xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำบริษัทจีน-รัสเซียอีกกว่า 100 แห่ง อ้างพัวพัน ‘กองทัพ’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลสหรัฐฯ เผยแพร่รายชื่อบริษัทจีนและรัสเซียกว่า 100 แห่งที่จะถูกขึ้นบัญชีดำห้ามซื้อสินค้าและเทคโนโลยีหลากหลายประเภทของอเมริกา โดยอ้างว่าบริษัทเหล่านี้มีสายสัมพันธ์กับกองทัพของทั้ง 2 ประเทศ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ระบุรายชื่อ 103 บริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำในคราวนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็นบริษัทจีน 58 แห่ง และบริษัทรัสเซียอีก 45 แห่ง

แม้รายชื่อบริษัทซึ่งถูกเผยแพร่ทางเว็บไซต์ https://www.commerce.gov/news/press-releases/2020/12/commerce-department-will-publish-first-military-end-user-list-naming เมื่อวานนี้ (21) จะยังไม่ปรากฏชื่อของบริษัทเครื่องบินพาณิชย์แห่งประเทศจีน (Commercial Aircraft Corporation of China - COMAC) ทว่าก็มีชื่อของสถาบันออกแบบและวิจัยอากาศยานแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Aircraft Design and Research Institute) ซึ่งทำหน้าที่ออกแบบเครื่องบินให้กับ COMAC และบริษัท เซี่ยงไฮ้ แอร์คราฟต์ แมนูแฟคเจอริง ซึ่งผลิตเครื่องบินให้กับ COMAC รวมอยู่ด้วย

วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุวานนี้ (21) ว่าการขึ้นบัญชีดำทั้ง 103 บริษัทจะช่วยให้ผู้ส่งออกอเมริกัน “สามารถคัดกรองกลุ่มลูกค้าที่จะนำสินค้าไปใช้ในด้านการทหารได้”

ในบรรดาบริษัทชั้นนำที่มีชื่ออยู่ในแบล็กลิสต์ยังรวมถึงบริษัทลูก 7 แห่งของ เอวิเอชัน อินดัสตรี คอร์ป ออฟ ไชน่า และหน่วยข่าวกรองต่างชาติรัสเซีย SVR ซึ่งถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์ต่อบริษัทและหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ หลายแห่งเมื่อเร็วๆ นี้

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (18) สหรัฐฯ ก็ได้ประกาศขึ้นบัญชีดำบริษัทจีนหลายสิบแห่ง หนึ่งในนั้นคือ SMIC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน และ DJI ซึ่งเป็นผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ของโลก

ข้อพิพาทสหรัฐฯ-จีนเริ่มทวีความตึงเครียดขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โทษจีนว่าเป็นต้นตอของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่จีนเองก็ดำเนินนโยบายหลายอย่างซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของตะวันตก ทั้งการนำกฎหมายความมั่นคงมาบังคับใช้ในฮ่องกง และการกระพือข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

สหรัฐฯ ยังเป็นกังวลมากขึ้นที่จีนหันมาใช้นโยบายผสมผสานระหว่างการทหารกับพลเรือน (military-civil fusion) ซึ่งมุ่งยกระดับแสนยานุภาพด้านการทหารไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโยโลยี

เมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ขยายนิยามของ “ผู้ใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร (military end users)” ให้ครอบคลุมถึงบุคคลหรือองค์กรใดก็ตามที่สนับสนุนหรือมีส่วนช่วยเหลือในการซ่อมบำรุงหรือผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ แม้ว่าธุรกิจหลักของบุคคลหรืองค์กรนั้นๆ จะไม่เกี่ยวข้องกับการทหารโดยตรงก็ตาม

บริษัทสหรัฐฯ ที่ต้องการจะขายสินค้าให้แก่กลุ่ม military end users จำเป็นจะต้องขอใบอนุญาตจากรัฐบาลเสียก่อน ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะถูกปฏิเสธด้วย

ท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯ คาดว่าจะยิ่งสร้างความโกรธกริ้วต่อปักกิ่ง โดยเมื่อเดือนที่แล้ว จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้วิจารณ์ลิสต์ฉบับร่างของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ว่าเป็นการ “กดขี่ข่มเหง” บริษัทจีนอย่างไม่มีเหตุผล

ที่มา: รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น