สหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับ “ตุรกี” ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) วานนี้ (14 ธ.ค.) เพื่อตอบโต้กรณีที่อังการาสั่งซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 จากรัสเซีย
รัฐบาลตุรกีประณามบทลงโทษดังกล่าวว่าเป็น “ความผิดพลาดร้ายแรง” และเรียกร้องให้วอชิงตันทบทวน “การตัดสินใจที่ไม่เป็นธรรม” พร้อมเตือนว่าการแซงก์ชั่นจะยิ่งบั่นทอนความสัมพันธ์ทวิภาคี และบีบให้ตุรกีต้องใช้มาตรการตอบโต้
เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ระบุว่า การที่ตุรกีเดินหน้าสั่งซื้อระบบ S-400 โดยไม่ฟังทำทัดทานจากสหรัฐฯ ทำให้รัฐบาลวอชิงตันไม่มีทางเลือกอื่น
สหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นบัญชีดำ Presidency of Defence Industries (SSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการจัดซื้ออาวุธของรัฐบาลตุรกี พร้อมด้วย อิสมาอิล เดมีร์ ประธาน SSB รวมถึงลูกจ้างอีก 3 คน
มาตรการดังกล่าวซึ่งได้รับการสนับสนุนท่วมท้นจากสภาคองเกรสอาศัยอำนาจตามกฎหมาย Countering America's Adversaries Through Sanctions Act (CAATSA) และถือเป็นครั้งแรกที่กฎหมายนี้ถูกนำมาใช้เล่นงานประเทศพันธมิตรในกลุ่มนาโต
แม้ตุรกีคงจะใจชื้นอยู่บ้างที่สหรัฐฯ ไม่ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรที่กว้างขวางกว่านี้ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าบทลงโทษจะส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อเศรษฐกิจตุรกีซึ่งซบเซาจากผลพวงของโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นตัวเลข 2 หลัก
อังการารับมอบระบบขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศ S-400 จากรัสเซียเมื่อช่วงกลางปี 2019 และยืนยันว่าจะไม่เป็นภัยคุกคามกับนาโต ทว่าสหรัฐฯ ไม่รับฟังและขู่ที่จะใช้บทลงโทษ อีกทั้งยังถอดตุรกีออกจากโครงการซื้อขายสุดยอดเครื่องบินขับไล่ F-35 เมื่อปีที่แล้ว
แหล่งข่าวระบุว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เพิกเฉยต่อคำแนะนำของที่ปรึกษา และชะลอการคว่ำบาตรตุรกีมาโดยตลอด กระทั่งมายอมให้ไฟเขียวเมื่อไม่กี่วันก่อน
“สหรัฐอเมริกาได้บอกกล่าวอย่างชัดเจนให้ผู้นำระดับสูงสุดของตุรกีรับทราบในหลายโอกาสว่า การซื้อระบบ S-400 จะเป็นภัยคุกคามต่อเทคโนโลยีด้านการทหารและบุคลากรของสหรัฐฯ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนเงินทุนให้แก่อุตสาหกรรมกลาโหมของรัสเซียด้วย” ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
คริสโตเฟอร์ ฟอร์ด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายความมั่นคงระหว่างประเทศและการไม่แพร่กระจายอาวุธ ยืนยันว่า ที่ผ่านมาวอชิงตันพยายามแสวงหาทางออก แต่ตุรกีปฏิเสธข้อเสนอทุกอย่าง ขณะที่ฝ่ายตุรกีอ้างว่าได้เสนอจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ และนาโตเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง
ซินาน อุลเกน อดีตนักการทูตตุรกีซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการศึกษาเศรษฐศาสตร์และนโยบายต่างประเทศ (Center for Economics and Foreign Policy Studies) ในนครอิสตันบูล ระบุว่า คำสั่งคว่ำบาตรจะมีผลทำให้ประธาน SSB และพนักงาน 3 คนถูกยกเลิกวีซ่าและอายัดทรัพย์สินในสหรัฐฯ, ปิดกั้นการถ่ายโอนเทคโนโลยีระหว่างบริษัทอเมริกันกับบริษัทตุรกีที่มีความเกี่ยวข้องกับ SSB รวมถึงกระทบเครดิตและวงเงินกู้กว่า 10 ล้านดอลลาร์ที่สถาบันการเงินสหรัฐฯ ให้กับ SSB
ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าบทลงโทษของสหรัฐฯ จะครอบคลุมถึงกลุ่มประเทศที่ 3 เช่น ประเทศแถบยุโรปที่ส่งออกอาวุธหรือเครื่องไม้เครื่องมือด้านกลาโหม และทำงานร่วมกับบริษัทด้านกลาโหมของตุรกีด้วยหรือไม่
กระแสต่อต้านผู้นำตุรกี “เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน” ในหมู่สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเมื่อเข้ามาบริหารจัดการความสัมพันธ์กับอังการาในอนาคต
ที่มา: รอยเตอร์