ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลายร้อยคนบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันพุธ (6 ม.ค.) ในความพยายามล้มผลเลือกตั้งที่ ทรัมป์ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ส่งผลให้สภาคองเกรสต้องเลื่อนการประกาศรับรองชัยชนะของว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ออกไปชั่วคราว ท่ามกลางเสียงประณามอื้ออึงจากนานาชาติที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดสถานการณ์วุ่นวายไร้ระเบียบเช่นนี้ในอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำระบอบประชาธิปไตยของโลก
ภาพสถานการณ์ภายในอาคารรัฐสภาดูคล้ายกับฉากแห่งการรัฐประหารยึดอำนาจ พวกผู้สนับสนุน ทรัมป์ โบกธงสีน้ำเงินและสวมหมวกสีแดงบุกเข้าไปภายใน มุ่งตรงไปยังห้องประชุมกำลังเปิดอภิปรายก่อนการโหวตรับรองไบเดน และภาพในทวิตเตอร์ที่ส่งต่ออย่างกว้างขวางพบเห็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรายหนึ่งเล็งปืนสั้นออกไปนอกหน้าต่างที่แตก คอยหยุดยั้งใครก็ตามที่พยายามบุกเข้ามา
หญิงผู้สนับสนุน ทรัมป์ รายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตในช่วงที่เหตุการณ์ชุลมุน ส่วนเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ได้ทำการปลดอาวุธผู้ต้องสงสัย 2 คนที่พกระเบิดเข้ามาในอาคารรัฐสภา
ตำรวจรัฐสภาได้ทำการอพยพสมาชิกสภาคองเกรสไปยังสถานที่ปลอดภัย ซึ่งก็ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา เพราะพวกผู้ประท้วงบุกเข้าไปภายในอย่างรวดเร็ว และต้องใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมงกว่าจะเคลียร์ผู้สนับสนุน ทรัมป์ ที่ก่อความวุ่นวายออกไปได้ทั้งหมด
ผู้ประท้วงบางส่วนยังถึงขั้นบุกเข้าไปในสำนักงานของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครต พร้อมกับนั่งทำท่าล้อเลียนเธอบนโต๊ะ “ผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน ตั้งแต่ถูกส่งไปประจำการในอิรัก” ไมค์ กัลลาเกอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรีพับลิกันบอกกับ CNN
ทรัมป์ พูดมาตลอดว่าต้องการยับยั้งไม่ให้สภาคองเกรสรับรองอย่างเป็นทางการต่อชัยชนะของไจ ไบเดน ในวันพุธ (6) ทว่าไม่มีทางที่เขาจะทำได้อย่างถูกกฎหมาย
ทรัมป์ พยายามข่มขู่ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีของเขา ให้คัดค้านผลการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ เพนซ์ ตอกกลับว่าเขาไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และกฎระเบียบก็ระบุไว้อย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ผู้นำสหรัฐฯ ทวีตตำหนิรองประธานาธิบดีของเขาว่า “ขาดความกล้าหาญ” ที่จะทวงชัยชนะกลับคืนมา
การแทรกแซงของกลุ่มผู้สนับสนุน ทรัมป์ แม้จะทำให้กระบวนการรับรอง ไบเดน หยุดชะงักไปได้ชั่วคราว แต่กลับทำให้ระบอบประชาธิปไตยอเมริกันกลับบอบช้ำรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ทรัมป์ ปราศรัยกับผู้สนับสนุนนานกว่า 1 ชั่วโมงที่เนชันแนลมอลล์ โดยตอกย้ำคำกล่าวอ้างเรื่องการโกงเลือกตั้ง และผุดทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานาว่าทำไมเขาถึงยังควรได้เป็นประธานาธิบดีต่อแม้จะพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พ.ย. จากนั้นก็ยุให้ผู้สนับสนุนเดินขบวนไปยังสภาคองเกรส
ภายในเวลาแค่ไม่กี่นาที ม็อบได้ไหลบ่าไปเต็มขั้นบันไดหน้าอาคารรัฐสภา จากนั้นฝูงชนหัวรุนแรงกลุ่มเล็กๆ เกิดการกระทบกระทั่งกับตำรวจ ผลักดันเจ้าหน้าที่จนล่าถอยไป และท้ายที่สุดแล้วก็บุกเข้าไปภายในได้สำเร็จ
หลังเกิดเหตุบุกจู่โจมเข้าไปในอาคารรัฐสภา ทรัมป์ได้แพร่คลิปวิดีโอความยาว 1 นาทีบนทวิตเตอร์ เรียกร้องผู้สนับสนุน “กลับบ้าน” แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่วายตอกย้ำคำกล่าวหาว่า ไบเดน ปล้นชัยชนะไปจากตน
“ผมรู้ความเจ็บปวดของคุณ เรามีการเลือกตั้งที่ขโมยผลการเลือกตั้งไปจากเรา แต่พวกคุณต้องกลับบ้านกันก่อนตอนนี้ เราจำเป็นต้องมีสันติภาพ เราจำเป็นต้องมีความสงบเรียบร้อย” ทรัมป์ กล่าว
