เส้นทางสู่ทำเนียบขาวของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนที่ 46 แห่งสหรัฐอเมริกา มากมายด้วยดราม่าแห่งหนังชีวิต ทั้งปิติสุขเต็มใบหน้าและทั้งน้ำตาเจิ่งนอง ปลื้มปริ่มกับการคว้าตำแหน่งวุฒิสมาชิกไม่ทันจะเท่าไร ก็ต้องทุกข์ตรมปานใจจะขาด เพราะภรรยาและธิดาตัวน้อยเสียชีวิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์ ลูกชายสองคนบาดเจ็บสาหัส โจต้องสาบานตนรับตำแหน่งในห้องผู้ป่วยที่ลูกชายรักษาตัวอยู่
โจพลาดหวังกับการสมัครเป็นตัวแทนพรรคเข้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีถึง 2 ครั้ง ก่อนจะประสบความสำเร็จเข้าครองทำเนียบขาว เมื่ออายุเดินถึงหลักไมล์ที่ 78 กะรัต โดยก่อนหน้านั้นเกือบจะเสียศูนย์สาหัส จากการสูญเสียลูกชายหัวปีให้แก่มะเร็งสมอง ชีวิตของโจที่ราวกับต้องเกิดมาเพื่อเสพความทุกข์ขั้นอุกฤตซ้ำๆ ขับเคลื่อนไปถึงความมุ่งหวังของชีวิตได้ในที่สุด เมื่อโจคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีสำเร็จและก้าวเข้าครองทำเนียบขาวในวันที่ 20 เดือนมกราคม 2021
1.ปฐมวัย เป็นเด็กติดอ่าง จบกฎหมายจากซีราคิวส์
โจ ไบเดน เป็นชาวราศีพิจิกผู้มีความลุ่มลึกและได้อิทธิพลความทะเยอทะยานจากราศีธนู โจถือกำเนิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1942 ในรัฐเพนซิลเวเนีย โดยเป็นเด็กในครอบครัวคาทอลิก คุณแม่เป็นอเมริกันเชื้อสายไอริช ฐานะทางครอบครัวค่อนข้างมั่นคงเป็นส่วนใหญ่ แต่ในช่วงที่โจลืมตาดูโลก ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี และกระทบรายได้ของบ้าน แต่ในเวลาต่อมา
คุณพ่อโจจับธุรกิจถูกทาง กลายเป็นผู้ค้ารถมือสองที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ครอบครัวจึงฟื้นตัวสู่ฐานะชนชั้นกลางเต็มตัว
ในวัยเด็กน้อย โจเป็นเด็กติดอ่างอย่างหนัก แต่ก็สามารถบำบัดได้เป็นที่เรียบร้อย เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยศึกษาเล่าเรียน โจเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล และเป็นประธานรุ่น แต่ผลการศึกษาไม่เด่น
หลังจบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ก็ทำงานด้านทนายความในเมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ และเข้าสู่แวดวงการเมืองในค่ายรีพับลิกัน สายลิเบอร์รัล
แต่โจย้ายเข้าพรรคเดโมแครตและชนะเลือกตั้งระดับเทศมณฑลนิวคาสเซิล รัฐเดลาแวร์ ในปี 1969
2.ชนะเลือกตั้งวุฒิสมาชิก อุบัติเหตุรถยนต์คร่าชีวิตภรรยาและธิดาวัยขวบเดียว
ภายใน 2-3 ปีต่อมา ชีวิตการเมืองของโจพุ่งสูงอย่างรวดเร็วภายในรัฐเดลาแวร์ ด้วยวัยเพียง 30 ปีซึ่งถือว่ากระดูกอ่อนนัก โจชนะเลือกตั้งวุฒิสมาชิกแห่งสหรัฐอเมริกาในสนามเดลาแวร์แบบซูเปอร์พลิกล็อกเหนือคู่แข่งแห่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นขาใหญ่และลงแข่งเพื่อรักษาเก้าอี้
จุดขายสำคัญที่โจใช้ซื้อใจคนเดลาแวร์ ได้แก่ การส่งสัญญาณไปยังคนรุ่นใหม่ว่าไม่สนับสนุนสงครามเวียดนาม แต่ก็ให้ความมั่นใจและความสำคัญแก่คนรุ่นเก่า คำขวัญที่โจโหมหาเสียงคือ “คิดใหม่” และ “แก้ปัญหาวิธีใหม่” (new thinking and new solutions)
