xs
xsm
sm
md
lg

ยอดตาย ‘ธารน้ำแข็งถล่ม’ ในอินเดียพุ่ง 18 ศพ-กว่า 200 ชีวิตยังสูญหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหตุธารน้ำแข็งหิมาลัยแตกในรัฐอุตตราขัณฑ์ของอินเดียซึ่งทำให้มีมวลน้ำไหลบ่าซัดถล่มเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ 2 แห่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 18 ราย และยังมีผู้สูญหายอีกกว่า 200 คนในวันนี้ (8 ก.พ.)

คลิปที่ผู้เห็นเหตุการณ์บันทึกไว้และแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นกระแสน้ำเชี่ยวกรากที่มีทั้งหินและโคลนไหลผ่านโตรกผาแคบๆ ในเขตชาโมลี (Chamoli) ก่อนจะซัดถล่มเขื่อนแห่งหนึ่งและกวาดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางทาง ขณะที่ทางการได้แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ปลายน้ำให้รีบอพยพโดยด่วน

ตริเวนทรา ราวัต มุขมนตรีรัฐอุตตราขัณฑ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ (7) ว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นถือเป็น “หายนะครั้งรุนแรง” และคาดว่าจะก่อให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐแห่งนี้

กองทัพอินเดียและกองกำลังตอบสนองภัยพิบัติแห่งชาติ (NDRF) ได้ระดมเจ้าหน้าที่เข้าร่วมในปฏิบัติการกู้ภัย โดยคาดว่าจะมีทีมค้นหาของ NDRF เดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงนิวเดลีไปถึงยังรัฐอุตตราขัณฑ์เพิ่มเติมภายในวันนี้ (8)

กระแสน้ำจากเทือกเขาสูงยังไหลเข้าท่วมเขื่อนริชิกังกา (Rishiganga) ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กแห่งหนึ่งในเขตชาโมลี โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำอลักนันทา (Alaknanda) ได้รับคำเตือนให้อพยพล่วงหน้าแต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกจนเกินไป

CNN อ้างข้อมูลจากมุขมนตรีรัฐอุตตราขัณฑ์ซึ่งระบุว่า เขื่อนริชิกังกามีคนงานอยู่เพียง 35 ราย และมีผู้สูญหายระหว่าง 29-30 คน ทว่ากระแสน้ำได้ไหลลงไปตามแม่น้ำเธาลีกังกาและสร้างความเสียหายต่อเขื่อน ทาโปวัน วิษณุคัต (Tapovan Vishnugad) ของ NTPC ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า โดยที่เขื่อนแห่งนี้มีคนงานอยู่ราวๆ 176 คน และมีอุโมงค์ 2 แห่ง

รัฐบาลท้องถิ่นรัฐอุตตราขัณฑ์แถลงวันนี้ (8) ว่า เจ้าหน้าที่เก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิตจากสถานที่ต่างๆ ได้แล้วอย่างน้อย 18 ศพ แต่ยังคงมีผู้สูญหายอีกไม่ต่ำกว่า 200 คน ส่วนใหญ่เป็นคนงานจากโรงไฟฟ้า 2 แห่งที่ถูกน้ำซัดพังเสียหาย โดยจุดที่คาดว่าจะมีคนติดอยู่คือภายในอุโมงค์ 2 แห่งที่ถูกดินโคลนไหลลงมาทับ




ปิยูช เราเทลา เจ้าหน้าที่จากสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติ บอกกับเอเอฟพีว่า หน่วยกู้ภัยสามารถช่วยชีวิตผู้ที่ติดอยู่ในอุโมงค์แห่งหนึ่งออกมาได้ 12 คนเมื่อวานนี้ (7) แต่คาดว่าน่าจะยังมีอีก 25-30 คนที่ติดอยู่ในอุโมงค์แห่งที่ 2

เนื่องจากถนนสายหลักถูกตัดขาด ทีมกู้ภัยจึงต้องใช้วิธีปีนเชือกลงจากเนินเขาเพื่อลงไปถึงทางเข้าอุโมงค์

หน่วยกู้ภัยหลายร้อยคนเริ่มภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตกันตั้งแต่รุ่งสางวันนี้ (8) โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยตอบสนองภัยพิบัติแห่งชาติ รวมถึงนักประดาน้ำจากกองทัพบกและกองทัพเรืออินเดีย

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรายงานว่า เขื่อน 2 แห่งถูกปล่อยน้ำออกจนหมดเพื่อสกัดไม่ให้กระแสน้ำไหลไปถึงเมืองริชิเกช (Rishikesh) และหริทวาร (Haridwar) ซึ่งเป็นสองเมืองศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู ขณะที่ประชาชนถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าใกล้แม่น้ำในช่วงเวลานี้

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า ตนกำลังเฝ้าติดตามปฏิบัติการกู้ภัยอย่างใกล้ชิด และย้ำว่า “อินเดียยืนหยัดอยู่ข้างรัฐอุตตราขัณฑ์ และประชาชนทั้งประเทศภาวนาให้ทุกคนที่นั่นปลอดภัย”

จนถึงตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ธารน้ำแข็ง "นันทาเทวี" แตกในช่วงเวลานี้ของปี ซึ่งอากาศยังคงหนาวเหน็บและไม่มีฝนตก

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2013 รัฐอุตตราขัณฑ์ซึ่งมีพรมแดนติดกับเนปาลและทิเบตเคยเผชิญฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่คร่าชีวิตประชาชนไปถึง 6,000 คน โดยหายนะครั้งนั้นได้รับสมญานามว่า “สึนามิหิมาลัย” เพราะมันปลดปล่อยกระแสน้ำโคลนที่เชี่ยวกรากจากบนภูเขา และซัดเอาบ้านเรือนและทรัพย์สินต่างๆ ที่อยู่เบื้องล่างพังพินาศยับเยิน

วิมเลนทู จา ผู้ก่อตั้งกลุ่มเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม Swechha ระบุว่า ภัยพิบัติครั้งนี้เป็นสิ่งย้ำเตือนให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และผลพวงจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนน, ทางรถไฟ และโรงไฟฟ้า ในพื้นที่ซึ่งมีความเปราะบางทางระบบนิเวศ

ที่มา: CNN, เอเอฟพี, รอยเตอร์






กำลังโหลดความคิดเห็น