xs
xsm
sm
md
lg

In Clip: สื่อจีนเรียกร้อง “ไม่มีแทรกแซงจากภายนอก” ต่อการยึดอำนาจในเมียนมา CNN รายงาน ไม่มีอินเทอร์เน็ต-สัญญาณมือถือ ทหารออกถือปืนลาดตระเวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - ประชาชนเมียนมาตื่นเช้าขึ้นมารับกองทัพยึดอำนาจ วันที่ 1 ก.พ. พบสัญญาณอินเทอร์เน็ตถูกตัด ไร้ซึ่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ธนาคารทุกแห่งปิดทำการ ตามเมืองใหญ่ๆ มีทหารถือปืนลาดตระเวน ตามหลังการประกาศภาวะฉุกเฉิน และคุมตัวอองซาน ซูจี และแกนนำระดับสูงของรัฐบาลคนอื่นๆ หนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ส กระบอกเสียงปักกิ่ง พาดหัว หวังว่า จะไม่มีอำนาจจากภายนอกเข้าแทรกแซง ท่ามกลางเสียงประณามจากชาติตะวันตก ส่วน ไทย กัมพูชา และ ฟิลิปปินส์ วางตัวเป็นกลาง ชี้เป็นปัญหาภายใน

CNN สื่อสหรัฐฯรายงานวันนี้ (1 ก.พ.) ว่า ในเวลานี้ตามถนนหนทางในเมืองใหญ่ๆ ต่างเห็นทหารในเครื่องแบบถือปืนลาดตระเวนที่เมืองใหญ่ๆ ที่เมืองย่างกุ้ง ประชาชนเปิดโทรทัศน์แต่สามารถดูได้แต่ช่องที่กองทัพเป็นผู้ควบคุม ช่องเมียวดี ส่วนสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ต่างถูกปิดหมด

ขณะที่ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยพม่า ที่มาจากการเลือกตั้ง ถูกควบคุมตัวที่กรุงเนปิดอว์ โฆษกทางสถานีทหารเมียนมาประกาศว่า ในเวลาอำนาจได้ถูกส่งต่อให้กับอำนาจรัฐจะถูกส่งมอบให้ มิน อ่องลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า

ซึ่งในแถลงการณ์ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ในเวลานี้ กองทัพได้เข้าควบคุมตัว ผู้นำฝ่ายพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง อองซาน ซูจี เป็นที่เรียบร้อย รวมไปถึงแกนนำระดับสูงของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่า (NLD) คนอื่นๆ โดยในคำแถลงอ้างว่า ทำไปเพื่อตอบโต้กับความผิดปกติการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยพรรค NLD ของซูจี อ้างว่า ชนะการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน อย่างถล่มทลายที่ 83% และจะทำให้พรรคของเธอได้รับอำนาจในการบริหารต่ออีก 5 ปี ส่วนพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา USDP (Union Solidarity and Development) ซึ่งเป็นของกองทัพเมียนมา ชนะไปแค่ 33 ที่นั่ง จากทั้งหมด 476 ที่นั่ง

การบุกยึดอำนาจแบบฟ้าผ่ามีขึ้นไม่นานก่อนที่จะมีการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกจะเกิดขึ้น

สื่อสหรัฐฯรายงานว่า ทหารเมียนมาถือปืนและมียานยนต์หุ้มเกราะอยู่ด้านหลัง และมีแบริเออร์ขวางกั้นถนนเส้นที่จะนำไปสู่อาคารรัฐสภาที่กรุงเนปิดอว์ในวันนี้ (1)

และยังพบว่า มีทหารประจำอยู่ที่สำนักงานสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของกองทัพที่เมืองย่างกุ้ง

ขณะที่โลกตะวันตก เป็นต้นว่า สหรัฐฯออกมาประณามการเข้ายึดอำนาจและจับกุมตัวซูจี ส่วน ไทย กัมพูชา และ ฟิลิปปินส์ อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษ นั้น ต่างชี้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายในประเทศ

แต่จีนที่ถึงแม้ว่าจะออกมาเรียกร้องให้การเปลี่ยนแปลงในพม่า จบลงที่การหาทางออกผ่านการเจรจาภายในประเทศ แต่ยังชี้ว่า ตั้งความหวังว่าจะไม่มีการแทรกแซงมาจากภายนอก

โดยหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ส กระบอกเสียงของปักกิ่ง รายงานวันจันทร์ (1) ว่า หลังจากที่พม่าได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นอย่างฉับพลันในวันนี้ (1) มีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน และการส่งมอบอำนาจให้กับผู้นำกองทัพ และตามมาด้วยการควบคุมตัวแกนนำคนสำคัญเช่น อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า และประธานาธิบดีพม่า อูวินมยิน ไว้ภายในค่ายทหารแล้ว บรรดาสื่อตะวันตกต่างมองว่า นี่คือ การทำรัฐประหาร จากการที่การเปลี่ยนแปลงทางอำนาจเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่สมาชิกรัฐสภาชุดใหม่จะเริ่มทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ อันเป็นความหมายถึงการยืนยันผลการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน

โฆษกระทรวงต่างประเทศจีน หวัง เหวินบิน (Wang Wenbin) แถลงวันจันทร์ (1) ว่า จีนรับรู้ถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของเมียนมา และในเวลานี้กำลังต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติม

“จีนเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรของเมียนมา และเราตั้งความหวังว่า ทุกฝ่ายในเมียนมาสามารถรับมือกับความแตกต่างภายใต้กรอบการทำงานทางรัฐธรรมนูญและทางกฎหมาย และการปกป้องเสถียรภาพทางสังคมและการเมือง”

นักวิเคราะห์ชี้ว่า มันยังคงต้องพิสูจน์กันต่อไปว่ากองทัพเมียนมาจะยอมต่อแรงกดดันจากนานาชาติหรือไม่ แต่ทว่าการควบคุมตัวแกนนำพรรคซูจี จะทำให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค NLD และจะทำให้เกิดกระแสย้อนกลับ โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตการระบาดโรคโควิด-19 เช่นนี้

ซึ่งแถลงการณ์ที่ออกมาจากพรรค NLD เรียกร้องให้ประชาชนชาวเมียนมาไม่ยอมรับต่อการยึดอำนาจของกองทัพ และเรียกร้องให้ออกมารวมตัวประท้วง อ้างอิงจากรอยเตอร์

โกลบอลไทม์สของจีน ยังตั้งคำถามเชิงทฤษฎีสมคบคิดในหัวข้อว่า “ความเกี่ยวข้องของสหรัฐฯ” (US involvement?) โดยกระบอกเสียงจีนชี้ว่า โฆษกทำเนียบขาว เจน ซากี (Jen Psaki) ตอบคำถามในการแถลงข่าววันจันทร์ (1) ว่า สหรัฐฯรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา พร้อมกันนั้น ยังได้เตือนต่อกองทัพพม่า ว่า สหรัฐฯจะใช้มาตรการหากว่าพวกเขาดำเนินการที่ดูว่าเป็นการทำรัฐประหารต่อผู้นำพลเรือนของประเทศ

แต่อย่างไรก็ตาม สื่อจีนกล่าวว่า มีผู้เชี่ยวชาญบางคนออกมาชี้ว่า บางทีกองทัพพม่าอาจได้แรงบันดาลใจจากการที่อดีตผู้นำสหรัฐฯคนก่อน อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและได้ออกมายุยงสาวกให้บุกเข้ารัฐสภาสหรัฐฯเพื่อขวาง

ฟ่าน ฮงเว่ย (Fan Hongwei) ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน (Xiamen University) ได้ให้สัมภาษณ์กับโกลบอลไทม์ส ว่า สหรัฐฯอาจตอบโต้ด้วยการประกาศคว่ำบาตรเมียนมา แต่ไม่สามารถนำแรงกดดันทางการทหารออกมาได้