ทว่า เดือนเศษหลังจากชัยชนะทางการเมือง โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของชีวิตถาโถมเข้าใส่ ขณะที่โจอยู่ที่วอชิงตัน ดีซี เตรียมการจัดตั้งสำนักงาน ภรรยาและลูกทั้งสามประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 1972 โจสูญเสียขวัญชีวิตไปพร้อมกับแก้วตาดวงใจวัยหนึ่งขวบ ส่วนบุตรชายสองคนคือน้องโบและน้องฮันเตอร์นั่งเบาะหลังจึงไม่เสียชีวิต แต่บาดเจ็บสาหัส โจเล่าไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำ Promise to Keep: On Life and Politics
ว่าความเจ็บปวดรวดร้าวนั้นมหาศาลกระทั่งสามารถเข้าใจได้เลยว่า คนที่อยากฆ่าตัวตายเขารู้สึกกันอย่างไร โจแข็งใจใช้ชีวิตสืบต่อไปเพื่อลูกชายทั้งสอง
การสาบานตนรับตำแหน่งถูกจัดในห้องพักผู้ป่วยโรงพยาบาลวิลมิงตันที่น้องฮันเตอร์พักรักษาตัว แน่นอนว่าโจคิดเรื่องลาออก แต่ก็ตัดสินใจเป็นนักการเมือง-คุณพ่อใบเลี้ยงเดี่ยว โดยเดินทางไกลไปกลับเดลาแวร์-วอชิงตันทุกวัน กระทั่งได้ฉายาว่า Amtrak Joe
3.แต่งงานกับจิลคนสวย
เวลาผ่านไปสองปีกว่า ในเดือนมีนาคม 1975 น้องชายของโจจัดนัดบอดให้โจได้พบกับ จิล จาคอบส์ ซึ่งอยู่ระหว่างลาหยุดการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเดลาแวร์และทำงานพาร์ทไทม์เป็นนางแบบโฆษณา อันเป็นช่วงชีวิตที่จิลกำลังโกลาหลพอใช้ได้เลย เพราะนับจากที่จิลแยกทางกับสามีคนแรกในปี 1974 เธอต้องหมดเวลากับการหย่าร้างและกว่าจะเรียบร้อยก็ราวกลางปี 1975 โดยจิลไม่ได้รับส่วนแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่งในกิจการร้านเหล้า สโตน บอลลูน ซึ่งฝ่ายชายตั้งธุรกิจใกล้มหาวิทยาลัยเดลาแวร์
จิลให้สัมภาษณ์นิตยสารโวคว่า ในการเดทครั้งแรกก็รู้สึกว่าสนทนาเข้าใจกันได้ดีแม้จะมีช่วงวัยต่างกันถึง 9 ปี โจพาจิลไปชมภาพยนตร์รักสะเทือนใจเรื่อง A Man and A Woman แล้วพากลับบ้าน โดยโจลาจิลด้วยเช็คแฮนด์ จิลประทับใจมากและเล่าให้คุณแม่ฟังว่า “ในที่สุดลูกก็ได้พบกับสุภาพบุรุษแล้วค่ะ”
หลังการเดทอันแสนประทับใจ จิลจบภารกิจสำคัญสองสิ่งได้ในปีนั้น คือ นอกจากเรื่องคดีหย่าร้างแล้ว จิลยังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านภาษาอังกฤษได้เรียบร้อย และทำงานเป็นครูภาษาอังกฤษในโรงเรียนรัฐบาลและในโรงพยาบาลจิตเวช
#จิลยอมรับว่าคิดเยอะคิดนานคิดหนักกว่าจะตอบรับคำขอแต่งงาน
โจและจิลไปมาหาสู่กันนานกว่าสองปี สองลูกชายก็เฝ้าถามว่า “เมื่อไหร่เราจะแต่งงานใหม่ฮะพ่อ” โจเล่าเกร็ดน่ารักนี้ไว้ในหนังสือ Joe Biden: The Life, The Run, and What Matters Now หนังสือปี 2020 ซึ่งมีดีกรีรางวัล National Book Award รับรอง
โจขอจิลแต่งงานถึง 5 ครั้งกว่าที่จิลจะตอบตกลง จิลให้สัมภาษณ์ทาวน์แอนด์คันทรีแมกกาซีนอย่างนั้น และบอกว่าที่จริงแล้วไม่ค่อยชอบชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ก็รู้สึกรักลูกๆ ของโจมาก และอยากจะแน่ใจว่าชีวิตแต่งงานจะไปรอดหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะน้องทั้งสองเคยเสียคุณแม่ จึงไม่อยากให้มีความเสี่ยงที่จะต้องเสียแม่อีกครั้งหนึ่ง
พิธีสมรสแบบคาทอลิก ถูกจัดแบบวงในแท้ๆ มีเฉพาะญาติสนิทเท่านั้น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 1977 ในวิหารยูไนเต็ดเนชั่นส์ มหานครนิวยอร์ก โดยมีน้องโบและน้องฮันเตอร์ยืนที่แท่นบูชาด้วย
