xs
xsm
sm
md
lg

หนีให้พ้นแผ่นดินโสมแดงและชีวิตอดอยาก โอกาสสำเร็จเฉียด 0% ในไตรมาส 2/2020 ยอดลดฮวบเหลือแค่ 12 คน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐบาลเกาหลีเหนือยกระดับการสอดส่องป้องกันไม่ให้พลเมืองแปรพักตร์หลบหนีออกนอกประเทศ ส่งผลให้จำนวนผู้แปรพักตร์ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง  บีบีซีจัดทำคลิปวิดีโอในเรื่องนี้ โดยสัมภาษณ์ฮาจินวู ผู้แปรพักตร์เมื่อปี 2014 และเป็นอดีตผู้คร่ำหวอดในการพาชาวโสมแดงจำนวนมากให้หนีออกสู่ชีวิตใหม่ในเกาหลีใต้
เป็นที่เลื่องลือกันมานานนักว่าชีวิตของประชาชนในเกาหลีเหนือนั้นอยู่ในความยากจนและอดอยาก ในแต่ละปี จะมีชาวโสมแดงหลายร้อยรายที่ยอมเสี่ยงตาย ทำการแปรพักตร์หลบหนีออกจาก “อาณาจักรแห่งฤาษี” ซึ่งมีประธานาธิบดีคิมจองอึน ชายหนุ่มร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ เป็นผู้นำสูงสุด

อย่างไรก็ตาม บีบีซีตั้งข้อสังเกตว่าจำนวนผู้แปรพักตร์ได้ลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่องในระยะหลายปีที่ผ่านมา ด้วยสาเหตุที่ว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือยกระดับการควบคุมแนวพรมแดนขึ้นอย่างเข้มข้น

บีบีซีจัดทำวิดีโอสัมภาษณ์ ฮาจินวู ผู้แปรพักตร์เมื่อปี 2014 และเป็นอดีตผู้คร่ำหวอดในการพาชาวโสมแดงจำนวนมากให้หนีออกสู่ชีวิตใหม่ในเกาหลีใต้ เพื่อจะบอกเล่าว่าในยุคสมัยของคิม จองอึน เส้นทางหลบหนีออกจากความทุกข์ตรมให้สำเร็จนั้น ช่างมีอุปสรรคเพิ่มขึ้นมากมายและเต็มไปด้วยน้ำตาอย่างแท้จริง (ดูคลิปนี้ได้ที่ https://www.bbc.com/news/av/world-asia-55362463 )

บีบีซีเริ่มภาพยนตร์สั้นความยาว 7 นาที 39 วินาที ด้วยภาพหวาดเสียวที่มีการกระโดดจากระเบียงหลังบ้านของอพาร์ตเมนต์ อีกทั้งการไต่เชือกอันแกว่งไหวจากชั้นบนๆ ลงสู่ผืนดิน ผู้คนเหล่านี้คือบางส่วนของผู้ที่เสี่ยงชีวิตเพื่อลี้ภัยออกจากระบอบการปกครองอันทารุณของรัฐบาลเกาหลีเหนือ

นาทีชีวิตเมื่อพฤศจิกายน 2017 ทหารฝั่งโสมแดงเสี่ยงตาย ขับรถหลบหนีออกจากเกาหลีเหนือ หมายจะฝ่าพรมแดนเข้าไปลี้ภัยในเกาหลีใต้ แต่รถขัดข้อง จึงโดดลงและวิ่งหนีเข้าเขตปลอดทหาร (DMZ) จึงถูกทหารเกาหลีเหนือระดมยิงเข้าลำตัว 5 นัด บาดเจ็บสาหัส แต่หลบหนีสำเร็จ โดยได้รับความช่วยเหลือจากทหารฝั่งเกาหลีใต้
ภาพตัดไปที่บรรยากาศการหลบหนีลี้ภัยด้วยเรือลำน้อยที่มืดมัวและมีน้ำรั่วไหลเข้าไป พร้อมเสียงพึมพำกังวลใจว่า “น้ำทะลักเข้ามาแล้ว คนในเรือมีมากเกินไป”

