กาลครั้งหนึ่งกับสายการบินแพนแอม ในไฟล์ทข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยเครื่องโบอิ้ง 377 สตราโตครุยเซอร์ ผู้โดยสารมหาเศรษฐีซึ่งนั่งชมวิวหมู่เมฆในเวิ้งฟ้าอิ่มใจแล้ว ขยับลุกจากเก้าอี้ เดินลงบันไดวน ไปเปลี่ยนอิริยาบถในห้องเลาน์ชั้นล่าง สังสรรค์สนทนาสร้างมิตรไมตรีกับเพื่อนร่วมเส้นทาง พลางจิบเครื่องดื่มเพลินๆ ครั้นตกค่ำลงมา เธอเดินกลับไปยังห้องเคบินใหญ่ และก้าวขึ้นสู่เตียงแสนสบายที่เป็นตู้ลอยไซส์ยักษ์เหนือเก้าอี้ แล้วพริ้มตาหลับสนิทในผ้าปูที่นอนนุ่ม ฝันหวานๆ ไปตลอดเส้นทาง
เป็นอะไรที่เหมือนความฝันเกินกว่าจะเป็นเรื่องจริงล่ะซี
โทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นถามท่านผู้อ่านอย่างนั้น พร้อมยืนยันว่าเกร็ดชีวิตบนวิมานเหินฟ้าดังกล่าวคือประสบการณ์จริงของผู้โดยสารของสายการบินแพน อเมริกัน เวิลด์ แอร์เวย์ส (Pan American World Airways) ในทศวรรษ 1940-1960 และเป็นความทรงจำดีๆ ของสาวบรอนวิน โรเบิร์ตส์ อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่เริ่มทำงานกับ“แพนแอม” (Pan Am) เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว อันเป็นยุคยามที่เฉพาะมหาเศรษฐีเท่านั้นจึงจะสามารถเดินทางด้วยเครื่องบิน อีกทั้งยังเป็นวันชื่นคืนสุขที่สายการบินต่างๆ ยังไม่มีตั๋วชั้นประหยัดมาขายให้ผู้ใด
เครื่องบินโบอิ้ง 377 สตราโตครุยเซอร์ ซึ่งเข้าประจำการในฝูงบินของแพนแอมตั้งแต่ปี1947 เป็น “เรือยักษ์เหินอากาศ” อีกทั้งยังเป็นแบบฉบับของความหรูหราอลังการอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้ว่า ขณะที่สตราโตครุยเซอร์มีขนาดอันใหญ่โตมโหฬารและมีพื้นที่ใช้สอยมหาศาล แต่ภายในเครื่อง มีการติดตั้งเก้าอี้โดยสารเพียง 100 ที่นั่ง
ในการนี้แม้วัตถุประสงค์การใช้งานหลักของสตราโตครุยเซอร์คือการพาผู้โดยสารผู้ร่ำรวยเว่อร์วังไปยังจุดหมายปลายทาง แต่ในเวลาเดียวกันการเดินทางด้วยสตราโตครุยเซอร์ก็เป็นการพักผ่อนหย่อนใจไปในเวิ้งฟ้านภากาศด้วย ทั้งนี้ ในทศวรรษ 1940 สตราโตครุยเซอร์สามารถทำความเร็วได้มากกว่า 300ไมล์ต่อชั่วโมงสตราโตครุยเซอร์จึงเป็นอากาศยานที่เหมาะแก่การบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นอย่างยิ่ง
ความหรูหราอลังการเริ่มตั้งแต่อาหารที่เสิร์ฟบนเครื่อง
นิตยสารออนไลน์นามว่า Love Exploring เล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังการจัดอาหารเลี้ยงผู้โดยสารบนเครื่องบินอย่างเดอร์ลุกซ์ว่า ในยุคทองของการเดินทางเหินฟ้าเมื่อทศวรรษที่ 1940 -1960 นั้น ไม่ค่อยจะมีกิจกรรมระหว่างเดินทางให้ทำมากนัก อาหารค่ำจึงถูกจัดวางให้เป็นเรื่องใหญ่โตและหรูหรา เมนูที่จัดเตรียมกันก็มักที่จะเป็นซีรีส์ยาวหลายคอร์ส พร้อมตระกร้าขนมปังอันเลิศล้ำ และอาหารจานหลักที่อลังการด้วยสเต็ก หรือกระทั่งกุ้งล็อบสเตอร์
สำหรับแพนแอมซึ่งมีชื่อชั้นขั้นท็อปในฐานะสายการบินระหว่างประเทศใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ได้นำครัวของภัตตาคารฝรั่งเศส Maxim’s de Paris ซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก ขึ้นไปปรุงอาหารเลี้ยงผู้โดยสารทุกมื้อ โดยจะปรุงเฉพาะบรรดาอาหารจานเลิศทั้งปวงแบบจัดเต็มเป็นคอร์สใหญ่ ซึ่งจะรวมทั้งเมนูเนื้ออ็องเทรอันกระเดื่องนามซึ่งเป็นเมนูเรียกน้ำย่อย ในเวลาเดียวกัน ถ้วยชามเครื่องใช้จะเป็นเนื้อโบนไชน่าราคาแพงระยับ พร้อมผ้าปูรองจานและผ้าเช็ดปากอันประณีตพิถีพิถัน
“เครื่องบินทุกลำของแพนแอมมีเตาอบติดตั้งประจำการครับ และอาหารจานเด็ดที่นำเสนอกันเสมอคือสเต็กเนื้อเทนเดอร์ลอยน์ (ซึ่งก็คือฟิเลต์มิยองนั่นเอง) โดยเชฟของ Maxim’s de Paris จะปรุงใหม่ๆ ในห้องครัวของเครื่องบิน แล้วนำไปหั่นสไลซ์เสิร์ฟข้างเก้าอี้นั่งผู้โดยสารกันเลยทีเดียว” จอห์น ลูดิช นักประวัติศาสตร์แห่งมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แพนแอมบอกซีเอ็นเอ็น
บรอนวิน โรเบิร์ตส์ แอร์โฮสเตสคนดังของแพนแอม เล่าว่าเธอเดินทางกับแพนแอมในฐานะผู้โดยสารบ่อยทีเดียว ทั้งนี้ เธอเพลิดเพลินเจริญใจกับการชิมทุกสิ่งอย่างที่เสิร์ฟในไฟล์ท ตั้งแต่ซี่โครงแกะย่างชุ่มฉ่ำ ไปจนถึงชีสแข็ง แต่จานโปรดอย่างยิ่งของเธอคือคาเวียร์
“ดิฉันได้รับการปรนเปรออย่างสุดๆ ในการเดินทางทางอากาศยุคต้นๆ ซึ่งมีบริการที่ยอดเยี่ยมอย่างเหลือเชื่อ” บรอนวิน โรเบิร์ตส์ให้สัมภาษณ์แก่ซีเอ็นเอ็นไว้ประมาณนั้น
เมื่อผู้โดยสารว่างเว้นจากการรับประทานอาหารแสนอร่อยสไตล์ฝรั่งเศส บางคนของีบหลับพักผ่อน บางคนเลือกที่จะเดินลงบันไดวน ไปยังห้องเลาน์ชั้นล่าง เพื่อสนทนาเพลินๆ กับผู้โดยสารท่านอื่นๆ ทั้งนี้ คุณนักประวัติศาสตร์ลูวิชเล่าว่าแอร์โฮสเตสจะนำเครื่องดื่มค็อกเทลมาเสิร์ฟให้ดื่มกันมิได้ขาด
ประสบการณ์ไฟล์ทบินข้ามประเทศแบบนี้ไม่เหมือนกับที่ได้พบกันในปัจจุบัน ซึ่งผู้โดยสารจะนั่งเงียบๆ ที่เก้าอี้ของตน ทำอะไรเพลินๆ แต่สำหรับสมัยก่อนนั้น ผู้โดยสารจะทำความรู้จักและพูดคุยเจ๊าะแจ๊ะสังสรรค์กันไป โรเบิร์ตส์ให้ความเห็นไว้อย่างนั้น
