ปฏิบัติการลอบสังหาร “มอห์เซน ฟาครีซาเดห์” นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ผู้เป็นสถาปนิกใหญ่ของโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ส่งผลให้การเผชิญหน้าในตะวันออกกลางกลับมาร้อนระอุในช่วงไม่กี่สัปดาห์สุดท้ายก่อนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะพ้นตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้อาจเพิ่มความยุ่งยากให้แก่ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในการที่จะนำอเมริกากลับคืนสู่ข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์อิหร่านที่ ทรัมป์ ได้ประกาศถอนตัวออกไปเมื่อ 2 ปีก่อน
โมฮัมหมัด จาวัด ซาริฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ทวีตประณามแผนปลิดชีพเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (27 พ.ย.) ว่าเป็นการกระทำที่ “ขี้ขลาดตาขาว และมีสัญญาณชี้ชัดว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล” ขณะที่ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่านเรียกร้องให้มีการล้างแค้น และยืนยันว่าการตายของ ฟาครีซาเดห์ จะไม่ทำให้โครงการนิวเคลียร์ของเตหะรานต้องหยุดชะงัก
นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอลยังคงแสดงท่าทีไม่รู้ไม่เห็น แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ เนทันยาฮู จะหารือแผนเล่นงานอิหร่านกับเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย และ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระหว่างการพบปะที่เมืองนียอม (Neom) ในซาอุฯ ซึ่งเกิดขึ้นเพียง 5 วันก่อนที่ ฟาครีซาเดห์ จะถูกปลิดชีพ
อามอส ยัดลิน ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงศึกษาแห่งชาติของอิสราเอล มองว่า รัฐบาลทรัมป์, อิสราเอล และ ซาอุฯ จงใจสร้างสถานการณ์เพื่อทิ้งปมปัญหาไว้ให้กับ โจ ไบเดน ซึ่งจะเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ม.ค. โดยมุ่งหวังให้การฟื้นความสัมพันธ์กับเตหะรานเป็นไปได้ยากขึ้น
ยัดลิน ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การตายของ ฟาครีซาเดห์ นั้นคล้ายคลึงกับวิธีที่หน่วยข่าวกรอง “มอสซาด” ของอิสราเอลใช้ลอบสังหารเจ้าหน้าที่นิวเคลียร์อิหร่านมาแล้วหลายคน
สำนักข่าวตัสนีมซึ่งเป็นสื่อกึ่งทางการของอิหร่าน รายงานว่า คนร้ายได้กดระเบิดคาร์บอมบ์ใกล้ๆ รถยนต์ของ ฟาครีซาเดห์ เมื่อเวลา 14.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น จากนั้นมือสังหารก็สาดกระสุนเข้าใส่รถของเขา เจ้าหน้าที่คุ้มกัน ฟาครีซาเดห์ คนหนึ่งถูกยิงถึง 4 นัด ส่วนตัวนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญถูกส่งขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังโรงพยาบาลในเมืองอับซาร์ด (Absard) ซึ่งอยู่ห่างจากเตหะรานไปทางตะวันออกประมาณ 70 กิโลเมตร ก่อนที่จะเสียชีวิตลง
พฤติการณ์ของนักฆ่าที่สาดกระสุนปืนกลใส่รถยนต์ของ ฟาครีซาเดห์ อย่างอุกอาจกลางวันแสกๆ ในพื้นที่ซึ่งไม่ได้ห่างไกลจากเมืองหลวง น่าจะสร้างความอับอายขายหน้าต่ออิหร่านอยู่ไม่น้อย และแม้แต่พวกนักการเมืองสายกลางก็คงจะทำใจยอมรับได้ยาก
ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสหรัฐฯ ทราบล่วงหน้าหรือไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น แต่มีรายงานจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สว่า ทรัมป์ เคยขอให้ที่ปรึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ในการยิงถล่มโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. ซึ่งสุดท้ายแนวคิดดังกล่าวก็ต้องเป็นหมันไป เนื่องจากที่ปรึกษา ทรัมป์ แย้งว่าการทำเช่นนั้นอาจส่งผลให้วิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางลุกลามใหญ่โต
