xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติเริ่มเท! บ.เบียร์ญี่ปุ่น ‘คิริน’ ประกาศตัดสัมพันธ์หุ้นส่วนในพม่าตอบโต้ ‘รัฐประหาร’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คิริน (Kirin) ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่จากแดนปลาดิบ ประกาศยุติการทำธุรกิจแบบร่วมค้า (joint venture) กับบริษัทหุ้นส่วนในพม่าซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกองทัพ หลังเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

การควบคุมตัวผู้นำทางการเมืองสายประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งรวมถึง “อองซานซูจี” เรียกเสียงประณามจากนานาชาติ ซึ่งทาง คิริน ระบุว่าบริษัท “มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการกระทำล่าสุดของกองทัพพม่า”

“จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เราจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขอยุติความเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท เมียนมาร์ อีโคโนมิก โฮลดิงส์ (Myanmar Economic Holdings Public Company Limited – MEHL) ซึ่งบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการให้แก่กองทัพพม่า” คิริน ระบุ

ผู้ผลิตเบียร์สัญชาติญี่ปุ่นรายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาสักระยะหนึ่งแล้ว จากการเข้าไปมีสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทเบียร์ที่กองทัพพม่าเป็นเจ้าของ

เมื่อเดือน ม.ค. ทางบริษัทระบุว่า กระบวนการตรวจสอบโดยบุคคลที่ 3 “ยังได้ข้อสรุปไม่ชัดเจน” ว่ารายได้จากการร่วมทุนครั้งนี้ถูกนำไปใช้สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าหรือไม่

คิริน ถูกองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติกดดันให้ต้องเปิดการสอบสวน หลังมีรายงานว่าเจ้าของบริษัท MEHL ที่เป็นหุ้นส่วนท้องถิ่นเป็นสมาชิกของกองทัพพม่า ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมสงครามอื่นๆ กับชาวมุสลิมโรฮิงญา

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของสหประชาชาติได้เปิดการไต่สวนกรณีกองทัพพม่ากวาดล้างชุมชนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2017 จนทำให้โรฮิงญากว่า 750,000 คนต้องหนีตายข้ามไปยังฝั่งบังกลาเทศ ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ทางการพม่ายืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด

คิริน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งในบริษัท เมียนมา บริวเวอรี จำกัด และบริษัท มัณฑะเลย์ บริวเวอรี จำกัด จากการจับมือเป็นหุ้นส่วนกับ MEHL กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ซึ่งมีผลประโยชน์ครอบคลุมหลายภาคส่วนตั้งแต่อัญมณี ทองแดง โทรคมนาคม เสื้อผ้า และการธนาคาร

คิริน ได้เข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ใน มัณฑะเลย์ บริวเวอรี เมื่อปี 2017 ด้วยมูลค่าการลงทุน 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ได้ทุ่มเม็ดเงินซื้อกิจการ เมียนมาร์ บริวเวอรี ไปด้วยวงเงินกว่า 500 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2015

เมียนมา บริวเวอรี เป็นผู้ผลิตเบียร์ขายดีที่สุดในพม่าอย่าง ‘Myanmar Beer’ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 80% ตามข้อมูลสถิติที่ คิริน เปิดเผยเมื่อปี 2018

ทั้งนี้ คิริน ยังไม่ระบุชัดเจนว่า การตัดสัมพันธ์ทางธุรกิจกับหุ้นส่วนรายใหญ่ครั้งนี้จะหมายถึงการถอนตัวออกจากพม่าด้วยหรือไม่

ที่มา: เอเอฟพี 


กำลังโหลดความคิดเห็น