หลังจากอิ่มเอมกับอาหารมื้อค่ำแล้ว ก็ได้เวลานอนหลับพักผ่อนไปตลอดทางจนถึงที่หมาย ในการนี้ สตราโตครุยเซอร์มีจุดเด่นคือบริการเตียงนอนสบายๆ ในตู้ลอยเหนือเก้าอี้โดยสาร ทั้งนี้ เครื่องบินรุ่นนี้ไม่ได้เตรียมตู้ลอยไว้ให้ผู้โดยสารเก็บสัมภาระเสมือนกับปรากฏอยู่ในเครื่องบินยุคปัจจุบัน บริการที่แอร์โฮสเตสจะอำนวยการให้คือ ดึงประตูตู้ลอยลงมา แล้วผู้โดยสารจะเห็นเตียงนุ่มๆ รอให้ขึ้นไปนอนฝันดี
โรเบิร์ตส์บอกว่าเธอไม่เคยมีโอกาสนอนเตียงดังกล่าวจริงๆ เธอเพียงแค่เคยลองทดสอบดูนิดๆ ในช่วงเปลี่ยนไฟลท์
“ดิฉันได้ลองเอนหลังเอาประสบการณ์ตอนที่เครื่องจอดบนพื้นดินแล้ว และพบว่ามันกว้างขวางเหลือเชื่อ” โรเบิร์ตส์บอก “แม้แต่ผู้ชายตัวสูงๆ ก็ยังเหยียดขานอนได้เลยค่ะ เป็นอะไรที่สบายเอามากๆ เลย”
ตำนานวิมานเหินฟ้าต้องปรับเปลี่ยนตามบริบทใหม่ๆ
ตอนที่มีการนำเครื่องบินสตราโตครุยเซอร์มาใช้บินจริงเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1947 นั้น ที่นั่งชั้นประหยัดยังไม่เกิดขึ้นในธุรกิจการบิน แต่ครั้นถึงทศวรรษ 1980 เมื่อที่นั่งชั้นประหยัดเกิดขึ้นและได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จุดเด่นในด้านความสบายและความหรูหราก็ถูกบีบให้จำกัดวงลงมาเป็นบริการเอ็กซ์คลูซีฟ เพื่อเปิดทางให้แก่การใส่จำนวนเก้าอี้โดยสารที่มากขึ้น และการเพิ่มพื้นที่สำหรับกระเป๋าเดินทางข้าวของสัมภาระที่มากขึ้นตามการทวีตัวของจำนวนผู้โดยสาร
แพนแอมปลดประจำการเครื่องสตราโตครุยเซอร์ในปี 1961 เพื่อเปิดทางรับเครื่องบินรุ่นใหม่เข้าแทนที่ อันได้แก่ โบอิ้ง 707 และโบอิ้ง 737 ในการนี้ โรเบิร์ตส์ได้รับมอบให้ปฏิบัติงานในเครื่องใหม่เหล่านี้ ซึ่งทำให้เธอได้ต้อนรับดูแลคนดังคับโลกมากหน้าหลายตา อาทิ ออเดรย์ เฮปเบิร์น เจ้าหญิงแห่งฮอลลีวู้ด และวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
ในการนี้ ยุคทองของการบินอย่างหรูเลิศอลังการแห่งทศวรรษ 1940 - 1960 ไม่ถึงกับหายสูญ หากแต่จะถูกบีบไปไว้เฉพาะในการเดินทางชั้นเฟิร์สต์คลาส ยิ่งกว่านั้น ในทศวรรษ 1970 เครื่องโบอิ้ง 747 ได้อุบัติขึ้นมาให้บริการในปี 1970 ส่งผลเป็นก้าวกระโดดสำคัญของการเดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์ ด้วยเครื่องยนต์เจ็ต และเคบินที่ใหญ่โตกว้างขวางมากขึ้น พร้อมที่จะให้บริการแก่ผู้โดยสารในปริมาณมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ราคาตั๋วจึงแพงน้อยลง ขณะที่ผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการมิได้จำกัดวงเฉพาะในกลุ่มมหาเศรษฐีเท่านั้น
ในเวลาต่อมา คือนับจากทศวรรษ 1980 การแข่งขันระหว่างแพนแอมกับสายการบินใหม่ๆ เข้มข้นมากขึ้น มีการลดราคาค่าตั๋วโดยสารเป็นระยะๆ
และแล้วในต้นทศวรรษ 1990 แพนแอมซึ่งเป็นสายการบินระหว่างประเทศใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ได้ปิดกิจการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 1991 เนื่องจากประสบภาวะล้มละลายด้วยหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุทางเครื่องที่เกิดขึ้นในหลายเที่ยวบิน อาทิ ภัยพิบัติท่าอากาศยานเตเนริเฟ เมื่อเครื่องบินแพนแอมเที่ยวบินที่ 1736 ไปประสบเหตุกับเครื่องบินของสายการบินเคแอลเอ็ม เที่ยวบินที่ 4805
วิกิพีเดียบันทึกไว้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์การบินของมนุษยชาติ พร้อมกับบั่นทอนความเชื่อมั่นที่ชาวโลกมีต่อแพนแอมลงมาอย่างฮวบฮาบ
ส่งผลให้แพนแอมมีปัญหาการเงินอย่างเรื้อรัง แล้วจึงล้มละลายไปในที่สุด
ความทรงจำชื่นมื่นในใจของแอร์โฮสเตสของแพนแอมยังแจ่มชัด
สายการบินแพน อเมริกัน เวิลด์ แอร์เวยส์ปิดฉากจากโลกธุรกิจการบินไปแล้ว แต่ความทรงจำชื่นมื่นของผู้โดยสารและบรรดาแอร์โฮสเตสยังแจ่มชัด ชีลา ไรลีย์ เพื่อนร่วมงานของโรเบิร์ตส์เล่าให้เว็บไซต์ข่าวเดลีเมล์ออนไลน์ว่า การเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า และมีเงินเดือนก้อนโต ได้ไปเดินซื้อถุงมือกับรองเท้าในกรุงโรม ซื้อน้ำหอมในปารีส ซื้อไข่มุกในโตเกียว สั่งตัดเสื้อฟ้าในฮ่องกง ได้นั่งเป็นเพื่อนทานอาหารค่ำกับพอล นิวแมน นักแสดงคนดังแห่งฮอลลีวู้ด ซึ่งเดินทางกับแพนแอมโดยไม่มีผู้ติดตาม
ประสบการณ์ชีวิตอันหวือหวาสนุกสนานของพนักงานต้อนรับของแพนแอม เป็นตำนานที่คนอเมริกันทั่วไปให้ความสนใจ
ในปี 2011 ได้มีการสร้างหนังซีรีส์ย้อนยุค คือ ทศวรรษ 1950s เพื่อฉายทางโทรทัศน์เรื่อง The Star of Pan Am ผู้กำกับได้เชิญโรเบิร์ตส์และไรลีย์ไปให้ความเห็นและคำแนะนำเกี่ยวกับรายละเอียดของเสื้อผ้าหน้าผมและฉากต่างๆ ในเที่ยวบินของแพนแอม ซีรีส์ชุดนี้เป็นแนวรักโรแมนติกบนเส้นทางการเดินทาง และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โรเบิร์ตส์เล่าว่าอันที่จริงผมของแอร์โฮสเตสจะต้องไม่ลงมาแตะถึงบ่าเป็นอันขาด
ในท่ามกลางภาพลักษณ์น่าอิจฉาของชีวิตชาวแพนแอม ไรลีย์บอกว่าบรรดาแอร์โฮสเตสต้องทำงานหนักมาก และต้องงามพริ้งตามมาตรฐานแพนแอมเสมอ มิเช่นนั้น พวกเธอจะถูกส่งตัวกลับบ้านแทนที่จะได้เดินทางและทำการดูแลผู้โดยสารในเที่ยวบิน ซึ่งแพนแอมถือว่าเรื่องนี้เป็นกฎเหล็กกันเลยทีเดียว
(ที่มา: CNN Loveexploring.com Pan Am Museum Foundation Dailymail.com Wikipedia Boeing.com)