การพิจารณาทางเลือกโจมตีอิหร่านมีขึ้นเพียง 1 วัน หลังทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เสนอรายงานว่าอิหร่านได้ทำการเคลื่อนย้ายเครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์ (centrifuges) ล้ำสมัยชุดแรกลงไปยังอาคารใต้ดินที่โรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมแห่งใหญ่ของประเทศ ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงที่ทำร่วมกับ 6 ชาติมหาอำนาจ นอกจากนี้ ยังพบว่าอิหร่านมียูเรเนียมสมรรถนะสูงอยู่ในสต็อกประมาณ 2.4 ตัน หรือคิดเป็น 12 เท่าจากเพดานสูงสุด 202.8 กิโลกรัม ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015
หลังจากที่ ฟาครีซาเดห์ ถูกสังหาร ทรัมป์ได้รีทวีตข้อความของนักหนังสือพิมพ์ยิวคนหนึ่ง ซึ่งระบุว่า “(ฟาครีซาเดห์) เป็นหัวหน้าโครงการลับทางทหารของอิหร่าน และถูกหน่วยข่าวกรองมอสซาดหมายหัวมานานหลายปีแล้ว การตายของเขาทำให้อิหร่านสูญเสียทั้งขวัญกำลังใจและนักวิทยาศาสตร์ระดับมืออาชีพ”
การตายของ ฟาครีซาเดห์ ยังเกิดขึ้นในช่วงใกล้วันครบรอบ 1 ปี การเสียชีวิตของนายพล กาเซ็ม โซไลมานี (Qasem Soleimani) อดีตผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ของอิหร่าน ซึ่งถูกสหรัฐฯ ส่งโดรนไปลอบสังหารถึงกรุงแบกแดดเมื่อวันที่ 3 ม.ค.
รัฐบาลอิหร่านแก้แค้นให้ โซไลมานี ด้วยการยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพ อัยน์ อัล-อาซาด ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของทหารอเมริกันในอิรัก ทว่าการโจมตีดังกล่าวก็ถูกพวกฮาร์ดไลน์ในประเทศวิจารณ์ว่าเบาเกินไป และไม่ได้ทำให้ทหารอเมริกันบาดเจ็บล้มตายแม้แต่คนเดียว
ในขณะที่สหรัฐฯ อ้างเหตุผลว่า โซไลมานี อยู่เบื้องหลังการสังหารชาวอเมริกันจำนวนมาก แต่สำหรับ ฟาครีซาเดห์ นั้นไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเขากำลังวางแผนก่อภัยคุกคามเฉพาะหน้าต่อสหรัฐฯ หรือว่าอิสราเอล
สถานการณ์ล่าสุดนี้คาดว่า จะเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อแผนการของ ไบเดน ที่จะนำอเมริกากลับเข้าร่วมข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ผลงานการทูตชิ้นโบแดงของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่ ทรัมป์ โยนทิ้งอย่างไม่ไยดี และหากอิหร่านใช้มาตรการตอบโต้ขั้นรุนแรงก็จะยิ่งทำให้โอกาสในการเจรจาลดน้อยลงไปอีก
อิสราเอลคัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับ 6 ชาติมหาอำนาจมาโดยตลอด โดยอ้างว่าข้อตกลงนี้จะคุกคามความอยู่รอดของรัฐยิว และเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในตะวันออกกลาง
ยัดลิน ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการข่าวกรองอิสราเอลให้ความเห็นว่า อิหร่านอาจเลือกใช้วิธี “ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน” ลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิสราเอล, ใช้กลุ่มติดอาวุธตัวแทนอย่างเครือข่ายฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนโจมตีรัฐยิว, ยิงขีปนาวุธจากอิหร่านออกไปโจมตีเป้าหมาย หรือไม่ก็เล่นงานสื่อของอิสราเอล แต่โดยส่วนตัวแล้วเขาเชื่อว่าโลกจะยังไม่ได้เห็นการตอบโต้ของอิหร่านในเร็ววันนี้
“ผมเชื่อว่าอิหร่านจะชะลอการแก้แค้นไปก่อน อย่างน้อยก็ตราบเท่าที่ ทรัมป์ ยังอยู่ในตำแหน่ง เนื่องจากยังไม่มีฝ่ายไหนอ้างความรับผิดชอบ และเป็นลักษณะของการทำสงครามแบบปกปิด (covert war)” เขากล่าว
มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับท่าทีของประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี แห่งอิหร่านที่ประกาศจะแก้แค้น “ในห้วงเวลาที่เหมาะสม” แต่ก็ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่