#สิ่งที่ลูกชายคิดก็คือ เราแต่งงานด้วยกันทั้งสี่คน
โจเขียนอย่างนั้นในหนังสือบันทึกความทรงจำเล่มโด่งดัง Promises to Keep: On Life and Politics
น้องโบและน้องฮันเตอร์ได้น้องสาวน่ารักจากคุณแม่จิลหนึ่งนาง คือน้องแอชลีย์ ซึ่งเติบโตขึ้นเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม
ตลอดหลายทศวรรษแห่งความเป็นมิสซิสไบเดน จิลเดินหน้าทำงานตามสายงานถนัดและเป็นคู่สมรสของรองประธานาธิบดีคนแรกที่ยังคงทำงานฟูลไทม์ และสอนภาษาอังกฤษที่วิทยาลัยชุมชนนอร์เทิร์นเวอร์จิเนีย นอกจากนั้น จิลยังต่อยอดการศึกษาทำปริญญาโท 2 ใบ
อีกทั้งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี 2007 โดยมีวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเล่มโตเป็นผลงาน
4.ลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคชิงปธน.ครั้งแรก ประสบวิกฤติอับอายเพราะพูดเพลิน แถมด้วยโรคร้ายรายการใหญ่
ด้วยฐานครอบครัวที่เข้มแข็ง เส้นทางอาชีพนักการเมืองของโจเดินหน้าทะยานแรง นิตยสารดังของสหรัฐฯอย่าง ไทม์ แมกกาซีน ระบุว่าโจเป็นผู้นำสหรัฐอเมริการในอนาคต
หลังจาก 15 ปีแห่งการเป็นวุฒิสมาชิก ในกลางปี 1987 โจลุกขึ้นสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ภาพโดยรวมของโจดูดีทีเดียว นักการเมืองสายกลาง บุคลิกลักษณะนิสัยใจคอใช้ได้ และโปรไฟล์โดดเด่นด้วยตำแหน่งประธานกรรมาธิการตุลาการแห่งวุฒิสภา
#ปลาหมอตายเพราะปากพาเพลิน
แต่การรณรงค์หาเสียงประสบสถานการณ์ปลาหมอตายเพราะปาก(พาเพลิน) ในคราวการดีเบตแข่งกันระหว่างผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ณ ไอโอวา สเตท แฟร์ เดือนสิงหาคม โจพูดปิดท้ายดีเบตไว้อย่างจับใจเกี่ยวกับบรรพบุรุษตระกูล แต่สิ่งที่พูดนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะโจนำถ้อยคำของ นีล คินน็อค ผู้นำพรรคแรงงานประเทศอังกฤษไปกล่าวโดยทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าเรื่องราวที่เล่านั้นเป็นเกร็ดชีวิตของตน
สองสัปดาห์ต่อมา เรื่องก็แดงอย่างโร่ สื่อมวลชนพากันไล่ตรวจสอบและขุดคุ้ยลงไปมากมาย แถมขยายผลสู่เรื่องอื่นอีก อาทิ การที่โจบอกว่าตนเองมีผลการเรียนดี ได้ทุนการศึกษา
ได้เข้าร่วมในขบวนการอารยะขัดขืนเพื่อสิทธิเสมอภาคของพลเมืองผิวดำ
#ในท่ามกลางวิกฤติโจสร้างผลงานเอาชนะรีพับลิกันจึงหลบออกมาได้ไม่เสียหน้า
วิกฤติชีวิตเที่ยวนี้ ซึ่งเป็นความอับอายใหญ่หลวง เกิดคู่ขนานกับการทำงานใหญ่ของโจในฐานะประธานกรรมาธิการตุลาการแห่งวุฒิสภา เมื่อประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน พรรครีพับลิกัน เสนอชื่อผู้พิพากษาโรเบิร์ต บอร์ค เข้ารับตำแหน่งตุลาการศาลสูงสุดด้วยวาระซ่อนเร้น กล่าวคือ บอร์คเป็นผู้ที่วิจารณ์ศาลสูงสุดในข้อตัดสินเรื่องสิทธิเสมอภาคพลเรือนและเรื่องการทำแท้ง พรรครีพับลิกันจึงเล็งว่าหากส่งให้บอร์คเข้าร่วมในคณะตุลาการศาลสูงสุดได้
ก็จะถือโอกาสปรับโฉมสถาบันพร้อมปรับนโยบายสาธารณะไปในคราวเดียวกัน ด้านพรรคเดโมแครตจังปักธงรอไว้เลยว่าจะขัดขวางให้สำเร็จ
