สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) แถลงเมื่อวันอังคาร (24 พ.ย.) ว่าสายการบินทั่วโลกอาจประสบภาวะขาดทุนสูงถึง 157,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้และปีหน้า พร้อมปรับลดคาดการณ์การเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดรุนแรงระลอก 2 และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตลาดใหญ่ๆ
เมื่อเดือน มิ.ย. IATA ได้คาดการณ์มูลค่าความสูญเสียของธุรกิจการบินประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงระยะ 2 ปีนี้ ทว่าล่าสุดทางองค์กรได้ปรับคาดการณ์ว่ายอดขาดทุนเฉพาะปีนี้จะสูงถึง 118,500 ล้านดอลลาร์ และอีกราวๆ 38,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2021
ภาพรวมที่น่ากังวลนี้เน้นย้ำถึงความท้าทายที่อุตสาหกรรมการบินโลกยังคงต้องเผชิญ แม้จะเริ่มมีข่าวดีเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มแจกจ่ายแก่ประชากรทั่วโลกไปตลอดช่วงปีหน้า
“ผลกระทบเชิงบวกที่จะมีต่อเศรษฐกิจและการจราจรทางอากาศจะยังไม่ปรากฏชัดจนกว่าจะถึงช่วงกลางปี 2021” อเล็กซองเดรอ เดอ จูนิแอค ผู้อำนวยการ IATA ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
IATA คาดการณ์ว่า จำนวนผู้โดยสารเครื่องบินจะลดลงเหลือเพียง 1,800 ล้านคนในปีนี้ จากสถิติ 4,500 พันล้านคนในปี 2019 และน่าจะฟื้นตัวเพียงบางส่วนเป็น 2,800 ล้านคนในปีหน้า ขณะที่รายได้จากการรับผู้โดยสารในปี 2020 คาดว่าจะลดลง 69% เหลือเพียง 191,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“และนี่คือสภาวะช็อกครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2” ไบรอัน เพียร์ซ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ IATA ระบุ
ตัวเลขคาดการณ์เหล่านี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าประเทศต่างๆ จะเริ่มเปิดพรมแดนอย่างมีนัยสำคัญในช่วงกลางปี 2021 ตลอดจนมีการตรวจเชื้ออย่างแพร่หลายและวัคซีนต้านโควิด-19 ถูกนำมาใช้งานจริง
IATA ยังเน้นย้ำให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาใช้วิธีตรวจคัดกรองประชากรอย่างกว้างขวาง แทนที่จะใช้มาตรการกักกันโรคซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง
“หลายประเทศเริ่มหันมาฟังเรามากขึ้น” เดอ จูนิแอค ระบุ โดยอ้างถึงโครงการตรวจคัดกรองประชากรที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส, เยอรมนี, อังกฤษ, สหรัฐฯ และสิงคโปร์
แม้รัฐบาลและสายการบินของบางประเทศ เช่น แควนตัส จะออกมาประกาศแผนบังคับให้ผู้โดยสารเที่ยวบินระยะไกลต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อนเดินทาง แต่ เดอ จูนิแอค ชี้ว่ามาตรการลักษณะนี้ไม่สามารถปฏิบัติจริงได้ในทุกๆ ที่
“มันจะทำให้ผู้โดยสารบางคนที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีนไม่สามารถเดินทางได้” เขากล่าว “ดังนั้น การตรวจหาเชื้ออย่างเป็นระบบจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เอื้อต่อการเปิดพรมแดนมากยิ่งกว่าวัคซีน”
ธุรกิจขนส่งทางอากาศ (air cargo) ถือเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่ยังมีแนวโน้มค่อนข้างสดใสในยุคโควิด โดย IATA คาดการณ์ว่ารายได้จากการขนส่งทางอากาศทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 15% เป็น 117,700 ล้านดอลลาร์ แม้ปริมาณสินค้าจะลดลง 11.6% เหลือเพียง 54.2 ล้านตันก็ตาม
ที่มา : รอยเตอร์