รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯประกาศเมื่อวานนี้(9 ม.ค) สหรัฐฯตัดสินใจยกเลิกมาตรการจำกัดการติดต่อกับไต้หวัน หลังใช้นานร่วมหลายสิบปี เกี่ยวข้องกับนักการทูตสหรัฐฯและบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาลวอชิงตันมีปฎิสัมพันธ์กับไทเป เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่อาจทำให้ปักกิ่งไม่พอใจ เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ โจ ไบเดน จะเข้าพิธีสาบานตน
รอยเตอร์งานวันนี้(10 ม.ค)ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ แถลงในวันเสาร์(9)ว่า เขาจะยกเลิกมาตรการจำกัดการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาลวอชิงตันและไทเป
จีนประกาศมาอย่างยาวนานว่า ไต้หวันถือเป็นส่วนหนึ่งของจีนและรัฐบาลปักกิ่งถือนโยบายรัฐบาลจีนเดียวมาโดยตลอด ปัญหาไต้หวันถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยรอยเตอร์ชี้ว่า หากว่าพอมเพโอทำจริงอย่างที่พูดอาจจะยิ่งเพิ่มความตรึงเครียดมากขึ้นระหว่าง 2 ประเทศเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่จากพรรคเดโมแครต โจ ไบเดน จะเข้าพิธีสาบานตนในวันที่ 20 ม.ค 2021
รอยเตอร์ชี้ว่า ไต้หวันที่พยายามได้รับการยอมรับจากชาติต่างๆในฐานะรัฐและมาจนถึงเวลานี้ยังคงไม่มีการติดต่ออย่างเป็นทางการกับสหรัฐฯและชาติตะวันตกอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลวอชิงตันภายใต้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามอย่างหนักในการให้การสนับสนุนไต้หวันด้วยการเปิดไฟเขียวขายอาวุธและทางกฎหมายเพื่อช่วยไต้หวันรับมือแรงกดดันจากจีน
แถลงการณ์ของพอมเพโอชี้ว่า ตลอดช่วงระยะเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมากระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯได้สร้างมาตรการจำกัดเป็นการภายในสำหรับการติดต่อนักการทูตอเมริกันติดต่อกับเจ้าหน้าที่นักการทูตไต้หวัน เจ้าหน้าที่ทหารกองทัพ และเจ้าหน้าที่อื่นๆของไทเป
“สหรัฐฯได้ใช้มาตรการเหล่านี้แต่ฝ่ายเดียวในความพยายามเพื่อสร้างความพอใจให้กับรัฐบาลปักกิ่ง” พอมเพโอกล่าว
และเสริมว่า “วันนี้ผมขอประกาศว่า ผมกำลังจะยกเลิกมาตรการจำกัดตัวเองทั้งหมดนี้”
รอยเตอร์วิเคราะห์ว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นล่าสุดเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของพอมเพโอและรัฐบาลรีพับลิกันของทรัมป์ในการทำให้สหรัฐฯมีความยากลำบากเพิ่มมากขึ้นในการที่จะเข้าหาจีนก่อนพิธีสาบานตนของไบเดนที่มาจากพรรคคู่แข่ง
ด้าน บอนนี กลาเซอร์ (Bonnie Glaser) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียประจำธิงแท็งก์ศูนย์ด้านยุทธศาสตร์และการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตัน ดีซี ได้แสดงให้เห็นถึงมาตรการจำกัดภายในที่พอมเพโอกล่าวถึงเป็นต้นว่า
เจ้าหน้าที่ไต้หวันไม่สามารถเดินทางเข้ากระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯได้แต่ต้องทำการพบปะกับตัวแทนสหรัฐฯที่โรงแรม
“รัฐบาลสหรัฐฯของไบเดนน่าจะไม่พอใจในการตัดสินทางนโยบายเช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงวันท้ายๆของรัฐบาลชุดทรัมป์”
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานในชุดการเปลี่ยนผ่านอำนาจของไบเดนเปิดเผยว่า ในทันทีที่ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนเข้าสู่ตำแหน่ง เขาจะยังคงให้การสนับสนุนทางออกอย่างสันติต่อประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน(cross-strait) ที่สอดคล้องไปกับผลประโยชน์และความปราถนาดีที่สุดต่อประชาชนไต้หวัน”
ด้านรัฐบาลไทเปออกมาส่งสัญญาณแสดงความยินดี โดยชี้ว่า ยุคหลายสิบปีแห่งการกีดกันได้สิ้นสุดลงแล้ว
โดย Hsiao Bi-khim ทำหน้าที่คล้ายกับเอกอัครราชทูตไต้หวันประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี กล่าวถึงในเรื่องนี้ว่า “ยุคหลายสิบปีแห่งการกีดกันได้สิ้นสุด ถือเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ในความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของพวกเรา ดิฉันจะขอชื่นชมในทุกโอกาส”
ด้านแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไต้หวันที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนความมั่นคงของไต้หวันได้เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า สิ่งที่พอมเพโอประกาศออกมาเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นจากฝ่ายสหรัฐฯในนโยบายที่มีต่อไต้หวันเมื่อไม่กี่ปีมานี้ และกล่าวอีกว่าทั้ง 2 พรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐฯยังคงให้การสนับสนุนอย่างหนักแน่นในการติดต่อระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ
“มันสะท้อนถึงสถานการณ์ของความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างสหรัฐฯและไต้หวันต่อปัญหาในภูมิภาคและปัญหาระดับโลก”
พอมเพโอนั้นเป็นผู้ที่มักใช้ไม้แข็งต่อจีนและมักใช้ประเด็นไต้หวันเพื่อตอบโต้จีน ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนล่าสุด เขาออกมาตั้งคำถาม “นโยบายจีนเดียว” ที่สหรัฐฯยอมรับมาอย่างยาวนานผ่านการให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ โดยชี้ว่า “ไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน” ส่งผลทำให้ปักกิ่งต้องออกมาข่มขู่ว่า พฤติกรรมเช่นนี้ถือเป็นการคุกคามผลประโยชน์หลักของจีนและเข้าเกี่ยวพันกิจการภายในของจีนและจะต้องรับการตอบโต้
รอยเตอร์รายงานว่า เอกอัครรชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ เคลลี คราฟต์ (Kelly Craft) มีกำหนดจะเยือนไต้หวันในสัปดาห์หน้า และจะพบกับผู้นำระดับสูงของไต้หวัน
RT สื่อรัสเซียรายงานเมื่อวันที่ 3 ม.ค ว่า กลุ่มชาวไต้หวันที่สนับสนุนสหรัฐฯออกมาเดินขบวนกลางกรุงไทเปในวันเสาร์ โดยผู้สนับสนุนที่โปรประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เหล่านี้ถือป้ายข้อความที่ระบุว่า "สนับสนุนทรัมป์ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ "และธงชาติสหรัฐฯ ธงชาติญี่ปุ่น และธงชาติไต้หวัน ซึ่งมีบางข้อความระบุว่า "สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ปกป้องไต้หวัน"