ในขั้นตอนที่บอร์คจะต้องแถลงต่อกรรมาธิการฯ เพื่อให้ได้การรับรอง โจซึ่งเดินหน้าเต็มที่กับเรื่องนี้ต่อเนื่องหลายวัน ทำการสับเละในมิติอุดมการของบอร์ค จนสามารถดึงให้กรรมาธิการจากพรรครีพับลิกันโอนเอียงมาร่วมกระบวนปิดกั้นบอร์ค ทั้งนี้ ชาวเดโมแครตอยู่ในกระแสฮึกเหิมเห็นวี่แววแนวโน้มแห่งความสำเร็จ และพากันปลาบปลื้มในฝีมือของโจ
#ประกาศถอนตัวจากศึกเลือกตั้งแบบเท่ๆ
และแล้วในวันที่ 23 กันยายน ขณะพักเบรกการไต่สวนความเหมาะสมของบอร์ค โจจัดการแถลงข่าว ประกาศการถอนตัวออกจากการชิงตำแหน่งตัวแทนพรรค
นักวิจารณ์บอกว่าลีลานี้ของโจเป็นแท็กติกที่เหนือชั้น เพราะโจซึ่งกำลังหลบออกจากวิกฤติหน้าแตกด้วยคำโต้แย้งว่า ‘บรรดาประเด็นที่ขุดคุ้ยนั้น มิได้เป็นสาระสำคัญหรือเรื่องใหญ่อะไรเลย ขอให้ดูภาพรวมในศักยภาพความเป็นโจ ไบเดนเถิด หรือ คนเราบางทียามโกรธ ก็พูดเวอร์กันได้บ้าง หรือ ของมันพลาดน่ะ หนหน้าจะไม่ลืมประกาศแหล่งที่มาของเกร็ดประกอบคำปราศรัย’ จึงสามารถอ้างได้ว่าถอนตัวจากเรื่องชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะมุ่งจะทำสิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศชาติ ไว้โอกาสหน้าจะมาสมัครใหม่
#หลังจบสองศึกหนัก โจล้มป่วยรักษาตัวครึ่งปี
ไม่นานหลังการประกาศถอนตัว และชนะศึกตุลาการสูงสุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 1988 โจสลบคาพื้นห้องพักโรงแรมด้วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ครึ่งหนึ่งของปี 1988 ของโจคือการพักผ่อนเต็มที่และทบทวนหลายฉากชีวิตที่ได้ประสบด้วยตนเอง และเมื่อได้เฉียดความตายและผ่านความเจ็บปวดกับการผ่าตัดหลายครั้ง โจเขียนในหนังสือของตนว่าสิ่งที่สำคัญและเร่งด่วนกว่าอื่นใดคือเรื่องของชีวิตและความตาย
วันเวลาผันผ่าน ในปี 2007 เมื่อบาดแผลของกายและใจผสานลงเหลือเพียงรอยแผ่วจาง โจเผยความในใจต่อนักข่าวเกี่ยวกับความล้มเหลวครั้งนี้ว่า “ผมทำผิดพลาด และมันเกิดจากความโอหังของผมเอง ในตอนนั้นผมไม่เหมาะจะเป็นประธานาธิบดีหรอกครับ”
5.สมัครเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งปธน.ครั้งที่ 2
ความพยายามของโจเพื่อเป็นตัวแทนพรรคเข้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีเที่ยวที่สองเกิดขึ้นในปี
2007 และปิดฉากเร็วกว่าเมื่อเที่ยวแรก โจยอมรับว่าบารัค โอบามาเป็นอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันกระแสหลักคนแรกที่เก่ง ปราดเปรื่อง มือสะอาด และรูปลักษณ์ดี และบอกว่าโอบามาเหมือนก้าวออกมาจากหนังสือนิยาย ยิ่งกว่านั้น ยังรู้สึกว่าตนเองถูกบีบในระหว่างโอบามาและฮิลลารี คลินตัน
โจถอนตัวออกจากการแข่งขันหลังไอโอวา คอคัส ซึ่งคะแนนของโจมาในลำดับที่ 5 อันเป็นผลกระทบสืบจากบทบาทของโจในช่วงที่เป็นประธานกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศแห่งวุฒิสภา โดยโจให้การสนับสนุนการขยายจำนวนชาติสมาชิกนาโต้และการทิ้งระเบิดบอมบ์คอซอวอ รวมถึงการสนับสนุนปฏิบัติการบุกรุกรานและยึดครองอิรักที่สหรัฐฯ เป็นหัวหอก ซึ่งในภายหลัง โจออกมายอมรับว่าเป็นเรื่องผิดพลาด
6.ขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานาธิบดี เป็นผู้ชายมือขวาของบารัค โอบามา
