xs
xsm
sm
md
lg

ปู่เลี้ยงแกะอินเดียสร้าง 16 แหล่งน้ำธรรมชาติภายใน 40 ปี ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน นายกฯ โมดี ถึงกับให้ฉายา “นักรบชลธาร”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สระน้ำสดชื่นล้อมด้วยไม้ใบเขียวขจีในภาพนี้ เป็น 1 ใน 16 ผลงานการสร้างด้วยภูมิปัญญา แรงงาน และเงินทุนของคนเลี้ยงแกะอัจฉริยะในหมู่บ้านเล็กๆ ของอินเดีย ผู้มีแรงบันดาลใจว่าภูมิปัญญาชาวบ้านของตนจะเอาชนะปัญหาความแห้งแล้งในท้องถิ่นได้จริง  แหล่งน้ำเหล่านี้เปิดกว้างให้ชาวบ้านและเหล่าสัตว์ทั้งน้อยใหญ่ได้ใช้ร่วมกัน
กัลมาเน กาเมเคาวดา (Kalmane Kamegowda) เป็นชายชราวัย 72 ปี ที่ยังไม่แก่ แกมีรายได้จากการเลี้ยงแกะในหมู่บ้านทัศนาท็อทที หมู่บ้านธรรมดาดาษๆ ในเมืองมัญธยา รัฐกรณาฏกะซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของอินเดีย ขณะที่ตัวหมู่บ้านเป็นอะไรที่ไม่มีสิ่งใดให้พูดถึง อีกทั้งยังไม่ค่อยจะมีใครรู้จัก ตัวคุณปู่ผู้นี้กลับเป็นคนดังคับประเทศกันเลยทีเดียว หลังจากที่ผลงานแห่งภูมิปัญญาชาวบ้านของแก และความทุ่มเทขั้นสุดยอดที่มุ่งสร้างแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อเอาชนะภัยแล้ง ได้รับการยอมรับยกย่องเฟื่องฟุ้งในระดับชาติ แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดียก็เอ่ยปากสรรเสริญอย่างชื่นชม พร้อมตั้งฉายาให้ว่า “นักรบชลธาร” หรือ Water Warrior นั่นเอง

กาเมเคาวดาซึ่งไม่เคยเรียนหนังสือในโรงเรียนใดๆ แต่เปี่ยมล้นด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้ดำริโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเอาชนะภัยแล้ง และได้แปรความฝันให้เป็นจริงด้วยเม็ดเงินและแรงงานของตนเองล้วนๆ โดยทำการตะลุยขุดสระน้ำและสร้างมวลน้ำจำนวนมากมายปีแล้วปีเล่า ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป 40 ปี สระน้ำทั้งหมดของคุณปู่กาเมเคาวดาได้กลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญของพื้นถิ่นโดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 16 สระ

สระน้ำทั้งปวงของคุณปู่กาเมเคาวดาจะทอดตัวยาวเชื่อมต่อกันเป็นแนวบนภูเขาเตี้ยๆ ที่มีทิวทัศน์งดงามอย่างกับภาพวาด เพราะสดใสสบายตาด้วยต้นไม้ใบเขียว ทั้งนี้ ภูเขาลูกนี้อยู่ใกล้กับหมู่บ้านของคุณปู่ ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปทางตะวันตกประมาณ 120 กิโลเมตร จากเมืองเบงกาลูรู (เป็นชื่อเดิมในภาษาอังกฤษของเมือง บังกาลอร์) ศูนย์ไฮเทคที่ได้ชื่อว่าเป็น “ซิลิคอน แวลลีย์ อินเดีย” (ระยะทางดังกล่าวอาจเทียบได้ใกล้เคียงกับระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ กับอ่างทอง)