เสียงของผู้เล่าเรื่องย้ำว่า บ่อยครั้งเลยที่ผู้คนเหล่านี้ต้องเสี่ยงชีวิตเฉียดตาย

สถานการณ์การหลบหนีเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลนับจากที่คิม จองอึน ขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งเกาหลีเหนือในปี 2016 เพราะผู้นำสูงสุดแห่งดินแดนโสมแดงได้ยกระดับการสกัดกั้นด้วยกลยุทธ์สร้างเครื่องขัดขวางการหลบหนีในทุกวิถีทาง ดังนั้น การจะหนีข้ามพรมแดนเกาหลีเหนือจึงทวีความยากลำบาก ยิ่งกว่านั้น เมื่อวิกฤติโรคระบาดไวรัสโคโรน่า 19 ลุกลามไปทั่วโลก การจะแปรพักตร์ละทิ้งถิ่นโสมแดงก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เอาเลย

เส้นทางแสนลำบากยากเย็นเพื่อหนีออกจาก“อาณาจักรฤาษี”

นี่คือตัวเลขที่จะแสดงให้เห็นว่าจำนวนของผู้แปรพักตร์เพื่อหลบหนีไปยังเกาหลีใต้ในแต่ละปีมีมากมายเพียงใดนับตั้งแต่ปี 2002คุณจะเห็นได้ว่าตัวเลขพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปี 2011แล้วหลังจากนั้น เส้นกราฟก็ปักหัวดิ่งลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วช่วงดังกล่าวนี้คือกาลเวลาที่คิมจองอึนได้ครองอำนาจหลังจากที่บิดาเสียชีวิตลง เสียงของผู้เล่าเรื่องบอกอย่างนั้น

“ก่อนหน้านั้นผมขอบอกว่าโอกาสที่จะแปรพักตร์หนีออกมาอยู่ที่ประมาณ 50%แต่นับจากที่คิมจองอึนเสวยอำนาจ ผมบอกเลยโอกาสที่จะสำเร็จมีน้อยหนักลงไปอีก แค่สัก 10% ก็ยังไม่ค่อยจะถึง”ฮาจินวูให้สัมภาษณ์แก่บีบีซีอย่างนั้น

นี่คือฮาจินวูผู้แปรพักตร์ออกจากเกาหลีเหนือ โดยที่ว่าก่อนหน้านั้น คือระหว่างปี2010-2014เขาทำงานเป็นนายหน้านำพาผู้คนหนีข้ามพรมแดนและมีอัตราความสำเร็จเป็นอย่างดี

“งานของผมค่อนข้างจะเป็นการนำทางเพื่อช่วยให้คุณแปรพักตร์ได้สำเร็จ”

ต่อไปนี้จะเล่าถึงวิธีต่างๆ ที่ผู้คนใช้เพื่อตีจากแผ่นดินเกิดเส้นทางที่สามารถเลือกใช้มีอยู่หลายเส้นทาง เช่นหนีข้ามมาทางเขตปลอดทหารที่กั้นระหว่างพรมแดนเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้หรือลี้ภัยเข้าสถานทูต แต่โดยส่วนใหญ่ของชาวเกาหลีเหนือนั้นวิธีหลบหนีที่ได้ผลมากที่สุดคือหนีผ่านพรมแดนทางเหนือเข้าสู่ประเทศจีนโดยคุณฮาจะเล่าให้เห็นภาพว่าการหนีออกมาทำกันอย่างไรบ้างในช่วงก่อนยุคของคิมจองอึน ซึ่งการวางมาตรการความมั่นคงปลอดภัยตามแนวชายแดนยังหละหลวมค่อนข้างมากในการนี้แม้จะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพิสูจน์ทราบความถูกต้องของแต่ละเรื่องราวกระนั้นก็ตาม ข้อมูลที่ถูกบอกเล่าโดยผู้แปรพักตร์รายอื่นๆ ก่อนหน้านี้ก็มักจะเป็นเรื่องราวละม้ายกัน

ฮาจินวูเล่าว่า“ย้อนกลับไปในสมัยก่อนๆ คุณอาจจะแค่ติดสินบนพวกทหารลาดตระเวนตามแนวชายแดนโดยบอกว่าคุณต้องไปตลาดในจีน เสร็จแล้วก็จะกลับมา”แต่หลังจากที่คิมจองอึนสังเกตเห็นผู้แปรพักตร์มาออกทีวีในเกาหลีใต้กันมากมาย จึงรู้สึกว่าต้องทำอะไรกันอย่างใหญ่เลย ฮาจินวูเล่าไว้อย่างนั้นและบอกด้วยว่า