หลังได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต บารัค โอบามาเลือกโจเป็นคู่ชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี นี่เป็นอะไรที่สุดเซอร์ไพร้ส จุดแข็งที่โอบามาเห็นในศักยภาพว่าโจจะนำพาตนเข้าสู่ทำเนียบขาวได้สำเร็จ คือ สายสัมพันธ์ยุบยั่บที่โจมีอยู่ในแคปิตอลฮิล (รัฐสภาสหรัฐฯ) และแหล่งข้อมูลระดับลึกในแวดวงการเมือง ตลอดจนความสามารถที่จะเข้าถึงหัวใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และประสบการณ์ด้านโยบายการต่างประเทศ
ในช่วงการรณรงค์หาเสียง สื่อมวลชนแห่ไปให้ความสนใจแก่ซาราฮ์ พอลิน ซึ่งจอห์น แมคเคน ตัวแทนพรรครีพับลิกัน เลือกเป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี โจรับภาระหาเสียงในกลุ่มรัฐสมรภูมิสวิงสเตท ขณะเดียวกันยังรับบทเจาะโจมตีแมคเคนซึ่งเป็นเพื่อนเก่าเกลอกันมายาวนาน
เมื่อโอบามาประสบชัยชนะในศึกเลือกตั้ง โจยุติบทบาทวุฒิสมาชิกแห่งรัฐเดลาแวร์ และเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะเบอร์สองผู้ทรงอิทธิพล
7.ดวงใจพ่อสลายเมื่ออดีตอัยการสูงสุดแห่งเดลาแวร์“โบ ไบเดน”จากไปด้วยโรคมะเร็งสมอง
ในช่วงปี 2015 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่โอบามาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ผู้คนประเมินใจของโจว่า รองประธานาธิบดีวัย 72 ย่างเข้า 73 กะรัต จะลงชิงความเป็นตัวแทนพรรคเพื่อลงสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 3 หรือไม่ นอกจากปัจจัยเรื่องอายุแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องสุขภาพของโจเซฟ โบ ไบเดน ที่สาม อดีตอัยการสูงสุดสองสมัยแห่งรัฐเดลาแวร์ บุตรหัวปีของโจ ผู้ซึ่งถูกตรวจพบว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งสมองในปีนั้นประมาณเดือนเมษายน
เมื่อโบถึงแก่มรณกรรมในวันที่ 30 พฤษภาคม 2015 โจยอมรับว่าความสูญเสียครั้งนี้ผลาญพลังแห่งอารมณ์ไปหมดสิ้น และบอกด้วยว่าไม่มีใครควรได้รับสิทธิที่จะเข้าไปต่อสู้เพื่อตำแหน่งประธานาธิบดี หากปราศจากความตั้งใจจะทุ่มเท 110% ของตัวตนทั้งหมดแก่ภารกิจนี้ การเปิดใจตรงไปตรงมาของโจในเรื่องความทุกข์ตรมกลายเป็นทุนในการหาเสียงสนับสนุนการเลือกตั้งในปี 2020 ความหยั่งลึกที่สามารถเข้าใจความทุกข์ของผู้อื่นเป็นคุณลักษณ์ที่ตรงกันข้ามกับความหลงตัวเองของโดนัลด์ ทรัมป์ และในยุคยามอันโศกเศร้าที่เกิดโรคระบาดโควิด19 พลังทางอารมณ์ที่โจมอบแด่ผู้คนจึงจับใจผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
#โบ ไบเดนขวัญใจคนอเมริกันด้วยผลงานความทุ่มเท
แรงกระเพื่อมของมรณกรรมแห่งโบ ไบเดน ณ วัยเพียง 46 ปี ที่สะเทือนความรู้สึกของสาธารณชน มิใช่เพียงการสูญเสียลูกชายของรองประธานาธิบดีเท่านั้น หากยังเป็นการสูญเสียบุคลากรนิสัยยอดเยี่ยมของประเทศ ผู้ที่ได้พิสูจน์ความทุ่มเทเพื่อคนอเมริกันและเพื่อมนุษยชาติ
ชีวิตของโบเต็มไปด้วยการช่วยเหลือผู้อื่น ในช่วงที่ยังไม่เข้าสู่โลกการเมือง โบผู้เป็นนักกฎหมายได้เข้าร่วมคณะอาสาสมัครเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในสาธารณรัฐคอซอวอยุคหลังสงครามเพื่อฝึกสร้างผู้พิพากษาและอัยการในปี 2001
หลังจากนั้นในปี 2003 โบเข้าร่วมกองกำลังรักษาชาติแห่งเดลาแวร์ หรือก็คือ เดลาแวร์ เนชั่นแนล การ์ด ติดยศพันตรีในสังกัดที่เกี่ยวกับงานผู้พิพากษา คือ The Judge Advocate General Corp.