คุณปู่นักพัฒนาสิ่งแวดล้อมเล่าว่าเงินทุนดำเนินงานทั้งหมดส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการเลี้ยงแกะและการขายแกะ ณ ตลาดของหมู่บ้าน อันเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แกทำด้วยกันกับลูกชายมาอย่างยาวนาน และแบ่งรายได้ระหว่างกันอย่างราบรื่น จำนวนเงินที่คุณปู่นำรายได้ในส่วนของตนเองไปใช้ขุดสายโซ่สระน้ำต่อเนื่องนานราว 4 ทศวรรษ เมื่อรวมทั้งหมดแล้วจะเป็นตัวเลขไม่ต่ำกว่า 14,000 ดอลลาร์ (ราว 420,000 บาท)

แหล่งรายได้หลักของนักรบชลธารคือการเลี้ยงแกะให้เติบโตแข็งแรง แล้วนำไปขายที่ตลาด โดยเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำด้วยกันกับลูกชายมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้จำนวนเงินที่คุณปู่นำรายได้ในส่วนของตนเองไปใช้ขุดสายโซ่สระน้ำต่อเนื่องนานราว 4 ทศวรรษ เมื่อรวมทั้งหมดแล้วจะเป็นตัวเลขไม่ต่ำกว่า 14,000 ดอลลาร์ (ราว 420,000 บาท)
เครือข่ายสระน้ำเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของท้องที่แถบนั้น คุณปู่กาเมเคาวดา ซึ่งยังเป็นที่รู้จักเรียกขานในฉายาว่า “มนุษย์สระ” บอกว่า สระที่คุณปู่ขุดขึ้นมาเหล่านี้มี “ความเป็นวิทยาศาสตร์” กล่าวคือ เมื่อสายน้ำธรรมชาติไหลลงมาจากไหล่เขา ก็จะคอยเติมเต็มสระน้ำเหล่านี้ ทำให้ไม่แห้งผากแม้กระทั่งในช่วงหลายเดือนของฤดูร้อนของที่นี่ซึ่งมีแสงแดดคอยแผดเผาอย่างทารุณ


ตลอดที่ผ่านมา นอกจากที่สายโซ่แห่งสระน้ำของคุณปู่จะเป็นแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคของชาวบ้านแล้ว ยังได้เป็นแหล่งน้ำให้นกนานาชนิดและพวกสัตว์ป่าขนาดใหญ่ๆ เป็นต้นว่า หมู, เสือดาว, กวาง และสุนัขจิ้งจอก ต่างได้ใช้เป็นสถานที่พักพิงดับความกระหายของพวกมัน

คุณปู่กาเมเคาวดายังกระฉับกระเฉงและแลดูอ่อนกว่าวัย 72 ปี ด้วยผมเผ้าเป็นระเบียบเรียบร้อยและที่ยังดำขลับแบบว่าไม่หารือกับหนวดเคราที่กลายเป็นสีเทาและขาวไปแล้ว แกมักที่จะถูกผู้คนในหมู่บ้านดูหมิ่นดูแคลนว่าเป็นคนบ้า พวกนั้นพากันเยาะเย้ยเมื่อคุณปู่เล่าถึงองค์ความรู้ที่ช่วยชี้ว่าอาณาเขตที่ความชุ่มชื้นของดินปรากฏตัวให้เห็นนั้นอยู่ ณ บริเวณใด นี่อันเป็นศิลปวิทยาการที่แกได้รับถ่ายทอดมาจากบิดาซึ่งก็เป็นคนเลี้ยงแกะเช่นกัน

และโดยอาศัยความรู้เช่นนี้เองคุณปู่ก็สามารถสร้างมวลของน้ำขึ้นมาในสระที่แกขุด ซึ่งมีทั้งน้ำเอ่อท้นขึ้นจากดิน และน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา

ในการนี้ ส่วนใหญ่แล้วคุณปู่พึ่งพาเครื่องมือจำพวกพลั่ว, จอบ, เสียมมาเซาะดินอย่างมีกระบวนวิธีพิเศษ พร้อมทั้งดำเนินเทคนิคต่างๆ เพื่อสร้างมวลน้ำขึ้นมา (ทีละน้อยจนกระทั่งท่วมท้นเต็มพื้นที่สระ) และเมื่อมีเงินทองมากพอ ก็จะว่าจ้างพวกเครื่องจักรขุดตักดินมาช่วยสร้างโครงสร้างของสระ

กาเมเคาวดา เกษตรกรอัจฉริยะเจ้าของภูมิปัญญาชาวบ้านที่วิเคราะห์ได้ว่าผืนดินบริเวณใดที่อุ้มความชื้นจากน้ำใต้ดินไว้สูง และทราบถึงเทคนิควิธีการซอยดินเพื่อสร้างมวลน้ำขึ้นมาได้อย่างมหาศาล  เข้ารับรางวัลเกียรติยศระดับรัฐคือรางวัลราชยศวา ปราชาหติ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดอันดับสองฝ่ายพลเรือน ที่รัฐบาลกรณาฏกะ มอบแก่บุคคลที่มีคุณูปการมหาศาลต่อรัฐ ผู้ได้รับรางวัลนี้จะได้รับเงินรางวัล 1 แสนรูปี พร้อมเหรียญทอง และใบเกียรติคุณ
รัฐบาลของรัฐกรณาฏกะ ได้ยกย่องเชิดชูผลงานของคุณปู่กาเมเคาวดาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ด้วยการมอบรางวัลอันทรงเกียรติให้แก่คุณปู่ แต่การยอมรับในระดับชาติมีขึ้นในปี 2020 เมื่อนายกฯโมดีกล่าวสรรเสริญผลงานของคุณปู่ในรายการทางวิทยุ ซึ่งเป็นที่นิยมรับฟังกันมากในแดนภารตะ โดยโมดีได้พูดถึง “นักรบชลธาร” อันเป็นฉายาที่มอบให้แก่มิสเตอร์กาเมเคาวดา ว่าเป็น เกษตรกรธรรมดา ที่มีผลงานความสำเร็จอันพิเศษเหนือธรรมดา

“เขาสามารถสร้างผลงานส่วนตัวของเขาขึ้นมาได้สำเร็จ โดยเป็นผลงานที่จะทำให้ใครๆ ต้องรู้สึกครั่นคร้ามกันทีเดียว” นายกรัฐมนตรีอินเดียกล่าว และบอกด้วยว่า มิสเตอร์กาเมเคาวดา “ได้ขุดสระน้ำขึ้นมา 16 สระ โดยอาศัยการทำงานอย่างยากลำบากของตัวเองและหยาดเหงื่อที่ซึมท้นทั่วขนคิ้วของเขา”

“สระน้ำที่เขาขุดขึ้นมาพวกนี้เรียกได้ว่าอาจจะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตอะไรมากมาย ทว่า ความพยายามของเขานี่แหละมันมหึมามโหฬารเหลือเกิน” โมดี บอก “ทุกวันนี้ พื้นที่ตลอดทั่วทั้งบริเวณนั้น มีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่โดยอาศัยสระน้ำเหล่านี้นั่นเอง”

บรรดากลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมพากันเชียร์ให้นายกฯ โมดี มอบรางวัลระดับชาติแก่กาเมเคาวดา

