xs
xsm
sm
md
lg

จับประเด็น : การถูก ‘ถอดถอน’ จะทำให้ ‘ทรัมป์’ หมดสิทธิคัมแบ็กในปี 2024 หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นที่คาดหมายว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ อาจจะโดนสภาผู้แทนราษฎรลงมติถอดถอน (impeachment) อีกครั้งในวันพุธ (13 ม.ค.) ด้วยข้อครหาปลุกปั่นยุยงให้ม็อบบุกรัฐสภาเพื่อขวางการรับรองชัยชนะให้กับ โจ ไบเดน

ต่อไปนี้คือการสรุปอย่างคร่าวๆ ว่ากระบวนการถอดถอนผู้นำสหรัฐฯ ครั้งที่ 2 จะออกมาในรูปใด และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่สภาคองเกรสจะปิดโอกาสของ ทรัมป์ ในการลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2024

- กระบวนการถอดถอนทำงานอย่างไร?

หลายคนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากระบวนการถอดถอน หรือ “อิมพีชเมนต์” นั้นหมายถึงการปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง แต่อันที่จริงแล้วคำนี้หมายถึงขั้นตอนที่สภาผู้แทนราษฎร หรือ “สภาล่าง” ตั้งข้อกล่าวหาต่อประธานาธิบดีว่าได้กระทำการอันถือเป็น “ความผิดอาญา หรือความประพฤติมิชอบขั้นร้ายแรง”

ทั้งนี้ หาก ส.ส.ส่วนใหญ่จากทั้งหมด 435 คนโหวตรับรองข้อกล่าวหาซึ่งเรียกกันว่า “ญัตติถอดถอน” (articles of impeachment) เรื่องก็จะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา หรือ “สภาสูง” เพื่อทำการไต่สวน และรัฐธรรมนูญอเมริกันกำหนดเอาไว้ว่าการถอดถอดประธานาธิบดีจะต้องใช้เสียงจากวุฒิสภาถึง 2 ใน 3

ส.ส.เดโมแครตกล่าวหา ทรัมป์ ว่าปลุกปั่นให้ผู้สนับสนุน “กระทำการอันไร้ขื่อแป” ที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. แต่ ทรัมป์ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ล่าสุดวานนี้ (12) ว่า สุนทรพจน์ที่ตนกล่าวกับผู้ชุมนุมก่อนเกิดเหตุบุกรัฐสภานั้น “เหมาะสมทุกประการ”

- วุฒิสภาจะเปิดการไต่สวนเมื่อไหร่?

มิตช์ แม็กคอนเนลล์ ผู้นำวุฒิสมาชิกรีพับลิกันเสียงข้างมาก ระบุว่า วุฒิสภาอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุม และจะเปิดการไต่สวนญัตติถอดถอน ทรัมป์ ได้ในวันที่ 20 ม.ค. หรือตรงกับวันที่ โจ ไบเดน เข้าพิธีสาบานตนเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ แต่หากจะเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้นก็จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกทั้ง 100 คน

ชัค ชูเมอร์ ผู้นำ ส.ว.เดโมแครต กำลังหาวิธีใช้อำนาจฉุกเฉินเพื่อขอเปิดประชุมวุฒิสภาก่อนหน้านั้น ซึ่งก็จะต้องได้รับความร่วมมือจาก แมคคอนเนลล์ ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการอิมพีชเมนต์ ระบุว่า วุฒิสภาสามารถตั้งกฎระเบียบเองได้ และอาจเปิดการไต่สวนได้ภายใน 1 วันหากจะทำจริงๆ


- ทำไมต้องเดินหน้าถอดถอนในเมื่อ ‘ทรัมป์’ จะพ้นตำแหน่งแล้ว?

กระบวนการอิมพีชเมนต์นอกจากจะใช้ปลด ทรัมป์ ออกจากเก้าอี้ประธานาธิบดีได้แล้ว และอาจทำให้เขาหมดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้าด้วย

ตัวอย่างจากการปลดผู้พิพากษา 2 รายในอดีตทำให้เห็นว่า วุฒิสภาสหรัฐฯ อาจโหวตด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่เพื่อให้ประธานาธิบดีเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติสำหรับการดำรงตำแหน่งในอนาคต

พอล แคมพอส อาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ระบุว่า ต่อให้วุฒิสภาลงความเห็นว่า ทรัมป์ ไม่มีความผิดตามญัตติถอดถอน แต่ยังสามารถลงมติแยกต่างหากเพื่อห้ามมิให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกได้

นั่นหมายความว่า ส.ว.เดโมแครตซึ่งจะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ หลังปลายเดือน ม.ค. เป็นต้นไปอาจลงมติขัดขวางไม่ให้ ทรัมป์ ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียงของ ส.ว.รีพับลิกัน

ในกรณีนี้ ทรัมป์ อาจจะยื่นฟ้องศาลเพื่อคัดค้านมติของวุฒิสภาได้ ทว่าศาลสูงสุดสหรัฐฯ เคยระบุไว้เมื่อปี 1992 ว่าจะไม่แทรกแซงการตัดสินใจของวุฒิสภาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอิมพีชเมนต์

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคนอื่นๆ มองว่า วุฒิสภาจะลงมติห้าม ทรัมป์ ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกได้ก็ต่อเมื่อตัดสินให้เขามีความผิดจริงตามที่ถูกยื่นถอดถอน

นอกจากนี้ สมาชิกสภาคองเกรสยังอาจประกาศว่า ทรัมป์ มีส่วนพัวพันกับ “การก่อจลาจลและการกบฏ” และอาศัยอำนาจตามบทแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 14 (14th Amendment) เพื่อแบน ทรัมป์ จากการลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็จะต้องได้เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากทั้ง 2 สภา

- เคยมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกยื่นถอดถอนถึง 2 ครั้งมาก่อนหรือไม่?

คำตอบคือไม่มี แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายยืนยันว่ารัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจแก่สภาคองเกรสในการทำเช่นนั้นได้

ทรัมป์ เคยถูกสภาผู้แทนราษฎรลงมติถอดถอนเมื่อปี 2019 ในข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบ และขัดขวางการทำงานของสภาคองเกรส โดยเกี่ยวกับกรณีที่เขาพยายามล็อบบี้ยูเครนให้ขุดคุ้ยความผิดของ โจ ไบเดน ซึ่งหลังจากนั้นวุฒิสภาได้ประกาศในเดือน ก.พ. ปี 2020 ว่าเขาไม่มีความผิดในทั้ง 2 ข้อกล่าวหา

ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น