ใน 3 ปีต่อมา โบประสบความสำเร็จในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นอัยการสูงสุดแห่งเดลาแวร์
ด้วยการประกาศจะแก้ปัญหาสำคัญ เช่น การคุ้มครองเด็กและผู้ที่เสียเปรียบไม่ให้ถูกทำร้าย ในช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่นี้ สหรัฐฯ เป็นแกนนำการบุกอิรัก หน่วยของโบเป็นหน่วยหนึ่งที่ถูกเรียกระดมพล และโบได้ไปปฏิบัติหน้าที่ในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ในเวลาเดียวกัน ก็ยังปฏิบัติหน้าที่อัยการสูงสุดของเดลาแวร์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายนาย
หลังกลับสู่สหรัฐฯ โบลงสมัครรับเลือกตั้งอัยการสูงสุดครั้งที่ 2 ก็ได้รับเสียงสนับสนุนจากชาวเดลาแวร์ให้ได้ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงปี 2010-2014
เมื่อพ้นวาระอัยการสูงสุดแล้วนั้น โบได้ทราบแล้วถึงอาการป่วยเป็นมะเร็งสมอง แต่มีความเข้าใจว่าจะสามารถรักษาหาย โบเตรียมจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐเดลาแวร์ ตลอดจนจะสนับสนุนคุณพ่อลงสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีเที่ยวที่ 3 ด้วย
ในสองเดือนสุดท้ายของชีวิต โบเคยสนทนากับคุณพ่อ ขอคำสัญญาว่าคุณพ่อจะเดินหน้าเข้าสู่ทำเนียบขาวให้สำเร็จ แม้ตัวโบอาจจะสิ้นลมหายใจไปแล้ว ด้วยความสะเทือนใจรุนแรง
คุณพ่อตอบรับคำขอซึ่งไม่ได้เกิดขึ้น แต่เรื่องราวของโบถูกคุณพ่อนำมาเขียนหนังสือเล่มโด่งดังคือ Promise Me, Dad: A Year of Hope, Hardship, And Purpose หนังสือขายดีอันดับหนึ่งของนิวยอร์กไทมส์
#โจ ไบเดน ผู้ชายอ่อนไหวที่มุ่งมั่นสร้างสิ่งดีงามร่วมกันกับลูกชาย
ในการปิดบทสุดท้าย โจเล่าว่าขณะปั่นจักรยานบนชายหาดระหว่างพักผ่อนของครอบครัวอันเป็นเส้นทางที่ใช้บ่อยครั้ง แต่ครั้งนี้แตกต่างกว่าที่ผ่านมา โจเขียนว่า
“เจ้าหน้าที่หน่วยอารักขาตามมาห่างๆ ผมอยู่ลำพัง และระลึกถึงวันที่ปั่นจักรยานผ่านบริเวณนี้พร้อมกับน้องโบเป็นครั้งสุดท้าย เขาเอ่ยขึ้นว่า พ่อครับ หยุดพักตรงนี้ นั่งพักสักครู่นะครับ เราสองคนสูดหายใจสบายๆ แล้วโบชี้ชวนให้มองวิวทะเลข้างหน้า ดูสิครับพ่อ มันวิเศษเหลือเกิน งดงามเหลือเกิน
ในครั้งนี้ แตกต่างกว่าครั้งอื่นๆ เพราะไม่มีโบแล้ว แต่กลับเหมือนว่าโบพูดกับผมอีกครั้ง พ่อครับ หยุดพักตรงนี้ นั่งพักสักครู่นะครับ
ผมก้าวลงจากจักรยาน มองเห็นตนเองยืนอยู่ในจุดที่รู้สึกได้ว่าเป็นขอบโลก รอบกายมีเพียงมหาสมุทร หาดทราย และชายป่า มันวิเศษเหลือเกิน ผมรู้สึกล้นพ้นด้วยความเต็มตื้น ลำคอตีบตัน ลมหายใจกระชั้น ผมหันหลังให้ทีมอารักขา ทอดสายตาไปยังความกว้างใหญ่ของมหาสมุทรที่ริมข้างหนึ่ง ผ่านไปยังความมืดสนิทของราวป่าที่ริมอีกข้างหนึ่ง ผมนั่งลงลำพังบนผืนทราย และร้องไห้”