รัฐบาลสหรัฐฯชุดทรัมป์นั้น ให้ความสนใจในเวียดนามและมาเลเซีย แต่เพิกเฉยพม่า ต่างจากรัฐบาลสหรัฐฯชุดอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ที่ให้ความสำคัญไปที่พม่า จากยุทธศาสตร์การกลับมาสร้างความสมดุลภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐฯ

ส่วน หยิน ยี่หัง (Yin Yihang) เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าในสมัยทรัมป์จะให้ความสนใจน้อยมากต่อพม่า แต่ทว่า กลุ่มสิทธิมนุษยชนสหรัฐฯยังปรากฏอยู่ที่บริเวณภาคเหนือของพม่า เพื่อปลุกปั่นคนในพื้นที่

“จากสถานการณ์ปัจจุบัน สหรัฐฯอาจใช้วิธี “color revolution approach” มาใช้กับเมียนมา” หยินกล่าวแสดงความเห็น

ขณะที่ ฟ่าน กล่าวแสดงความเห็นว่า “สถานการณ์ในพม่าอาจเป็นโอกาสสำหรับรัฐบาลไบเดน ซึ่งมีคนจำนวนมากเคยทำงานให้กับโอบามา ในการซ่อมแซมความสัมพันธ์กับเมียนมา ทำให้เมียนมาเกิดปัญหาและใช้เมียนมาเป็นแรงกดดันต่อจีน”

เขากล่าวอีกว่า “เมียนมาถือเป็นประเทศที่ไม่ยอมรับการแทรกแซงจากโลกมหาอำนาจใดๆ จีนยังคงความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งรัฐบาลปัจจุบันและกับกองทัพ ดังนั้น จึงหวังว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถเจรจาเพื่อยังคงเสถียรภาพและความสงบสุขไว้ได้”

จีนเป็นพันธมิตรคู่ค่าที่ใหญ่ที่สุดของพม่า คิดเป็นสัดส่วนกว่า 33% ของมวลรวมการค้าพม่าทั้งหมด อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีน ที่เปิดเผยในปี 2020 ดังนั้น สถานการณ์ภายในพม่า จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับจีน

พนักงานบริษัทจีนคนหนึ่งที่มีแซ่หลิว (Liu) ในเมืองย่างกุ้ง เปิดเผยถึงภาพรวมในวันรัฐประหาร ว่า โดยทั่วไปแล้วการใช้ชีวิตอยู่ในความปกติ แต่สัญญาณโทรศัพท์มือถือถูกตัด สัญญาณเครือข่ายยังคงทำงาน “ตลาดยังคงเปิดทำการ พวกเรารู้สึกว่าทุกสิ่งยังคงปกติ โปรเจกต์ท่อส่งกาซจีน-พม่า ยังคงสามารถทำการได้ต่อไป รวมไปถึงการทำงานในเหมืองแร่นิเกิล และเหมืองแร่ทองแดง”

สื่อจีนชี้ว่า ผลกระทบที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่อบริษัทจีนนั้นส่วนใหญ่มีน้อย โดยบริษัทจีนส่วนมากตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง ไม่ใช่ที่กรุงเนปิดอว์ อ้างอิงจากพนักงานบริษัทจีนแซ่เจิ้ง (Zheng)

การที่บริษัทจีนจะสั่งอพยพพนักงานชาวจีนกลับประเทศนั้น ต้องรอให้มีการแจ้งต่อไปจากสถานทูตจีนประจำเมียนมา โดยในวันจันทร์ (1) ผู้กำกับการเดินทางอากาศของพม่าออกคำสั่งยกเลิกทุกเที่ยวบิน เนื่องมาจากการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน และธนาคารทุกแห่งยังปิดลงชั่วคราวในเวลานี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า หลังจากเกิดการยึดอำนาจในพม่าแล้ว ที่ด้านหน้าสถานทูตเมียนมาในกรุงเทพฯ มีกลุ่มผู้ประท้วงเป็นแกนนำฝ่ายต่อต้านออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซาน ซูจี

















กำลังโหลดความคิดเห็น