รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – เมื่อวานนี้(26 ม.ค)เกษตรกรแดนภารตะจำนวนมากบุกประท้วงป้อมแดงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในกรุงนิวเดลีไม่พอใจนโยบายปฎิรูปการเกษตรของนายกฯโมดี สั่งล้มกำหนดหลักประกันพืชผลการเกษตรที่ใช้มานานหลายสิบปี เปลี่ยนอนุญาตให้ขายกับใครก็ได้ในราคาตามแต่จะตกลงเพื่อเปิดเสรีการซื้อขายตรง
รอยเตอร์รายงานวันนี้(27 ม.ค)ว่า สถานการณ์ที่ป้อมแดง (Red Fort)ในกรุงนิวเดลีวันพุธ(27)เต็มไปด้วยความตรึงเครียด มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหลายร้อยนายตรึงกำลัง หลังจากการบุกประท้วงของม็อบเกษตรกรอินเดียที่มาพร้อมกับรถแทร็กเตอร์เพื่อประท้วงนโยบายปฎิรูปทางการเกษตรที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ในวันอังคาร(26) การประท้วงที่เปลี่ยนกลายเป็นความรุนแรงมีการปะทะระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย มีผู้เสียชีวิต 1 คน และอีก 80 คนได้รับบาดเจ็บ
การประท้วงวันอังคาร(26)ซึ่งบังเอิญตรงกับวันเฉลิมฉลองวันสาธารณรัฐซึ่งเป็นวันที่กฎหมายรัฐธรรมนูญอินเดียมีผลบังคับใช้เป็นวันแรกในปี 1950 หลังจากได้รับเอกราชย์จากอังกฤษ
CNN รายงานว่า การประท้วงที่สมควรที่จะสงบเกิดขึ้นหลังเกษตรกรจำนวนหลายแสนคน ขณะทีร่รอยเตอร์ให้ตัวเลขในระดับหลายหมื่นต่างขับรถแทร็กเตอร์เป็นแนวยาวมุ่งเข้าเมืองหลวงอันเป็นส่วนหนึ่งในแผนการประท้วงพร้อมกันทั่วประเทศต่อกฎหมายการเกษตรที่ชาวนาอินเดียต่างกล่าวว่า ทำให้ชีวิตพวกเขาตกอยู่ในอันตราย
เกษตรกรที่ร่วมประท้วงส่วนมากต่างประดับประดารถแทร็กเตอร์ของตนด้วยธงหลากสี รวมถึงธงชาติอินเดีย และธงสหภาพเกษตรกรอินเดียต่างๆที่ต่างหยุดรออยู่เขตชานกรุงนิวเดลีมานานร่วมกว่า 2 เดือนแล้ว
ขณะที่ส่วนอื่นรวมไปถึงเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เดินทางมาจากรัฐ หรยาณา(Haryana) อุตตรประเทศ (Uttar Pradesh)ปัญจาบ(Punjab) และ รัฐราชสถาน (Rajasthan)ได้หยุดรอบริเวณพรมแดนไม่กี่วันเพื่อรอเวลาตามแผนการเดินมาร์ชประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นวานนี้
CNN รายงานว่า ม็อบชาวนาอินเดียถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของโมดีหลังจากที่ในช่วงเวลาหลายเดือนได้เกิดการประท้วงไปทั่วประเทศมีการปักหลักพักค้างต่อต้านนโยบายปฎิรูปทางการเกษตรที่สำคัญของเขาและส่งผลทำให้การเจรจาหาทางออกระหว่างฝ่ายม็อบชาวนาและฝ่ายบรหารไม่คืบหน้า