ผู้ชายอ่อนไหว ผู้เกิดมาเพื่อเสพความทุกข์ครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้ชายคนนี้ให้สัญญากับลูกชายว่าจะเดินหน้าสู้ศึกเลือกตั้ง ในความมุ่งหวังจะเข้าสู่ภารกิจประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างสิ่งดีงามถูกต้องและเยียวยาประเทศชาติตามวิสัยทัศน์ที่สร้างสมด้วยกันกับลูกชาย
แต่ในความสูญเสีย โจหมดสิ้นพลังจิตพลังใจที่จะลุกขึ้นทำงานใหญ่ โจให้เวลาตนเองเยียวยาจิตใจอันบอบช้ำในความสูญเสียที่เสมือนจะไม่รู้จักจบสิ้น เพื่อจะผงาดกลับขึ้นมาอีกครา
8.เป็นเศรษฐีเงินล้านด้วยรายได้จากหนังสือและรับเชิญบรรยาย เดินหน้าสู่ทำเนียบขาวครั้งที่ 3
หลังหมดวาระรองประธานาธิบดีในเดือนมกราคม 2017 โดยมิได้เสนอตัวเป็นผู้แทนพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โจใช้ชีวิตเขียนหนังสือ และรับเชิญบรรยายในโอกาสต่างๆ
ในการนี้ นิตยสารทาวน์แอนด์คันทรีจัดทำรายงานว่าโจกลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน และทำรายได้มหาศาลจากงานทั้งสองหมวดนี้
รายได้สุทธิของปี 2017 ที่โจแถลงอยู่ที่ 11 ล้านดอลลาร์ และของปี 2018 อยู่ที่ 4.6 ล้านดอลลาร์ โดยมีแหล่งรายได้จากหนังสือหลายเล่มรวม 8 ล้านดอลลาร์
ด้านเอพีบอกว่าค่าธรรมเนียมการรับเชิญบรรยายอยู่ที่ครั้งละประมาณ 100,000 ดอลลาร์ โดยแตกต่างเป็นงานๆ ไป งานต่ำสุดอยู่ที่ 40,000 ดอลลาร์ งานสูงสุดอยู่ที่ 190,000 ดอลลาร์
นอกจากนั้น โจแถลงเองด้วยว่า มีรายได้จากค่าตอบแทนเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียอีก 540,000 ดอลลาร์ด้วย
ส่วนนิตยสารฟอร์บส์ประเมินว่าโจมีสินทรัพย์สุทธิมูลค่า 9 ล้านดอลลาร์ ประกอบด้วยบ้าน 2 หลังในเดลาแวร์ มูลค่า 4 ล้านดอลลาร์ เงินสดและการลงทุนมูลค่า 4 ล้าน นอกจากนั้นยังมีบำนาญจากภาครัฐ 1 ล้านดอลลาร์
#เดินหน้าสู่ทำเนียบขาวครั้งที่ 3
ในปี 2019 โจประกาศสมัครเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเที่ยวที่ 3 ขณะที่ฮิลลารีไม่ลงแล้ว ตัวเลขสำรวจความนิยมของโจออกมาดี อย่างไรก็ตาม คะแนนในคราวไอโอวา คอคัส ซึ่งเป็นรัฐแรกที่จัดการหยั่งเสียงหาตัวแทนของเดโมแครตนั้นตกต่ำอย่างน่าตกใจ และในรอบที่สอง คือ ไพรมารีนิวแฮมเชียร์ ก็ยังไม่ดี คะแนนมาเป็นอันดับที่ 5 โจผงาดกลับขึ้นมาได้เมื่อไปขอคะแนนจากกลุ่มอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ต่อมาในเซาท์แคโรไลนา โจได้คะแนนช่วยมหาศาล โจชนะในรัฐนี้อย่างท่วมท้น หลังจากนั้นก็ชนะรวมได้ 18 รอบจากทั้งสิ้น 26 รอบ คู่แข่งรายอื่นๆ ทยอยถอนตัว
ในเดือนเมษายน โจได้เป็นตัวแทนพรรคสมความปรารถนา
9.เลือกคามาลา แฮร์ริส เป็นคู่ชิงประธานาธิบดี