“มีการเพิ่มกองกำลังลาดตระเวนชายแดนของเกาหลีเหนืออย่างมากมาย ยิ่งกว่านั้นเดี๋ยวนี้พลลาดตระเวนชายแดนสามารถยิงใครก็ตามที่พยายามจะหนีข้ามพรมแดนโดยไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น”

เสียงผู้เล่าเรื่องเล่าว่านอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ยังมีการติดตั้งรั้วลวดหนามปล่อยกระแสไฟฟ้าขึ้นใหม่ตลอดแนวพรมแดนในช่วงนั้นฮาจินวูต้องเริ่มใช้สายสัมพันธ์กับนายทหารระดับสูงเพื่อให้การปฏิบัติงานเดินหน้าต่อได้ ในบางครั้งก็จะเอาผู้ที่มาขอให้พาหนีออกนอกประเทศเข้าไปนั่งในรถของเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพราะทหารจะไม่เข้ามาตรวจสอบ กระนั้นก็ตามวิธีแปรพักตร์หนีออกมาแบบนี้ก็ยากมากขึ้นเรื่อยๆดังนั้นจึงมีหลายคราที่ต้องหันไปใช้วิธีหนีข้ามแม่น้ำกั้นพรมแดนซึ่งมีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่ง

“จะอย่างไรก็ตาม ยังพอจะมีช่องโหว่ให้ลองเสี่ยงดูล่ะครับ พื้นที่ตามหน้าผาเป็นจุดที่คุณไม่สามารถสร้างรั้วขึ้นมาได้” ฮาจินวูกล่าว

แม่น้ำยาลู่ซึ่งกั้นระหว่างเกาหลีเหนือกับจีน เมื่อถึงช่วงปลายฤดูหนาว อากาศไม่เยือกเย็นเกินไป แต่ผิวน้ำแข็งยังสามารถรองรับให้เดินบนผิวน้ำได้ ช่องทางนี้จึงเป็นที่นิยมของขบวนการลักลอบหนีออกนอกประเทศโดยให้เดินข้ามไปยังฝั่งประเทศจีนขณะเดียวกันก็จ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ทหารเพื่อให้ทำเป็นไม่รู้เห็น สำหรับภาพนี้ซึ่งถ่ายจากฝั่งจีนบริเวณชายแดนติดเกาหลีเหนือใกล้ๆ เมืองหลินเจียง จะเห็นพวกเด็กหญิงเกาหลีเหนือตักน้ำจากแม่น้ำยาลู่ซึ่งกลายเป็นน้ำแข็ง
เขาใช้สายสัมพันธ์ที่มีอยู่ ขอให้ระดับผู้บัญชาการทหารช่วยเคลียร์พื้นที่บริเวณนั้นสัก 30 นาที แล้วจึงพาคณะผู้แปรพักตร์ในความรับผิดชอบไต่บันไดลงไปและทำการข้ามแม่น้ำหนีออกจากเกาหนีเหนือสำเร็จ หลังจากนั้น ก็มอบผู้แปรพักตร์ทั้งปวงไว้ในความดูแลช่วยเหลือของทีมงานฝั่งประเทศจีน แล้วเกมหลบซ่อนตัวจึงเริ่มต้นขึ้นเพราะผู้แปรพักตร์ต้องหลบให้พ้นสายตาของทางการจีน

“หากพวกเขาถูกจับขณะอยู่ในจีน พวกเขาจะถูกส่งตัวกลับเกาหลีเหนือ คุณจะถูกถือว่าเป็นสปาย และจะต้องถูกรัฐบาลเกาหลีเหนือประหาร ถ้าพูดจาผิดคำเดียว ก็คือตาย ดังนั้น ผมจะย้ำบอกพวกเขาว่า หากคุณถูกจับได้ในจีน คุณต้องบอกว่าคุณเข้ามาจีนเพื่อเอาชีวิตรอดและเพื่อหาโอกาสทำงานเลี้ยงชีพ”

เมื่อแผนหลบหนีออกจากแผ่นดินจีนถูกกำหนดรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว คณะผู้แปรพักตร์ซึ่งมักเป็นกลุ่ม 4-5 คน จะถูกจัดให้หลบขึ้นรถตู้ แล้วจึงมุ่งหน้าไปยังดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“การหนีออกจากจีน มักมีเหตุหวุดหวิดเฉียดจะถูกจับได้เกิดขึ้นหลายครั้ง หลายครั้งเชียวที่ตำรวจเรียกตรวจบัตรประจำตัวของพวกเรา เวลาที่ตำรวจมองจ้องหน้าผม หัวใจผมหล่นวูบเลยครับ” ฮาจินวูระลึกเหตุการณ์ที่ประสบมากับตนเองตอนที่แปรพักตร์หนีออกจากเกาหลีเหนือเมื่อปี 2014

ตัวเขาเองนั้นใช้เส้นทางหนีไปตามเส้นทางแม่น้ำโขง โดยมุ่งเข้าเขตประเทศไทย

“ตอนที่เดินทางมาตามลำน้ำโขง เรือของเราถูกไล่ล่าจากเรือลาดตระเวน แม่น้ำกว้างขวางมากแต่เรือก็แล่นซิกแซกหลบไปหลบมาและหนีพ้นได้จนเราเข้าเขตประเทศไทยสำเร็จ ผมน่ะเคยเสียวไส้คิดอยากจะกระโดดหนีลงในแม่น้ำเลยครับ”

ตัดไปที่คลิปวิดีโอสถานการณ์คับขันน้ำรั่วเข้าท้องเรืออีกครั้งหนึ่ง

“น้ำทะลักเข้ามาแล้ว”

อันนี้เป็นคลิปวิดีโอที่ได้จากผู้แปรพักตร์ท่านหนึ่ง เรือดูว่าแคบไปถนัดใจเพราะมีคนเบียดอยู่ในนั้น 4-5 ราย มันเป็นอะไรที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง เสียงผู้เล่าเรื่องบอกอย่างนั้น

ด้านฮาจินวูเล่าประสบการณ์ตรงของตนเองว่า

“บางครั้ง เรือถึงกับคว่ำในแม่น้ำ ซึ่งมีหลายครั้งที่เด็กๆ หรือคนแก่ที่ว่ายน้ำไม่เป็น ต้องจบชีวิตเพราะจมน้ำ หากเข้าไปช่วยผู้ที่จมน้ำในน่านน้ำลึก มันก็คือการฆ่าตัวตาย เป็นอะไรที่หัวใจสลายที่ต้องดูคนจมน้ำโดยไม่สามารถเข้าไปช่วยได้”

หลังเสร็จสิ้นการเดินทางด้วยเรือ ผู้แปรพักตร์จะเข้าสู่ประเทศที่จะไม่เนรเทศพวกเขากลับไปยังเกาหลีเหนือด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม

“ผมรู้สึกว่าผมได้บรรลุความสำเร็จแล้ว ผมรู้สึกโล่งใจมากเลยและมีความสุขมาก” ฮาจินวูเล่าอย่างนั้น

ถึงตอนนั้น เส้นทางหนีออกจากเกาหลีเหนือก็เกือบสำเร็จสมบูรณ์ โดยผู้แปรพักตร์อาจจะมอบตัวกับตำรวจของประเทศนั้นๆ หรืออาจจะถูกพาไปขอลี้ภัยกับสถานทูตเกาหลีใต้ หลังจากนั้นกระบวนการส่วนที่เหลือจะถูกดำเนินการไปตามขั้นตอน เสียงเล่าเรื่องบอกว่าในท้ายที่สุด ผู้แปรพักตร์จะถูกพาตัวไปขึ้นเครื่องบิน มุ่งหน้าสู่ปลายทางที่แท้จริงคือ แผ่นดินเกาหลีใต้ ทั้งหลายทั้งปวงนี้อาจใช้เวลาราวสองเดือน หรืออาจจะเนิ่นนานเกินกว่าหกดือนจึงจะผ่านพ้นได้ตลอดรอดฝั่ง

“ผมเคยได้แต่เห็นเครื่องบินในรูปภาพ

มันให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในความฝันครับเวลาที่นั่งในเครื่องบินและเดินทางไปยังเกาหลีใต้
ตอนที่ผมได้ทานบิบิมบับในเครื่องบิน ผมร้องไห้ออกมา และคิดในใจว่า นี่ล่ะคือสาเหตุที่ผมยอมเสี่ยงชีวิตหนีออกมา” ฮาจินวูแบ่งปันความรู้สึกส่วนลึกให้บีบีซีบันทึกเทปวิดีโอ

ขณะที่เขาหนีออกจากเกาหลีเหนือนั้น คือปี 2014 แต่สำหรับบรรดาผู้ที่อาจจะอยากละทิ้งประเทศในปีนี้ พวกเขาต้องประสบพบว่ามันยากกว่ากันหนักหนา เสียงผู้เล่าเรื่องพูดอย่างนั้น
และนำเสนอภาพกราฟตัวเลขผู้ที่หนีออกจากเกาหลีเหนืออีกครั้งหนึ่ง

ลองเดากันนะคะว่าคนเกาหลีเหนือกี่รายที่หนีออกมายังเกาหลีใต้ได้สำเร็จในปีนี้ ถ้านับถึงปลายเดือนกันยายน มีเพียง 195 รายเท่านั้นค่ะ เสียงผู้เล่าเรื่องบอกอย่างนั้น พร้อมย้ำว่าเป็นตัวเลขที่ลดฮวบลง 80% จากเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ เฉพาะในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ จำนวนผู้แปรพักตร์และมาถึงแผ่นดินโสมขาวได้สำเร็จ มีเพียง 12 รายเท่านั้น สามารถดูตัวเลขละเอียดได้จากรายงานของกระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้ ดังนี้

https://www.unikorea.go.kr/eng_unikorea/relations/statistics/defectors/

กราฟแสดงตัวเลขผู้แปรพักตร์หนีออกจากเกาหลีเหนือ ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2011 ที่คิมจองอึนได้ครองอำนาจสืบทอดจากบิดา  ทั้งนี้ ในปี 2020 ที่เกิดโรคระบาดโควิด 19 รุนแรง มีคนเกาหลีเหนือหนีออกมายังเกาหลีใต้ได้สำเร็จนับถึงปลายเดือนกันยายนเพียง 195 รายเท่านั้น เท่ากับอัตราหดตัวฮวบลง 80% จากเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า
สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เกาหลีเหนือจึงทวีความเข้มข้นในการคุมแนวพรมแดนของตนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในการนี้ บีบีซีได้สัมภาษณ์ลีซังยุง บรรณาธิการใหญ่ของเว็บไซต์ข่าวนาม เดลี่ เอ็นเค ดังนี้

“โคโรน่าไวรัสบีบให้เกาหลีเหนือต้องปิดตัวเองลงมา ถ้าคุณไม่ได้เป็นนายทหารระดับสูง หรือผู้บริหารตำแหน่งสูงของหน่วยงานภาครัฐ คุณจะไม่สามารถเดินทางไปไหนๆ ได้เลย สถานการณ์ปีนี้เป็นปีที่ทุกข์ยากที่สุดของเกาหลีเหนือ ผมได้ฟังมาว่าจำนวนเด็กกำพร้าและเด็กเร่ร่อนของเกาหลีเหนืองพุ่งสูงขึ้นในปีนี้ ผู้คนล้วนอดอยากใกล้ตาย”

ไม่ว่าการหลบหนีออกจากเกาหลีเหนือจะมีอันตรายต่อชีวิตหนักหนาเพียงใด แต่ดูเหมือนว่ายังมีผู้ที่พยายามอยู่ตลอด เสียงผู้เล่าเรื่องบอกอย่างนั้น

“เรายังมีครอบครัวที่เราห่วงใยอยู่ในเกาหลีเหนือครับ คนเกาหลีเหนือยังทุกข์ตรมจากการถูกล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังต้องดำรงชีวิตโดยปราศจากเสรีภาพ ยังมีผู้คนอีกมากที่ไม่เคยกระทั่งรู้จักคำว่าสิทธิมนุษยชนและต้องเสียชีวิตหลังจากหนีไม่สำเร็จเพราะถูกจับกุมเสียก่อน ผมหวังว่าจะมีแรงใจอีกมากๆ ที่ให้ความเห็นใจต่อชาวเกาหลีเหนือ” ฮาจินวูกล่าวฝากไว้ในตอนท้ายของวิดีโอนี้

(ที่มา: บีบีซี, เว็บไซต์กระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้ https://www.unikorea.go.kr/eng_unikorea/relations/statistics/defectors/)
กำลังโหลดความคิดเห็น