ด้านว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประณามการจู่โจมอาคารรัฐสภาว่าเป็นการก่อกบฏ และเรียกร้องให้ ทรัมป์ ออกโทรทัศน์เรียกร้องผู้สนับสนุนยุติการปิดล้อม
“ตอนนี้ระบอบประชาธิปไตยของเราถูกโจมตีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน... ผมเรียกร้องให้ประธานาธิบดี ทรัมป์ ประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติในตอนนี้ เพื่อเรียกร้องขอยุติการปิดล้อม ยุติการบุกอาคารรัฐสภา ทุบตีกระจก ยุติการบุกยึดสำนักงานและห้องประชุมวุฒิสภา ยุติการคุกความความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับเลือกตั้ง มันไม่ใช่การประท้วง แต่มันเป็นกบฏ”
ตำรวจได้ประกาศว่าอาคารรัฐสภากลับคืนสู่ความปลอดภัยในเวลาหลัง 17.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น และการประชุมสภาได้เริ่มขึ้นอีกครั้งหลัง 20.00 น. เพื่อเดินหน้ากระบวนการรับรองผลเลือกตั้ง
“สำหรับพวกที่สร้างความเสียหายต่อรัฐสภาในวันนี้ ผมขอบอกว่าพวกคุณไม่ใช่ผู้ชนะ... กลับไปทำมาหากินกันเถอะ” รองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ กล่าวหลังจากการประชุมเริ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเสียงปรบมือสนับสนุนจากสมาชิกคองเกรส
ด้าน มิตช์ แม็กคอนเนลล์ ผู้นำ ส.ว.รีพับลิกันเสียงข้างมาก โจมตีการกระทำของผู้สนับสนุน ทรัมป์ ว่าเป็นการ “ก่อกบฏที่ล้มเหลว” พร้อมกับย้ำว่า “เราจะประกาศรับรองผู้ที่ชนะในศึกเลือกตั้งปี 2020”
โฆษกของเพนตากอน ระบุว่ากองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิวอชิงตัน ดี.ซี. 1,100 นาย ถูกเรียกเข้าสนับสนุนเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลกลาง ส่วนเวอร์จิเนียและแมริแลนด์ ก็แถลงกำลังส่งกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิและตำรวจของทางรัฐ เข้าประจำการเช่นกัน
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าบรรดาผู้สนับสนุน ทรัมป์ ได้ไปรวมตัวประท้วงที่ด้านนอกสภานิติบัญญัติของรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาในวันพุธ (6) ซึ่งสร้างความขลุกขลักต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ก็นับว่ายังอยู่ในความสงบเรียบร้อยกว่าพวกผู้ประท้วงที่บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปต่างออกคำแถลงด่วนในวันพุธ (6) ประณามสถานการณ์ความยุ่งเหยิงในสหรัฐฯ โดย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็น “สถานการณ์แห่งความอับอาย”จากฝีมือของพวกผู้สนับสนุนทรัมป์ ส่วนรัฐบาลไอร์แลนด์ตำหนิประธานาธิบดีวัย 74 ปี ผู้กำลังพ้นจากตำแหน่งว่ากำลัง “โจมตีประชาธิปไตย”
“ฉากแห่งความอับอายในสภาคองเกรส สหรัฐฯ ยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยทั่วโลก และตอนนี้พวกเขาจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจะเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ และเป็นระเบียบเรียบร้อย” จอห์นสัน เขียนบนทวิตเตอร์
ด้าน โดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ทวีตข้อความว่า “สหรัฐฯ มีสิทธิ์ภาคภูมิใจในประชาธิปไตยของพวกเขา แต่ไม่มีข้ออ้างใดๆ ในการใช้ความรุนแรงเพื่อกัดกร่อนกระบวนการถ่ายโอนอำนาจที่เหมาะสมและชอบด้วยกฎหมาย”
ไฮโก มาสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี เรียกร้องผู้สนับสนุน ทรัมป์ ยอมรับมติของชาวอเมริกันส่วนใหญ่และ “หยุดเหยียบย่ำประชาธิปไตย” ขณะที่นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย บรรยายฉากที่เกิดขึ้นในวอชิงตันว่าเป็นเรื่อง “น่าหนักใจ”
“เราขอประณามการใช้ความรุนแรงเหล่านี้ และจะเฝ้ารอคอยการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างวสันติไปยังรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้วัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ของชาวอเมริกัน” มอร์ริสัน กล่าว
อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ออกมาระบุว่ารู้สึก “เสียใจ” ต่อพฤติกรรมของผู้สนับสนุน ทรัมป์ ที่บุกอาคารรัฐสภา “ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้นำทางการเมืองควรต้องย้ำเตือนผู้สนับสนุนให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ตลอดจนเคารพกระบวนการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม”
เหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้นยังทำให้บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันอย่างหนักให้ต้องยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับศึกเลือกตั้งบนแพลตฟอร์ม และเมื่อวานนี้ (6) ก็มีผู้ใช้งานจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้ระงับบัญชีของ ทรัมป์ เสีย
เฟซบุ๊กได้ประกาศบล็อกบัญชี ทรัมป์ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยอ้างว่ามีการละเมิดเงื่อนไขการใช้งาน 2 ข้อ ส่วนทางทวิตเตอร์ได้ล็อกบัญชีของผู้นำสหรัฐฯ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง และย้ำว่าหากยังข้อความที่เป็นปัญหายังไม่ถูกลบทิ้ง ก็จะระงับการใช้งานต่อไปเรื่อยๆ และนั่นแปลว่า ทรัมป์ จะไม่สามารถสื่อสารผ่านบัญชี @realDonaldTrump ได้อีก
เฟซบุ๊กและยูทูปยังได้ลบคลิปวิดีโอที่ ทรัมป์ อ้างไม่เลิกว่ามีการทุจริตเลือกตั้งประธานาธิบดี แม้ในขณะที่ตนเองเรียกร้องให้ผู้สนับสนุน “กลับบ้าน” ก็ตาม และคลิปดังกล่าวยังถูกลบออกจากอินสตาแกรมซึ่งแบนบัญชีของ ทรัมป์ เป็นเวลา 24 ชั่วโมงเช่นกัน
องค์กรด้านสิทธิพลเมือง The Anti-Defamation League และ Color of Change ออกมาเรียกร้องให้บริษัทสื่อต่างๆ แบนบัญชีของ ทรัมป์ เป็นการถาวร
นักวิจัยชี้ว่า ข้อความที่สนับสนุนความรุนแรงและคำแนะนำด้านการใช้อาวุธถูกแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตาในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้ประท้วงหลายกลุ่มวางแผนออกมาชุมนุมในวันพุธ (6) ไม่ว่าจะเป็นกองเชียร์ทรัมป์, กลุ่มชาตินิยมคลั่งผิวขาว และขบวนการ QAnon ที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดขวาจัดว่าประธานาธิบดีทรัมป์กำลังต่อสู้ทำสงครามอย่างลับๆ กับ “ดีป สเตท" (deep state)
เจย์ ทิมมอนส์ ประธานสมาคมผู้ผลิตแห่งชาติ (National Association of Manufacturers) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทน 14,000 บริษัท รวมถึง เอ็กซ์ซอน โมบิล คอร์ป, ไฟเซอร์ อิงก์ และโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ออกมาเรียกร้องเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ให้พิจารณา “ถอดถอน” ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งทันทีเพื่อรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“ทรัมป์ ยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงเพื่อยื้ออำนาจ และผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งคนใดก็ตามที่ยังปกป้องเขาอยู่เท่ากับผิดคำสาบานที่ให้ไว้ต่อรัฐธรรมนูญ ทอดทิ้งประชาธิปไตยไปเลือกข้างอนาธิปไตย รองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ ซึ่งก็ถูกอพยพออกจากรัฐสภาเช่นกันควรพิจารณาอย่างจริงจังว่าจะร่วมมือกับคณะรัฐมนตรีขอใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 25 เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยไว้หรือไม่” ทิมมอนส์ ระบุ
มีรายงานจากสื่อหลายสำนักเมื่อวันพฤหัสบดี (7) ว่า คณะรัฐมนตรีสหรัฐฯ เริ่มหารือความเป็นไปได้ที่จะปลด ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 (25th Amendment) ซึ่งอนุญาตให้รองประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรีสามารถทำหนังสือแจ้งต่อสภาคองเกรสเพื่อขอถอดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้ ในกรณีที่เชื่อว่าผู้นำสหรัฐฯ ไม่สามารถใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม ขณะที่สื่อทรงอิทธิพลอย่าง “วอชิงตันโพสต์” ก็เป็นกระบอกเสียงสะท้อนข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยบอกว่า “ประธานาธิบดีผู้นี้ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปแม้อีกเพียง 14 วัน ทุกวินาทีที่เขาครองอำนาจอยู่ถือเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ”