สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจพม่า-จีนอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดภายใต้การบริหารของรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งนำโดย อองซานซูจี โดยสัดส่วนหนี้ค้างชำระ (outstanding debt) ที่พม่ามีต่อจีนลดลงถึง 26% สวนทางกับมูลค่าการค้าขายกับโลกตะวันตกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ความร่วมมือระดับทวิภาคีกับชาติอื่นๆ จะยิ่งเป็นกลไกสำคัญที่รัฐบาลทหารพม่าใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวต่อไปข้างหน้า และหากสหรัฐฯ และยุโรปประกาศแซงก์ชั่น ก็คาดว่าจะทำให้ผู้นำทหารพม่าต้องหันหน้าพึ่งจีนมากยิ่งขึ้นไปอีก
จีนมองว่ากลุ่มประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ “อาเซียน” นั้นมีความสำคัญต่อโครงการแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ซึ่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2013 โดยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างจีนและประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป
ตามข้อมูลจาก Refinitiv เงินทุนที่เชื่อมโยงกับ BRI ที่จีนมอบให้แก่ 10 ประเทศในอาเซียนตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา มีมูลค่าสูงถึง 304,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นราวๆ ครึ่งหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของอาเซียน โดย 3 ประเทศที่พึ่งพาจีนมากที่สุดได้แก่ พม่า, ลาว และกัมพูชา
อิทธิพลทางเศรษฐกิจที่จีนมีต่อพม่านั้นสังเกตเห็นได้ไม่ยาก ตัวอย่างเช่นที่ “นครย่างกุ้ง” ซึ่งมีกฎห้ามใช้รถจักรยานยนต์ ระประจำทางที่ชาวเมืองใช้สัญจรล้วนแต่ “เมด อิน ไชน่า” แทบทั้งสิ้น และแม้ว่าการค้ากับญี่ปุ่น, สหรัฐฯ และยุโรป จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่จีนยังคงเป็นประเทศคู่ค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังพม่ามากที่สุดถึงร้อยละ 30
อย่างไรก็ดี รัฐบาลพม่าทุกยุคทุกสมัยมีนโยบายรักษาระยะห่างกับจีนพอสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้มหามิตรเพื่อนบ้านเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจมากจนเกินไป
ข้อมูลจากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุว่า มูลค่าหนี้ค้างชำระ (outstanding debt) ที่พม่ามีต่อจีนอยู่ที่ราวๆ 3,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 ลดลง 26% จากตัวเลขปี 2015 หรือก่อนที่พรรคเอ็นแอลดีจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งตรงกันข้ามกับลาวและกัมพูชาที่มีหนี้ค้างชำระจีนเพิ่มขึ้น 72% และ 34% ตามลำดับในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้จีนยังครองสัดส่วนหนี้ต่างประเทศ (external debt) ในพม่าลดลงจาก 45% ในปี 2015 เหลือเพียง 30% ในปี 2019
ทั้งนี้ หากมีการผิดนัดชำระหนี้ (default) พม่าก็มีความเสี่ยงที่จะติดกับดักหนี้สิน (debt trap) และอาจถึงขึ้นต้องยอมยกโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ให้กับจีน ซึ่งรัฐบาลพม่าตระหนักในข้อนี้ดี
ตัวอย่างของการปรับนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงก็คือ โครงการท่าเรือน้ำลึกจอก์พยู (Kyauk Pyu) ในพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของพม่า ซึ่งถูกทบทวนงบประมาณค่าใช้จ่ายลดลงอย่างมาก โดยท่าเรือแห่งนี้จะเชื่อมต่อกับท่อส่งน้ำมันและท่อก๊าซธรรมชาติความยาว 870 กิโลเมตรไปยังมณฑลยูนนานของจีน และจะช่วยให้เรือสินค้าขนาดใหญ่สามารถขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเข้าไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ได้ โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา
เดิมทีโครงการนี้ถูกกำหนดงบประมาณเอาไว้ที่ 7,200 ล้านดอลลาร์ ก่อนจะถูกปรับลดลงมาเหลือเพียง 1,300 ล้านดอลลาร์ในรัฐบาลของซูจี
อย่างไรก็ดี ความพยายามที่จะลดการพึ่งพาจีนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อพม่าถูกนานาชาติรุมประณามกรณีการกวาดล้างชาวมุสลิมโรฮิงญาเมื่อปี 2017 ซึ่งทำให้บริษัทตะวันตกเริ่มหันมาทบทวนแผนการลงทุน นอกจากนี้หากสหรัฐฯ และยุโรปประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าเพื่อตอบโต้การรัฐประหาร ก็อาจทำให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติถึงขั้นหยุดชะงัก
ในกรณีที่พม่าถูกโดดเดี่ยว ฝ่ายบริหารกรุงเนปิดอว์คงหนีไม่พ้นที่จะต้องหันเข้าหาจีนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมานาน แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่แน่ว่าพม่าจะได้ในสิ่งที่ต้องการหรือไม่
“การตอบสนองต่อสถานการณ์ในพม่าขึ้นอยู่กับท่าทีของสหรัฐฯ ด้วย” แหล่งข่าวในพรรคคอมมิวนิสต์จีนบอกกับนิกเกอิ
รัฐบาลจีนกำลังพยายามเปิดเจรจากับประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และเมื่อวันอังคารที่แล้ว (2) หยาง เจียฉือ สมาชิกกรมการเมืองประจำคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) และนักการทูตอาวุโส ก็ยอมรับว่า “ทั้งจีนและสหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์และคาดเดาได้”
ทั้งนี้ หากปักกิ่งเลือกที่จะตอบสนองการรัฐประหารในพม่าด้วยวิธี “รอดูสถานการณ์” ต่อไปเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าพม่าไม่เพียงเผชิญความเสี่ยงที่จะสูญเสียเม็ดเงินลงทุนจากสหรัฐฯ และยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงจีนด้วย
ที่มา: นิกเกอิ เอเชีย