เอกอัครราชทูตอังกฤษ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และเยอรมนี ประจำประเทศไทยร่วมเขียนบทความแนะนำวิธีการทำให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่ง่ายต่อการทำธุรกิจมากขึ้น ภายหลังไทยประสบความสำเร็จในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ไบรอัน เดวิด สัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย , ไมเคิล จาร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย อัลลัน แมคคินนอน พีเอสเอ็ม เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และ จอร์จ ชมิท เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ระบุในบทความ Turbocharging Thailand’s Post-COVID Economic Recovery – Improving the Ease of Doing Business ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างความเสียหายทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจไปทั่วโลก
ในประเทศไทย ภัยคุกคามต่อสาธารณสุขได้ถูกสกัดกั้นไว้อย่างยอดเยี่ยม สังเกตจากอัตราการติดเชื้อและการแพร่เชื้อในชุมชนที่ต่ำ คณะทูตแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทยสำหรับความสำเร็จในการลดผลกระทบด้านสาธารณสุขจากเชื้อไวรัสโควิด-19
แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงร้ายแรง โดยคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีของไทยลดลงถึง 8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 ไทยไม่ได้เผชิญภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจอยู่เพียงฝ่ายเดียว เกือบทุกประเทศต่างเผชิญแรงต้านทางเศรษฐกิจกันแทบทั้งสิ้น ในขณะที่รัฐบาลต่างๆ กำลังพยายามสร้างความสมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ
การแพร่ระบาดครั้งนี้บีบให้เราทุกคนต้องแสวงหาวิธีการดำเนินงานใหม่ๆ และมีประสิทภาพมากกว่าเดิม จากคำพูดที่ว่า "ในวิกฤตย่อมมีโอกาส" เหล่าประเทศที่คว้าโอกาสนี้ได้จะฟื้นตัวจาพวิกฤตได้อย่างเข้มแข็งและยืดหยุ่นมากกว่าเดิม
ในฐานะประเทศรายได้ปานกลางที่มีนโยบายเข้มแข็ง ภูมิทัศน์ทางอุตสาหกรรมที่หลากหลาย และทำเลที่ตั้งใกล้กับตลาดเติบโตสูง ไทยจึงมีโอกาสสูงที่จะฟื้นตัวกลับจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้อย่างเข้มแข็ง แต่ไทยจะต้องเลือกใช้วิธีการบางอย่างเพื่อให้การเติบโตไปเป็นได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนมากขึ้น
ในฐานะเอกอัครราชทูต พวกเราได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหอการค้าของสี่ประเทศในเครือข่าย ได้แก่ ออสเตรเลีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อ ‘พันธมิตรหอการค้าต่างประเทศ’ (Foreign Chambers Alliance หรือ FCA) สมาชิกประกอบด้วยบริษัทกว่า 2,000 แห่งในประเทศไทย ตั้งแต่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม จนถึงบรรษัทข้ามชาติ อีกทั้งยังสร้างงานให้กับคนไทยกว่าล้านคน
เมื่อถามสมาชิก FCA ว่า ไทยควรทำอย่างไรเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้น่าดึงดูดกว่าเดิม คำตอบหนึ่งที่เหมือนกันคือ "ทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น"
หลังรวบรวมความคิดเห็นจากชุมชนธุรกิจของเรา เราขอเสนอ 10 มาตรการที่ไทยสามารถนำไปบังคับใช้ได้เลยในตอนนี้เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและติดเทอร์โบให้กับกระบวนการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
10 มาตรการสู่การยกระดับไทยสู่ 10 อันดับประเทศที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุดตามดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจทั่วโลกของธนาคารโลก
1.ลดขั้นตอนพิธีการศุลกากรการค้าผ่านแดนสู่ระบบดิจิทัล
ทำให้การยื่นเอกสารการค้างายขึ้น เช่น การอนุญาตให้ส่งและอนุมัติเอกสารผ่านระบบดิจิทัล
2.ดำเนินโครงการทบทวนการอนุญาตของทางราชการ
ดำเนินการทบทวนกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำจัดความซับซ้อนของกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
3.เพิ่มแพลตฟอร์มรูปแบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
ทำให้กระบวนการทำงานและกฎระเบียบทุกชนิดของรัฐบาล อยู่บนระบบออนไลน์ภายในปี 2025
4.ลดความซับซ้อนในการสมัครขอรับการส่งเสริม การลงทุนของ BOI
ทำให้ข้อมูลและกระบวนการในการสมัครใบขอรับการส่งเสริมการลงทุนน้อยลงและง่ายขึ้น
5.จัดตั้งพิธีการศุลกากรตามระบบบัญชี
ระบบนี้จะทำให้สามารถระบุความเสี่ยง รวมทั้งทำให้ระบบการประมวลภาษีศุลกากรทันสมัยและได้มาตรฐาน
6.เดินหน้าสู่การค้าดิจิทัล
สร้างสภาพแวดล้อมแบบ sandbox เพื่อพัฒนานวัตกรรมและรังสรรค์โซลูชั่นทางนวัตกรรม
7.ทำให้การเข้าถึงแรงงานฝีมือง่ายขึ้น
การปฏิรูปข้อกำหนดเข้มงวดเกี่ยวกับแรงงานฝีมือชาวต่างชาติ และลดขั้นตอนการขอวีซ่าสำหรับแรงงานฝีมือจะช่วยขจัดอุปสรรคสำหรับการลงทุนในสาขาที่เน้นความรู้และเทคโนโลยีระดับสูง
8.เน้นความสำคัญของความโปร่งใส
ทำงานร่วมกับนักลงทุนด้วยความโปร่งใสเพื่อขี้คลายข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายใต้สัญญาและข้อตกลงที่มีในปัจจุบัน
9.ปรับปรุงกระบวนการล้มละลาย
ปรับปรุงกระบวนการบังคับคดีล้มละลาย รวมทั้งตีพิมพ์และจัดทำดัชนีกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายทั้งหมด
10.เพิ่มกระบวนการดิจิทัลในการอนุมัติขององค์การอาหารและยา
ปรับปรุงสู่การออกเอกสารแบบดิจิทัล และรับลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์
มาตรการทั้ง 10 ข้อที่เราแนะนำจะสร้างรากฐานสำหรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน มันไม่ได้แค่จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่น่าดึงดูดสำหรับการประกอบธุรกิจมากขึ้น แต่มันจะทำให้ไทยประสบความสำเร็จในการฟื้นตัวหลังโควิด-19 เทียบเท่ากับความสำเร็จในการป้องกันเชื้อไวรัสด้วย