การที่เกษตรกรแดนภารตะอดรนทนไม่ไหวต้องขับรถแทร็กเตอร์ออกมาปราะท้วงเนื่องมาจากเป็นระยะเวลาหลายสิบปีที่อินเดียมีธรรมเนียมปฎิบัติในการให้หลักประกันราคาสินค้าทางการเกษตรแก่เกษตรกรสำหรับพืชผลผลิตยบางประเภท เพื่อให้เป็นหลักประกันในระยะยาวแก่ชาวนาสำหรับมีเงินเพื่อไปลงทุนในการทำการเกษตรรอบใหม่
แต่ทว่ากฎหมายการเกษตรที่เสนอโดยรัฐบาลโมดีและเพิ่งผ่านครั้งแรกเมื่อกันยายนปีที่แล้วล้มระบบหลักประกันราคา แต่เปลี่ยนให้เกษตรกรมีอิสระสามารถจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรให้กับนายทุนคนใดก็ได้ในราคาใดตามที่จะตกลง โดยทางรัฐบาลโมดีอ้างว่าเป็นการให้เสรีภาพแก่เกษตรกรสามารถตกลงกับผู้ซื้อได้โดยตรงอย่างอิสระและยังสามารถจำหน่ายให้กับรัฐอื่นๆของอินเดียได้อีกด้วย
แต่บรรดาเกษตรกรอินเดียต่างชี้ว่า โมดีต้องการเอื้อนายทุนหน้าเลือดให้สามารถเอาเปรียบเกษตรกรที่ยากไร้และยังช่วยเหลือให้กับนายทุนซึ่งเป็นบริษัทใหญ่สามารถกดราคาพืชผลทางการเกษตรอีกทาง
กฎหมายปฎิรูปทางการเกษตรของโมดีนี้มีความสำคัญต่ออินเดียเป็นอย่างมากจากการที่อินเดียถือเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งที่ผ่านมาบรรดาชาวนาอินเดียต่างพยายามเรียกร้องให้มีการเพิ่มราคาขั้นต่ำการประกันพืชผลทางการเกษตร และเกษตรกรยังเป็นกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ส่งผลทำให้นโยบายการเกษตรเป็นนโยบายหาเสียงหลักในการเมืองอินเดีย
ตำรวจอินเดียเปิดเผยในรายงานของ CNN ว่ามีเจ้าหน้าที่ 86 คนได้รับบาดเจ็บจากการปะทะ และตำรวจได้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ 22 เรื่องต่อกลุ่มผู้ประท้วงในเรนืท่องการละเมิดต่อคำสั่งทางกฎหมาย จลาจล ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ และทำร้ายเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
ทั้งนี้พบว่าแต่เดิมตำรวจอนุญาตให้ม็อบชาวนาสามารถเดินขบวนได้บางเส้นทางแต่การเผชิญหน้าเกิดขึ้นเมื่อทางผู้ประท้วงไม่ทำตามแผนที่วางไว้ พบเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตา และมีการใช้กระบองกับผู้ประท้วงที่บริเวณด้านนอกสำนักงานใหญ่ตำรวจกรุงนิวเดลีวันอังคาร(26)
ตำรวจอินเดียประเมินว่า มีรถแทร็กเตอร์เข้าร่วมการประท้วงสูงสุดราว 5,000 คัน แต่ทว่าฝ่ายผู้ประท้วงชี้ว่ามีรถแทร็กเตอร์เข้าร่วมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 200,000 คัน
รอยเตอร์รายงานว่า ถนนต่างๆในกรุงนิวเดลียังคงปิดต่อไปวันนี้(27) รวมไปถึงมีการตัดสัญญาณอินเตอร์เนตในบางส่วนของเมืองหลวง และความเร็วระบบโทรศัพท์มือถือถูกจำกัดให้ต่ำ ตำรวจและกองกำลังกึ่งทหารถูกตั้งประจำที่จุดการประท้วงบริเวณย่า่นชานกรุง แต่อย่่างไรก็ตาม กลุ่มชาวนาผู้ประท้วงประกาศไม่ยอมแพ้จะยังคงเดินหน้าต่อจนกว่ากฎหมายใหม่จะถูกยกเลิกโดยสิ้นเชิง