ในเดือนมีนาคม 2020 โจเลือกคามาลา แฮร์ริส วุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญยิ่ง คามาลาเป็นสตรีคนแรกและเป็นชาวอเมริกันผิวสีตลอดจนเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รับโอกาสสำคัญขนาดนี้ จุดแข็งของคามาลาคือการดึงคะแนนจากกลุ่มสตรี #MeToo และกลุ่มอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในรัฐสมรภูมิอย่างเพนซิลเวเนีย มิชิแกน และวิสคอนซิน ยิ่งกว่านั้น คามาลายังดึงเสียงสนับสนุนจากกลุ่มสตรีซึ่งเอือมระอาประธานาธิบดีทรัมป์ได้อีกด้วย
การนับคะแนนผลการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นในวันอังคาร 3 พ.ย. เป็นไปสูสียิ่งกว่าหนังชีวิต ในช่วงต้นที่การนับคะแนนในรัฐสมรภูมิยังทยอยนับบัตรเลือกตั้งประเภทที่มาโหวตในหน่วยเลือกตั้งโดยตรง ทร้มป์มีคะแนนนำในฟลอริดาและเทกซัส ต่อมาคะแนนของโจสะสมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพลิกสถานการณ์ในมิชิแกนและวิสคอนซิน การโต้ตอบของทรัมป์คือกล่าวหาอย่างไร้มูลว่าโจและเดโมแครตโกงเลือกตั้ง พร้อมกับยื่นฟ้องให้นับคะแนนใหม่ ล่วงเข้าวันศุกร์ (6 พ.ย.) การแข่งขันเข้าจุดที่เรียกได้ว่าโจชนะแน่นอน เมื่อโจได้คะแนนนำขาดในเพนซิลเวเนียและจอร์เจีย ช่วงสายของวันเสาร์ คะแนนในฟิลาเดลเฟีย (เมืองใหญ่ที่สุดของเพนซิลเวเนีย) ของโจพุ่งสูง สื่อมวลชนต่างๆ พากันสรุปว่าโจคือผู้ชนะการเลือกตั้ง
ในวันเสาร์ (7 พ.ย.) นั้นเอง โจปราศรัยนำเสนอวิสัยทัศน์และสัญญาจะเยียวยาอเมริกา
บัดนี้ โจและคามาลาได้ทำการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อย และโจเริ่มปฏิบัติงานด้วยการเซ็นคำสั่งสำคัญจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายและมาตรการเพื่อการเร่งแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด19 ซึ่งนำความมั่นใจสู่คนอเมริกันและชาวโลกว่าสหรัฐฯ เข้าสู่ฉากชีวิตบทใหม่ได้ในที่สุด
โจกล่าวในการปราศรัยว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้จบลงแล้ว ถึงเวลาที่จะเก็บความเกรี้ยวโกรธและถ้อยคำรุนแรงไว้ข้างหลัง แล้วรวมกันเป็นชาติหนึ่งเดียว ถึงเวลาแล้วที่คนอเมริกันจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และช่วยกันเยียวยาประเทศ
“เราเป็นสหรัฐอเมริกา ไม่มีสิ่งใดที่เราจะทำไม่ได้ หากเราทำสิ่งนั้นด้วยกัน” โจกล่าว
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เดอะการ์เดียน อีโคโนมิสต์ ซีเอ็นเอ็น ทาวน์แอนด์คันทรี ฟอร์บส์ โวค วิกิพีเดีย เว็บไซต์ทำเนียบขาว เว็บไซต์วุฒิสมาชิกโจ ไบเดน npr.org biography.com blogs.va.gov yorkdailyrecord.com หนังสือเรื่องJoe Biden: The Life, The Run, and What Matters Now)