รอยเตอร์/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ได้หารือทางโทรศัพท์วันพฤหัสบี(4 ก.พ)ร่วมกันครั้งแรกกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สกอตต์ มอร์ริสสัน ความร่วมมือระหว่าง 2 ชาติในการจัดการกับจีนและประเด็นการทำรัฐประหารเมียนมา ซึ่งทางผู้นำออสเตรเลียออกมายืนยันว่า เขาไม่ได้ถูกกดดันให้ต้องตามไบเดนนำมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศอย่างสุดโต่งตามนโยบายสหรัฐฯมาใช้กับออสเตรเลีย
รอยเตอร์รายงานวันนี้(4 ก.พ)ว่า ในการหารือทางโทรศัพท์เป็นครั้งแรกวันพฤหัสบดี(4) ระหว่างนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สกอตต์ มอร์ริสสัน และผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ โจ ไบเดน ตั้งแต่ผู้นำสหรัฐฯสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค ที่ผ่านมา
โดยในรายงานของสื่อเอบีซีนิวส์ออสเตรเลีย มอร์ริสสันชี้ว่า “เป็นการสนทนาที่อบอุ่นและใกล้ชิด” ระหว่างผู้นำ 2 ชาติที่มีการพูดคุยในหลายประเด็นรวมไปถึง วิกฤตโรคโควิด-19ระบาด และนโยบายการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศโลกซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของไบเดนที่ให้ความสำคัญ
สื่อออสเตรเลียชี้ว่า ทางมอร์ริสสันได้กล่าวเชิญผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ให้เดินทางมาเยือนออสเตรเลียเนื่องในวันครบรอบ 70 ปีกติกาแอนซัส (ANZUS alliance) สนธิสัญญาความเป็นพันธมิตรไตรภาคี ( สามฝ่าย ) ที่ลงนามกันเมื่อปี 1950 โดยมี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศร่วมภาคีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิทักษ์ความมั่นคงของภาคพื้นแปซิฟิก
และในการตอบคำถามกับสื่อวันนี้(4)ผู้นำออสเตรเลียถูกตั้งคำถามในประเด็นที่อ่อนไหวในประเทศเกี่ยวกับนโยบายทางภาวะโลกร้อน โดยถูกตั้งคำถามว่าทางมอร์ริสสันได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากไบเดนให้แคนเบอร์ราต้องใช้มาตรการเพิ่มขึ้นเพื่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามอย่างสหรัฐฯหรือไม่ แต่ตัวเขาออกมายืนยันว่าไม่มีเช่นนั้น อ้างอิงจากเดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ
โดยเขาได้ชี้ว่า ผู้นำทั้ง 2 ชาติหารือร่วมกันในหนทางที่นำไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเหลือศูนย์ผ่านทางเทคโนโลยี
“ทางเรามีการหารืออย่างสร้างสรรค์ในหนทางที่พวกเรากำลังดำเนินอยู่ และพันธะที่พวกเราได้ตั้งไว้” สกอตต์ มอร์ริสสันแถลง เดอะการ์เดียนรายงา่นว่า ออสเตรเลียยังคงต้องประกาศความผูกพันในการที่จะกำจัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้หมดไปภายในปี 2050 ซึ่งเขากล่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ได้เชื้อเชิญให้มอร์ริสสันเข้าร่วมการประชุมซัมมิตสภาวะอากาศในเดือนเมษายนที่สหรัฐฯกำลังจะเป็นเจ้าภาพ
ซึ่งไม่กี่วันก่อนหน้าการโทรศัพท์ระหว่างมอร์ริสสันและไบเดนพบว่าสื่อออสเตรเลียออกมาเรียกร้องให้ผู้นำแคนเบอร์ราไม่ให้อ่อนไหวไปตามข้อเรียกร้องของไบเดนทางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
และในการแถลงมอร์ริสสันกล่าวว่า ไบเดนมองความสัมพันธ์รออสเตรเลีย-สหรัฐฯเป็นเสมือนการตอกหมุดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และมอร์ริสสันเองได้ชี้ว่าเป็นมุมมองเดียวกันกับของทางออสเตรเลียเช่นกัน โดยเขาย้ำว่า ในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติไม่มีสิ่งใดต้องแก้ไขมีแต่ต้องเสริมสร้าง
ซึ่งในการหารือพบว่ามีการพูดคุยในเรื่องของจีน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการทำรัฐประหารพม่าที่ออสเตรเลียมีบทบาทในประเทศเป็นอย่างมาก แต่มอร์ริสสันไม่ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ในรายละเอียดทางการแถลงข่าว
แต่ทว่าในแถลงการณ์ของทำเนียบขาวสหรัฐฯระบุว่า "มีการพูดคุยกัน" โดยทางทำเนียบขาวกล่าวผ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับปัญหาเมียนมาว่า
“พวกเขาได้เห็นชอบที่จะทำงานร่วมกันเคียงข้างกับเพื่อนและพันธมิตรอื่นเพื่อที่จะทำให้กลุ่มผู้ที่อยู่เบื้องหลังต้องรับผิดชอบต่อการทำรัฐประหารในเมียนมา”
การประกาศของทำเนียบขาวเกิดขึ้นหลังจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆและรวมไปถึงพรรคเลเบอร์ของออสเตรเลียในวันอังคาร(2) ได้ออกมากดดันให้รัฐบาลมอร์ริสันตัดความสัมพันธ์ทางการทหารกับเมียนมาลง อ้างอิงจากเดอะการ์เดียน พบว่าออสเตรเลียกลายเป็นเพียงไม่กี่ชาติในโลกที่ยังคงให้ความร่วมมือกับกองกำลังพม่า "ตะมะดอว์" (Tatmadaw) หลังกองทัพพม่ามีบทบาทในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2017
กองทัพทั่วโลกรวมทั้งในสหภาพยุโรป อังกฤษ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และแคนาดา ได้ตัดความสัมพันธ์กับ ตะมะดอว์ ต่อการใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมที่นำไปสู่การกระทำการขับไล่ชาติพันธุ์
เดอะการ์เดียนชี้ว่า ออสเตรเลียมีโครงการพัฒนาต่างๆในพม่าอย่างมากมายเพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพและการสนับสนุนการเลือกตั้ง มารีส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียกล่าว พร้อมกับชี้ว่า ออสเตรเลียยังคงมีพันธะต่อการพัฒนาในเมียนมาและประชาชนชาวเมียนมาอย่างต่อเนื่องในยามที่ยากลำบากนี้