อินเดียออกคำสั่งอนุญาตใช้วัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 กรณีฉุกเฉิน เป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท แอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และอีกตัวเป็นของบริษัทยาภายในประเทศ ภารัต ไบโอเทค หน่วยงานกำกับดูแลยาของประเทศนี้ ระบุในวันอาทิตย์ (3)
“วัคซีนของสถาบันเซรุ่ม (วัคซีนของแอสตราเซเนกา และออกซฟอร์ด) และภารัต ไบโอเทค กำลังได้รับการรับรองสำหรับการใช้อย่างจำกัดในสถานการณ์ฉุกเฉิน” วี.จี. โซมานี ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมยาแห่งอินเดีย กล่าวในการบรรยายสรุป
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ทวีตว่า การรับรองเร่งด่วนนี้ “เป็นจุดพลิกผันเพื่อยกระดับการต่อสู้และนำไปสู่ประเทศที่แข็งแรงและปลอดโควิดโดยเร็ว”
อินเดียเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับสองของโลกด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 10.3 ล้านคน และผู้เสียชีวิตเกือบ 150,000 คน ถึงแม้ว่าอัตราการติดเชื้อจะลดลงอย่างมีนัญสำคัญจากช่วงสูงสุดเมื่อกลางเดือนกันยายนที่มีตัวเลขผู้ป่วยรายวันกว่า 90,000 ราย
การรับรองครั้งนี้คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งในความพยายามแจกจ่ายวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในโลกในประเทศของประชากร 1.3 พันล้านคนแห่งนี้
รัฐบาลได้จัดการฝึกซ้อมทั่วประเทศมาแล้วก่อนการฉีดวัคซีนบุคคลทั่วไป และเจ้าหน้าที่การแพทย์ 96,000 คนได้รับการฝึกการฉีดวัคซีนมาแล้ว
โซมานีบอกกับผู้สื่อข่าวภายหลังการบรรยายสรุปว่า หน่วยงานกำกับดูแลยาจะ “ไม่รับรองอะไรก็ตาม หากยังคงมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยเพียงน้อยนิด”
“วัคซีนตัวนี้มีความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์” เขากล่าว และเสริมว่า ผลข้างเคียง เช่น “ไข้เล็กน้อย อาการปวด และอาการแพ้เป็นเรื่องปกติของทุกวัคซีน”
สถาบันเซรุ่มอินเดีย ผู้ผลิตวัคซีนใหญ่ที่สุดในโลก ระบุว่าสถาบันจะผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนกา และออกซฟอร์ดได้ประมาณเดือนละ 50-60 ล้านโดส
ผู้อำนวยการสถาบันเซรุ่ม เอดาร์ ปูนาวัลลา ทวีตหลังข่าวการรับรองว่าวัคซีนจะพร้อมออกแจกจ่ายในอีกไม่กี่สัปดาห์
ที่มา - เอเอฟพี