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี นำเรื่องราวความสำเร็จของคุณปู่กูรูแห่งหมู่บ้านทัศนาท็อททีไปเล่าในรายการทางวิทยุ โดยมอบฉายา “นักรบชลธาร” ให้แก่ชายเลี้ยงแกะนามกาเมเคาวดา พร้อมกับยกย่องว่าเขาเป็น เกษตรกรธรรมดา ที่มี ผลงานความสำเร็จอันพิเศษเหนือธรรมดา0
หลังจากคำกล่าวชื่นชมจากนายกฯ โมดี ผู้เป็นที่รักและนับถือของปวงมหาประชาชนอินเดีย
ได้เป็นที่รับทราบกันทั่วประเทศ คุณปู่กาเมเคาวดาก็โด่งดังระเบิดระเบ้อไปในระดับชาติ มีสื่อมวลชนเข้ามาสัมภาษณ์ มีการหารือว่าจะจัดทำภาพยนตร์สารคดีผลงานการสร้างแหล่งน้ำธรรมชาติของคุณปู่กูรูแห่งหมู่บ้านทัศนาท็อทที มีการเสนอแนะกันอื้ออึงว่าควรจะยกย่องให้คุณเกษตรกรนักพัฒนาสิ่งแวดล้อมรายนี้ได้รับรางวัล “ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์น้ำ” ตลอดจนให้สถาปนารางวัลประจำปีในชื่อของคุณปู่เพื่อมอบเป็นเกียรติแก่นักอนุรักษ์น้ำอัจฉริยะรายอื่นๆ

คุณปู่กาเมเคาวดาเองนั้น มีความปลาบปลื้มยินดีในการเดินกะโผลกกะเผลก นำพวกนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ตระเวนเที่ยวชมสิ่งต่างๆ รอบบริเวณ ทั้งนี้ สาเหตุของอาการเดินกะโผลกกะเผลกมาจากการแผลบนขาข้างหนึ่งซึ่งยังมีผ้าพันแผลพันหุ้มอยู่ สืบเนื่องจากแผลอักเสบพุพองซึ่งเจ้าตัวปล่อยทิ้งไว้ไม่ใส่ใจรักษาอยู่เป็นแรมเดือน

นักรบชลธารเล่าให้ผู้สื่อข่าวทราบเกร็ดประวัติการสร้างแหล่งน้ำอันล่าสุดว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้ว แกอดออมเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งเผื่อเอาไว้สำหรับลูกสะใภ้ ซึ่งตอนนั้นคาดกันว่าคงจะต้องคลอดลูกด้วยวิธีผ่าตัด แต่ปรากฏว่าเธอสามารถคลอดลูกที่เป็นผู้ชายได้ตามวิธีปกติจึงทำให้แก่มีเงินสดจำนวนหนึ่งในมือ

“ผมเลยใช้เงินก้อนนี้ไปในการขุดสระน้ำขึ้นมาอีกสระหนึ่ง และตั้งชื่อว่าสระกฤษณะ -ตามชื่อหลานปู่ของผมนั่นแหละ” คุณปู่เล่าไว้อย่างปลื้มๆ

เพื่อนบ้านขี้อิจฉายื่นฟ้องว่าโม้สะบัด 16 แหล่งน้ำนี้เป็นของดั้งเดิม


เกมาเคาวดา ไม่ได้ยากจน แต่แกเป็นคนสมถะที่ใช้เงินอย่างคุ้มค่าสินทรัพย์ที่มีอยู่คือแกะจำนวนหลายสิบตัว กับกระท่อมหลังหนึ่ง ซึ่งมี 2 ห้องแต่สภาพยังเหมือนกับสร้างยังไม่เสร็จ
กระท่อมหลังนี้ตั้งอยู่ถัดกับบ้านของลูกชายคุณปู่ใช้เวลาเพลิดเพลินอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขโดยคอยเก็บเอกสารและคลิปข่าวหนังสือพิมพ์ซึ่งรายงานข่าวเกี่ยวกับผลงานความสำเร็จของตนเองเอาไว้ทั้งหมด

คุณปู่เกมาเคาวดาใช้เวลาเพลิดเพลินพักผ่อนกับหลานๆ และพากันยืนให้ช่างภาพเอพีบันทึกภาพไปเผยแพร่เกียรติคุณสู่ชาวโลกอย่างมีความสุข
คุณปู่มีชื่อฉายาอีกชื่อหนึ่งนั่นคือ “วนาปาลก์” (Vanapalaka) ซึ่งแปลว่าผู้พิทักษ์ป่า จากการที่ได้ลงแรงปลูกต้นไม้มากมายในพื้นที่แห่งหนึ่งใกล้ๆ กับกลุ่มสระน้ำที่ขุดเอาไว้ โดยพวกเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้กำหนดแผนงานที่จะพัฒนาให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยาน

“พวกชาวบ้านส่วนใหญ่จะภาคภูมิใจในตัวผมนะ แต่ก็มีพวกที่ขี้อิจฉาซึ่งพยายามมากเลยที่จะคอยให้ร้ายทำลายภาพลักษณ์ของผมให้เสียหาย” คุณปู่บอก “ผมไปขอร้องชาวบ้านอย่าทำให้สระน้ำพวกนั้นสกปรกเกิดมลพิษ ด้วยการนำเอาเสื้อผ้าไปซัก แต่ให้ใช้น้ำที่นั่นเพื่อเลี้ยงพวกแกะวัวของพวกเขาเท่านั้น”

“ผมชื่นใจนะครับที่ได้เห็นชาวบ้านพากันเอาแกะเอาวัวไปที่สระน้ำเหล่านี้ เพื่อให้กินน้ำที่นั่น
แต่มันเจ็บครับที่มีคนบางคนคอยใส่ร้ายทำลายชื่อเสียงของผมอยู่เรื่อย” คุณปู่นักพิทักษ์ป่ากล่าว

ทั้งนี้ คุณปู่ดูเหมือนจะพูดพาดพิงไปถึงชาวบ้านบางคน ซึ่งคงรู้สึกอิจฉาริษยาที่คุณปู่ได้รับความยกย่องเชิดชู จึงมีการรวมรายชื่อขึ้นมา 70 รายชื่อ ไปยื่นคำร้องเรียนต่อผู้บริหารสูงสุดของเมืองมัญธยา (Mandya DC) คือ ดอกเตอร์ เอ็ม.วี. เวนกาเตช ในข้อกล่าวหาว่าสิ่งที่กาเมเคาวดากล่าวอ้างเลื่อนลอยว่าสระน้ำทั้งปวงเป็นผลงานการสร้างของตนนั้น เป็นความเท็จ พร้อมกับระบุว่าเพื่อนบ้านของพวกเขา ผู้กลายเป็นคนดังของประเทศไปแล้วนั้น ทำการขุดแค่หลุมน้ำเล็กๆ เท่านั้นซึ่งก็มิได้เป็นประโยชน์อันใดแก่ชาวบ้าน ส่วนต้นไม้ใบเขียวอันสมบูรณ์ที่โอบรอบสระน้ำทั้งปวงน่ะ เป็นของดั้งเดิมเก่าแก่ตามธรรมชาติ

เว็บไซต์ข่าวสตาร์ ออฟ ไมซอร์ รายงานคำพูดของกลุ่มผู้ยื่นคำร้อง 70 ราย ว่า “พอกาเมเคาวดาขุดหลุมขึ้นมา ก็กลายเป็นอุปสรรคแก่การที่พวกผมจะพาวัวไปกินหญ้า เขาทำตัวราวกับว่าภูเขาลูกนี้เป็นสมบัติส่วนตัวของเขาเอง เขากีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้น้ำในสระเหล่านั้น ทั้งๆ ที่ตรงนั้นเป็นที่ดินของรัฐ เขาได้สร้างความรบกวนต่อชาวบ้านครับ” ตัวแทนกลุ่มบอกอย่างนั้น และยืนยันว่าที่ดินตรงนี้เป็นของกรมป่าไม้

“สระน้ำพวกนี้มิใช่ผลงานมนุษย์สร้างหรอกครับ เค้าเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แล้วภูเขาที่นี่ก็เขียวอย่างนี้มาหลายยุคหลายสมัยแล้วครับ กาเมเคาวดามิได้เป็นผู้สร้างพืชพรรณเขียวชอุ่มเหล่านี้”

