี และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงระดับแกนนำ ว่า ศาลชั้นล่างได้ใช้เหตุผลที่ผิดพลาดและการตีความมาตรา 42 ผิด เป็นการตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์
คณะผู้พิพากษากล่าวอีกว่า ทีมกฎหมายของไลสามารถยื่นคำร้องขอการประกันได้ใหม่ จากการที่คำพิพากษาที่ออกมาในวันอังคาร (9) นั้น เป็นการตัดสินอยู่ในวงจำกัดที่ต้องการพิเคราะห์ว่าเหตุใดคดีจึงผ่านจากศาลชั้นล่างมาสู่การตัดสินของศาลชั้นบนได้มากกว่าที่จะพิจารณาว่าไลสมควรได้รับการประกันตัวหรือไม่
รอยเตอร์รายงานว่า ไลขึ้นศาลด้วยชุดสูทสีเทา ขณะเดียวกัน มีผู้ประท้วงจำนวนเล็กๆ ที่สนับสนุนปักกิ่งต่างพากันตะโกนว่า “ขังจิมมี ไล ตลอดชีวิต ปกป้องเสรีภาพฮ่องกง” ขณะที่ภายในศาล กลุ่มผู้สนับสนุนไลได้ตะโกนว่า “อดทนไว้” และ “เติมน้ำมัน” (Add oil) ซึ่งเป็นวาทะที่ใช้กันมากในฮ่องกงสำหรับการให้กำลังใจ
จิมมี ไล ลาออกจากการเป็นประธานบริหารบริษัท เน็กซ์ ดิจิทัล (Next Digital) ซึ่งตีพิมพ์หนังสือพิมพ์แอปเปิล เดลี ในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อัยการฮ่องกงได้กล่าวหาเจ้าของหนังสือพิมพ์แอปเปิล เดลี ว่า ละเมิดกฎหมายในแถลงการณ์ของเขาที่ออกมาในวันที่ 30 ก.ค และวันที่ 18 ส.ค ที่ทางเจ้าหน้าที่ฮ่องกงกล่าวหาว่า ไลได้ร้องให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในฮ่องกง โดยไลถูกจับกุมในเดือนสิงหาคมเมื่อมีตำรวจฮ่องกงร่วม 200 นาย บุกเข้ามาภายในสำนักงานแอปเปิล เดลี ของเขา
รอยเตอร์รายงานว่า ไลอยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค เว้นแต่เมื่อครั้งเขาได้รับการประกันตัวออกมาช่วงสั้นๆ เป็นเวลาราวสัปดาห์เมื่อปลายปี โดยเขาได้รับอนุญาตการประกันภายใต้วงเงิน 10 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (1.3 ล้านดอลลาร์) โดยศาลชั้นล่างเมื่อวันที่ 23 ธ.ค ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ครั้งสุดท้าย ฮ่องกงจะนำตัวไลกลับเข้าสู่เรือนจำในวันที่ 31 ธ.ค. เพื่อรอการพิจารณาการยื่นอุทธรณ์จากฝั่งรัฐบาลฮ่องกง
ซึ่งการกลับเข้าสู่เรือนจำของไลอีกครั้งเกี่ยวข้องกับมาตรา 42 ของกฎหมายความมั่นคง ที่ระบุว่า “ไม่สมควรที่จะให้การประกันแก่ผู้ต้องสงสัยทางอาญา หรือจำเลยเว้นแต่ผู้พิพากษาจะมีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ต้องสงสัยทางอาญาหรือจำเลยจะไม่กระทำผิดต่อไปที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงชาติ”