รัสเซียทดสอบเครื่องบินโดยสารรุ่นใหม่ด้วยเครื่องยนต์ที่ผลิตเองในประเทศเป็นครั้งแรกในยุคหลังสหภาพโซเวียต ซึ่งคาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินพลเรือนแดนหมีขาวที่อาจกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของ “โบอิ้ง” และ “แอร์บัส” ในอนาคต
เครื่องบินพิสัยกลาง MC-21 พุ่งทะยานขึ้นจากสนามบินในไซบีเรียด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน PD-14 ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทสัญชาติรัสเซีย หลังจากที่เคยทดสอบบินครั้งแรกด้วยเครื่องยนต์ของสหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ค. ปี 2017
MC-21 ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท เออร์คุต คอร์ปอเรชัน (Irkut Corporation) และใช้เครื่องยนต์ PD-14 ของบริษัท ยูไนเต็ด แอร์คราฟต์ คอร์ปอเรชัน (UAC) ซึ่งผู้ผลิตทั้ง 2 รายล้วนมีรัฐวิสาหกิจอากาศยานและกลาโหม Rostec ของรัสเซียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
UAV ระบุว่า การทดสอบบินครั้งนี้ใช้เวลา 1 ชั่วโมงกับอีก 25 นาที
สหภาพโซเวียตเป็นผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารรายใหญ่ซึ่งถูกใช้งานทั้งในประเทศและส่งออกไปยังชาติพันธมิตร แต่หลังจากที่ระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง สายการบินทั่วโลกก็เริ่มปลดระวางฝูงบินตูโปเลฟ (Tupolev) และอิลยูชิน (Ilyushin) และหันไปใช้บริการเครื่องบินจากค่ายโบอิ้งและแอร์บัสเป็นหลัก
รัฐบาลเครมลินพยายามหาวิธีที่จะลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ และอียูใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินกับมอสโกเพื่อลงโทษที่ยึดคาบสมุทรไครเมียไปจากยูเครนเมื่อปี 2014
เดิมทีรัสเซียมีกำหนดส่งมอบ MC-21 ให้กับลูกค้าตั้งแต่ปี 2019 แต่ก็ต้องเลื่อนเวลาออกไป โดย Rostec ให้เหตุผลว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ทำให้ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนมาใช้วัสดุผสม (composite materials) บริเวณปีกเครื่องบินที่ผลิตในรัสเซีย แต่คาดว่าจะเริ่มส่งมอบเครื่องบินล็อตแรกได้ในช่วงปลายปี 2021
MC-21 ซึ่งจุผู้โดยสารได้ระหว่าง 130-211 ที่นั่งมีตัวเลือก 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ PW1400G-JM ของ แพรตต์ แอนด์ วิตนีย์ และรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ PD-14
ผู้ผลิตยืนยันว่าได้รับคำสั่งซื้อ MC-21 เข้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 175 ลำ โดยเป็นยอดจองสำหรับสายการบินแห่งชาติแอโรฟลอต (Aeroflot) จำนวน 50 ลำ แต่ไม่ระบุว่าเป็นรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ของรัสเซียเองเท่าไหร่
ที่มา: รอยเตอร์