รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – วันนี้(22 ธ.ค)ผู้นำรัสเซียลงนามกฎหมายอนุญาตให้อดีตประธานาธิบดีรัสเซียสามารถดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกได้ตลอดชีวิตหลังจากที่หมดสมัยการดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำประเทศแล้ว ขณะที่ผู้ผลิตยาอังกฤษ แอสตราเซเนกา ลงนามความร่วมมือการพัฒนาวัคซีนโควิด-19ร่วมกับเครมลินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับวัคซีนแอสตราเซเนกา
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (22 ธ.ค)ว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ลงนามกฎหมายในวันอังคาร(22)อนุญาตให้อดีตผู้นำแดนหมีขาวที่หมดสมัยการดำรงตำแหน่งสามารถทำหน้าที่ในฐานะวุฒิสมาชิกได้ไปจนตลอดชีวิต
กฎหมายใหม่ออกมาหลังรัสเซียเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองครั้งใหญ่ภายใต้การผลักดันของเขา และในการเปลี่ยนแปลงนั้นรวมไปถึงขยายเวลาการดำรงตำแหน่งให้กับปูตินออกไปอีก 2 สมัยครั้ง 6 ปีซึ่งเขามีกำหนดที่จะลงจากตำแหน่งในปี 2024 เดอะการ์เดียนเคยชี้ว่าหากว่า เขาเลือกที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปเขาจะทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีรัสเซียไปจนถึงอายุ 84 ปี โดยในเวลานี้ปูตินมีอายุ 68 ปี ส่วนว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ โจ ไบเดน อายุ 78 ปี และประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อายุ 74 ปี
ในกฎหมายฉบับที่ลงนามวันนี้(22)อนุญาตให้ปูตินสามารถแต่งตั้งสว.เข้าไปได้ถึง 30 คนในสภาสหพันธรัฐ หรือสภาสูงของรัสเซีย
และนอกจากนี้กฎหมายฉบับอื่นที่ได้รับอนุมัติจากสภาล่างรัสเซียแล้วและรอให้ปูตินลงนามรับรองเป็นกฎหมายให้สิทธิ์ภูมิคุ้มกันทางการเมืองแก่อดีตประธานาธิบดีรัสเซียจากการดำเนินคดีใดๆตลอดชีวิตแม้ไม่ได้อยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่ง
ขณะเดียวกันในวันจันทร์(21) ผู้นำรัสเซียได้ออกมาแสดงความยินดีต่อการลงนาม MOU ความร่วมมือระหว่างกันของบริษัทยาแอสตราเซเนกา ผู้ผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา และ สถาบันกาเมเลยา (Gamaleya Institute) ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนสปุตนิค วีร่วมกันกับกองทุนมั่งคั่งรัสเซีย RDIF (RDIF sovereign wealth fund)และบริษัทยาอาร์-ฟาร์ม (R-Pharm)ของรัสเซีย
“ผมต้องการที่จะชี้ไปถึงจุดยืนความก้าวหน้าของคุณในการที่จะประสบความสำเร็จต่อเป้าหมายนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ไม่ใช่แต่กับประเทศของคุณ แต่ในความเป็นจริงแล้วและโดยปราศจากการต่อสู้อย่างทุ่มกำลังเพื่อมนุษยชาติ” ปูตินกล่าวแสดงความชื่นชมผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
รัสเซียซึ่งมีรายงานเคสใหม่ในวันอังคาร(22) 28,776 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 561 คน จะเริ่มต้นการทดลองทางคลินิกวิกทยาของการรวมวัคซีนแอสตราเซเนกาและวัคซีนสปุตนิค วี ใน 3 ประเทศเร็ววันนี้ อ้างอิงจาก คิริล ดมิเตรียฟ(Kirill Dmitriev) หัวหน้ากองทุนมั่งคั่งรัสเซีย RDIF แต่ไม่ได้เปิดเผยถึงรายชื่อประเทศออกมา แต่ได้กล่าวเพียงว่าอยู่ในตะวันออกกลางและอดีตสหภาพโซเวียต โดยก่อนหน้าดมิเตรียฟได้ยืนยันว่า การรวมตัววัคซีน 2 ตัวนี้ด้วยการเชื่อมั่นว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาของวัคซีนแอสตราเซเนกาได้
ซึ่งจากการทดสอบด้านคลินิกวิทยาของวัคซีนสปุตนิค วี ที่กำลังดำเนินอยู่ชี้ให้เห็นว่าวัคซีนรัสเซียมีประสิทธิภาพกว่า 90% ในการป้องกันไวรัส
ซึ่งในวันนี้(22) มาเลเซียได้ลงนามข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาของอังกฤษจำนวน 6.4 ล้านโดส และกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับจีนและรัสเซียเพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19ไว้ในความครอบครองเพิ่ม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน แถลง
ในแถลงการณ์ระบุว่า มาเลเซียต้องการให้ได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ตกราว 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยในเดือนที่แล้วกัวลาลัมเปอร์ได้ตกลงกับบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคสำหรับวัคซีนจำนวน 12.8 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะได้รับล็อตแรกในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึง
และในเวลานี้มาเลเซียกำลังอยู่ในการเจรจาขั้นสุดท้ายกับบริษัทยาจีน ไซโนแวค และ แคนไซโน( CanSino ) สำหรับวัคซีนจีนและสถาบันกาลาเมยาสำหรับวัคซีนสปุตนิค วีของรัสเซีย