หลังจากที่รับหนังสือร้องเรียนแล้ว ดอกเตอร์เวนกาเตชผู้บริหารสูงสุดของเมืองมัญธยาได้ตั้งกรรมการตรวจสอบตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีนี้ (2020) และได้ผลสรุปที่ยืนยันว่าสระน้ำทั้งหมด ตลอดจนต้นไม้ใบเขียวที่มีดอกสดใสนั้นเป็นผลงานของชายเลี้ยงแกะแห่งหมู่บ้านทัศนาท็อทที

เมืองมัญธยาในรัฐกรณาฏกะมีพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกมากถึง 50% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยในปีที่ได้รับมรสุมเพียงพอ ก็จะมีผลผลิตการเกษตรมหาศาล อีกทั้งยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เลือกไปเล่นน้ำตกชุ่มฉ่ำได้มากมาย  กระนั้นก็ตาม เมืองมัญธยาก็ต้องประสบกับภัยแล้งถี่มาก เขื่อนในเมืองถึงขั้นแห้งผากบ่อยครั้ง ส่งผลให้ชาวเมืองแห่งนี้ได้รับความเดือดร้อน  ดังนั้น การที่คุณปู่กาเมเคาวดาประสบความสำเร็จใตการสร้างแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยการช่วยปรับปรุงหน้าดินเพื่อดึงมวลน้ำขึ้นมาจากใต้พิภาพ จึงเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทรงคุณค่าแก่ผู้คน
ดอกเตอร์เวนกาเตชให้สัมภาษณ์แก่เอพีว่า เขาได้ไปเยี่ยมหมู่บ้านแห่งนั้นมาแล้ว และพบว่าข้อกล่าวหาที่ยื่นเรื่องมาเป็นความเข้าใจอย่างผิดๆ เกี่ยวกับผลงานของกาเมเคาวดา

“ผลงานของคุณปู่น่ะของแท้เลย” เวนกาเตช กล่าว

ในปีนี้ รัฐบาลรัฐกรณาฏกะ ได้จัดสรรเงินจำนวน 5 ล้านรูปี (67,500 ดอลลาร์ หรือราว 2.075 ล้านบาท) เพื่อใช้พัฒนาพื้นที่รับน้ำในบริเวณแถบนั้นต่อไปอีก

ผู้บริหารสูงสุดของเมืองมัญธยาระบุว่าในฤดูฝนทุกๆ ปีที่ผ่านมา พวกแท็งก์น้ำที่สร้างขึ้นโดย กาเมเคาวดา ต่างมีน้ำเต็ม และทำหน้าที่เป็นเสมือนอ่างเก็บน้ำให้แก่พวกนกนานาชนิดตลอดจนสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ในช่วงฤดูร้อน

“คุณปู่เป็นคนที่อุทิศตนทุ่มเทมากๆ ครับ เป็นผู้รับใช้แผ่นดินอย่างชนิดที่ไม่มีความเห็นแก่ตัวในอันที่จะพิทักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ ความจริงแล้ว คุณปู่น่ะคือแม่แบบให้คนอื่นๆ ทำตามในเรื่องการพัฒนาพื้นที่รับน้ำ” ดอกเตอร์เวนกาเตช กล่าว พร้อมกับสรรเสริญว่า

“คุณปู่ทำงานได้อย่างดีมากๆ ครับ”

(ที่มา: AP, เว็บไซต์ข่าว Star of Mysore https://starofmysore.com/kamegowda-dug-only-pits-but-did-not-build-ponds-villagers/ และเว็บไซต์ข่าว The Logical Indian
https://thelogicalindian.com/story-feed/get-inspired/karnataka-cm-awards-shepherd/?infinitescroll=1)
กำลังโหลดความคิดเห็น